Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
“ใครเป็นคนออกใบอนุญาต และใช้เหตุผลอะไร ในการออก งานวิจัยการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพนี้สามารถนำไปถอดถอนใบอนุญาตได้หรือไม่”
 
นี่คือคำถามของ “ปลัดสัมฤทธิ์” นายสัมฤทธิ์ พัชราภรณ์ ปลัดอำเภอสว่างวีระวงศ์ ซึ่งเข้าประชุมแทนนายอำเภอสว่างวีระวงศ์ หลังสิ้นสุดการนำเสนอรายงานผลการศึกษาการประเมินผลกระทบทางสุขภาพกรณีโรงไฟ ฟ้าชีวมวล (แกลบ) ของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด ที่บ้านคำสร้างไชย อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี โดยทีมศึกษาจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะและนักวิจัยชุมชน เมื่อวันที่ ๑ ก.พ. ๒๕๕๔ ต่อคณะทำงาน ชี้แจงข้อมูลและรับฟังความ คิดเห็นของประชาชนต่อการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า เชื้อเพลิง ชีวมวล (แกลบ) ของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด โดยนายชาตรี ดิเรกศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประธาน
 
ผลการศึกษาที่นักวิชาการและชาวบ้านร่วมกันวิจัยที่ทำเอา “ปลัดสัมฤทธิ์” ต้องตั้งคำถามก็เนื่องจากข้อมูลที่นำเสนอนั้นลึกยิ่งกว่าลึก เนื่องจากเป็นผลงานวิจัยที่ใช้มิติอย่างชาวบ้าน แต่กอปรด้วยระเบียบวิธีวิจัยอันรัดกุมของนักวิชาการ ดังตัวอย่าง ด้านเศรษฐกิจชุมชน พบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ผลผลิตที่สำคัญ ได้แก่ มะม่วงหิมพานต์ ข้าว ปอและมันสำปะหลัง มีรายได้รวม ๓๒,๘๙๙,๕๐๐ บาท การเลี้ยงสัตว์ มีการเลี้ยงไก่ไข่จำนวน ๓๙ โรงเรือนและวัว ควายมีรายได้รวมด้านปศุสัตว์ ๒๖๐ ล้านบาท รายได้รวมทั้งด้านเกษตรและปศุสัตว์ ๒๙๒ ล้านบาทต่อปี มีการจ้างงานในภาคการเกษตร ๓๔๙ คน
 
นอกจากนี้ ยังมีเศรษฐกิจที่ไม่ได้นับเป็นตัวเงิน คือ การจับสัตว์ตามธรรมชาติ ซึ่งทำได้ตลอดทั้งปี เช่น แมลง ไข่มดแดง ปู ปลา หอย กบ หนู เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ หากได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าทั้งจากฝุ่นละออง การใช้น้ำ และเสียง จะทำให้ผลผลิตลดลงร้อยละ ๕ หรือ ๑๔.๖ ล้านบาทต่อปี กลุ่มเสี่ยงที่สำคัญคือกลุ่มเลี้ยงไก่ไข่ เพราะบริษัทพันธุ์ไก่จะไม่ส่งไก่ให้เลี้ยง ทำให้ไม่มีอาชีพและต้องเป็น “หนี้ ธกส.” กว่า ๗๐ ล้านบาท เพราะทุกเจ้าล้วนเอาที่ดินไปจำนองเพื่อสร้างโรงเรือน ตกรายละ ๑.๘ ล้านบาท
 
คณะวิจัยยังนำเสนอรายได้ที่ชุมชนจะได้รับ เมื่อโรงไฟฟ้าเดินเครื่อง ตัวเลขอยู่ที่ ๑๒ ล้านบาทต่อปี จากผลประโยชน์ ๔ ประเภท คือ ๑) กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ขายเต็มกำลัง คือ ๙ เมกะวัตต์ คิดเป็นพลังงานที่ผลิต ๗๘,๘๔๐,๐๐๐ หน่วยต่อปี จะมีเงินเข้ากองทุน ๗๘๘,๔๐๐ บาทต่อปี ๒) บริษัทจะแบ่งรายได้จากการขายร้อยละ ๑ ให้กับชุมชน ถ้าบริษัทขายไฟได้ ๖๐ ล้านบาทต่อปี ส่วนแบ่งของชุมชนอยู่ที่ ๖๐๐,๐๐๐ บาทต่อปี ๓) ส่วนองค์การบริหารส่วนตำบลท่าช้างมีรายได้จากภาษีโรงเรือน ที่ดิน และเครื่องจักร ร้อยละ ๑๒.๕ ของเงินได้ คิดเป็นเงินเสียภาษีประมาณ ๗.๕ ล้านบาทต่อปี และ ๔) ชาวบ้านประมาณ ๕๐ คนอาจมีรายได้จากการจ้างแรงงาน โดยค่าแรงขั้นต่ำ และผู้ทำการค้า รายได้รวมอยู่ที่ ๓,๑๒๐,๗๕๐ บาทต่อปี (โปรดดูตาราง)
 
มิติทางสิ่งแวดล้อม เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ในร่องฝนชุก ทำให้พื้นที่ป่าเป็นป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง บริเวณริมห้วยมีพืชพรรณหายาก เช่นหม้อข้าวหม้อแกงลิง พบในบริเวณคำเสือหล่ม ทางทิศตะวันออกของบ้านคำสร้างไชย เป็นชนิดพืชพื้นราบซึ่งเป็นชนิดที่ขึ้นใกล้กับระดับน้ำทะเล (๐-๑๐๐๐เมตร) ชอบน้ำสะอาด แสงมาก ชอบชื้นไม่ชอบแฉะ อากาศไหลเวียน ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทำให้สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) บรรจุรายชื่อบัญชีอนุรักษ์ของอนุสัญญาไซเตส ส่วนทรัพยากรน้ำ มีสายน้ำรอบชุมชน ๔ สาย คือ ห้วยคำนกเปล้า ห้วยคำเสือเต้น วังปอแดง และห้วยหมาก ทั้งหมดไหลลงสู่แม่น้ำมูล และเนื่องจากเดิมเป็นเขตป่าอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้น้ำผิวดินหรือมีน้ำซับ ที่เรียกว่า “คำ” หรือ “ซำ” มีถึง ๒๕ แห่ง ส่วนด้านพันธุ์สัตว์ ได้แก่ สัตว์น้ำ เช่น ปลากัด กุ้ง หอย ปลาหมอ ปลาดุก ปู ปลาซิว ปลาขาว ปลาไหล สัตว์ป่า เช่น นกกะปูด เหยี่ยว กระรอก กระแต ค่าง นกเอี้ยง กิ้งก่าบ้าน
 
ที่สำคัญ ดินแถบนี้มีสภาพเป็นดินทราย เมื่อ “บัวสมหมาย” ขุดบ่อน้ำเพื่อใช้ในโรงงานวันละ ๑,๓๐๐ ลูกบาศก์เมตรหรือ ๔๖๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อปี ขนาดยังขุดไม่แล้วเสร็จ ผลกระทบก็เกิดขึ้นทันตา คือ แหล่งน้ำซับทั้ง ๒๕ แห่งไหลไปรวมกันที่บ่อของ “บัวสมหมาย” ที่ชัดเจน คือ คุ้มคำหัวงัว บ้านคำสร้างไชย น้ำประปาไหลกะปิดกะปอย ไม่อยากจินตนาการถึงในระยะยาวจะส่งผลอย่างไรต่อชุมชน
 
มิติทางสังคม ผลกระทบด้านสังคมเกิดมลพิษทางเสียงจากการขุดบ่อน้ำและถมที่ที่บริเวณโรง ไฟฟ้า ผสมผเสกับการเกิดความขัดแย้งกันระหว่างชาวบ้านที่เอาโรงไฟฟ้า โดยฝันลมๆ แล้งๆ ว่าจะได้เข้าทำงานและได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก กับชาวบ้านที่คัดค้าน จนทำให้เกิดความเครียดกันทั้งหมู่บ้าน จากหมู่บ้านที่มีความรักสามัคคีและร่วมมือร่วมใจกันพัฒนา จนทำให้ผู้ใหญ่บ้านได้รับรางวัล “แหนบทองคำ” กลับต้องมาแตกแยกกันชนิดไม่มองหน้า ไม่เผาผี ผู้ใหญ่เครียด พลอยทำให้เด็กๆ เครียดตามที่เห็นผู้ใหญ่ทะเลาะกัน และกลุ่มเด็กก็รวมอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพกลุ่มแรกๆ ร่วมกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ คนพิการร่างกายอ่อนแอ ที่มีจำนวนถึง ๕๘๖ คน นี่ยังไม่รวมที่หมู่บ้านแถบนี้เป็นหมู่บ้านในโครงการหมู่บ้านสายใยรักแห่ง ครอบครัวในพระอุปถัมภ์ฯ พระเจ้าวรวงค์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ถึง ๒ หมู่บ้าน คือ บ้านใหม่สารภี และบ้านหนองเลิงนา
 
และไม่นับรวม... ที่นักวิชาการมูลนิธินโยบายสุขภาวะที่ประเมินผลกระทบทางสุขภาพ พบว่า ที่ตั้งของโรงไฟฟ้าอยู่ในชุมชนและมีชุมชนล้อมรอบ ระยะ ๒ กิโลเมตรมีชุมชนถึง ๖หมู่บ้าน รวมทั้งโรงเรียนห้วยนกเปล้า สำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต ๔ และศูนย์วิจัยพืชไร่ และในระยะ ๓–๑๐ กิโลเมตร จะมีชุมชนล้อมรอบ จำนวน ๑๘ หมู่บ้าน
 
นอกจากนี้โรงงานยังตั้งอยู่ในที่ที่สูงที่สุดของหมู่บ้านและห่างจาก ลำห้วยคำนกเปล้าเพียง ๓๐๐ เมตร นอกจากนี้ โรงสีข้าวที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ อ.พิบูลมังสาหาร และ อ.วารินชำราบ ระยะทาง ๒๐-๒๕ กิโลเมตร ซึ่งต้องมีการขนส่งแกลบเพื่อใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า และผลกระทบจะเกิดขึ้นทั้ง ๒ ช่วง คือ ช่วงก่อสร้างและช่วงเดินเครื่องเดินระบบ มีทั้ง ด้านฝุ่นละออง ด้านน้ำ และด้านการขนส่ง โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองที่แพร่กระจาย อันเป็นปัญหาหนักอกของชาวร้อยเอ็ด เจ้าของเม็ดพุพองในรัศมีทำการของโรงไฟฟ้า “บัวสมหมาย” ซึ่งไม่ว่าหน้าร้อน ฝนหรือหนาว ไม่ว่าจะเป็นฤดูใด ชาวบ้านที่อยู่รายรอบโรงไฟฟ้าเป็นต้องรับกรรมโดยถ้วนหน้า เพราะกระแสลมในทุกฤดูที่พัดจากทิศทางแตกต่างกันจะนำฝุ่นละอองไปบรรณาการโดย ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
 
“ใครเป็นคนออกใบอนุญาต และใช้เหตุผลอะไร ในการออก งานวิจัยการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพนี้สามารถนำไปถอดถอนใบอนุญาตได้หรือไม่”
 
คำถามของ “ปลัดสัมฤทธิ์” ประโยคนี้ ยังไม่มีใครตอบ แต่เพียงสัปดาห์เดียวนับจากวันนำเสนอผลการวิจัย คือ วันที่ ๘ ก.พ. ๒๕๕๔ นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง ตัวแทนของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ชี้แจงถึงกรณีที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ออกใบอนุญาตให้ “บัวสมหมาย” ให้สร้างโรงไฟฟ้ากลางหมู่บ้าน กลางหัวใจของชาวบ้าน ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและคณะปฏิรูปประเทศไทย ว่า การวินิจฉัยออกใบอนุญาตได้ใช้ พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.๒๕๓๕
 
โดยโรงไฟฟ้าของบัวสมหมายฯ จัดอยู่ในโรงงานจำพวกที่ ๓ คือ โรงงานประเภทที่การประกอบกิจการอาจก่อให้เกิดปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อมโรงงาน หรือก่อเหตุเดือดร้อนอันตรายต่อประชาชน จำเป็นต้องมีการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เจ้าของกิจการจะต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตก่อน และมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับทำเลสถานที่ตั้งโรงงาน ดังนี้ ๑.ห้ามตั้งโรงงานทุกประเภท ในบริเวณบ้านจัดสรรเพื่อการพักอาศัย อาคารชุดพักอาศัย บ้านแถวเพื่อการอาศัย ๒.สถานที่ตั้งโรงงานต้องอยู่ห่างจากเขตติดต่อสาธารณสถาน ได้แก่ โรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา วัด หรือศาสนสถาน โรงพยาบาล โบราณสถาน และสถานที่ทำการของหน่วยงานของรัฐไม่น้อยกว่า๑๐๐ เมตร
 
แปลไทยเป็นไทย คือ เมื่อโรงไฟฟ้าของบริษัท บัวสมหมายฯ เข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด คือ ไม่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ตึกแถว ก็เพียงพอแล้วที่กรมโรงงานจะออกใบอนุญาตให้ “บัวสมหมาย” ว่าแล้ว ตัวแทนกรมโรงงานฯ ก็สะบัดมีดโกน “ไม่พอใจเชิญไปฟ้อง... ศาลปกครอง”
 
