Skip to main content
sharethis

แรงงานตะวันออก บุกกระทรวงแรงงานวันนี้

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนงานทั้ง 2 บริษัท คือ บริษัท แม็กซีส ซึ่งนายจ้างได้มีการนำแรงงานข้ามชาติจากเพื่อนบ้านเข้าไปทำงานแทน ซึ่งปัญหาคือแรงงานไทยยังคงถูกนายจ้างปิดงาน โดยอ้างว่าเครื่องจักรเสียจึงมีการปิดโรงงานเพื่อซ่อมบำรุง และมีข้อพิพาทแรงงานเนื่อง จากนายจ้างยื่นข้อเรียกร้องสวนกลับขอสวัสดิการจากลูกจ้างคืนจาก 3 ข้อที่ลูกจ้างเคยได้ นายจ้างขอคืนกลับถึง 5 ข้อ ซึ่งเท่ากับลูกจ้างไม่ได้อะไรเลย เช่น การทำงานกะจาก 2 กะ เป็น 3 กะ ยกเลิกเบี้ยการผลิต ยกเลิกข้อตกลง 36 เดือน ซึ่งที่ผ่านมามีการเจรจาหลายครั้งแต่ไม่เป็นผล นายจ้างจึงเลือกที่จะทำการปิดโรงงาน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการชุมนุมอยู่หน้าโรงงานหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ ขณะที่ฝ่ายรัฐก็ไม่ได้เข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจัง

ส่วน บริษัท พีซีบี เซ็นต์ จำกัด ตั้งอยู่นิคมฯอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ที่ จ.ชลบุรี จากสาเหตุที่เกิดเพลิงไหม้โรงงาน ซึ่งมีผู้บาดเจ็บกว่า 500 คน บาดเจ็บสาหัสอีกทั้งหมด 7 คน ต่อมาได้เสียชีวิต 3 คน ซึ่งผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมีการขอเรียกร้องสิทธิตามหน่วยงานภาค รัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข จึงรวมกลุ่มกันเพื่อที่จะออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ทางรัฐบาลไปกดดันนายจ้าง ให้ออกมารับผิดชอบ เพราะมีการปิดโรงงานแต่ไม่มีการจ่ายเงินทดแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แต่พวกเราไม่สามารถที่จะเอาผิดกับนายจ้างได้ จึงเลือกที่จะเดินเท้าเพื่อให้สังคมเห็นใจ

การที่เดินเท้าชุมนุมใน 10 กว่า วันที่ผ่านมา มีการเจรจาคู่ขนานกันมาโดยตลอด แต่การที่จะชุมนุมอยู่เพียงหน้าโรงงานอย่างที่ผ่านมานั้นไม่เคยได้รับสิทธิ ใดๆ เลย จึงอยากเสนอให้กับรัฐบาลเข้ามาดูแลเกี่ยวกับเรื่องของการสนับสนุนการลงทุนใน ภาคธุรกิจที่คนต่างชาติเข้ามาลงทุน ซึ่งในวันนี้เราให้มี BOI บริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนยกเว้นภาษี 8 ปี แต่ถามว่าเขาได้ปฏิบัติเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้ความเป็นธรรมกับลูกจ้างคน ไทยมากน้อยแค่ไหนนายชาลี กล่าว

ด้าน นายยงยุทธ เม่นตระเภา เลขาธิการ คสรท.กล่าวว่า ถ้าแรงงานทุก คนที่เดินทางมาในวันนี้ไม่เดือดร้อนจนถึงที่สุดจริงๆ ก็คงไม่เดินทางเข้ามาชุมนุมด้วย 2 มือ 2 เท้า เปล่าแต่พวกเขาเหล่านั้นมาด้วยใจมาด้วยสมองมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของความจงรัก ภักดีต่องานที่ทำอย่างที่ผ่านมาแต่กลับไม่ได้รับความเป็นธรรม ถามสังคมว่ามันถูกต้องแล้วหรือ

ยกตัวอย่าง บริษัท พีซีบี เซ็นต์ จำกัด ที่โรงงานเกิดไฟไหม้เมื่อ 23 มิ.ย. 2553 ปี ที่แล้ว นายจ้างมีการค้างค่าใช้จ่ายในกรณีที่มีคนตายหรือได้รับบาดเจ็บ ซึ่งปัจจุบันนี้ยังไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ เลย มีเพียงการจัดฉากออกมาบอกเพียงว่าบริษัทไปไม่ไหวไม่มีเงินที่จะจ่ายให้ มีแต่การโยนเงินให้ซึ่งมันต่ำกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งจริงๆ แล้ว ตามสิทธิควรจะได้อยู่ที่ประมาณคนละ 2 แสนกว่าบาท แต่ได้เพียงแค่ 10,000 กว่า บาทเท่านั้น ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่รัฐก็กับนิ่งเฉยไม่ลงมาดูแลใดๆ เลย ไม่แก้ไขหรือดำเนินการใดๆ ทั้งที่ได้มีข้อเสนอไปแล้ว

และกรณีของบริษัทแม็กซีสซึ่งดูแล้ว เหมือนตั้งใจที่จะล้มสหภาพแรงงาน ซึ่งบริษัทแม็กซีสเป็นบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมของ BOI ที่ไม่ให้มีแรงงานข้าม ชาติเข้ามาทำงานซึ่งมันไม่เข้าเงื่อนไขของ BOI แต่วันนี้รัฐปล่อยให้ทำได้อย่างไร จึงมองว่ากรณีของโรงงานแม็กซีสมันบิดเบือนข้อเท็จจริงจนเกินไป กล่าวคือ  1.โรงงานแม็กซีสยังคงเปิดงานและมีการผลิตอยู่ 2.มีการจ้างแรงงานแบบเหมาค่าแรงมาทำงานแทน 3.รับลูกจ้างจากแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงาน

นาย ยงยุทธ มองว่าเป็นการตั้งใจที่จะล้มสหภาพ เพราะปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันนี้ นายจ้างพยายามยื่นเงื่อนไขต่างๆ ที่ลูกจ้างรับไม่ได้ เพราะทุกวันนี้เงินเดือนเพียง 6,000-7,000 บาท ลูกจ้างอยู่ไม่ได้ ต้องอาศัยเบี้ยผลิต โอที พวกลูกจ้างที่ถูกเอาเปรียบจึงทนไม่ไหวที่จะเข้ามาขอความช่วยเหลือ เพราะข้าราชการในพื้นที่เองไม่สามารถที่จะเยียวยาดูแลหรือบังคับใช้กฎหมาย ได้ ความอ่อนด้อยความเหลื่อมล้ำในสังคมโดยเฉพาะกระบวนการของรัฐในบ้านเรามันยัง อ่อนเกินไป ซึ่งที่ผ่านมามีการยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ถึง 2 ครั้ง กับ นายกรัฐมนตรีอีกหนึ่งครั้ง เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ

เรา เดินในวันนี้ก็เพื่อที่จะประจาน กฎหมายบ้านเราที่สนับสนุนนักลงทุนจนไม่ลืมหูลืมตา ไม่สนใจกระบวนการแรงงาน ไม่ใสใจการรวมตัวของประชาชนคนไทยที่ได้รับความเดือดร้อน ประเทศไทยจะพัฒนาในรูปแบบนี้ต่อไปนั้นมันเป็นไปไม่ได้" นายยงยุทธ กล่าว

ขณะที่ นายสราวุธ ปั้นอาสา นักสื่อสารแรงงานใน พื้นที่ภาคตะวันออก เล่าว่า ที่ผ่านไม่ใช่มีเพียงแค่ 2 บริษัท ที่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้เท่านั้น ยังคงมีบริษัทในภาคตะวันออกอย่างกรณีประเด็นคนงานฟูจิสึ ที่คนงานยินยอมนายจ้างในทุกกรณีไม่เรียกร้องใดๆ แต่นายจ้างยังคงปิดงานไม่ให้ลูกจ้างประจำเข้ามาทำงาน แต่ยังนำแรงงานเหมาค่าแรงมาเข้าทำงานแทน ยังไม่แน่ใจว่ามีแรงงานข้ามชาติเข้าไปทำงานเหมือนกับบริษัทแม็กซีสหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ยังหาข้อสรุปของนายจ้างและตัวแทนลูกจ้างไม่ได้

และเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมาได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยที่กระทรวงแรงงาน โดยมีกลุ่มตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน พนักงานประนอม พร้อมด้วยนายธานินทร์ ใจสมุทร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและนายพงษ์ศักดิ์ เปล่งแสง ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ร่วมเจรจาไกล่เกลี่ย  ซึ่งใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ปรากฏว่ายังคงไม่ได้ข้อสรุปใดๆ เนื่องจากนายจ้างยังยืนยันที่จะลดสวัสดิการ ขณะที่ฝ่ายลูกจ้างไม่ยอม

ล่าสุดกลุ่มแรงงานยังคงชุมนุมปัก หลักอยู่ที่โรงงานไม้อัดไทย สี่แยกบางนา และจะเดินขบวนไปยังกระทรวงแรงงาน ในวันจันทร์ที่ 14 ก.พ. นี้

(กรุงเทพธุรกิจ, 14-2-2554)

ก.แรงงานเร่งแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ปรับศูนย์ทะเบียนคนหางานตัดทอนนายหน้า

กรม สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ประชุมคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ด้านแรงงาน เพื่อค้นหามาตรการในการป้องกัน ปราบปราม ช่วยเหลือ คุ้มครอง การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน
      
โดยนางจิราภรณ์ เกษรสุจริต รองปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานคณะทำงาน เปิดเผยว่า ประเด็นการค้ามนุษย์เป็นกรณีที่มีการดำเนินการเพื่อป้องกัน และแก้ไขในประเทศไทยมาหลายปีก่อนหน้านี้ แต่เมื่อ 2-3 ปี ที่ผ่านมา ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่กระทรวงแรงงานต้องให้ความสำคัญ ทั้งในแง่ของการศึกษา เพื่อให้เข้าใจอย่างกระจ่างชัดและเพื่อกำหนดแนวทางในการป้องกันและแก้ไขและ ถือปฏิบัติ
      
นางจิราภรณ์ กล่าวว่า เนื่องจากประเด็นการค้ามนุษย์ได้ถูกนำมาผูกโยงกับการค้าระหว่างประเทศ โดยเชื่อมโยงกับการใช้แรงงาน ที่มีการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล ดังจะเห็นได้จากสภาพปัญหาต่างๆ ที่ประเทศไทยถูกโจมตี และกดดันทั้งจากประเทศมหาอำนาจและสื่อระหว่างประเทศ
      
