‘ปากบารา’ล้อมกรอบ‘คณะสำรวจฯ’ ผวาโฆษณาโหมสร้าง‘ท่าเรือน้ำลึกฯ’

ชาวบ้านปากบาราและหมู่บ้านใกล้เคียง ตื่นล้อมกรอบคณะสำรวจ ATT 2 ครั้ง ผวาหน่วยงานรัฐโฆษณาโหมสร้างท่าเรือน้ำลึกฯ รองผู้จัดการโครงการฯเผยหาวิธีสำรวจพื้นที่ต่อไป

วันที่ 21 ก.พ. 54 ชาวบ้านได้เจรจากับคณะทำงานโครงการงานติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ซึ่งรศ.ดร.ธนิยา เกาศล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นผู้จัดการโครงการฯ ที่มอ.หาดใหญ่

เวลาประมาณ 08.00 น. ของวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 บริเวณจุดชมวิวลาน18 ล้านปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ชาวบ้านประมาณ 30 คนล้อมกรอบคณะสำรวจชายฝั่งของบริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด จำนวน 4 คน ประมาณ 15 นาที ที่กำลังตอกหลักหมุด ตรงสนามเด็กเล่น บริเวณจุดชมวิวลาน18 ล้านปากบารา กลุ่มชาวบ้านได้ให้คณะสำรวจฯถอนหลักหมุดออก คณะสำรวจฯจึงถอนหลักหมุดดังกล่าว ก่อนขึ้นรถยนต์ออกไป

ต่อมาเวลาประมาณ 15.00 น. บริเวณเดียวกัน ชาวบ้านประมาณ 40 คนล้อมกรอบคณะสำรวจคุณภาพอากาศของบริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด จำนวน 6 คน ประมาณ 15 นาที ที่กำลังตั้งเครื่องมือวัดลม ชาวบ้านขอให้คณะสำรวจฯถอนเครื่องมือสำรวจออก คณะสำรวจฯจึงถอนเครื่องมือ แล้วออกไปจากพื้นที่

นายนันทพล เด็นเบ็ญ ชาวบ้านปากบารา เปิดเผยว่า ตนเห็นกลุ่มชาย 3-4 คน กำลังตอกหลักหมุด ตรงสนามเด็กเล่น บริเวณลาน 18 ล้าน ขณะตนขับรถจักรยานยนต์ส่งลูกไปโรงเรียนตอนเช้า ต่อมาระหว่างที่ตนกลับบ้านตนเห็น กลุ่มชาวบ้านกำลังห้อมล้อมกลุ่มชายดังกล่าว ตนจึงเข้าไปถามจึงทราบว่าเป็นคณะสำรวจมาปักหลักหมุดสำรวจชายฝั่งก่อนการก่อ สร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา มาจากบริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด ตนและกลุ่มชาวบ้านจึงขอให้ถอนหลักหมุดออก คณะสำรวจจึงถอดหลักหมุดออกแล้วเขวี้ยงทิ้งลงทะเล แล้วขึ้นรถยนต์ออกไป ต่อมาชาวบ้านได้งมหาหลักหมุดดังกล่าวจนพบ

นายนันทพล เปิดเผยอีกว่า เวลา 13.00 น. ตนเห็นกลุ่มชาย 6-7 คน กำลังติดตั้งเครื่องมือวัดลม บริเวณเดียวกับคณะสำรวจชายฝั่งมาตอกหลักหมุดเมื่อตอนเช้า ขณะตนขับรถจักรยานยนต์รับลูกกลับจากโรงเรียน ตนจึงเข้าไปถามกลุ่มคนดังกล่าวได้รับคำตอบว่ามาจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ เพื่อสำรวจความเร็วและทิศทางลมก่อนการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา

“ต่อมาชาวบ้านทยอยล้อมกลี่มสำรวจ ขอให้ถอนเครื่องมือดังกล่าวออก เนื่องจากชาวบ้านหวาดระแวงและไม่ไว้ใจหน่วยงานไหนทั้งนั้นที่เดินหน้าจะ สร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่มีปัญหาคุกรุ่นอยู่ในขณะนี้” นายนันทพล กล่าว

นายวิรัช องค์ประเสริฐ กรรมการบริหารบริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งเป็นรองผู้จัดการโครงการงานติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม งานประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชนระยะก่อนการก่อสร้างท่าเทียบ เรือน้ำลึกปากบารา ระยะที่ 1 จังหวัดสตูล เปิดเผยว่า ตนส่งคณะสำรวจด้านคุณภาพอากาศ สัณฐานวิทยาชายฝั่งทะเลและสมุทรศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะสำรวจจากบริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด ลงพื้นที่บิเวณจุดชมวิวปากบารา เพื่อเก็บข้อมูลดังกล่าวตามงานติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯที่รับจ้างมา จากกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม

“เมื่อลงพื้นที่สำรวจแล้วเจอปัญหาอย่างนี้ ตอนนี้ผมบอกไม่ได้ว่าทำอะไรต่อไป ถึงอย่างไรก็ตามแต่ผมต้องหาวิธีแก้ปัญหาในการสำรวจด้านคุณภาพอากาศ สัณฐานวิทยาชายฝั่งทะเลและสมุทรศาสตร์ให้ได้ต่อไป” นายวิรัช กล่าว