เป็นที่รู้ๆ กันว่า กระแสพลังงานทดแทน พลังงานสะอาด พลังงานเขียว พลังงานชีวมวล กำลังขึ้นหม้อมาแรงโหนกระแสโลกร้อน แต่นายทุนก็คือนายทุน ไม่ว่าจะกระทำกิจกรรมที่มีคุณต่อโลกเพียงใด พวกเขาก็ยังไม่ทิ้งสัญชาตญาณเดิม คือ กำไรสูงสุด เพื่อประหยัดค่าการลงทุน โรงไฟฟ้าชีวมวล โดยเฉพาะที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงจะไม่สร้างโรงไฟฟ้าในเมืองใหญ่อันเป็นที่ ตั้งของหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม และตึกแถว ตามกฎหมาย - พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.๒๕๓๕ แน่นอน... พวกเขาต่างมุ่งสู่ชนบท ที่ๆ มีข้าว มีโรงสี มีแกลบ มีทุกสิ่งทุกอย่างที่โรงไฟฟ้าชีวมวลและนายทุนต้องการ ขาดแต่เพียงหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม และตึกแถว
 
หมู่บ้านในชนบททั่วไทยต่างอยู่อาศัยกันมานับศตวรรษ มีโครงสร้างและความสัมพันธ์ของชุมชนที่เหนียวแน่น มีจารีต วัฒนธรรม ประเพณี มีประวัติศาสตร์ ซึ่งต่างจากหมู่บ้านจัดสรร หรือคอนโด ที่อยู่กันอย่างหลวมๆ และไม่อาจเรียกได้ว่าชุมชนเสียด้วยซ้ำ แต่กฎหมายกลับให้ความคุ้มครอง ถ้าเงื่อนไขของกฎหมายเป็นเช่นนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายเลยก็ได้ จะต่างอะไรกับที่กำหนดเงื่อนไขว่า ... ห้ามล่าวาฬในเขตภูดอย
 
ข้าราชการผู้เป็นข้าแผ่นดิน และผู้รับใช้ประชาชน มิใช่เพียงแต่ “สมศักดิ์ จันทรรวงทอง” เท่านี้ดอก ที่เย่อหยิ่งกับประชาชนโดยอ้าง “กฎหมาย” ซึ่งก็คือ พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ กฎหมายศักดิ์ระดับชั้น ๓ – ๔ นี้ยังเป็นดาบผุๆ ที่ข้าราชการทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับพลังงานเงื้อง่าเป็นโจรไพรในวิกลิเก โดยไม่เคยสำเหนียกเลยว่า การศึกษาวิจัยที่ชาวบ้านอุตส่าห์บากบั่นลงแรงลงใจ เสียสละ ผละภาระเลี้ยงดูครอบครัว มาร่วมกับนักวิชาการทำการศึกษาเป็นเวลาถึง ๓ เดือน ก็อยู่ภายใต้กฎหมายแห่งประเทศนี้เช่นกัน คือ พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ มาตรา ๑๑ ที่บัญญัติว่า บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิได้รับรู้ข้อมูล คำชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐ ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ ของตนหรือของชุมชนและแสดงความเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว
 
และดาบผุๆ เยี่ยงพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.๒๕๓๕ หรือจะเทียบได้กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และบรรดา “โจรไพร” ในคราบข้าราชการที่ชอบนักชอบอ้างกฎหมายนั้น กลับไม่หันมามองเงาตัวเองว่ากระทำการอันผิดกฎหมายหรือไม่ กรณีออกใบอนุญาตการสร้างโรงงานไฟฟ้าแกลบให้แก่ “บัวสมหมาย” โดยละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๗ และ มาตรา ๒๘๗ ที่ไม่ให้ชาวบ้านในท้องถิ่นมีสิทธิมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และตัดสินใจโดยไม่ได้แจ้งข้อมูลรายละเอียดโครงการไฟฟ้าแกลบฯ ให้แก่ชาวบ้านทราบก่อน
 
ตราบใดที่ “บัวสมหมาย” ยังไม่สมหมาย และ “โจรไพร” ยังไม่อิ่มเอมและสมใจ พวกเขาก็ยังจะเงื้อง่าดาบผุๆ รกหูรกตา “เครือข่ายชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล” เยี่ยงนี้แล
 