ในปี 2553 สหรัฐอเมริกาจัดระดับประเทศไทยอยู่ในระดับ 2 ที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) โดย ระบุถึงเหตุผลต่างๆ เช่น ประเทศไทยเป็นประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่าน สำหรับการค้าผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก โดยเฉพาะเพื่อการบังคับใช้แรงงานและการบังคับค้าประเวณี ซึ่งหากประเทศใดถูกจัดอยู่ใน Tier 3 สหรัฐฯ อาจพิจารณาระงับการให้ความช่วยเหลือที่มิใช่เพื่อมนุษยธรรมและการค้า จาก สาเหตุดังกล่าวนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) จึงมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเสนอแผนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม เพื่อลดปัญหาการหลอกลวงคนหางานไทยไปทำงานต่างประเทศ ปัญหาแรงงานต่างด้าว และการใช้แรงงานหญิงและเด็ก รวมถึงให้พิจารณารายละเอียดและขั้นตอนการบริหารจัดการด้านแรงงาน เพื่อไม่ให้เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของการค้ามนุษย์นางจิราภรณ์ กล่าว
      
กระทรวงแรงงาน จึงได้กำหนดมาตรการลดค่าบริการและค่าใช้จ่ายของคนหางานที่ไปทำงานต่างประเทศ ด้วยการดึงความร่วมมือจากบริษัทจัดหางาน โดยมีบริษัทจัดหางาน ลงนามให้สัตยาบันต่อ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแล้ว จำนวน 87 แห่งจากจำนวนบริษัทจัดหางานทั้งหมด 218 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 40 โดยบริษัทที่ลงสัตยาบันมีปริมาณการจัดส่งร้อยละ 52.72 ของการยอดการจัดส่ง โดยในช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2553 บริษัทได้จัดส่งแรงงานไปทำงาน 14,144 คน คาดการณ์ว่า สามารถลดค่าบริการและค่าใช้จ่ายได้รายละ 15,000 บาท คิดเป็นเงินประมาณ 212,160,000 บาท
      
ส่วนกรณีบริษัทจัดหางานรับค่าบริการ หรือค่าใช้จ่ายจากคนหางานแล้วไม่จัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศโดยไม่มี เหตุอันควร ให้นายทะเบียนมีอำนาจพักใช้ และเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งมีคำสั่งพักใบอนุญาตแล้ว จำนวน 5 ราย หักหลักประกันบริษัท จำนวน 8 บริษัท เพื่อคืนเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายแก่คนหางาน จำนวน 308 คน เป็นเงินประมาณ 11,887,300 บาท
      
นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงศูนย์ทะเบียนคนหางาน (Labour Bank) เพื่อ ดูแลคนหางานโดยตัดระบบสายหรือนายหน้า กำหนดให้คนหางานที่ประสงค์ไปทำงานต่างประเทศมาลงทะเบียนที่ศูนย์ทะเบียนคนหา งาน โดยจะจำแนกประเภทคนหางานแบ่งตาม เพศ การศึกษา ความสามารถ รวมทั้งจัดทำข้อมูลคนหางานเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อสะดวกแก่นายจ้างในการคัดเลือก รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลผ่านระบบเว็บไซต์ต่างประเทศ
      
ทั้งนี้การพัฒนาฝีมือและทักษะให้กับคนหางานก่อนเดินทาง ไปทำงานต่างประเทศ เพื่อให้แรงงานยกระดับจากไร้ฝีมือ (un skilled) ไปสู่ระดับกึ่งฝีมือ (semi skilled) และต่อไปถึงระดับฝีมือ (skilled) โดยจะพยายามลดจำนวนหรือลดขนาดแรงงานแต่ละประเภทให้น้อยลง ซึ่งจะทำให้คนหางานได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีในต่างประเทศ
      
กระทรวงแรงงานเห็นว่าประเด็นการค้ามนุษย์ที่ประเทศไทยถูก โจมตีอยู่ ในขณะนี้ เป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานภายในกระทรวงแรงงานต้องร่วมกันสอดส่องดูแล ทั้งนี้ มิใช่เพียงเพราะต้องทำตามภารกิจ หากเป็นเพราะจะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการถูกใช้ประเด็นแรงงานเป็นข้ออ้าง ในการกีดกันทางการค้า ซึ่งจะเป็นผลเสียกับภาคเอกชนไทย แต่สิ่งสำคัญ คือ แรงงานไทยทั้งที่ทำงานในประเทศและไปทำงานต่างประเทศ รวมทั้งแรงงานในภาคต่างๆ ที่เข้ามาอาศัยความเจริญของประเทศไทยในการหาเลี้ยงชีพจะมีสภาพการทำงานที่ดี ต่อไปนางจิราภรณ์ กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 14-2-2554)

บีโอไอเผยเอกชน 377 รายแห่ยื่นขอแรงงาน

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่ง เสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอ จำนวน 377 ราย แสดงความจำนงต้องการแรงงานเพื่อรองรับการลงทุนใหม่หรือขยายกิจการในปี 54 มากถึง 152,824 คน ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากหลายบริษัทได้รับคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) มากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสินค้าประเภทยานยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, อาหาร, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

ตัวเลข 152,824 คน เป็นข้อมูลความต้องการแรงงานที่แจ้งความจำนงมาในช่วงไตรมาส 4 ของปี 53 (ต.ค.-ธ.ค.53) ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงแบบก้าวกระโดดน่าตกใจมากเมื่อเทียบกับไตรมาสอื่นๆ โดยในไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.53) อยู่ที่ 16,795 คน, ไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.53) 42,065 คน, ไตรมาส 1 (ม.ค.-มี.ค.53) เพียง 22,947 คน

สำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงาน มากสุด คือ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องไฟฟ้า 44,783 คน รองลงมาอุตสาหกรรมเบา ในกลุ่มสิ่งทอ, รองเท้า, เฟอร์นิเจอร์, เครื่องนุ่งห่ม 31,426 คน, เกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร 31,398 คน และกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง 21,857 คน โดยจำนวน 152,824 คน เป็นแรงงานระดับการศึกษา ป.6-ม.6 มากสุด 121,618 คน รองลงมาเป็นช่างเทคนิคระดับการศึกษา ปวช.-ปวส.15,937 คน, ปริญญาตรีขึ้นไป 6,744 คน และระดับอื่นๆ อีก 8,525 คน

ทั้งนี้เท่าที่สอบถามความเชื่อมั่น นักลงทุนต่างชาติในไทย ในกลุ่มเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร, เหมืองแร่ เซรามิกและโลหะขั้นมูลฐาน, สิ่งทอ, เครื่องประดับและเครื่องหนัง, อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า, เคมีภัณฑ์ กระดาษและพลาสติก กิจการบริการและสาธารณูปโภค ส่วนใหญ่มองว่าสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ปลายปี 52 และต่อเนื่องถึงปี 53 ทำ ให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะด้านรายได้ กำไร สภาพคล่องและการลงทุน อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะมีปัญหาชุมนุมทางการเมืองที่รุนแรงในช่วงที่ผ่านมา

ขีดความสามารถแข่งขันของไทยใน ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติมองว่าที่ตั้ง ทางภูมิศาสตร์ของไทย, สิทธิ ประโยชน์ด้านการลงทุนของบีโอไอเป็นปัจจัยที่ดึงดูดให้เกิดการลงทุนใน ไทย นอกเหนือจากค่าจ้างแรงงาน และต้นทุนการดำเนินธุรกิจอื่นๆ ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยังสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้

โดยหากเปรียบเทียบขีดความสามารถใน การแข่งขันในปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของไทยกับประเทศคู่แข่ง 6 ประเทศ ประกอบด้วย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดียและจีน พบว่า ต้นทุนค่าจ้างแรงงานไทย ต่ำกว่ามาเลเซียและฟิลิปปินส์ แต่สูงกว่าเวียดนาม อินเดียและจีน ขณะที่ภาคลักษณ์ของประเทศจะดีกว่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอินเดีย แต่จะต่ำกว่ามาเลเซีย, จีน, เวียดนาม

(บ้านเมือง, 14-2-2554)

ปลัดแรงงานให้นโยบายหัวหน้าแรงงาน ตปท.ขยายตลาดแรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือ

นพ.สม เกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบนโยบายการปฏิบัติงานส่งเสริมตลาดแรงงานและคุ้มครองสิทธิประโยชน์แรงงาน ไทยในต่างประเทศ ให้หัวหน้าส่วนราชการที่ประจำต่างประเทศ รวม 11 ประเทศ 13 แห่ง โดยเน้นย้ำการขยายตลาดแรงงานต่างประเทศในลักษณะของแรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือ เพื่อให้แรงงานไทยได้ค่าจ้างที่เหมาะสมกับทักษะฝีมือและสูงขึ้น รวมทั้งไม่ถูกเอาเปรียบ นอกจากนี้ ให้นำศักยภาพและพรสวรรค์ของแรงงานไทยไปเสนอเพื่อขยายตลาดแรงงานในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งให้อัครราชทูตที่ปรึกษาด้านแรงงานให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาร้อง เรียนให้แรงงานไทยในต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างจัดระบบเบอร์เดียวโทรทั่วโลกให้แรงงานร้อง เรียนได้สะดวกยิ่งขึ้น

นาย สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังมอบนโยบายการปฏิบัติงาน เรื่องการส่งเสริมตลาดแรงงาน และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์แรงงานไทยในต่างประเทศ ให้เอกอัครราชทูตที่ปรึกษาแรงงานไทยในต่างประเทศ 13 ประเทศ ว่า ยังพบแรงงานไทย ในประเทศแถบตะวันออกกลาง และแอฟริกา เช่น ลิเบีย และอิสราเอล ประสบปัญหาสัญญาจ้างและระบบการจ้างงาน เนื่องจากประเทศเหล่านี้ มีธรรมเนียมการจ่ายค่าจ้าง และสัญญาจ้างงานที่แตกต่างจากประเทศอื่น อาทิ เมื่อทำงานครบสัญญาจ้าง แรงงานไทยต้องรอการดำเนินการขอ Exit Visa และ ได้ค่าจ้างล่าช้า จึงให้กรมการจัดหางาน สร้างความเข้าใจกับผู้ต้องการเดินทาง ไปทำงานในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ก่อนตัดสินใจเดินทางไปทำงาน ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา มีแรงงานไทย ทำงานในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง กว่า 33,000 คน ส่วนกลุ่มประเทศแอฟริกา มีแรงงานไทย กว่า 7,000 คน พร้อมกำชับเอกอัครราชทูตที่ปรึกษาแรงงานไทยในต่างประเทศ เร่งหาตำแหน่งงานฝีมือและกึ่งฝีมือ มาทดแทนงานไร้ฝีมือ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับแรงงาน รวมทั้งเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งโดยเฉลี่ยปีละเกือบ 60,000 ล้านบาท ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ในปีนี้ กระทรวงแรงงาน จะรุกตลาดแรงงานไทย ในไต้หวันเพิ่มขึ้น จากเดิมมีแรงงานไทยทำงานในตำแหน่ง ช่างก่อสร้าง แม่บ้าน และงานบริการแล้ว กว่า 60,000 คน เพิ่มเป็น 100,000 คน โดยอาศัยช่วงวิกฤติการเมือง ระหว่างไต้หวัน และฟิลิปปินส์ มาเป็นโอกาส ส่งแรงงานไทย ไปทำงานเพิ่มขึ้น

ที่ประชุมยังพูดคุยถึงสถานการณ์แรง งานในประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งนายชัยยศ อยู่ทรัพย์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ด้าน แรงงาน) ในสำนักงานแรงงานในกรุงริยาด ประเทศซาอุฯ ได้รายงานสถานการณ์ด้านแรงงานว่า ยังมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนัก และยังไม่มีแนวโน้มการส่งแรงงานไปทำงาน ส่วนประเทศในตะวันออกยังมีปัญหาแรงงานที่ไปทำงานแล้วไม่มีความสุข ต้องการกลับประเทศ ซึ่งต้องมีเอ็กซิทวีซ่า (วีซ่าขาออกนอกประเทศที่ต้องให้นายจ้างเป็นคนยื่นเสนอขอ) ซึ่งยังเป็นปัญหา เพราะแรงงานไทยไม่ค่อยรู้เรื่องนี้

(สำนักข่าวไทย, 14-2-2554)

คนงานหลักพันเดินเท้าเข้ากรุงฯ จี้ รัฐฯ แก้ปัญหาละเมิดสิทธิแรงงาน

เมื่อเวลาประมาณ 6.00 น.ของวันที่ 14 ก.พ. 54 คนงานเกือบสองพันคนจากบริษัทแม็กซิ ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศ ไทย) จำกัด ผลิตยางรถยนต์ ที่จ.ระยอง พนักงานของบริษัท พีซีบี เซ็นเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และพนักงานของบริษัท ฟูจิตสึ เจเนรัล จำกัด ผู้ผลิตและประกอบเครื่องปรับอากาศ ที่ จ.ชลบุรี ซึ่งส่วนหนึ่งเริ่มเดินเท้าจากระยองตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ ผ่านมา ได้ออกเดินทางจากที่ปักหลักชุมนุมที่โรงงานไม้อัดไทย ถ.สรรพาวุธ โดยใช้เส้นทาง แยกบางนา-สุขุมวิท-ราชประสงค์-ราช ปรารภ-สามเหลี่ยมดินแดง ไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล กรณีมีการละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งเคยยื่นหนังสือถึงหลายหน่วยงานแล้วก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

สำหรับสหภาพแรงงานแม็กซิส ประเทศไทย ถูกนายจ้างปิดงานตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.2553 โดย อ้างเครื่องจักรเสียจำเป็นต้องปิดซ่อมแซม แต่กลับมีการนำแรงงานข้ามชาติและแรงงานเหมาค่าแรงมาทำงานแทน ทำให้พนักงานได้รับความเดือดร้อน โดยที่ผ่านมา มีการลดสวัสดิการของพนักงานลงเรื่อยๆ ทั้งที่บริษัทมีกำไรมากขึ้นมหาศาลจากปีก่อน

ธนชัย ที่รักษ์ รองประธานสหภาพแม็กซิส ประเทศไทย เล่าว่าวันที่อ้างว่าเครื่องจักรเสียนั้น มีการจ้างชายชุดดำมาปิดทางเข้าและกั้นรั้วสังกะสี ทำให้พวกตนต้องไปชุมนุมในบริเวณอื่น โดยที่ผ่านมา ได้เรียกร้องไปยังแรงงานจังหวัดแล้วก็ไม่ได้รับการแก้ปัญหา จึงอยากเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เห็นใจพวกตนบ้าง เพราะสิ่งที่ต้องการคือได้กลับเข้าทำงานเท่านั้น พร้อมตัดพ้อด้วยว่าทั้งที่พวกตนก็เสียภาษี แต่ไม่เคยได้รับการดูแลเลย

สำหรับสหภาพแรงงาน ฟูจึซึ เจอร์เนอร์รัล ประเทศไทย ถูกนายจ้างประกาศปิดงานหลังไม่สามารถตกลงเรื่องข้อเรียกร้องได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ก.พ.54 มีหมายศาลให้ตัวแทนทั้ง 15 คนขึ้นศาลโดยอ้างว่าพาพวกปิดถนนหน้าบริษัท ศาลมีคำสั่งกักขังตัวแทนทั้ง 15 คน ตั้งแต่วันที่ 9-16 ก.พ. โดยล่าสุดได้ประกันตัวตัวแทนผู้หญิง 2 รายซึ่งถูกฝากขัง 2 วัน แต่ตัวแทนชายอีก 13 คนยังไม่ได้รับการประกันตัวและอยู่ในชั้นอุทธรณ์

ชรัม ภ์ บุญสังข์ สมาชิกสหภาพแรงงานฟูจิตสึฯ ซึ่งเป็นผู้ดูแลขบวนของคนงานฟูจิตสึในครั้งนี้ กล่าวว่า การกระทำของนายจ้างนั้นขัดแย้งกัน ทั้งที่เมื่อตกลงเรื่องข้อเรียกร้องไม่ได้ นายจ้างเป็นฝ่ายปิดงานก่อน ลูกจ้างจึงมีมตินัดหยุดงาน แต่นายจ้างได้อ้างต่อศาลว่าจะฟ้องร้องแกนนำที่ทำให้กิจการได้รับความเสีย หาย 

นอกจากนี้ ชรัมภ์กล่าวถึงสำนักงานส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ด้วยว่าขณะที่มุ่งส่งเสริมการลงทุน แต่กลับไม่เคยตรวจสอบเลยว่าคนงานซึ่งทำงานอย่างเหนื่อยยากได้อะไรตอบแทนบ้าง

ส่วนบริษัท พีซีบี เซ็นต์เตอร์ จำกัด หลังบริษัทเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากและเสียชีวิต 3 ราย เมื่อกลางปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ประกาศจ่ายค่าจ้างให้พนักงาน 75% จนกว่าบริษัทฯจะปรับปรุงโรงงานให้แล้วเสร็จ และเปิดทำการใหม่ภายในเดือน ธ.ค. 2553 แต่การจ่ายค่าจ้างกลับผิดนัดมาตลอด และวันที่ 21 ม.ค.2554 บริษัทฯ ก็ประกาศปิดกิจการเลิกจ้างพนักงานทุกคน แต่ไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย

ตัวแทนพนักงานบริษัท พีซีบี เซ็นต์เตอร์ จำกัด อายุงาน 14 ปีกล่าวว่า นายจ้างได้ยื่นข้อเสนอจ่ายเงิน 6 ล้านบาทให้พนักงาน 500 กว่าคน ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมาย โดยเมื่อคำนวณค่าชดเชยบวกกับค่าค้างจ่ายต่างๆ แล้ว พวกตนควรจะได้รับเงินทั้งสิ้นประมาณ 61 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากจะอ้างว่าไม่มีเงินจ่าย พวกตนก็พร้อมเจรจาลดหย่อน โดยที่ผ่านมาเคยขอเป็น 20 ล้านบาทแล้ว แต่ก็ไม่เคยมีการเจรจาใดๆ เกิดขึ้น ที่ผ่านมาได้ยื่นหนังสือถึงนายกฯ 1 ครั้งและกระทรวงแรงงาน 2 ครั้งแล้วแต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหา

ทั้งนี้ ตัวแทนของพนักงานบริษัทพีซีบี เซ็นต์เตอร์ ระบุด้วยว่า พนักงานแต่ละคนที่ถูกลอยแพนั้น อายุงาน 10 กว่าปีขึ้นไปทั้งสิ้น แต่ละคนอายุ 35-44 ปี หางานใหม่ก็คงจะยาก สำหรับการเรียกร้องครั้งนี้ โชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพอื่นๆ บริจาคเงินช่วยเหลือด้วย

ตลอด เส้นทาง มีการแจกเอกสารและประกาศชี้แจงกับผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นระยะๆ ถึงสาเหตุของการเดินขบวนครั้งนี้โดยแถลงการณ์ร่วมของลูกจ้างทั้งสามบริษัท ระบุ ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้

1.  กรณี ของบริษัทแม็กซิสฯและฟูจิตสึฯ ให้หาข้อยุติในข้อพิพาทแรงงานที่เกิดขึ้นเพื่อให้พนักงานได้กลับไปทำงานทุก คน และให้นายจ้างยอมรับการรวมตัวของลูกจ้างในสถานประกอบการ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดำเนินการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอย่างจริงจัง

2. กรณีบริษัทพีซีบีฯให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน2541กรณี ปิดกิจการเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ให้ดำเนินคดีกับนายจ้างกรณีเกิดเพลิงไหม้มีผู้เสียชีวิตและกรณีนายจ้างค้าง จ่ายค่าจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชย

3. ให้ รัฐบาลทบทวนนโยบายส่งเสริมการลงทุนกรณีที่นายทุนต่างชาติมาลงทุนแต่ไม่ ให้ความเป็นธรรมกับแรงงานและนำแรงงานข้ามชาติมาทำงานอย่างผิดกฎหมายทั้งๆที่ แรงงานไทยก็ไม่ได้ขาดแคลนตามที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้นายทุนรับแรงงานข้ามชาติ มาทำงานแทนแรงงานไทย เพราะรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนและต้องการเห็นคุณภาพชีวิตของคนทำงานมี คุณภาพชีวิตที่ดี แต่ไม่ดูแลลูกจ้างที่ถูกละเมิดสิทธิอย่าปล่อยให้นายทุนข้ามชาติที่ไม่มี คุณธรรมและจริยธรรมมาเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างแรงงานไทย ซึ่งขัดกับนโยบายที่รัฐให้ไว้กับประชาชน

(ประชาไท, 15-2-2554)

ตม.บุกจับแรงงานต่างชาติ บ.แม็กซิสฯ ส่วนคนงาน 3 บริษัท เดินเท้าบุก BOI

เมื่อวันที่ 15 ก.พ.เวลาประมาณ 10.30 น. ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองบุกตรวจค้น บริษัท แม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 300/1 ม. 1 ต.ตา สิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง พบแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาเข้าเมืองผิดกฎหมายจำนวนมาก และชาวไต้หวันใช้วีซ่าท่องเที่ยวเข้ามาทำงานจำนวนหนึ่ง แม้พึ่งบุกตรวจค้นเมื่อวานนี้พบแรงงานผิดกฎหมายกว่า 70 คน ศูนย์ตรวจสอบปราบปรามดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานและกระบวนการค้า มนุษย์ หรือศป.รต.(ภาคกลาง) ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จำนวน 20 นาย เดินทาง บุกจับกุมแรงงานข้ามชาติ ซึ่งจากการสอบปากคำพบว่าแรงงานชาวกัมพูชาทั้งหมดได้ลักลอบเดินทางเข้ามาทำ งานผ่านชายแดนจังหวัดสระแก้วและจันทบุรีเพื่อมาขายแรงงานในประเทศไทย โดยพบว่าแรงงานส่วนใหญ่จะเป็นชาวกัมพูชา ลาว และพม่า  จึง ดำเนินคดีในข้อหาทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตและหลบหนีเข้าเมืองโดยผิด กฎหมาย ส่งตัวให้พนักงานสอบสวน สภ.ปลวกแดง ดำเนินคดีตามกฎหมาย ก่อนส่งแรงงานต่างด้าวที่จับได้ออกนอกราชอาณาจักรต่อไป

ที่ เกิดเหตุพบคนงานทั้งไทยและ ต่างด้าวจำนวนมาก กำลังทำงานอยู่ในโครงการก่อสร้างดังกล่าว เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่บางคนถึงกับวิ่งหนีเข้าสวนยางพาราที่อยู่ใกล้เคียง แต่เจ้าหน้าที่สามารถติดตามจับกุมแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาทั้งชายและหญิง ที่ไม่มีใบอนุญาต ทำงานได้รวม 72 คน โดยเป็นชาวพม่า 17 คนและชาวกัมพูชา 55 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นคนงานของบริษัทรุ่งฟ้าเสริม คอนสตรั่คชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างให้กับบริษัทแม็กซิส
 
แหล่งข่าวรายหนึ่งในพนักงานบริษัทแม็กซิสระบุหนูเห็นตำรวจเข้ามาตรวจที่โรงงานมาสองวันแล้ว เห็นจับคนงานชาวกับพูชาที่เข้ามาแบบผิดกฎหมายทั้งสองวันน่าจะร่วม 100 คน และยังเห็นจับชาวไต้หวันที่ใช้วีซ่าท่องเทียวได้อีกจำนวนหนึ่งและกล่าวต่อ อีกว่า วันนี้ตอนตำรวจเข้ามาตรวจมีฝนตกหนัก ตอนที่ตำรวจเดินเข้ามามีชาวไต้หวันเห็นตำรวจตกใจวิ่งหนีตำรวจปีนกำแพงโรงงาน สูงเกือบ 2 เมตรหวังหนี ไม่รู้ปีนได้ยังไง นี่ละมั่งที่เขาว่า หนีลืมตาย
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า คนงานชาวกัมพูชาที่ถูกจับเป็นคนงานที่เข้ามาทำงานก่อสร้างในโรงงานแห่งใหม่ ด้านหลังโรงงาน ไม่จริงหลอกพี่คนงานก่อสร้างที่ไหน ใส่ชุดพนักงานแม็กซิส
 
นายหมู (นามสมมุติ) กล่าวว่า ทำงานในบริษัทแม็กซิสในตำแหน่งรองหัวหน้างานมาเกือบ 6 ปี ในขบวนการผลิตแต่ละวันตั้งแต่การขึ้นรูปยางเรียกว่ามือ เริ่มตั้งแต่การนำยางดิบ(ยางพารา)มา 200 กิโลกรมผสมกันเป็นขบวนการผลิต ใช้เวลามือละ 1.45 นาที มือละ 2 บาท หากผลิตได้ 217 มือ หากได้ 218 มือขึ้นไปจะได้เบี้ยพิเศษซึ่งเดือนไหนที่คนงานทำงานล่วงเวลามากๆจะได้เงิน พิเศษหลายพันบาททีเดียวอย่างตัวเองได้ค่าแรงวันละ 300 บาท ทำล่วงเวลาบวกเบี้ยขยันรับเงินตกเดือนละ 30,000 บาท

การ ที่นายจ้างปรับสภาพการทำงานก็จะ ทำให้ถูกลดเบี้ยลงรายได้คนงานจะต่ำไป ด้วย ซึ่งขณะนี้นายจ้างได้นำแรงงานกัมพูชามาทำงานหลายร้อยคน แค่แผนกตนมี 100 คน บริษัทมี 2 โรง และกำลังสร้างใหม่อีก ส่วนค่าจ้างแรงงานกัมพูชาจะได้รับวันละ 185 บาท นายจ้างจัดสวัสดิการมีหอพักกับรถรับส่ง ซึ่งสหภาพแรงงานแม็กซิสได้ขอปรึกษานายจ้างให้จ่ายเบี้ยพิเศษให้กับแรงงาน ข้ามชาติด้วยในแง่ของคนทำงานเหมือนกันเราไม่ได้คำนึงว่ามาจากชาติไหน นายจ้างควรจ่ายสวัสดิการให้เท่ากัน ซึ่งนายจ้างได้ตกลงจ่ายเบี้ยพิเศษให้ร้อยละ 70 โดย ให้ความเห็นว่า เขาเป็นแรงงานข้ามชาติให้ได้แค่เท่านี้ แต่วันนี้เห็นมีการไล่จับแรงงานข้ามชาติในโรงงานก็ตกใจเหมือนกัน เพราะเขามีการจ้างงานมานานมีการบรรจุเป็นพนักงานประจำมีสลิปเงินเดือน ทำไมจับ นายหมูกล่าว
 
วันนี้(16 ก.พ.54) คนงาน 3 บริษัทเกือบ 2,000 คนได้เดินเท้าตามถนนวิภาวดีไปสำนักงานส่งเสริมการลงทุน(BOI) เพื่อยื่นหนังสือให้มีการตรวจสอบกรณีบริษัทแม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ตั้งอยู่เลขที่ 300/1 ตำบลตาสิทธิ์ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ที่ผลิตยางรถยนต์ และได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากBOI เมื่อปี 2550 เป็นต้นมา

นาย ชัยรัตน์ บุษรา ประธานสหภาพแรงงานแม็กซิส ประเทศไทยกล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขการสนับสนุนการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ เรื่องการขออนุญาตให้ใช้แรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือในโครงการที่ได้รับการส่ง เสริมการลงทุน ซึงบริษัทได้กระทำผิดเงื่อนไขการลงทุนได้มีการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามางานแบบ เดียวกันกับคนงานไทย จึงต้องขอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติการนำแรงงานข้ามชาติมาทำงานอย่าไม่ถูก ต้องของบริษัท ซึ่งขณะนี้กลายเป็นการใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองกับสหภาพแรงงานโดยการปิด งาน ไม่ยอมเจรจาจนเกิดการพิพาทแรงงานรวมถึงการยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพแรงงาน เพื่อปรับสภาพการจ้างแรงงานไทยใหม่
 
ทั้งนี้ ประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เรื่องอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการ ลงทุน เพื่อการลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับปฏิบัติการในภาคอุตสาหกรรมในโครงการ ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 1 มาตรา 16 และมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่ง เสริมการลงทุน เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2553 จังออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในโครงการ ที่ได้รับการส่งเสริมดังต่อไปนี้

1. จะต้องเป็นบริษัทที่ลงทุนในประเทศไทยมากกว่า 20 ปี มีสินทรัพย์รวมมากกว่า 10,000 ล้านบาท และจ้างงานรวมมากกว่า 10,000 คน

2. จะ ต้องเป็นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมอยู่เดิมที่สิ้นสุดการได้รับ สิทธิและประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว และมีความจำเป็นต้องจ้างแรงงานเพิ่มในโครงการ โดยสำนักงานจะอนุญาตให้จ้างแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนคนงานที่จ้างเพิ่มในโครงการนั้น

3. จะต้องเป็นกิจการอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่ครอบคลุมธุรกิจเกษตรกรรม และธุรกิจบริการ

4. จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวกับการใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในด้านต่างๆของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

5. จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่สำนักงานกำหนด และต้องยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงานก่อนการใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในโครงการ

6. หลัก เกณฑ์ข้างต้นจะถือเป็นแนวทางในการพิจารณาอนุญาตให้ใช้แรงงาน ต่างด้าวไร้ฝีมือ ทั้งนี้ สำนักงานอาจประกาศยกเลิกหรือปรับลดจำนวนแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือได้ตามความ เหมาะสมเมื่อหมดความจำเป็นหรือสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

และในวันเดียวกัน(วันที่ 16 ก.พ.) นายจ้างและสหภาพแรงงานแม็กซิสฯจะมีการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครั้งที่ 15 เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงแรงงาน

(นักสื่อสารแรงงาน, 16-2-2554)

เฉลิมชัยหนุนผู้ประกันตนใช้สิทธิบัตรทอง

เมื่อ วันที่  16 ก.พ.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า   ที่ กระทรวงแรงงาน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน กล่าวถึงกรณีที่มีการเปรียบเทียบระบบการให้บริการทางการแพทย์ของสำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ว่า แต่ละระบบมีเจตนาและวัตถุประสงค์ในการดูแลคนในแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกันไป ซึ่งการดูแลสวัสดิการด้านต่างๆ ให้กับคนทำงาน ไม่เฉพาะด้านรักษาพยาบาล เมื่อเจ็บป่วย แต่ผู้ประกันตนยังได้การดูแลในเรื่องอื่น อาทิ เงินทดแทนเนื่องจากทุพพลภาพ ตาย และเงินที่จ่ายให้เพื่อช่วยเหลือเลี้ยงดูบุตร ที่เป็นเงินสงเคราะห์บุตร และชราภาพ รวมทั้งประกันการว่างงาน เมื่อต้องออกจากงาน  สิ่งเหล่านี้ถือเป็นจุดแข็งของประกันสังคม ที่ประกันสังคมพยายามทำให้เกิดความสมบูรณ์
 
