Skip to main content
sharethis
 
“กองทุนพัฒนาสื่อ” ขจัดสื่อตัวร้ายให้เป็นสื่อสร้างสรรค์
 
ปลุกรัฐหันมอง “กองทุนสื่อสร้างสรรค์” ฝันอันยาวนานของเด็กไทย
 
ระดมสมอง “อยากเห็น อยากให้” กองทุนสื่อฯ เป็นอย่างไร
 
เสนอ 4 ประเด็นผลักดันกองทุนสื่อสร้างสรรค์
 
กองทุนสื่อ เครื่องมือหนุนอนาคตชาติ
 
ฯลฯ
 
ที่ยกมาข้างต้นคือหัวข้อเอกสารเผยแพร่ของ “โครงการ จับตากองทุนสื่อ เครื่องมือหนุนอนาคตชาติ” ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) ซึ่งหลายคนคงเคยเห็นเคยอ่านผ่านตากันบ้างแล้ว ฟังชื่อโครงการอาจจะงงว่าเป็นใครมาจากไหน แต่พอเห็นชื่อผู้เกี่ยวข้องก็ถึงบางอ้อ อาทิเช่น ผู้จัดการ สสส.หมอโนบิตะ ณ ฟิตเนส (อิอิ หัวร่ออย่างลี้ลับ) หรือว่า รศ.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส.ที่ยังไปเป็นประธานคณะกรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป ภายใต้คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย ของหมอประเวศนั่นเอง
 
อ่านเอกสารทั้งหมดแล้ว สรุปความได้ว่า สสส. เครือข่ายลัทธิประเวศ ร่วมกับคนดีเรื่องดีทั้งหลายในสังคม ผู้ผลิตรายการเด็ก NGO ด้านการพัฒนาเด็ก ที่ล้วนมองว่าสื่อทุกวันนี้มีแต่ “ตัวร้าย” หนังสือพิมพ์ถ้าไม่ลงข่าวฆ่ากันตายก็ลงรูปดาราในชุดว่ายน้ำ ทีวีก็มีแต่ละครน้ำเน่าตบตีกัน ไม่มีที่ว่างให้สื่อดีมีคุณค่า สื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก จึงช่วยกันผลักดันร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งมีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพ จนผ่านความเห็นชอบของ ครม.ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา และขั้นตอนของการตีฆ้องร้องป่าว เปิดเวทีสาธารณะ
 
ใน ความคาดหวังของคนดีเรื่องดีทั้งหลาย กองทุนนี้จะนำไปสนับสนุนการผลิตสื่อสร้างสรรค์ รายการสำหรับเด็ก วรรณกรรมสำหรับเด็ก สื่อทางเลือก สื่อพื้นบ้าน โดยไม่ใช่สนับสนุนการผลิตอย่างเดียว แต่ยังช่วยพัฒนาสื่อ พัฒนาศักยภาพผู้ผลิต จัดฝึกอบรม จัดกิจกรรม และที่ขาดไม่ได้คือ ให้ชุมชนมีส่วนร่วม สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง (คาถาประจำ)
 
นอกจากนี้ กองทุนสื่อสร้างสรรค์ยังควรจะเป็นกองทุนที่บริหารจัดการโดยภาคสังคม ซึ่งจะ “เปิดกว้าง” กว่าภาคราชการ ไม่ควรอยู่ในระบบราชการ
 
ตีความได้อย่างตรงไปตรงมาว่า ต้องบริหารจัดการโดยเครือข่ายลัทธิประเวศ ไม่ใช่โดยกระทรวงวัฒนธรรม
 
ซึ่งฟังแล้วดูเหมือนจะเข้าที ให้ “ภาค ประชาสังคม” บริหารจัดการ ดีกว่าให้นักการเมืองหรือข้าราชการเข้ามายุ่มย่าม (แต่ “ภาคประชาสังคม” นี้ไม่ใช่หรือ ที่ “เปิดกว้าง” กับคนในเครือข่ายตัวเอง แต่ไม่ “เปิดกว้าง” กับคนที่มีความเห็นต่าง - อย่าง “ประชาไท” โดนมาแล้ว)
 
ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2553 ก็มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.การส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ สาระสำคัญคือจะจัดตั้ง “กอง ทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)” ขึ้นมาดูแลปฏิรูปการศึกษา โดยใช้เงินทุนจาก “ภาษีบาป” เหล้า บุหรี่ อภิสิทธิ์พูดไว้ในรายการเชื่อมั่นประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2553 ว่าจะให้หมอศุภกร บัวสาย อดีตผู้จัดการ สสส.มาดูแล กองทุนนี้จึงเรียกกันง่ายๆ ว่า “สสส.การศึกษา”
 
