Skip to main content
sharethis

นักเศรษฐศาสตร์เตือนชุมชนอย่าจัดสวัสดิการเกินตัว ระวังปัจจัยที่คุมไม่ได้ เช่น อัตราผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ด้านจันทบุรี อวดโมเดลกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เน้นบริการแข่งทุนนิยม ใช้มาตรการสังคมกดดันให้สมาชิกส่งดอกฯ ทุกเดือน

(3 มี.ค.54) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา ในประชุมวิชาการเวมีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 มี.ค. โดยคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ คณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาติแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีการเสวนา หัวข้อ ร่วมอภิวัฒน์ประเทศไทย: สวัสดิการสังคมเต็มชุมชน 

นายวรเวศน์ สุวรรณระดา รองศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สวัสดิการสังคมมีหน้าที่บรรเทาเยียวยาความเสี่ยงที่ไม่แน่นอนในชีวิตตั้งแต่ เกิดจนตาย อาทิ เจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน หรือแก่ตัวแล้วความสามารถทำงานหาเงินลดลง สำหรับการจัดสวัสดิการโดยชุมชน โดยโครงสร้างแล้วไม่ต่างจากที่รัฐทำ อาจมีรายละเอียดปลีกย่อย หรือสิทธิประโยชน์บางอย่างที่ทำมากว่ารัฐ โดยพิจารณาจากความต้องการของสมาชิกในชุมชน ในขนาดที่เล็กกว่า

อย่างไรก็ตาม นายวรเวศน์ เตือนว่า การจัดสวัสดิการชุมชนจะยั่งยืนได้ต้องไม่ทำสิ่งที่เกินศักยภาพของชุมชน และระวังปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ โดยการจ่ายสวัสดิการเฉพาะทำได้ภายใต้เงื่อนไขบางอย่างเช่น กรณีเกิด เจ็บ ตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉลี่ยกันไป แต่กรณีบำนาญ อาจมีปัญหาเนื่องจากความสมดุลระหว่างผู้สูงอายุและสมาชิกคุมไม่ได้ หากมีผู้สูงอายุในชุมชนมาก คนหนุ่มสาวก็ต้องภาระจำนวนมากด้วย 

พระครูสังฆรักษ์มนัส ขนฺติธมฺโม ประธานเครือข่ายกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ จ.จันทบุรี กล่าวว่า ในอดีต ชาวบ้านมีเงินแต่ไม่สามารถออมได้ โดยต้องเสียดอกเบี้ยเงินกู้ให้ธนาคารปีละจำนวนมาก แต่ละหมู่บ้าน เป็นหนี้ปีละ 100 ล้านบาท เสียดอกเบี้ยปีละ 10 ล้านบาท ทำอย่างไรก็ไม่รวย เพราะไม่สามารถจัดการการเงินได้ ในปี 2539 จึงได้ชวนชาวบ้านรวมกลุ่มออมเงินกันในชุมชน โดยสามารถกู้เงินด้วยอัตราดอกเบี้ยถูก นำกำไรมาปันผลและจัดสวัสดิการ โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ใหญ่ต้องนำเงินมาออมทุกเดือนๆ ละ 100 บาท เด็ก 50 บาท ปัจจุบัน มีสมาชิก 60,000 คน กองทุนมีเงิน 700 ล้านบาท กองทุนสวัสดิการ 400 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่มีบำนาญ เพราะอยู่ระหว่างสะสมเงินในกองทุน

ประธานเครือข่ายกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ จ.จันทบุรี กล่าวถึงปัจจัยซึ่งทำให้กลุ่มออมทรัพย์ประสบความสำเร็จว่า เพราะกลุ่มฯ มีนโยบายว่าต้องสามารถแข่งขันกับทุนนิยมได้ โดยมีขั้นตอนฝาก-กู้เงินที่ง่ายและรวดเร็วกว่าองค์กรการเงินอื่นๆ พร้อมยกตัวอย่างว่า เดือนหนึ่ง สมาชิก 3,000 คน ใช้เวลาฝาก-กู้เงินเพียง 2 ชม. 