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ตนได้หารือกับนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รมว.สาธารณสุข ที่จะทำงานร่วมกันในการให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาได้ในทุกโรง พยาบาลของรัฐ นอกเหนือจากโรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกที่ระบุตามบัตร เพื่อให้เกิดความคล่องตัว รวมถึงการให้บริการรักษาโรคร้ายแรงที่จะมีเงินพิเศษสนับสนุนให้กับโรงพยาบาล ที่รับดูแลผู้ประกันตน เพื่อที่จะไม่เกิดปัญหาการส่งต่อ บ่ายเบี่ยงการรักษา ที่จะพยายามให้มีความชัดเจนในเม.ย.นี้
 
 นายเฉลิมชัย  ยังกล่าวถึงปัญหา ความเหลื่อมล้ำ ของระบบสุขภาพที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงิน ขณะที่ประชาชนทั่วไปไม่ต้องจ่ายเงิน ว่า ส่วนตัวอยากจะเปิดกว้างให้ผู้ประกันตนมีสิทธิตัดสินใจในการเลือกระบบการ รักษา ที่หากใครเห็นว่าระบบใดดีกับตนเองก็เลือกระบบนั้นๆ ที่คนทำงานสามารถที่จะเลือกรับบริการรักษาในระบบ สปสช.ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องคุยกันยาว รัฐบาลต้องดูภาพรวมในเรื่องงบประมาณที่หากผู้ประกันตน ใช้สิทธิ สปสช.ที่จะมีคนเข้าสู่ระบบ สปสช.เพิ่มขึ้น รัฐบาลต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นมาก จึงเป็นเรื่องใหญ่ และต้องเป็นนโยบายของรัฐบาล ไม่ใช่แค่การตัดสินใจของกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ปัจจุบันรัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคมในส่วนของรักษาพยาบาลให้ กับผู้ประกันตน 800 บาทต่อคนต่อปี และจ่ายให้กับระบบ สปสช.ประมาณ 2,400 บาทต่อคนต่อปี  จึงมีส่วนต่างประมาณ 1500 บาทต่อคนต่อปี ถือเป็นค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณที่เพิ่มขึ้นมากทีเดียว
 
 (เดลินิวส์, 16-2-2554)

คนทำงาน ตปท. เสนอเพิ่มมาตรการลงโทษบริษัทหลอกลวง

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 54 ที่ ผ่านมา โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยได้จัดเวทีระดมความคิดเพื่อจัดทำข้อเสนอร่าง กฎหมายคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ในส่วนของแรงงานไทยไปต่างประเทศ ที่เทศบาลตำบลหนองไผ่ อ.หนองหาน จ. อุดรธานี โดยมีอดีตคนงานไทยที่เคยไปทำงานต่างประเทศในเขตภาคอีสานเข้าร่วมเวทีเสวนา

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ได้นำเสนอปัญหาการค้าแรงงานไทยไปต่างประเทศในปัจจุบัน โดยเล่าถึงความคืบหน้ากรณีการฟ้องร้องของแรงงานไทยกับบริษัทจัดหางานในกรณี ของสวีเดน สเปน ที่กำลังอยู่ในชั้นศาล ส่วนกรณีของโปแลนด์ที่บริษัทจัดหางานกำลังยื่นอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานตรวจ แรงงานอยู่

ทั้งนี้สุธาสินี ได้อธิบายถึงความสำคัญของวิธีการจัดส่งคนไปทำงานต่างประเทศ ตาม พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน นั้นมันมี 5 ช่องทาง (1. กรมการจัดหางานส่งไป (ไม่เสียค่านายหน้า) 2.เดินทางไปกับบริษัทจัดหางาน (เสียค่านายหน้า)  3. เดินทางไปทำงานด้วยตัวเอง (ไม่เสียค่านายหน้า) 4.นายจ้างในประเทศไทยพาคนงานไปทำงาน (ไม่เสียค่านายหน้า) 5.นาย จ้างในประเทศไทยพาคนงานไปฝึกงาน (ไม่เสียค่านายหน้า) ซึ่งคนงานที่จะไปทำงานต่างประเทศมักจะไม่ทำการศึกษาวิธีการต่างๆ ทำให้ถูกหลอกลวงได้ง่าย

ใน ช่วงบ่ายของการเสวนาได้มีการระดม ความคิดเพื่อจัดทำข้อเสนอ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานข้ามชาติ (ฉบับคู่ขนาน) ในส่วนแรงงานไทยไปต่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการหลอกแรงงานไทยไปต่างประเทศ โดยปัญหาการเก็บค่าหัวคิวเกินจริงนั้นคนงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศเสนอว่า ควรให้ยกเลิกบริษัทจัดหางานเอกชนและให้รัฐจัดส่งแทน ตั้งเป็นหน่วยงานด้านการจัดส่งคนไทยไปทำงานต่างประเทศ มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราที่ต่ำ จัดเก็บเข้ารัฐไม่ต้องเข้ากระเป๋าเอกชน ซึ่งจะเป็นการตัดช่องทางการหลอกลวงคนงานได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่สุด 

นอก จากนี้ยังมีข้อเสนอให้มีการ ปฏิรูปกองทุนเงินทดแทน ทั้งด้านระยะเวลาการครอบคลุมเมื่อคนงานกลับมายังประเทศไทยแล้วเกิดอาการเจ็บ ป่วย (เสนอให้ยืดเวลาออกไปอีก 6 เดือน) มีการจ่ายเงินให้กับคนงานอย่างเหมาะสม รวมถึงการขยายสิทธิประโยชน์ให้มากกว่าเดิม การปรับปรุงเรื่องระยะเวลาของกระบวนการทางกฎหมาย คนงานมิสิทธิยื่นคัดค้านการอุทธรณ์ของบริษัทจัดหางานได้ และเสนอให้คดีหลอกลวงแรงงานเป็นคดีพิเศษที่มีการสืบสวนสอบสวนในระยะเวลาที่ เป็นธรรมแก่คนงาน

มี การตรวจสอบข้าราชการของกระทรวงแรง งาน ในเรื่องของความสัมพันธ์กับบริษัทจัดหางาน ไม่ว่าจะเป็นเครือญาติ ตัวแทน และเส้นทางการเงินต่างๆ โดยคนงานเสนอว่าข้าราชการกระทรวงแรงงานจะต้องไม่มีความสัมพันธ์กับธุรกิจจัด หางานโดยเด็ดขาด และข้อเสนอบทลงโทษแก่บริษัทจัดหางานที่มีการหลอกลวงคนงาน ควรเป็นบทลงโทษที่หนักคือขึ้นบัญชีดำบริษัทหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทางเครือ ข่ายเส้นทางทางการเงินต่างๆ ไม่ให้สามารถกลับมาทำธุรกิจจัดหางานได้อีก

(ประชาไท, 17-2-2554)

เตรียมนำเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจำนวน 13.3 ล้านบาท มาเยียวยาลูกจ้างบริษัท พีซีบี เซ็นเตอร์

นาง อัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า จากการที่กลุ่มแรงงานภาคตะวันออกประกอบด้วยบริษัท แม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย บริษัท ฟูจิตสึ เจเนอรัล ประเทศไทย และบริษัท พีซีบี เซ็นเตอร์ ปักหลักชุมนุมหน้าบริเวณกระทรวงแรงงาน กรมฯ ได้มอบหมายให้คณะทำงานที่ปรึกษาด้านแรงงานสัมพันธ์นัดตัวแทนนายจ้าง และลูกจ้างทั้ง 3 บริษัท เข้าเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพื่อหาข้อยุติร่วมกันไปแล้ว ซึ่งผลจากการเจรจา ของบริษัท พีซีบี เซ็นเตอร์ กรมฯ จะเข้าไปช่วยเหลือก่อนในเบื้องต้นโดยแรงงานกลุ่มนี้จะได้รับเงินชดเชย และเงินอื่นๆจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างรวมประมาณ 13.3 ล้านบาท ภายในวันที่ 7 มีนาคมนี้ หากนายจ้างไม่ยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 6 มีนาคมนี้ และให้ลูกจ้างรีบไปขึ้นทะเบียนคนว่างงานที่สำนักงานประกันสังคม เพื่อจะได้รับเงินช่วยเหลือกรณีว่างงานอีกร้อยละ 50 ของ อัตราเงินเดือนสุดท้าย และหากต้องการฝึกอบรมด้านอาชีพ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็จะให้สิทธิ์มาลงทะเบียนฝึกอบรม พร้อมทั้งจะได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 120 บาท

อธิบดี กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรง งาน กล่าวอีกว่า จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเพื่อเป็นตัวแทนของลูกจ้างในการ ติดตาม ฟ้องร้อง แจ้งความดำเนินคดีกับนายจ้างอีกด้วย ส่วนที่เหลืออีก 2 บริษัท ยังคงตกลงกันไม่ได้ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงเวลาทำงาน การปรับเงินค่าจ้างและโบนัสประจำปี รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ลูกจ้างจะได้รับ ซึ่งจะมีการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกับนายจ้างอีกครั้ง เพื่อจะหาข้อยุติให้ได้โดยเร็วที่สุด

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 17-2-2554)

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจประกาศร่วมชุมนุมกับ "พันธมิตรฯ" เป็นทางการ