ถ้าอภิมหาโป รเจกท์นี้สำเร็จ เราจะได้เห็นว่า เครือข่ายลัทธิประเวศ นอกจากคุม 4 ส.ในกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังจะมี สสส.การศึกษา ไทยพีบีเอส (ปัจจุบันหมอพลเดช ปิ่นประทีป เป็นประธานบอร์ด) กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (ที่มองไปมองมาก็คงจะหาบุคลากรโดดเด่นเท่า รศ.วิลาสินีเป็นไม่มี) ถือเงินรวมกันร่วมหมื่นล้านบาทต่อปี (ไม่นับ สปสช.ที่รับเงินค่ารักษาพยาบาลรายหัวมาจากรัฐบาล) เพื่อทำงานรณรงค์ด้านการศึกษา สาธารณสุข ความคิด วัฒนธรรม ผ่านสื่อสารมวลชน
 
แถมยังเป็นเงินที่รัฐบาลไหนก็แตะต้องไม่ได้ สภาผู้แทนราษฎรก็ตัดทอนไม่ได้ เพราะกำหนดไว้ชัดเจนในกฎหมาย งบ สสส.สสค.ไทยพีบีเอส มาจาก “ภาษีบาป” ส่วนกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้ กสทช.จัดสรรรายได้ให้ทุกปี
 
นี่คืออภิ มหาโปรเจกท์ ว่าด้วยการสร้างรัฐซ้อนรัฐ นอกจากมีรัฐทหารซ้อนรัฐ รัฐตุลาการซ้อนรัฐ เรายังมีรัฐหมอประเวศซ้อนอยู่ในองค์กรทางสังคม
 
อันที่จริงก็น่าจะเป็นเรื่องดี ที่หมอประเวศดึงเงินเป็นหมื่นๆ ล้านมาใช้งาน “ภาค ประชาสังคม” ถ้าไม่ใช่เพราะเครือข่ายของท่านเป็นเครือข่ายคนดีที่คับแคบ มองเห็นแต่พวกตัวเอง จำกัดความคิด อยู่กับลัทธิชุมชนนิยม หน่อมแน้มนิยม ภาพสะท้อนจึงออกมา 2 ด้านคือ สสส.ให้เงินซ้ำซากกับ NGO หน้าเดิมๆ ไม่ทุจริตคดโกง-แต่สิ้นเปลือง งานไม่ขยาย ไม่มีอะไรใหม่ ขณะที่คนทำงาน NGO นอกเครือข่าย เลือดตาแทบกระเด็นกว่าจะหาเงินได้
 
การที่เครือ ข่ายหมอประเวศผลักดันให้ตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์ จึงมีคำถามว่า จะเข้าอีหรอบเดิมหรือไม่ คือให้เงินไป 10 ล้านเพื่อสร้างสรรค์สื่อปลอดภัยที่ไม่มีใครดู เด็กไม่อยากดู มีแต่ผู้ใหญ่คนดีเรื่องดีบอกว่านี่แหละสิ่งที่เด็กควรดู ถามว่ามันจะต่างอะไรกับ TPBS “ทีวีของคนชายขอบ” (ที่คนทั่วไปเขาไม่ดูกัน) เออ แล้วทำไมไม่เอา “สื่อสร้างสรรค์” ไปออก TPBS เสียเลยจะได้สร้างเองดูกันเอง
 
 
 
สสส.สร้างสรรค์
สถาบันอิศรา
 
เนื่องใน วโรกาสที่ใกล้จะถึงวันนักข่าว 5 มีนาคม ก็ใคร่ขอยกสถาบันอิศรามาเป็นกรณีศึกษา ว่าเมื่อ สสส.เข้าไปที่ไหน บ่อนแตกที่นั่น (ก็ สสส.ไม่สนับสนุนการพนัน-ฮา)
 
ผู้อ่าน หนังสือพิมพ์ทั้งหลายคงพอรู้เห็นว่า สสส.เป็นสปอนเซอร์รายใหญ่รายหนึ่ง ซื้อโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ ทั้งโฆษณาตรง โฆษณาแฝง แต่โฆษณาแฝงของ สสส.ไม่มีใครด่าเหมือนที่นิตยสารสารคดีโดนด่าฐานรับโฆษณาแฝง ปตท.เพราะ สสส.ลงโฆษณาแฝงในรูปของข้อเขียน บทความ รายงานพิเศษ เกี่ยวกับเรื่องดีๆ คนดีๆ ทั้งหลาย เช่น การรวมตัวของชุมชน กิจกรรมชุมชน การส่งเสริมคุณภาพชีวิต กิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็ก ฯลฯ โดยบางครั้งก็ไม่พะโลโก้ สสส.ทำเหมือนกับหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นเขียนเอง
 
ถามว่าผิด ตรงไหน ไม่ผิดหรอกครับ เพราะเป็นเรื่องที่น่าส่งเสริม เพียงมีข้อพึงสังวรณ์ว่า ในภาพรวมมันก็คือการนำเสนอแนวคิดลัทธิประเวศ มาครอบงำชี้นำสังคมในเรื่องแนวทางการพัฒนาประเทศแต่ผู้เดียว ในแง่ของสื่อ มันสร้างความเคยชินว่า จากเมื่อก่อนที่เราเคยเสนอข่าวเรื่องดีคนดีอย่างมีอิสระ ไม่หวังผลตอบแทน ตอนนี้เราได้ค่าโฆษณาด้วย ในแง่ของ สสส.มันก็คือการ “ซื้อสื่อ” จนทำให้ไม่มีสื่อหน้าไหนกล้าวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ สสส.(ลองพูดสิว่า สสส.ใช้เงินสิ้นเปลือง จะได้ลดงบโฆษณา)
 
แต่ผู้อ่าน หนังสือพิมพ์ทั้งหลาย หรือแม้แต่คนในวงการสื่อที่ไม่ค่อยได้ร่วมกิจกรรมสมาคมนักข่าว คงไม่รู้หรอกว่า สสส.ยังเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ โดยผ่านการให้ทุนสถาบันอิศรา ทำโครงการที่ชื่อว่า “ปฏิรูป ระบบสื่อสารเพื่อสุขภาวะ” ให้ทุนกันมาแล้ว 14 ล้านบาทเศษ ตั้งแต่ต้นปี 2551 ถึงกลางปี 2552 เป็นเวลาปีครึ่ง รอบสองก็ต่ออีกปีครึง เข้าใจว่าได้งบประมาณใกล้เคียงกัน (เพราะผู้จัดการ สสส.มีอำนาจอนุมัติงบไม่เกิน 20 ล้าน เกินนั้นต้องเข้าบอร์ด)
 
14 ล้าน อุแม่เจ้า ถ้าอิศรา อมันตกุล ฟื้นคืนชีพขึ้นมาคงร้องอุทาน
 
สมาคมนัก ข่าวก่อตั้งขึ้นในปี 2498 โดยมีอิศรา อมันตกุล เป็นนายกสมาคมคนแรก แน่นอนว่าภารกิจสำคัญในยุคนั้นต่อเนื่องมาจนถึงยุคสฤษดิ์ ถนอม ประภาส จนรัฐบาลหอย และรัฐบาลครึ่งใบ ก็คือต่อสู้เผด็จการ
 
แต่ล่วงมา ถึงสมัยเมื่อ 20 กว่าปีก่อนที่ผมเข้ามาทำหนังสือพิมพ์ สมาคมนักข่าวไม่ได้มีกิจกรรมอะไรมาก นอกจากออกคำแถลงเวลาสื่อถูกคุกคามละเมิดสิทธิ กับให้สวัสดิการสมาชิก เช่นให้ทุนการศึกษาบุตร ให้พวงหรีดและเงินช่วยงานศพ เชื่อมความสัมพันธ์กับสื่อต่างประเทศ (แบบว่าเขามาเยือนมั่ง เขาเชิญไปเยือนมั่ง นักข่าวบางคนที่เป็นกรรมการสมาคมต่อเนื่อง และชอบเสนอตัวเอง สะสมไมล์กระทั่งได้ตั๋วฟรีพาลูกเมียไปเที่ยวเมืองนอก)
 
นอกนั้นก็มี จัดประกวดภาพข่าวยอดเยี่ยมประจำปี กับจัดทำหนังสือรายงานประจำปี (ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่ปัจจุบันได้สปอนเซอร์เข้าสมาคมปีละ 2-3 ล้านบาท ไม่ใช่อี้ๆ นะครับ โดยค่ายมติชนผูกขาดเป็นผู้หาโฆษณา จัดทำ และตัดพิมพ์ มานานปีดีดัก มติชนได้ไปเท่าไหร่ไม่รู้ รู้แต่ว่าหักกลบลบแล้วส่งเงินให้สมาคมปีละ 2-3 ล้าน)
 
สมาคมนัก ข่าวไม่เคยทำงานด้านการฝึกอบรม ในปี 2527 เคยมีผู้ก่อตั้งสถาบันพัฒนาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แต่ก็ไปไม่รอด มีปัญหาทั้งเงินทุน การบริหารจัดการ (ทั้งยังมีข่าวลืออื้อฉาวระหว่างผู้บริหารกับบัณฑิตสาวนิเทศศาสตร์ไฟแรงที่ มาทำงาน ฮิฮิ)
 
จนกระทั่งหลังปี 35 หลังไล่สุจินดา เข้าสู่ยุคทองของหนังสือพิมพ์ ปราโมทย์ ฝ่ายอุประ เป็นนายกฯ ดึงคนรุ่นใหม่ที่เรียกกันว่า “ดรีม ทีม” เช่น ภัทระ คำพิทักษ์, ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี (และอีกหลายๆ คนที่ตอนนี้ไปทำอาชีพอื่นแล้ว) เข้ามามีบทบาทเสนอโครงการต่างๆ เช่น ฝึกอบรมนักข่าวใหม่ ฝึกอบรมนักศึกษาด้านสื่อสารมวลชน ที่เรียกว่าโครงการ “พิราบน้อย” (ซึ่งต่อมาได้ทุนสนับสนุนจากซีพี และซีพียังให้เงินสมาคมนักข่าวราว 3-4 ล้านมาปรับปรุงอาคารสถานที่) รวมถึงจัดเพรสคลับให้นักข่าวพบปะชุมนุมกัน มีการแตกตัวตั้งองค์กรต่างๆ เช่น ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ชมรมนักข่าวไอที สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ ซึ่งก็ตั้งอยู่ในสมาคมนักข่าว กล่าวได้ว่าเป็นยุคที่มีกิจกรรมคึกคัก แต่งานสมาคมนักข่าวยุคนั้นก็ยังเป็นงานอาสา คือทำด้วยใจรัก มีแต่พนักงานประจำ 4-5 คนคือผู้จัดการสำนักงาน พนักงานบัญชี แม่บ้าน ที่ได้รับเงินเดือน
 
กระนั้นก็ ต้องเข้าใจว่า คนที่เข้ามาเป็นกรรมการสมาคมแต่ละรายมีฐานะเป็นตัวแทนองค์กรของตนด้วย จึงมีความขัดแย้งภายในอยู่เนืองๆ แม้ไม่ปรากฏออกภายนอก (แมลงวันไม่ตอมแมลงวัน) บางรายก็มาทำงานให้สมาคมเพราะองค์กรต้นสังกัดเปิดไฟเขียวเต็มที่ โดยหวังให้คอยช่วยปกป้องเวลานักข่าวของตนถูกสอบสวนเรื่องจริยธรรม
 
ความขัดแย้ง ครั้งใหญ่ที่สุดก็คือตอนข่าวยันตระของหนังสือพิมพ์ข่าวสดไม่ได้รางวัลข่าว ยอดเยี่ยม ทำให้ข่าวสดตบเท้าออกจากสมาคม ไม่มาเหยียบอีกเลยจนวันนี้ ทั้งที่มีประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ จากค่ายมติชนเป็นนายกสมาคม
 
นอกจากนี้ก็มีค่ายหนังสือพิมพ์กีฬา ที่ยัวะสุดขีดตอนสภาการหนังสือพิมพ์ออกแนวปฏิบัติเรื่องการเสนอข่าวกีฬา ว่า “ต้อง ไม่ชักจูงไปเกี่ยวข้องกับการพนัน” ทั้งที่ก่อนหน้านั้น สภาฯ เพิ่งไปขอกะตังค์มาทำกิจกรรม 2 แสน เจ้าพ่อกีฬาจึงประกาศไม่ให้นักข่าวในสังกัดร่วมสังฆกรรมกับสมาคมนักข่าว และสภาการหนังสือพิมพ์
 
สมาคมนัก ข่าวนักหนังสือพิมพ์ได้จัดตั้งมูลนิธิสถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ขึ้นในปี 2547 เพื่อเป็นหน่วยงานจัดการฝึกอบรมทักษะวิชาชีพ ในปีเดียวกันนั้นเกิดปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ สมาคมก็ได้จัดตั้งศูนย์ข่าวอิศราขึ้น ส่งนักข่าวส่วนกลางลงไปร่วมกับนักข่าวภาคใต้ ตั้งศูนย์รายงานสถานการณ์ขึ้นโดยเฉพาะ
 
ศูนย์อิศรา ตอนแรกได้เงินทุนที่ อ.โคทม อารียา หามาให้ แต่เป็นช่วงสั้นๆ กระเป๋าเงินตัวจริงคือพระเอกหวีผมเปิดของเรา หมอประเวศ ซึ่งควักมาจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ที่ตัวเองเป็นประธาน (หมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นเลขาธิการ) เนื่องจากภัทระ คำพิทักษ์ นายกสมาคมในขณะนั้น มักจะไปเสวนากับหมอประเวศอยู่เนืองๆ ศูนย์อิศราจึงมีเงินให้ใช้จ่ายไม่อั้น หัวหน้าศูนย์ข่าวซึ่งตั้งอยู่ มอ.ปัตตานี ได้เงินเดือนสามหมื่น (นอกเหนือที่ได้จากต้นสังกัด) คนอื่นๆ ได้เบี้ยเลี้ยง เท่านั้นไม่พอ มสช.ยังได้บิลค่าใช้จ่ายตั้งแต่ค่าสบู่ ยาสีฟัน ค่าซักรีด ไปจนค่าอาหารอันครื้นเครงยามเย็นย่ำ
 
อย่างไรก็ดี เมื่อภัทระกระโดดเข้าไปเป็น สนช.หลังรัฐประหาร ซึ่งคนในวงการสื่อฮือค้านไม่เห็นด้วย ภัทระลาออก ก็เกิดการ “เปลี่ยน ขั้วอำนาจ” ในสมาคม และมีการสะสางเรื่องศูนย์อิศรา ปัจจุบันสมาคมก็ยังมีศูนย์ข่าวภาคใต้ มี บก.ข่าว 1 คนกินเงินเดือน (นอกเหนือที่ได้จากต้นสังกัด) แต่ยุบศูนย์ที่ มอ.ปัตตานี มีนักข่าวท้องถิ่นทำข่าวส่งให้โดยได้ค่าตอบแทนรายชิ้น
 
 
 
ยุคอู้ฟู่
 
ในเดือน กุมภาพันธ์ 2550 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์ และมูลนิธิสถาบันพัฒนาสื่อมวลชน ได้ตัดสินใจยุบรวมสถาบันกับศูนย์ข่าวอิศรา ใช้ชื่อใหม่ว่า “สถาบันอิศรา” หน้าที่หลักคืองานฝึกอบรม งานสำนักข่าวเหลืออยู่ 2 อย่างคือ โต๊ะข่าวภาคใต้ กับโต๊ะข่าว “เพื่อชุมชน”
 
ในช่วงที่ ทักษิณเรืองอำนาจและแทรกแซงสื่อ สสส.ยังให้ทุนสมาคมนักข่าวทำโครงการสำรวจวิจัยว่าจะปฏิรูปสื่ออย่างไร โครงการนี้มีกำหนด 1 ปี โดย รศ.วิลาสินี อดุลยานนท์ อ.นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ผู้มุ่งมั่นกับการพัฒนาสื่อ ซึ่งลาออกไปเป็นผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส.เป็น ตัวเชื่อมผลักดัน โครงการนี้ได้งานวิจัยมา 1 ชุด เป็นพื้นฐานของการตัดสินใจให้ทุนก้อนใหญ่กับสมาคมนักข่าว โดยผ่านทางมูลนิธิและสถาบันอิศรา
 
ต้องทำความ เข้าใจตรงนี้ก่อนว่า สมาคม และสถาบันอิศรา เป็น 2 องค์กรที่แยกกัน สมาคมมีนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งของสมาชิก ปัจจุบันคือประสงค์ จะครบวาระและมีการเลือกตั้งใหม่วันที่ 4 มี.ค.นี้ ส่วนสถาบันอิศรามีคณะกรรมการบริหารที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการมูลนิธิ ซึ่งมี 13 คน เป็นผู้แทนสมาคมนักข่าว 3 คน สภาการหนังสือพิมพ์ 3 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสายวิชาชีพ 3 คน ผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีก 4 คน ส่วนกรรมการสถาบันมี 7 คน เป็นผู้แทนสมาคม 2 ผู้แทนสภา 1 ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 และ ผอ.ซึ่งปัจจุบันชวรงค์เป็น ผอ.
 
นายกสมาคมฯ เป็นงานอาสา ไม่มีเงินเดือน ขณะที่ ผอ.สถาบันอิศราอันที่จริงต้องการคนทำงานเต็มเวลา อัตราเงินเดือน 60,000 บาท แต่ยังหาไม่ได้ เลยให้ชวรงค์มาทำงานกึ่งอาสา รับเงินเดือนครึ่งเดียวโดยยังทำไทยรัฐอยู่ด้วย
 
พูดง่ายๆ ว่าเงินทุนทั้งหมดเข้ามาทางศูนย์อิศรา สมาคมไม่มีกะตังค์ (มีแค่รายได้จากหนังสือรายงานประจำปี) ฉะนั้นเวลาจัดกิจกรรมต่างๆ ช่วงหลังก็จะจัดในนามศูนย์อิศรา
 
ศูนย์อิศรา ยุคเริ่มแรก มีเงินทุนระยะสั้นๆ เข้ามา เช่น ทุนจากยูนิเซฟ ให้จัดกิจกรรมอบรมด้านสิทธิเด็กและประกวดการทำข่าวด้านสิทธิเด็ก ผู้มอบรางวัลคือ อานันท์ ปันยารชุน (พ่ออานันท์เป็นนายกฯสมาคมหนังสือพิมพ์คนแรก ที่ก่อตั้งโดยกุหลาบ สายประดิษฐ์) ทุนจาก มสช.ที่ให้ทำข่าวเชิงสืบสวน 10 ทุนๆ ละ 2 หมื่นบาท ทำเสร็จก็รวมเล่มชื่อ เจาะข่าวนโยบายสาธารณะ
 
แต่ทุนก้อนใหญ่ยิ่งกว่าถูกหวยก็คือ เงินทุน สสส.ดังกล่าว ภายใต้ชื่อโครงการ “ปฏิรูป ระบบสื่อสารเพื่อสุขภาวะ” งบประมาณ 14 ล้านกว่าบาท ต่อช่วงเวลาดำเนินการปีครึ่ง โดยมีโครงการย่อยๆ รวม 5 โครงการ มีผอ.สถาบันเป็นผอ.โครงการ รองลงมามีผู้จัดการโครงการ 2 คน ผู้ประสานงานโครงการ 4 คน มีคณะที่ปรึกษาด้านวิชาชีพ ด้านวิชาการ
 
โครงการ เหล่านี้เขียนไว้สวยหรูตามแบบฉบับ สสส. เช่น โครงการสร้างระบบการพัฒนาองค์ความรู้และฐานข้อมูล โดยผ่านกระบวนการส่งเสริมงานวิจัยทางด้านสื่อสารมวลชนในลักษณะของงานวิจัย เชิงปฏิบัติการ (Action Research) เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ผู้บริหารองค์กรสื่อมวลชน และผู้ปฏิบัติงานในองค์กรสื่อมวลชน, โครงการพัฒนาศักยภาพด้านองค์ความรู้ในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและกฎหมายที่จำเป็นแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและภาคส่วนที่เกี่ยว ข้อง, โครงการสร้างระบบการเข้าถึงและนำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างธรรมาภิบาลโดย ใช้กระบวนการส่งเสริมการสื่อข่าวเชิงสืบสวน (Investigative Reporting) โครงการสร้างศักยภาพด้านการสื่อสารแก่สื่อภาคประชาชนและสื่อท้องถิ่น, โครงการสร้างเครือข่ายการประสานความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวล ชน นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน นักสื่อสารภาคประชาชน ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
 
อธิบายง่ายๆ ดีกว่าว่า เช่นโครงการที่ 5 มีการเดินสายไปจัดประชุมบรรณาธิการสื่อท้องถิ่น 4 ภาคให้มีการรวมตัวกันทำกิจกรรม ในส่วนกลางก็มีการจัดเวทีราชดำเนินเสวนา เชิญบุคคลที่อยู่ในสถานการณ์ร้อนแต่ละสัปดาห์มานั่งคุยกับนักข่าว
 
โครงการแรก ก็มีการทำวิจัยสื่อท้องถิ่น สำรวจหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและวิทยุท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วประเทศ ว่ามีอยู่เท่าไหร่ เลี้ยงตัวเองได้ หรือเลี้ยงตัวเองไม่ได้ เพราะอะไร โดยจ้างคณะวิจัยทั้งที่เป็นคนในและคนนอก นักวิชาการที่เคยทำงานร่วมกับสมาคมนักข่าว มาทำวิจัยแล้วก็จัดประชุมประจำปี
 
โครงการที่ 3 ก็มีการให้ทุนนักข่าวท้องถิ่น 20 ทุนๆ ละ 2 หมื่นบาท และเบิกค่าพาหนะได้อีก 2 หมื่นบาท ทำข่าวสืบสวนมารวมเล่มเป็นหนังสือเจาะข่าวเล่ม 2 มีบรรณาธิการ 1 คนจากส่วนกลาง ได้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน 10 เดือนๆ ละ 25,000 บาท โดยไม่ใช่ว่านักข่าวเขียนข่าวเสร็จส่งมาได้เลยนะครับ ตามแบบ สสส.เขาต้องจัดเวทีสาธารณะ มีบรรณาธิการและวิทยากรมารับฟัง แล้วร่างเรื่องที่เขียนขึ้นมาให้ที่ปรึกษาดูก่อน เขียนเสร็จจึงส่งมาพิมพ์
 
โครงการที่ 2 มีการจัดอบรมนักข่าว 3 รุ่น เรียกว่า หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง (บสก.) และหลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.) โครงการนี้ได้งบไปราว 3 ล้าน
 
หลักสูตร บสส.บสก.นี่เองที่เกิดเรื่องครื้นเครงหึ่งวงการ (แต่สาธารณชนไม่รับรู้) โดยหลักสูตร บสส.ก๊อปปี้มาจากหลักสูตร บยส.ของกระทรวงยุติธรรม นำเอาผู้บริหารสื่อต่างๆ ซึงส่วนใหญ่เป็นระดับบรรณาธิการข่าวและเจ้าของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น มาอบรมร่วมกับผู้บริหารจากภาคเอกชน ซึ่งก็คือพวก PR บริษัททั้งหลาย เชิญวิทยากรดังๆ มาบรรยาย มีการไปดูงานหนังสือพิมพ์ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ไปดูงาน PR ของบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น ซีพี ปูนซีเมนต์ไทย
 
ตอนที่อบรม ในประเทศก็ไม่เท่าไหร่ แต่พอจบแล้วสิ มีจัดไปดูงานต่างประเทศด้วย โดยพวกที่มาจากภาคเอกชนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง เสนอจัดแข่งกอล์ฟหาทุน แม้พวกนักข่าวและ NGO บางคนไม่เห็นด้วยเพราะมันไม่ค่อยสวย ที่จะเอาเครดิตสื่อไปเร่ขอเงินบริษัทห้างร้างหาทุนดูงานเมืองนอก แต่สุดท้ายก็มีการจัดงานจนได้กะตังค์มา 3 ล้านกว่าบาท ยกทีมไปดูงานญี่ปุ่น โดยนักข่าวสายคมนาคมติดต่อการบินไทยได้ตั๋วลดราคาพิเศษ นักข่าวสายตำรวจติดต่อ ตม.ขอห้องรับรองสุดหรูที่สนามบินสุวรรณภูมิ เดินทางไปดูงานที่ NHK ครึ่งวัน จากโปรแกรมทัวร์ทั้งหมด 7 วัน ตอนนั้นเป็นช่วงม็อบเสื้อแดงลุกฮือวันสงกรานต์ 2552 พอดี
 