เครือข่ายชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ได้เข้าร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นขบวนการของเกษตรกรและคนจนเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือได้รับผลกระทบอันเลวร้ายจากนโยบายการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วยกลุ่มคนจน ๔ เครือข่าย ๓ กรณี คือ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เครือข่ายสลัม ๔ ภาค สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้พิบูลมังสาหาร อุบลราชธานี จำนวนทั้งสิ้น ๖,๐๐๐ คน โดยมี มีเป้าหมายเพื่อก่อให้เกิดการปฏิรูปที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และความเป็นธรรมทางสังคม และมีพันธกิจ ๓ ประการคือ การกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิความเป็นมนุษย์
 
                                                                        ---------------------
 
หมายเหตุ
 
เครือข่ายชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นการรวมตัวของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เมื่อวันที่ ๑๓-๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ จาก ๖ พื้นที่คือ จังหวัดเชียงราย อุบลราชธานี ตาก ลำพูน ประจวบคีรีขันธ์ สุรินทร์ ซึ่งได้รับความเดือดร้อน ดำเนินโครงการประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าชีวมวลโดยใช้ แกลบ เศษไม้ วัสดุทางการเกษตร เป็นเชื้อเพลิงในการผลิต ด้วยกำลังการผลิตตั้งแต่ ๐.๙๙ - ๙.๙ เมกกะวัตต์ ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงไม่เข้าข่ายหลักเกณฑ์การศึกษาผบกระทบสิ่งแวดล้อม ที่มีข้อกำหนดที่มีกำลังผลิต ๑๐ เมกกะวัตต์ ขึ้นไปโดยจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลกลางหมู่บ้าน ซึ่งมีบ้านเรือนประชาชนล้อมรอบ และใกล้เคียงสถานที่ราชการ ซึ่งการดำเนินการของโรงไฟฟ้าชีวมวลแต่ละแห่ง เป็นการดำเนินการที่ไม่มีเปิดเผยข้อมูลด้านลบและด้านบวก ชุมชนไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ และบางพื้นที่ไม่รับฟังการทำประชาคมหมู่บ้าน มติสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และได้มีการขอให้มีการขอออกใบอนุญาต การก่อสร้างโรงงาน และการผลิตไฟฟ้า อย่างไม่เป็นธรรมและไม่โปร่งใส รวมทั้งได้ก่อให้เกิดผลกระทบในชุมชน ไม่มีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจ
 
โดยมีที่ตั้งในแต่ละพื้นที่ดังนี้
 
“เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากบริษัทโรงไฟฟ้าชีวมวล” อันประกอบด้วยชาวบ้านจาก ๖ จังหวัดได้แก่
๑.โรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัด บ้านไตรแก้ว ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย
๒.โรงไฟฟ้าบริษัทบัวสมหมายไบโอแมส จำกัด บ้านสว่างวีระวงศ์ ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี
๓.โรงไฟฟ้าบริษัท สหโคเจนกรีน จำกัด สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ อยู่หมู่ที่ ๕ บ้านหนองปลาขอ ต.ป่าสัก อ.เมือง จ.ลำพูน
๔.โรงไฟฟ้าบริษัทพลังงานสะอาดทับสะแกจำกัด บ้านหมู่ที่ ๓ บ้านทุ่งยาว ต.ห้วยยาง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์
๕.โรงไฟฟ้าบ้านตาก จำกัด อยู่ที่หมู่ ๑๑ บ้านวังไม้สร้าง ต.ตากออก อ.บ้านตาก จ.ตาก
๖.โรงไฟฟ้า บริษัท บริษัท จัสมิน กรีน เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นเนอร์จี จำกัด อยู่ที่หมู่ที่ ๑๐ บ้านน้อยสนาม ต.รัตนบุรี อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์
 
เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เครือข่ายชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เข้าร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ซึ่งเป็นขบวนการของเกษตรกรและคนจนเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือได้รับผลกระทบอันเลวร้ายจากนโยบายการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วยกลุ่มคนจน ๔ เครือข่าย ๓ กรณี คือ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เครือข่ายสลัม ๔ ภาค สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้พิบูลมังสาหาร อุบลราชธานี จำนวนทั้งสิ้น ๖,๐๐๐ คน โดยมี มีเป้าหมายเพื่อก่อให้เกิดการปฏิรูปที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และความเป็นธรรมทางสังคม โดยมีพันธกิจ ๓ ประการคือ การกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิความเป็นมนุษย์
 
 
ความไม่คุ้มค่าในการลงทุน

ตารางที่ เปรียบเทียบผลกระทบด้านเศรษฐกิจของชุมชนใกล้พื้นที่โครงการโรงไฟฟ้า
 
รายการ
อัตรา
จำนวนเงิน (บาทต่อปี)
ผลประโยชน์ที่ชุนชนและอบต.จะได้รับ
 
 
1. กองทุนพัฒนาไฟฟ้า
1 สตางค์ต่อหน่วยที่ขายได้
788,400
2. ส่วนแบ่งรายได้
ร้อยละ 1 ของรายได้
600,000
3. ภาษีโรงเรือน ที่ดิน และเครื่องจักร
ร้อยละ 12.5 ของเงินได้
7,500,000
4. รายได้จากการจ้างงาน 50 คน
171 บาทต่อวันต่อคน
3,120,750
รวม
 
12,009,150
ผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร
 
 
1. ด้านการเกษตร
1,600,000
2. ด้านการปศุสัตว์
ลดลงร้อยละ 5
13,000,000
รวม
 
14,600,000
 
 
ด้านการจ้างแรงงานในชุมชน พบว่ามีการจ้างแรงงานในภาค การเกษตรประมาณ 349 คน คิดจากร้อยละ 5 จำนวนประชากร 2,257 คน เนื่องจากพบว่าในชุมชนมีการจ้างงานทุกวัย ไม่จำกัดวุฒิ และอายุ ทุกช่วงวัยสามารถทำงานรับจ้างในชุมชนได้ เช่น เด็กและผู้สูงอายุ รับจ้างเก็บเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เก็บไข่ไก่ เป็นต้น แต่โรงงานบริษัทบัวสมหมาย แจ้งว่าจะมีการจ้างแรงงาน 26 คน ซึ่งใน 6 หมู่บ้านชาวบ้านไม่มีความสามารถเข้าทำงานได้เพราะต้องอาศัยแรงงานที่มีทักษะ และความรู้เฉพาะด้าน และยังเสี่ยงต่อการตกงาน เนื่องจากผลกระทบต่ออาชีพที่มีอยู่ในชุมชน ดังตาราง 3- 4
 
ตาราง 3- 4 เปรียบเทียบการจ้างงาน ของบริษัทบัวสมหมาย กับ งานที่มีอยู่ในชุมชน 6 หมู่บ้าน
 
การจ้างงาน
ตำแหน่ง
จำนวนคน
วุฒการศึกษา
หมายเหตุ
บริษัทบัวสมหมาย มีการจ้างคนงาน 26 คน
ยาม
2
ไม่จำกัด
ประกาศ สนง.อุตสาหกรรม 21 พย 51.
 
คนสวน
1
ไม่จำกัด
 
 
พนังงานในโรงงาน
23 คน
ปริญญาตรีสาขาการไฟฟ้าและอิเลคโทนิค
ในชุมชนไม่มีคนเรียนสาขานี้
รวม
 
26 คน
 
 
การจ้างแรงงานในชุมชน
 
 
 
 
ด้านการเกษตร
คนวัยทำงาน
รับจ้างเก็บเม็ดมะม่วงหิมพานต์
 
ไม่จำกัด สมาชิกทุกคนในครอบครัว
113 คน
ไม่จำกัดวุฒิและอายุ
เด็ก วัยกลางคน ผู้สูงอายุก็ทำได้ (คิด 5 % ของประชากร)
 
รับจ้างขุดมัน
ไม่จำกัด สมาชิกทุกคนในครอบครัว
79 คน
ไม่จำกัดวุฒิ
(คิด 5 % ของ วัยแรงงาน ทั้งชายและหญิง)
 
รับจ้างดำนา เกี่ยวข้าว
ไม่จำกัด สมาชิกทุกคนในครอบครัว
79 คน
ไม่จำกัดวุฒิ
(คิด 5 % ของ วัยแรงงาน ทั้งชายและหญิง)
ด้านปศุสัตว์
 
 
 
 
โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ ๓๙ โรง มีคนงาน อย่างน้อย ๒ คน
ดูแลโรงเลี้ยงไก่
 
ไม่จำกัด สมาชิกทุกคนในครอบครัว 78 คน
ไม่จำกัดวุฒิ
วัยแรงงาน ทั้งชายและหญิง
 
เก็บไข่ (ลูกหลาน)
 
 
เด็กๆจะช่วยพ่อแม่ทำงานและได้รับค่าขนมไปโรงเรียน
รวม
 
349 คน
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net