ผู้ สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการชุมนุม ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตย ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ในช่วงเย็นของวันนี้ ยังคงมีการปราศรัยเหมือนวันที่ผ่านๆมา สลับกับการเล่าข่าวและการแสดงดนตรี ขณะที่ผู้ร่วมชุมนุมก็ยังมีไม่มากนักเนื่องจากเป็นวันหยุดยาว โดยมากจะเป็นขาประจำที่จับจองพื้นที่หน้าเวทีเพื่อรับฟังการปราศรัย ทั้งนี้ประเด็นยังคงเป็นเรื่องการกล่าวหาว่ากัมพูชาต้องการที่จะรุกล้ำและ ยึดดินแดนไทย แต่รัฐบาลกลับไม่ทันเกมและต้องทำตามกัมพูชา นอกจากนี้ยังโจมตี พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 ว่า มีผลประโยชน์ในการค้าขายระหว่างไทยกับกัมพูชา จนไม่ทำหน้าที่ ทั้งนี้วันนี้ทางแกนนำได้งดแถลงข่าวประจำวันทั้งช่วงเช้าและเย็นโดยระบุว่า เป็นวันมาฆบูชา จึงไม่ต้องการแถลงข่าวโจมตีใคร ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันนี้สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ นำโดยนายศิริชัย ไม้งาม และนายสาวิทย์ แก้วหวาน ได้ประกาศตัวร่วมกับการชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็นครั้งแรกในการชุมนุมครั้งนี้หลังจากก่อนหน้านี้ ไม่ได้เข้าร่วมอย่างเป็นทางการ ต่างจากการชุมนุมในครั้งก่อนๆที่ สรส.มักจะเป็นอีกกลุ่มมวลชนหลักและร่วมต่อสู้มาตั้งแต่ต้น

ขณะ ที่การชุมนุมของกลุ่มเครือข่าย ประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่ของกลุ่มกองทัพธรรมนั้น ตลอดทั้งวันนี้ที่เป็นวันมาฆบูชา ก็ได้มีการแสดงธรรมจากสมณะของสันติอโศก และในช่วงเย็นก็มีการแสดงธรรมของสมณโพธิรักษ์

สำหรับ การรักษาความปลอดภัยนั้นเจ้า หน้าที่ตำรวจยังคงตรึงกำลังอยู่ในบริเวณ ทำเนียบรัฐบาลเหมือนเช่นวันที่ผ่านๆมา แต่ก็มีท่าทีที่ผ่อนคลายหลังจากที่ยังไม่มีคำสั่งให้สลายการชุมนุม

(เนชั่นชาแนล, 18-2-2554)

สำนักประชาสัมพันธ์เชียงใหม่ จัดคอนเสิร์ตใหญ่ "เพื่อแรงงานอพยพ

นางจินตนา สิงห์สุรเมธ ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในวันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554 สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 กำหนดจัดคอนเสิร์ตสานวัฒนธรรมพื้นบ้าน...เพื่อแรงงานต่างด้าวตามโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 3 สัญชาติ ประจำปี 2554 โดย ในปีนี้ เน้นการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกรูปแบบทั้งสื่อวิทยุ โทรทัศน์และสื่อกิจกรรม เพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติกฎหมายและ ระเบียบต่างๆ ของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานอพยพ

ทั้งนี้ ภายในงานชมการแสดงพิธีเปิดชุด สานสัมพันธ์ 2 วัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา ไทใหญ่การแสดงดนตรีจากศิลปินไทใหญ่ที่มีชื่อเสียง เจิงหาญการให้ความรู้ความเข้าใจ "รอบรู้เรื่องแรงงานต่างด้าวจาก วิทยากรสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ และจะมีการร่วมตอบคำถามปัญหาแรงงานต่างด้าวโดยพิธีกรไทใหญ่ที่มีชื่อเสียง พร้อมรับของรางวัลมากมาย โดยงานนี้เปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรี และจะมีการถ่ายทอดเสียงทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัด เชียงใหม่ ระบบ A.M. 1476 KHz เริ่มถ่ายทอดเสียงตั้งแต่เวลา 20.30 น. ผู้สนใจสามารถไปร่วมงานได้ตั้งแต่เวลา 18.00 - 23.00 น. ณ ลานสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 เชียงใหม่ ต.ช้างคลาน อ.เมืองเชียงใหม่

(ประชาไท, 18-2-2554)

เจรจากลุ่มแรงงานตะวันออกไม่คืบ นัดถกใหม่สัปดาห์หน้า

จาก กรณีที่ได้มี การเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกับม็อบตะวันออก ที่ประกอบด้วยลูกจ้างจากบริษัท แม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (ผลิตยางรถยนต์) บริษัท ฟูจิตสึ เจเนอรัล ประเทศไทย (ผลิตชิ้นส่วนและประกอบเครื่องปรับอากาศ) บริษัท พีซีบี เซ็นเตอร์ (ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์) จากเหตุที่นายจ้างปิดโรงงานจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานแทน ทำให้ต้องเดินทางเข้ามาที่กระทรวงแรงงาน (14 ก.พ.) เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการประชุมกัน 3 ฝ่าย แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้
      
ล่าสุด นายธานินทร์ ใจสมุทร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมทีมงาน พบกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานภาคตะวันออกที่ชุมนุมบริเวณหน้ากระทรวงแรงงาน พร้อมแจ้งความคืบหน้าการดำเนินงาน โดย กรณีบริษัท พีซีบี ซึ่งคณะกรรมการสงเคราะห์ลูกจ้างได้พิจารณาจะจ่ายเงินสงเคราะห์จากกองทุนฯ กรณีอื่นนอกจากค่าชดเชย จำนวน 492 คน เป็นเงินกว่า 5 ล้านบาทในวันที่ 7 มี.ค.นี้  , กรณีบริษัท ฟูจิตสึ นัดนายจ้างมาเจรจาในวันจันทร์ที่ 21 ก.พ.นี้ เวลา 13.00 น. ที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และบริษัท แม็กซิส จะมีการเจรจาอีกครั้งในวันอังคารที่ 22 ก.พ.นี้ ทั้งนี้ยืนยันว่ากระทรวงแรงงานมีความห่วงใยและเข้าใจในความเดือนร้อนของผู้ ใช้แรงงาน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 18-2-2554)

จี้แก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม-ไม่ขยายสิทธิบุตร-คู่สมรส

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. น.ส.ณัฐกานต์ กิจประสงค์ ผู้ประสานงานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน เปิดเผยภายหลังเดินทางเข้าพบนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว. แรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐสภา ว่า ชมรมฯและเครือข่าย ได้ยื่นหนังสือขอให้ปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อขอความเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกันตน โดยเฉพาะในประเด็นการบริการด้านสุขภาพ เนื่องจากที่ผ่านมา เป็นระบบเดียวที่ต้องจ่ายเงินสมทบ แต่สิทธิประโยชน์ ด้านนี้กลับไม่เท่าเทียมกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรรักษาฟรี โดยข้อเสนอในการปรับแก้กฎหมายประกันสังคม คือต้องการให้มีการดำเนินการตามมาตรา 21 โดยให้ยกเลิกความในมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2542 แต่ ให้ปรับแก้โดยในส่วนของการรักษาพยาบาลให้เป็นสิทธิของบัตรรักษาฟรีดูแล หรือจะร่วมกันจัดตั้งกองทุนใหม่ที่มีการพัฒนาร่วม ส่วนมาตรา 40 ที่มีการแก้ไขขยายสิทธิประกันสังคมครอบคลุมคู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตน ประมาณ 5.88 ล้าน คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องถ่ายโอนมาจากระบบบัตรรักษาฟรีนั้น เรื่องนี้ชมรมฯเรียกร้องให้มีการถอดถอนแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เนื่องจาก ถือว่าไม่เป็นธรรม

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ประเด็นการขยายสิทธิประกันสังคมครอบคลุมไปยังคู่สมรสและบุตรนั้น เป็นเรื่องที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบอร์ด สปสช. มีมติไปก่อนหน้านี้แล้วว่าไม่ควรดำเนินการ.

(ไทยรัฐ, 18-2-2554)

'บีโอไอ'รับประสานงานช่วยพนง.แม็กซิสพร้อมสั่งตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที'เฉลิมชัย'มั่นใจเคลียร์ปัญหาได้แน่

นางหิรัญญา สุจินัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บี โอไอ)เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมและรับฟังข้อร้องเรียนของตัวแทนกลุ่ม พนักงานบริษัท แม็กซิส อินเตอร์ เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทพีซีบีเซ็นต์เตอร์ จำกัด และบริษัท ฟูจิตสึ เจเนอรัล(ประเทศไทย) จำกัด รวมจำนวนประมาณ 300 คนเพื่อเรียกร้องให้บีโอ ไอตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณี บริษัท แม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด นำแรงงานข้ามชาติและแรงงานเหมาค่าแรงมาทำงานแทนแรงงานไทย ทำให้พนักงานได้รับความเดือดร้อน และไม่เป็นไปตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนของ บีโอไอ ว่า ได้มอบหมายให้นายเจษฎา ศรศึก ผู้อำนวยการระดับสูง ทำหน้าที่ประสานงาน ระหว่างกลุ่มพนักงานที่ได้รับความเดือดร้อน กับบริษัท แม็กซิส เพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งสามารถดำเนินการตรวจสอบทันที ว่ามีการจ้างแรงงานข้ามชาติหรือไม่

"ปัญหา เรื่องแรงงานข้ามชาติเป็นสิ่ง สำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะตามนโยบายของบีโอไอ ผู้ได้รับส่งเสริมจะต้องดำเนินการจ้างแรงงานไทยเป็นหลัก จึงจะส่งผลดีต่อภาพรวมของประเทศ"นางหิรัญญา กล่าว

นอก จากนี้ บริษัท แม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทพีซีบี เซ็นต์เตอร์ จำกัด และบริษัท ฟูจิตสึ เจเนอรัลประเทศไทย จำกัด ยังเสนอให้บีโอไอช่วยประสานหาทางออกเรื่องการปลดพนักงาน และการจ่ายค่าชดเชยแรงงานที่ไม่ได้รับความเป็นด้วย

ทั้ง นี้ ที่ผ่านมาบีโอไอได้ขอความร่วมมือสถานประกอบการ ในการประวิงเวลาการเลิกจ้างงานมาโดยตลอด ตั้งแต่ช่วงภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา โดยบีโอไอได้ขอร้องให้หลายบริษัท ใช้แนวทางอื่นๆ เช่น ลดเวลาทำงาน ลดชั่วโมงทำงาน การเพิ่มวันหยุดจากปกติ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือด้วยดี จากผู้ประกอบการหลายกลุ่ม

ด้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ชุมนุมบริเวณด้านหน้า กระทรวงแรงงาน มั่นใจว่าถ้าทุกฝ่ายวางข้อจำกัดของตนลง ไม่ปิดช่องทางการเจรจา  ไม่กดดันอีกฝ่ายหนึ่ง  มีความยืดหยุ่นรับฟังซึ่งกันและกัน  การเจรจาต่อรองย่อมมีหนทางยุติภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย

นายเฉลิมชัย  ศรีอ่อน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อม นายขภัช  นิมมาน เหมินท์เลขานุการ รมว.รง. นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้รับฟังปัญหาของผู้แทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานภาคตะวันออกจาก 3 บริษัท คือ บริษัท แม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย ผลิตยางรถยนต์ บริษัทฟูจิตสึ เจเนอรัลประเทศไทย ผลิตชิ้นส่วนและประกอบเครื่องปรับอากาศ  และ บริษัทพีซีบี เซ็นเตอร์ ผลิตแผงวงจรอิเลคทรอนิกส์ แรงงาน ที่ประสบปัญหาด้านแรงงานและได้เดินทางมาชุมนุมบริเวณด้านหน้ากระทรวงแรง งานกว่า 1,000 คน เมื่อวันที่  14

กุมภาพันธ์ 2554 เพื่อขอให้กระทรวงแรงงานดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนโดยเร็ว

นายเฉลิมชัยฯกล่าวว่า  กรณีปัญหาของผู้ใช้แรงงานทั้ง 3 บริษัท นั้น ได้รับทราบและมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงไปดำเนินการแก้ไขปัญหา อย่างต่อเนื่อง พบว่าในการเจรจาหลายครั้งยังไม่สามารถตกลงกันได้จนกระทั่ง กลุ่มผู้ใช้แรงงานเดินทางมาชุมนุมบริเวณหน้ากระทรวง  ซึ่งได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลอำนวยความสะดวกในความจำเป็นเบื้อง ต้นในเรื่องเต็นท์  น้ำเพื่อการบริโภคอุปโภค  รถสุขาเคลื่อนที่  รถพยาบาลพร้อมเจ้าหน้าที่  รวมถึงถังขยะพร้อมอุปกรณ์  เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านความเป็นอยู่ในขณะที่ชุมนุมฯและได้รับฟังปัญหา และรับมอบหนังสือร้องเรียนว่าถูกนายจ้างละเมิดสิทธิแรงงาน  ซึ่งแต่ละกลุ่มใน3 บริษัท  มีสภาพปัญหาข้อพิพาทแรงงานที่แตกต่างกันและอยู่ระหว่างนัดเจรจากับฝ่ายนาย จ้าง  เพื่อไกล่เกลี่ยประนีประนอม   ซึ่งกรณีบริษัท ฟูจิตสึมีสถานการณ์ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากนายจ้างได้แจ้งความดำเนินคดีกับกรรมการสหภาพแรงงาน 16 คน ทำให้การเจรจาค่อนข้างยากลำบาก  แต่จะได้เร่งดำเนินงานให้  ซึ่งการเจรจาครั้งล่าสุดในวันนี้(15 กุมภาพันธ์  2554 )ยังตกลงกันไม่ได้  ส่วนกรณีบริษัทแม็กซิสฯ มีนัดเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานในวันพรุ่งนี้ ( 16 กุมภาพันธ์  2554 ) โดยเจ้าหน้าที่ได้ประสานผู้แทนฝ่ายนายจ้างที่มีอำนาจการตัดสินใจคือ นาย Kevin  Chang  รองประธานกรรมการบริษัทแม็กซิส  อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย  เข้าร่วมการเจรจาในช่วงเวลา 10.00 น.  ที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

ส่วนกรณีกลุ่มลูกจ้างบริษัท พีซีบีเซ็นเตอร์  ซึ่ง บริษัทประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและปิดกิจการ นั้น สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินค่าชดเชยจำนวน 51,421,196 บาทค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน6,524,308.10  บาท  ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน  1,212,801.34  บาทเงินตามมาตรา  75 จำนวน 2,790,018.50 บาทรวมเป็นเงิน 61,948,323.94 บาทให้กับลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปิดกิจการจำนวน492 คน คำสั่งดังกล่าวจะเป็นที่สุดวันที่ 8 มีนาคม2554 ทำ ให้นายจ้างต้องยอมรับสภาพการเป็นหนี้กับกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง โดยทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะพิจารณาการจ่ายเงินสงเคราะห์จากกอง ทุนฯ กรณีอื่นนอกจากค่าชดเชย (ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า  ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและเงินตามมาตรา 75) เป็นเงิน 5,534,318.50 บาท  ซึ่งเป็นจำนวนเงินตามคำสั่งและไม่เกินคนละ 60 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันที่ลูกจ้างพึงได้รับตามกฎหมาย และการยื่นขอรับเงินสงเคราะห์กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน7,802,760 บาท

นายเฉลิมชัยฯ ให้ข้อคิดเห็นต่อกลุ่มผู้ชุมนุมว่า การแก้ไขปัญหานั้นต้องยืนอยู่บนหลักการที่ทั้งสองฝ่ายต้องอยู่ด้วยกันได้  รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา  เพื่อที่จะเข้าใจถึงเหตุผลและเหตุแห่งปัญหา  บนพื้นฐานหลักสุจริตใจ  ลดทิฐิที่มีต่อกัน  ต้องไม่ปิดช่องทางที่จะเจรจากัน  ปัญหาย่อมมีช่องทางในการคลี่คลายได้ตามหลักการเจรจาต่อรอง  ขอ ให้กลุ่มผู้ชุมนุมมีความเชื่อใจและมั่นใจในการดำเนินงานของกระทรวงแรงงาน และการเจรจาพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ต้องคุยกันบนพื้นฐานความพึงพอใจขอทุกฝ่ายทุกปัญหาแรงงานต้องแก้ไขได้ภายใต้ กรอบแห่งกฎหมาย

(พิมพ์ไทย, 19-2-2554)

ค่ายรถโวยรัฐรวบรัดรื้อภาษี ขอยืด 5-7 ปีหวั่นกระทบแรงงาน 2.5 แสนราย

ภาคเอกชนโอดรัฐปรับโครงสร้างภาษีรถ ยนต์ใหม่ ทำลงทุนรถยนต์เบรกหัวทิ่ม กระทบ แรงงาน 2.5 แสนราย ค่ายรถขอวัดใจรัฐบาลยืดเวลาปรับตัว 5-7 ปีให้เวลาตั้งหลัก

นายศุภรัตน์  ศิริสุวรรณางกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  เปิด เผยว่า กรณีรัฐบาลจะปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ยอมรับว่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการค่ายรถยนต์และ อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วน รวมทั้งกระทบต่อแรงงานในระบบกว่า 5.25 แสนคน เนื่องจากค่ายรถยนต์ต้องรอความชัดเจนของโครงสร้างภาษีว่าจะออกมาในรูปแบบ ใด โดยอยากให้รัฐบาลขยายระยะเวลาในการปรับตัวประมาณ 5-7 ปี จากที่คาดว่าจะบังคับใช้โครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ภายใน 2 ปี

ทั้งนี้ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์มีการผลิตขยายตัวอย่างต่อเนื่องสูงถึง 10 เท่าตัว  จากจำนวนการผลิตรถยนต์ 1.4 แสนคัน เพิ่มเป็น 1.4 ล้านคันต่อปี และในปี 2554  คาดว่าจะมียอดผลิตไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านคัน

"ผู้ ประกอบการเห็นด้วยกับทิศทางการ ปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ แต่ต้องการ ให้มีการหารือกันให้ตกผลึกถึงแนวทางและโครงสร้างภาษีใหม่ ทั้งด้านการใช้พลังงาน ปล่อยมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยประมาณ 2-3 ปี หลังจากนั้นให้เวลาในการปรับตัวอีกราว 5 ปี ก่อนบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ขณะที่การบังคับใช้ภายใน 2 ปี อาจทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ต้องสะดุดลง ซึ่งเราไม่ต้องการเห็นอุตสาหกรรมยานยนต์หดตัวลงเหมือนอดีตที่ผ่านมา" นายศุภรัตน์กล่าว

นอก จากนี้ กระทรวงการคลังควรพิจารณาโครงสร้างภาษีรถยนต์ของไทยว่ามีความแตก ต่างจากประเทศอื่นทั่วโลกอย่างไรบ้าง โดยต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น รัฐบาลจะให้เวลาแก่ผู้ประกอบการปรับตัวประมาณ 10 ปี

นายศุภรัตน์กล่าวว่า ผู้ประกอบการกังวลเกี่ยวกับโครงสร้างภาษีใหม่จะมีวิธีการเก็บและพิกัดภาษี มากสุด คือ รถตรวจการณ์ หรือรถปิกอัพ 5 ประตู (พีพีวี) เพราะบางบริษัทได้ลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตไปแล้ว เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาล ได้ส่งเสริมให้ผลิตรถยนต์ดังกล่าว โดยให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีในอัตราพิเศษ หากจัดเก็บภาษีใหม่ก็จะกระทบต่อ ค่ายรถยนต์ เพราะผู้บริโภคจะหันไปซื้อรถยนต์ประเภทอื่นที่มีราคาต่ำกว่า

ทั้ง นี้ ยังมีกลุ่มรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (อีโคคาร์) ที่รัฐบาลส่งเสริมการลงทุนโดยให้สิทธิประโยชน์พิเศษ และขณะนี้ค่ายรถยนต์ หลายรายที่ยืนยันจะลงทุนผลิตอีโคคาร์ไปแล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงก็จะส่งผล ต่อแผนและความเชื่อมั่นด้านการลงทุน โดยขณะนี้ค่ายรถยนต์ยังลงทุนไม่ครบทุกค่าย

แหล่งข่าวจากอุตสหกรรมยานยนต์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการเคยเสนอให้กระทรวงการคลังยืดระยะเวลาออกไป 5-7 ปี เพื่อให้เอกชนได้ปรับตัวรับโครงสร้างภาษีใหม่ก่อน แต่กลับไม่ได้รับการพิจารณา เนื่องจากมองว่าระยะเวลานานเกินไป ขณะที่กระทรวงการคลังต้องการจัดเก็บราย ได้ให้ได้เร็วที่สุด และค่ายรถยนต์ก็เป็นช่องทางที่ดำเนินการได้เร็ว

โดย ปีที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตเก็บภาษีรถยนต์ได้เป็นจำนวนมาก ขณะที่การให้ข่าวของกระทรวงการคลังยังทำให้ผู้ประกอบการลังเลในการลงทุนด้วย

(ไทยโพสต์, 19-2-2554)