หลักสูตร บสก.ก็เหมือนกัน ผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่เป็นระดับหัวหน้าข่าว หลายคนไม่เห็นด้วย ที่จะจัดหาทุนไปดูงานต่างประเทศ แต่สุดท้ายก็จัดไปเกาหลีใต้ 5 วัน กระนั้นยังมีหลายคนที่ต่อต้าน ไม่ยอมไป
 
หลักสูตร บสส. รุ่น 2 ได้เงินมากกว่ารุ่นแรกเสียอีก 5 ล้านกว่า บินไปยุโรปเลย ออสเตรีย เยอรมัน สาธารณรัฐเช็ก แต่ก็เริ่มมีกระแสต่อต้าน มีคนไม่ไปหลายคน จนเรื่องมันแรง วสันต์ ภัยหลีกลี้ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พูดในที่ประชุมเครือข่ายสภาวิชาชีพ ว่าหลักสูตรนี้ถูกวิจารณ์มากเรื่องจัดกอล์ฟไปดูงานต่างประเทศ ต่อไปถ้าสถาบันอิศราจะจัดอบรมอีก ก็ขอร้องว่าอย่าจัดกอล์ฟหาทุน
 
หลังจากนั้น หลักสูตร บสก.รุ่น 2 ก็เลยไม่มีการไปดูงานเมืองนอกอีก
 
หลักสูตร บสส.เนี่ยยังกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพฯ มาพระราชทานประกาศนียบัตรด้วยนะครับ ทั้งที่มีบางคนค้าน โดยสถาบันอิศรามอบให้ “พี่ ติ๋ม” วิมลพรรณ ปิตะธวัชชัย เป็นผู้จัดการเดินเรื่อง กระนั้นก็ยังมีผู้เข้าอบรม 2-3 รายไม่ไปรับ ทำเอา “พี่ติ๋ม” ยัวะ ตั้งคำถามว่าไอ้พวกนี้เอียงซ้ายหรือเปล่า แต่บางคนให้เหตุผลว่า พระเทพท่านเหนื่อยมาเยอะแล้ว ทำไมจะต้องขอให้พระองค์ท่านมามอบประกาศฯ ให้เรา
 
 
 
ใช้เงินทำเรื่องดีๆ
 
สสส.ให้ทุนสถาบันอิศรา 14 ล้าน ในช่วงเวลาปีครึ่ง แล้วก็อีกปีครึ่ง น่าจะไม่น้อยกว่าเดิมเพราะยังเพิ่มโครงการ “ศูนย์ข้อมูลข่าวสารการปฏิรูปประเทศไทย” (http://www.thaireform.in.th/) ตามแนวคิดของหมอประเวศ ที่ผลักดันให้ สสส.ทำ แต่ สสส.ส่งมาให้สมาคมนักข่าวทำ ในนามสำนักข่าวสถาบันอิศรา ปัจจุบันมีที่ตั้งอยู่บนชั้นสองของสมาคมนักข่าว มี บก.ข่าว 1 คน นักข่าว 5 คน ทำข่าวเกี่ยวกับหัวข้อปฏิรูปประเทศไทย 10 เรื่อง
 
สนอง need ต่างตอบแทนกันเห็นๆ อิอิ
 
อย่างไรก็ดี ที่เขียนมาทั้งหมดเนี่ย ผมไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องเลวร้ายนะครับ และไม่ได้มีการทุจริตประพฤติมิชอบ แม้มีเรื่องไม่เหมาะไม่ควรบ้าง ก็เป็นเรื่องเฉพาะส่วน เช่นการอบรม บสส.บสก.ก็เป็นเรื่องของผู้เข้าอบรม ไม่ใช่สมาคมหรือสถาบันเป็นตัวตั้งตัวตี คนที่เอ่ยชื่ออย่างประสงค์ ภัทระ ชวรงค์ ก็เป็นคนที่ทำงานอาสาให้ส่วนรวม ทำงานให้สมาคมมาร่วม 20 ปี
 
แต่สิ่งที่ ผมตั้งข้อสังเกต คือเงินทุนก้อนมหึมาของ สสส.แม้จะเอามาทำเรื่องดีๆ แต่ก็เปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานของสมาคมนักข่าว ที่เคยเป็นสมาคมจนๆ ทุกคนทำงานด้วยใจรัก ไม่มีค่าตอบแทน ให้กลายมาเป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่ง ที่ถ้าเปลี่ยนตัวบุคคลจากนักข่าวไปเป็นนักการเมือง มันก็คือการทำงานแบบกรรมาธิการ
 
เมื่อก่อน หนังสือพิมพ์ฉบับไหนมีนักข่าวมาทำงานให้สมาคม เรามักถือว่าเขามาอาสาช่วยงานส่วนรวม –พี่ วันนี้ขอลาไปงานสมาคมนะ โอเค ได้เลย ไม่มีปัญหา เพราะหัวหน้าข่าว บก.ข่าว หรือเจ้าของหนังสือพิมพ์คิดว่ามาทำงานฟรี ไม่มีค่าตอบแทน อย่างมากก็ได้เบี้ยประชุมเล็กๆ น้อยๆ
 