นอกจากนี้ ยังมีกลไกส่งเสริมให้คนเป็นคนดีด้วย โดยรับจำนองที่ดิน  คิดดอกเบี้ยต่ำกว่าที่อ่ืน และจะลดต่ำลงอีกหากสมาชิกรับว่าจะเลิกเหล้าและการพนัน

ส่วนมาตรการส่งเงินคืนนั้น พระครูสังฆรักษ์มนัส ขนฺติธมฺโม กล่าวว่า  กลุ่มฯ กำหนดให้ผ่อนส่งคืนทุกเดือน อย่างน้อยเดือนละ 500 บาทพร้อมค่าดอกเบี้ย หากมีใครขาดส่งแม้แต่คนเดียว จะก็ไม่ปล่อยเงินกู้ให้สมาชิกทั้งหมดในเดือนนั้น ส่งผลให้ชาวบ้านที่ต้องการกู้เงินไปกดดันคนที่ไม่จ่ายและคนค้ำประกัน จนกว่าจะมีการจ่ายเงิน แม้ว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็ปล่อยเงินกู้ได้ทุกเดือน โดยไม่มีหนี้สูญแม้แต่บาทเดียว

ด้านนายสุจินต์ ดึงย์ไตรภพ รัฐมนตรีสวัสดิการชุมชน อบต.ปากพูน กล่าวว่า การจัดสวัสดิการของปากพูน เอาความดีเป็นตัวตั้ง โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ อย่างครอบครัว มี 4 ส่วนคือ กองทุนสวัสดิการสังคม ธนาคารความดี ธนาคารเวลา และร้านค้าเวลาดี ซึ่งสินค้าในร้าน ร้อยละ 90 ได้จากการบริจาค โดยมีสมุดธนาคารความดีสำหรับสะสมคะแนนจากการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม หรือการตั้งเป้าบางอย่างเช่น เลิกบุหรี่ โดยจะมีผู้บันทึกคอยสอดส่องดูแล หากทำไม่ได้ตามที่ตั้งไว้จะถูกหักคะแนน

เมื่อครบเทอมการศึกษาจะรวมคะแนน ส่วนหนึ่งแบ่งให้ผู้ด้อยโอกาส เป็นการเอื้ออาทรและไม่ทอดทิ้งกัน ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง อีกส่วนนำไปแลกสินค้าที่จำเป็น อาทิ ชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน ที่ร้านค้าเวลาดี หรือใช้ชำระค่าอาหารกลางวันได้ ส่วนคะแนนที่เหลือจะตัดไปรวมกับภาคเรียนถัดไป

ส่วนนายไพบูลย์ นุ้ยพิน รองนายก อบต.บ้านควน เล่าว่า ในพื้นที่ประกอบด้วย 18 หมู่บ้าน โดยกองทุนหมู่บ้านถือว่าประสบความสำเร็จในการจัดการ ไม่ค่อยมีหนี้เสีย และจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วทั้ง 18 หมู่บ้าน โดยต่อมาบูรณาการเป็นกองทุนสวัสดิการ นอกจากนี้ยังมีธนาคารต้นไม้ควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ชุมชนมีจิตสาธารณะ

นายไพบูลย์ เล่าว่า กองทุนหมู่บ้านมีดอกผลทุกปลายปี ตัดเงินปันผลเข้ากองทุนสวัสดิการ โดยตั้งเป้าว่า ภายใน 5 ปีจะต้องมีสวัสดิการให้สมาชิกทั้ง 8,000 กว่าคน ทั้งนี้ เขาวิพากษ์ว่า การตั้งกองทุนสวัสดิการโดยใช้เงินจากรัฐ ไม่มีความยั่งยืน เพราะไม่เกิดจากฐานคิดของประชาชนในหมู่บ้าน

นายไพบูลย์ กล่าวว่า รูปแบบการทำงานนั้นมีขั้นตอนไม่มาก แต่การออกแบบต้องใช้เวลา โดยมีการประชุมสรุปปัญหาต่อเนื่องเป็นระยะๆ เริ่มจากการประชุม สภา อบต. ทุกสัปดาห์แรกของเดือน ตามด้วยประชุม 18 หมู่บ้านและเวทีสาธารณะ ซึ่งประกอบด้วยสภาเด็ก องค์กรการเงิน ผู้นำชุมชนต่างๆ และเวทีสัญจรซึ่งสรุปปัญหาสามเวทีหมุนเวียนทุกหมู่บ้าน ทำให้เห็นปัญหาของตำบลทั้งหมด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net