รวบหนุ่มใหญ่ เปิดบริษัทตุ๋นแรงงาน

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. เวลา 19.00 น. พ.ต.ท.จิรวัฒน์ ยอดกระโหม สว.สส.สน.โชคชัย แถลงข่าวจับกุมนายวัลลภ สุนทรชีวิน อายุ 46 ปี ชาว จ.สงขลา ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 192/2554 ลงวันที่ 3 ก.พ. ข้อหาหลอกลวงผู้อื่น ว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานต่างประเทศได้ โดยจับกุมได้ที่หน้าบริษัทริชลี่ทัวร์ เลขที่ 344 ซอยชมชื่น ถ.อ่อนนุช ซอย 46 แขวง-เขตสวนหลวง เมื่อเวลา 17.00 น.วันเดียวกัน
      
พ.ต.ท.จิรวัฒน์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2553 นายนิติชัย วิสุทธิพันธุ์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน ได้พาผู้เสียหายกว่า 10 คน เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.โชคชัย ว่าถูกนายวัลลภ ซึ่งขณะนั้นใช้ชื่อว่านายเน็ก หรือแน็ค หรืออเล็ก สุนทร เจ้าของบริษัทเวลตี้ทัวร์ ย่านลาดพร้าว ทำการหลอกลวงประชาชน ว่าสามารถจัดหางานและส่งไปทำงานได้ที่ประเทศเยอรมันและฝรั่งเศส ในตำแหน่งแม่บ้าน รวมทั้งงานด้านเกษตร(บ่มไวน์) ได้เงินเดือนละ 40,000-57,000 บาท ใช้เพียงสำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน และวีซ่า โดยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายคนละประมาณ 30,000-40,000 บาท รวมมูลค่าความเสียหาย กว่า 395,000 บาท โดยบอกว่าใช้ระยะเวลาการดำเนินการประมาณ 4 เดือน
      
พ.ต.ท.จิรวัฒน์ กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นเมื่อถึงเวลากำหนดส่งตัวผู้เสียหายไปทำงาน ปรากฏว่านายเน็ก ไม่สามารถดำเนินการขอวีซ่ามาให้ได้เมื่อผู้เสียหายสอบถาม นายเน็กกลับตอบว่าวีซ่าไม่ผ่าน ก่อนทำการปิดบริษัทหลบหนีไป จากการตรวจสอบโดยกรมจัดหางาน พบว่าไม่ปรากฏชื่อนายเน็ก และบริษัทดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตในการจัดหางาน จึงติดตามจับกุมก่อนควบคุมตัวมาดำเนินคดี เบื้องต้นจากการสอบสวนนายวัลลภให้การรับสารภาพ ควบคุมตัวดำเนินคดีต่อไป

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 19-2-2554)

กต.เผยมีแผนพร้อมช่วยแรงงานไทยที่ติดในลิเบีย-บาห์เรน ยังไม่มีขอกลับ

นาย เจษฎา กตเวทิน รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือแรงงานและคนไทยที่อาศัยอยู่ใน ประเทศลิเบีย และประเทศบาห์เรน ซึ่งกำลังเกิดสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองอยู่ในขณะนี้ ว่า ขณะนี้สถานทูตไทยใน 2 ประเทศ กำลังติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยได้มีการประสานกับกลุ่มคนไทยเพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น หากเหตุการณ์ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

นอก จากนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เข้าไปประชาสัมพันธ์ข้อมูลใน ชุมชนต่างๆ ที่คนไทยอาศัยอยู่ของทั้งสองประเทศแล้ว เพื่อประสานความช่วยเหลือต่อไป

รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของประเทศลิเบีย ซึ่งมีแรงงานไทยกว่า 20,000 คน อาศัยอยู่นั้น ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยเพิ่มความระมัดระวัง พร้อมเตือนว่าไม่ควรเข้าไปในพื้นที่ซึ่งกำลังมีปัญหาความขัดแย้ง

อย่าง ไรก็ตาม หากเกิดสถานการณ์บานปลาย สถานทูตไทยในประเทศลิเบีย และกรมการกงสุล ได้เตรียมแผนรองรับเกี่ยวกับการอพยพคนไทยไปสู่สถานที่ปลอดภัยแล้ว และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการร้องขอกลับประเทศของแรงงานไทยในประเทศลิเบียแต่ อย่างใด

(เนชั่นทันข่าว, 19-2-2554)

บุกรวบนายหน้าเถื่อนตุ๋นแรงงานชัยภูมิลอยแพ มาเลเซียอื้อ

19 ก.พ. นายวัชรพล พลวัน เจ้าหน้าที่ศูนย์ปราบปรามจับกุมและดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานและ กระบวนการค้ามนุษย์(ศปรต.) ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ประสาน นายจรินทร์ จักกะพาก ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นำกำลังเจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัด และพ.ต.ท.สมจิต แก้วพรม หัวหน้าชุดสืบสวนกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิ นำหมายศาลจังหวัดชัยภูมิเข้าจับกุมตัว นายพรหมพิทักษ์ ศรีโยธา อายุ 55 ปี ชาวจังหวัดสงขลา หลังสืบทราบว่าหนีมาซ่อนตัวอยู่ที่บ้านเลขที่ 104 หมู่ 11 ต.ชี ลอง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ โดยมีพฤติกรรมเป็นนายหน้าจัดหางานเถื่อนหลอกลวงคนงานในพื้นที่จังหวัด ชัยภูมิ ไปลอยแพยังประเทศมาเลเซียจำนวนมาก ซึ่งเบื้องต้นมีผู้แจ้งความร้องทุกข์รวม 11 ราย
      
ทั้งนี้ ผู้ต้องหายังให้การปฏิเสธ ทางเจ้าหน้าที่ชุด ศปรต.จึงได้นำตัวส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองชัยภูมิ รับตัวไปสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินคดีตามกฎหมาย ในข้อหาหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานหรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวงต่อไป
      
โดยผู้เสียหายชาวชัยภูมิรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ถูกผู้ต้องหาหลอกเรียกรับเงินเป็นจำนวน 40,000 บาท เพื่อจะจัดส่งไปทำงานอาชีพช่างเชื่อมที่ประเทศมาเลเซีย โดยหลอกเอาทรัพย์เป็นงวดแรกเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายก่อนเดินทางเข้าประเทศ มาเลเซียจำนวน 20,000 บาท และเมื่อเดินทางเข้าไปได้และมีงานทำจะต้องจ่ายเงินให้ผู้ต้องหารายนี้อีก จำนวน 20,000 บาท แต่เมื่อได้เสียเงินเดินทางเข้าประเทศมาเลเซียแล้ว กลับไม่มีงานทำและถูกลอยแพทิ้งไว้ที่มาเลเซีย และได้พบกับกลุ่มเพื่อนชาวจังหวัดชัยภูมิ อีกนับสิบรายที่ถูกหลอกเช่นกัน
      
นายวัชรพล พลวัน เจ้าหน้าที่ ศปรต. เปิดเผยว่า ขบวนการค้ามนุษย์และหลอกลวงคนงานเหล่านี้ ยังพบว่ามีอีกมากจากการถูกร้องเรียนในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเรากำลังเร่งขยายผลติดตามจับกุมผู้ที่อยู่เบื้องหลังอย่างเร่งด่วน ขอฝากไปยังแรงงานที่ตกเป็นเหยื่อกับผู้ต้องหารายนี้สามารถเข้าแจ้งความร้อง ทุกข์เพิ่มเติมได้ที่ สภ.เมืองชัยภูมิ
      
พร้อมกันนี้ ขอเตือนไปยังผู้ที่จะประสงค์ไปทำงานต่างประเทศทุกคน อย่าไปหลงเชื่อว่าจะได้ไปทำงานต่างประเทศง่ายๆ ขอให้ตรวจสอบนายหน้าที่ออกตระเวนหาคนงานให้ดี ก่อน โดยสามารถประสานจัดหางานจังหวัดฯ ในการตรวจสอบว่าบุคคลหรือสำนักงานจัดหางานนั้นๆ ไม่เช่นนั้นจะสูญเสียทั้งทรัพย์ เวลา และอื่นๆตามมาอีกมากมาย เพราะยังมีคนตกเป็นเหยื่ออีกจำนวนมากที่ทางกรมการจัดหางานรับเรื่ององร้อง เรียนมา และรอกำลังความช่วยเหลืออยู่ขณะนี้

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 19-2-2554)

มติ กมธ.สั่งแขวนโหวตตรง กก.สปส

ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ไม่สามารถหาข้อสรุปในมาตรา 9 ว่าด้วยที่มาของคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ได้ จึงมีมติให้แขวนมาตราดังกล่าวแล้วข้ามไปพิจารณามาตราอื่นแทน

นาย ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) เปิดเผยว่า ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายผู้ใช้แรงงานมีความเห็นต่างในประเด็นที่มาของบอร์ด สปส.  โดย ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าบอร์ดสปส.ควรมีที่มาเหมือนเดิม คือให้ผู้ประกันตนเสนอตัวลงสมัครในนามองค์กร จากนั้นให้แต่ละสหภาพแรงงานหรือคณะกรรมการสวัสดิการของแต่ละบริษัทเลือกตั้ง 1 สหภาพฯ 1 คะแนน ขณะที่ฝ่ายแรงงานยืนยันว่าต้องการให้ผู้ประกันตนทั้ง 9.4 ล้านคนลงคะแนนเลือกคณะกรรมการโดยตรง

"ปัญหา คือโรงงานบางแห่งไม่มีสหภาพ แรงงาน ก็ต้องใช้คณะกรรมการสวัสดิการเป็นคนลงคะแนน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตัวแทนของนายจ้างทั้งนั้น" นายชาลี กล่าว

นาย ชีวเวช เวชชาชีวะ รองประธานกรรมาธิการฯ กล่าวว่า คาดว่าท้ายที่สุดแล้วบอร์ด สปส.จะมีที่มาเช่นเดิม เพราะหากเปลี่ยนไปใช้ระบบเลือกตั้งโดยตรงจะก่อให้เกิดปัญหาด้านการจัดการ เนื่องจากมีผู้ใช้สิทธิหลายล้านคน และยังไม่มีความชัดเจนว่างบประมาณสำหรับจัดการเลือกตั้งจะนำมาจากที่ใด

ทั้งนี้ ในวันที่ 24 ก.พ. กมธ.จะพิจารณามาตรา 10 ว่าด้วยคุณสมบัติของคณะกรรมการประกันสังคมและเงื่อนไขการพ้นสถานภาพ

(โพสต์ทูเดย์, 19-2-2554)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net