แต่ตอนหลัง มันชักจะยังไงละครับ เพราะนักข่าวที่มาทำงานให้สถาบันอิศรา มีเงินเดือนเพิ่ม ถ้าคุณลางาน เลี่ยงงาน มาทำงานให้สถาบัน เพื่อนฝูงรู้ก็เริ่มเขม่น หัวหน้าก็อึดอัด เช่นนักข่าวบางคน ค่ายยักษ์ใหญ่เขาซื้อตัวมาจากอีกค่ายหนึ่งด้วยอัตราเงินเดือนสูงลิบ เขาห้ามรับจ็อบ แต่เธอยังมาทำงานสถาบันอิศรา ต้นสังกัดก็พูดไม่ออก
 
นักข่าวบาง คนไม่ได้เงินเดือน แต่เข้าไปเป็นกรรมการ อนุกรรมการ ที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งต้องเข้าประชุมบ่อยๆ อัตราค่าประชุมมาตรฐานโครงการ สสส.คือคนละ 1,000 บาท บางคนตอนเช้าประชุมอนุฯ ของสมาคมได้เบี้ยประชุม 500 เข้าประชุมยังไม่เลิกขอออกมาก่อน แล้ววกขึ้นไปประชุมที่สถาบันอิศรา ได้อีก 1,000 สบายไป
 
พูดในภาพรวม ก็คือมันเกิดความสับสนระหว่างงานอาสาด้วยใจรัก กับการรับจ็อบหารายได้พิเศษ ซึ่งถ้าไม่ระวัง มันก็จะพัฒนาไปอีก เช่นการเล่นพรรคเล่นพวก ดึงเอาคนนั้นคนนี้เข้ามาทำงานที่ได้ค่าตอบแทนสูง
 
นี่คือปัญหา ในการสนับสนุนเรื่องดีคนดีของลัทธิประเวศ ซึ่งผมสันนิษฐานว่าหมอประเวศแกเชื่อภาษิตจีนโบราณที่ว่า เงินทองใช้ภูตผีโม่แป้งได้ แกก็เลยเอาเงินเป็นตัวตั้ง มาจ้างคนทำความดี
 
ถ้าให้พูดแบบ extreme เชิงล้อเลียนหน่อยๆ ผมก็มองการทำงานของ สสส.ว่า สมมติมีสามล้อหรือแมงกะไซค์รับจ้างตั้งวงเตะตะกร้อออกกำลังกายกันปากซอย สนุกสนานเฮฮาตามอัตภาพ สสส.มาเห็นเข้า ก็จะกระโดดเข้าไปส่งเสริมสนับสนุน ทำโครงการ ให้งบประมาณไปซื้อลูกตะกร้อ ซื้อน้ำซื้อน้ำแข็งใส่กระติก ให้เงินบำรุงทีม แจกเสื้อทีม กางเกง รองเท้า จัดหานักวิชาการมาอบรมคุณค่าของการออกกำลังกาย จากนั้นก็ติดป้าย “ห้ามสูบบุหรี่”
 
จากการออก กำลังกายสนุกสนานเฮฮา มันก็กลายเป็นจ้างออกกำลังกาย และอาจจะวงแตก เพราะความเบื่อ พวกกรูเตะตะกร้อเล่นของกรูอยู่ดีๆ เมริงจะมาทำให้ยุ่งยากอะไรนักหนา เดี๋ยวก็อบรม เดี๋ยวก็วิจัย เดี๋ยวก็จัดเวทีสาธารณะ ฯลฯ หรือไม่ก็วงแตกเพราะผลประโยชน์ จากที่เคยเรี่ยไรกันบาทสองบาทซื้อลูกตะกร้อ พอมีเงินบำรุงทีมกลับทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ ใครเอาเงินไปทำอะไรบ้าง จ้องจับผิดจนผิดใจกัน
 
เหมือนอย่างสถาบินอิศราก็เลยถูกผมจ้องจับผิดอยู่นี่ไง ฮิฮิ (ทั้งที่ตัวเองก็ไม่ได้เป็นสมาชิก ไม่เคยไปช่วยงานสมาคมนักข่าวซักนิด)
 
ก็ฝากไว้ให้ สังวรณ์ สำหรับสมาคมนักข่าวที่จะเลือกกรรมการชุดใหม่ โดยเชื่อว่า สสส.คงไม่ถึงกับมีส่วนกำหนดว่าใครจะเป็นนายกสมาคม แต่ไม่แน่เหมือนกัน สมมติผมสมัครสมาชิก หาเสียงชิงตำแหน่งนายกฯ สมัยหน้า สสส.คงยอมไม่ได้ที่จะให้นายกสมาคมนักข่าวสูบบุหรี่ปุ๋ยๆ แถมยังชอบวิจารณ์หมอประเวศวันละ 3 เวลาหลังอาหาร
 
                                                                                    ใบตองแห้ง
                                                                                    3 มี.ค.54
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net