อนึ่งเวลาประมาณ 11.00 น. เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2554 ที่บ้านตะโล๊ะใส ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ชาวบ้านประมาณ 30 คน ล้อมกรอบนางสาววาสนา ประสมศรี และนางสาวอัจราพร ทรปุ่น 2 นักศึกษาปริญญาโท คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ประมาณ 20 นาที ต่อมานักศึกษาดังกล่าว พยายามติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ซึ่งเป็นญาติเพื่อเจรจากับชาวบ้านขอออกจากพื้นที่

เหตุเกิดขึ้นหลังจากนักศึกษาทั้ง 2 คน ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากแบบสอบถามทดลองสำรวจเบื้องต้นจำนวน 30 ชุด ทัศนคติต่อการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล โดยนักศึกษาดังกล่าวเป็นคณะทำงานของ รศ.ดร.วันชัย ธรรมสัจการ อาจารย์คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมและพัฒนาสังคม และเป็นที่ปรึกษาโครงการงานติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ

คณะทำงานโครงการงานติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม งานประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชนระยะก่อนการก่อสร้างท่าเทียบ เรือน้ำลึกปากบารา ระยะที่ 1 จังหวัดสตูล ประกอบด้วย

1.ผศ.ดร.ธนิยา เกาศล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นผู้จัดการโครงการฯ
2.นายวิรัช องค์ประเสริฐ กรรมการบริหารบริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นรองผู้จัดการโครงการฯ
3.นายสุธรรม สิทธิสันต์ บริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นวิศวกรโครงการฯ
4.รศ.ดร.วันชัย ธรรมสัจการ คณะศิลปศาสตร์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสังคม/พัฒนาสังคม ของโครงการฯ
5.ผศ.ดร.สุเมธ ไชยประพัทธ์ คณะศิลปศาสตร์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ของโครงการฯ
6.ดร.แสงสุรีย์ วสุพวศ์อัยยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ ของโครงการฯ
7.ดร.อุมาพร มุณีแนม คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นผู้เชี่ยวชาญการประชาสัมพัน์และการมีส่วนร่วม
8.ผศ.ไพรัช วัชรพันธุ์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นผู้เชี่ยชาญด้านเศรษฐกิจและสังคม ของโครงการฯ
9.อ.สนั่น เพ็งเหมือน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ของโครงการฯ
10.ดร.ศราวุธ เจะโส๊ะ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ของโครงการฯ
11.นางสาวศิรินทรา วันดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นเลขานุการโครงการฯ
12.นางสาวฟางทิพย์ ทองศรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นผู้ประสานงานโครงการฯ
13.นายเอกวิทย์ หนูแก้ว บริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นเจ้าที่โครงการฯ
14.นางสาวอัจราพร ทรปุ่น นักศึกษาปริญญาโท คณะศิลปศาสตร์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นคณะทำงานด้านสังคม/พัฒนาสังคม ของโครงการฯ
15.นางสาววาสนา ประสมศรี นักศึกษาปริญญาโท คณะศิลปศาสตร์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นคณะทำงานด้านสังคม/พัฒนาสังคม ของโครงการฯ

สำหรับกรอบข้อตกลง(TOR)ระหว่างกรมเจ้าท่ากับคณะทำงานโครงการงานติดตาม ตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ระบุขอบเขตของการดำเนินงาน ข้อที่3.1 ว่า จะต้องดำเนินการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในระยะก่อนการก่อสร้าง ได้แก่ การติดตามตรวจสอบด้านคุณภาพอากาศ ด้านสัณฐานวิทยาชายฝั่งทะเลและสมุทรศาสตร์ ด้านเศรษฐกจ-สังคม ทำการวิเคราะห์ ประเมินผลการติดตามตรวจสอบ พร้อมทั้งวิจารย์ผลและให้ข้อเสนอแนะดังนี้

-คุณภาพอากาศ
ตรวจวัดความเข้มข้นของ CO (1ชม.), TSP(24ชม.), PM-10(24ชม.),ความเร็วและทิศทางลมเป็นเวลาต่อเนื่องครอบคลุมวันหยุดและวันทำ การ ตรวจวัด 1 ครั้ง ในช่วงก่อนการก่อสร้าง 1 เดือน จำนวน 2 สถานี คือ1.บริเวณท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา 2. บริเวณบ้านปากบารา

-สมุทรศาสตร์
ติดตามตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง โดยวิธีการบันทึกภาพและสำรวจภาพตัดขวางชายฝั่ง(Beach profile) ทุกระยะ 100 เมตร ตลอดแนวหาดปากบารา ตั้งแต่บริเวณปากคลองปากบาราขึ้นไปทางทิศเหนือ 1 กิโลเมตร และจากคลองปากบาราไปทางทิศใต้จนถึงเขาโต๊ะหงาย ระยะทางประมาณ 3.3 กิโลเมตร สำรวจ 2 ครั้ง คือในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ 1 ครั้ง และฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ 1 ครั้ง

-เศรษฐกิจ/สังคม
สำรวจความคิดเห็นของผู้นำชุมชน และประชาชนกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ประมาณ 300 ตัวอย่าง ที่หมู่บ้านปากบารา บ้านตะโละไส บ้านท่ามาลัยและหมู่บ้านอื่นๆในตำบลปากน้ำ สำรวจจำนวน 1 ครั้ง ในช่วงก่อนการก่อสร้าง 3 เดือน
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท