Skip to main content
sharethis

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ออกแถลงการณ์ “แก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ต้องก้าวพ้นปมการเมืองและผลประโยชน์ สู่ความเป็นธรรมที่ยั่งยืน”


 

แถลงการณ์ ฉบับที่ ๖ (ฉบับพิเศษ)
“แก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ต้องก้าวพ้นปมการเมืองและผลประโยชน์ สู่ความเป็นธรรมที่ยั่งยืน”
 
ใน วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เป็นอีกวันหนึ่งที่รัฐบาลจะได้ตัดสินใจแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้นจากเขื่อนปากมูล ที่หมักหมมมายาวนานกว่า ๒๐ ปี การตัดสินใจครั้งนี้ของรัฐบาลจึงมีความสำคัญอย่างมาก เป็นความสำคัญต่อความมั่นคงในการดำรงชีวิตของชาวบ้านปากมูน เป็นความสำคัญต่อความมั่นคงของปลาในแม่น้ำมูน เป็นความมั่นคงของนิเวศแม่น้ำมูน และที่สำคัญเป็นบรรทัดฐานที่จะใช้ในการตัดสินใจระหว่างความรู้ที่เป็น วิชาการ กับอำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์ของนักสร้างเขื่อน
 
พวก เราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ยืนยันว่า บทสรุปของกระบวนการทำงานที่ผ่านมา ซึ่งดำเนินมาอย่างถูกต้องตามกระบวนการมาตรฐานทางวิชาการ ทั้งกระบวนการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์จากเขื่อนปากมูล ทั้งการใช้ข้อมูลงาน วิชาการที่ทำโดยการว่าจ้างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เจ้าของเขื่อนปากมูล งานวิชาการที่ทำโดยการว่าจ้างของรัฐบาล งานวิชาการที่ทำโดยนักวิชาการอิสระ รวมทั้งงานวิชาการที่ทำโดยคณะกรรมาธิการเขื่อนโลก (WCD) รวมถึง ๗ ฉบับ โดยมีบทสรุปที่สำคัญ กล่าวคือ
 
๑)      มูลค่า ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เฉลี่ยปีละ ๙๙ ล้านบาท ขณะที่กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้อยู่ที่ปีละ ๔๐ เมกะวัต ต่ำกว่าที่ตั้งไว้คืออยู่ที่ ๑๓๖ เมกะวัต (อ้างจาก WCD:๒๕๔๓)
๒)     เดิม แม่น้ำมูนมีชนิดพันธุ์ปลาจำนวน ๒๖๕ ชนิด หลังมีการสร้างเขื่อนปากมูลชนิดพันธุ์ปลาลดลงเหลือ ๕๖ ชนิด ขณะที่รายได้ของชาวบ้านที่หายไป (เฉพาะรายได้จากการประมง) เฉลี่ยปีละ ๑๔๐ ล้านบาท
๓)     การ ชลประทาน เขื่อนปากมูลตั้งเป้าพื้นที่ชลประทานไว้ที่ ๑๖๐,๐๐๐ ไร่ ผลการดำเนินงาน ๒๐ ปีที่ผ่านมา สามารถทำการเกษตรได้จริง จำนวน ๔,๖๐๖ ไร่ คิดเป็นร้อยละ ๒.๘๗
ทั้ง หมดนี้ยังไม่นับรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศแม่น้ำมูน และผลกระทบต่อกิจกรรมอาชีพด้านอื่น เช่น การทำเกษตรริมมูน การเลี้ยงสัตว์ การท่องเที่ยว ฯลฯ
จากข้อค้นพบดังกล่าว คณะอนุกรรมการฯ จึงมีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากเขื่อนปากมูล ดังนี้
๑.      ให้มีการเปิดประตูเขื่อนปากมูลอย่างถาวร เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศแม่น้ำมูนและวิถีชีวิตของชาวบ้าน
๒.      ให้มีการเยียวยา ฟื้นฟู ชดเชยความเสียหายที่ผ่านมานับแต่เขื่อนปากมูลเปิดใช้งาน
ต่อ เรื่องการตัดสินใจลักษณะนี้ ชาวบ้านปากมูนเคยมีประสบการณ์ที่เจ็บปวดมาแล้ว เมื่อครั้งที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทำการศึกษาผลกระทบและหาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยการศึกษาครั้งดังกล่าวมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้เสนอให้เปิดประตูเขื่อนปากมูลอย่างถาวร แต่รัฐบาลขณะนั้นที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี กลับเลือกตัดสินใจให้เปิดเขื่อนปีละ ๔ เดือน และปิด ๘ เดือน การตัดสินใจครั้งนั้น นับเป็นการตัดสินใจที่ไร้ความชอบธรรม และไม่ใช้ข้อมูลวิชาการใดๆ รองรับ เป็นการตัดสินใจแบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างนักการเมืองกับนักสร้างเขื่อน โดยที่ชาวบ้านปากมูนไม่ได้รับประโยชน์ใดเลย
 
ครั้ง นี้การตัดสินใจกำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ที่จะถึงนี้ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยืดมั่นในมาตรฐานกระบวนการได้มาของข้อมูล และบทสรุปอันเป็นชุดความรู้ทางวิชาการ และที่สำคัญกระบวนการที่ผ่านมาทั้งหมด เกิดขึ้นจากกลไกที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเอง
 
ดัง นั้นการพิจารณาแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลของคณะรัฐมนตรี ในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ จึงเป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญว่า รัฐบาลจะก้าวข้ามปมการเมือง และผลประโยชน์ของนักสร้างเขื่อน ไปสู่การสร้างบรรทัดฐานใหม่ของการตัดสินใจที่ตั้งอยู่บนฐานของความรู้ที่ เป็นวิชาการ อันเป็นการสร้างมาตรฐานทางสังคม และการสร้างมาตรฐานทางการเมืองแบบใหม่ ซึ่งเป็นมาตรฐานของผู้นำที่สังคมไทยกำลังต้องการ
 
อย่าง ไรก็ตาม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) จะติดตามฟังผลการตัดสินใจของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด และหวังว่ารัฐบาลจะกล้าสร้างมาตรฐานใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
 
คนจนทั้งผองพี่น้องกัน
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net