Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในโลกยุคสันนิวาสนี้อะไร อะไรก็เกิดขึ้นได้เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ตั้งแต่ระดับความ ต้องการขั้นพื้นฐาน ความต้องการมั่นคงปลอดภัย ความต้องการความรัก การยอมรับ ไล่เรียงไปถึงความต้องการสำเร็จ ความสมบูรณ์ของชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยความเป็นคนที่อยู่บนพื้นฐานของความ อยาก ความต้องการเป็นที่ตั้งหลัก และฉันเองก็เป็นคนที่ยังวนเวียนอยู่กับการตอบสนองความอยากของฉันเองเฉกเช่น ผู้อื่นเช่นกัน

แต่ฉันเริ่มสังเกตตัวฉันเองอย่างหนึ่งเมื่ออายุอานามลามเข้าวัยกลางคน ฉันเริ่มสำเหนียกความต้องการของฉันว่าสิ่งที่ฉันต้องการนั้นแท้จริงฉันต้อง การ หรือคนอื่น หรือสังคมต้องการ เพียงแต่มีฉันเป็นร่างทรงของความต้องการทางสังคมเหล่านั้น ฉันเริ่มตระหนักว่าความต้องการของฉันนั้นมันดีสำหรับฉันแต่มันเลวร้ายสำหรับ คนอื่นหรือไม่ อย่างไร ความต้องการฉันมันทำให้ฉันรอด แต่คนอื่นก็อาจจะล่มจมก็ได้ และยิ่งกว่านั้นถ้าความต้องการนั้นมันถูกโฆษณาชวนเชื่อสู่สาธารณะอย่างที่ มวลชนเหล่านั้นไม่รู้เท่าทันหรือมีข้อมูลไม่รอบด้านอะไรจะเกิดขึ้นกับสังคม โดยรวม ซึ่งไม่ว่าความต้องการนั้นจะสร้างสรรค์ ดีงาม และชั่วร้ายเพียงใด ย่อมต้องมีพื้นที่ให้กับคนที่เขาไม่ต้องการ หรือสูญเสียประโยชน์จากความต้องการของใครบางคน ให้เขามีโอกาสพูด สื่อสาร มากกว่านำเสนอเพียงมุมที่ผู้สื่อสารและสารหลักต้องการเท่านั้น

และถ้าคุณผู้อ่านได้ติดตามข่าวเล็กๆ แต่สร้างความฮือฮาพอสมควรทางสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ (เล็กน้อย) ในวงการแปลงเพศ และวงการของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มุ่งไปยังกลุ่มชายที่ใคร่จะเป็น หญิง แล้วประกาศตนเป็นผู้หญิงข้ามเพศ เราคงได้ยินเรื่อง การแปลงเพศเอื้ออาทร หรือบางท่านก็ตั้งชื่อให้น่ารักว่า “จิ๋ม” เอื้ออาทร

ในเบื้องต้นฉันสนใจ คำว่า “เอื้ออาทร” มากกว่าคำว่า “จิ๋ม” (คงไม่ต้องบอกเหตุผลว่าทำไม) คำว่า “เอื้ออาทร” นี้เกิดขึ้นในยุครัฐบาลทักษิณ ภายใต้แนวคิดประชานิยมที่มุ่งทำงานกับคนยากคนจน หรือคนระดับล่างของสังคม โดยมีจุดประสงค์ทางการพัฒนา หรือคือให้คนเข้าถึงโอกาส (อันน้อยนิด) และเข้าถึงทรัพยากร (อันจำกัด) และมีจุดประสงค์ทางการเมือง คือสร้างฐานกำลังทรัพยากรบุคคลอันเป็นฐานเสียงแห่งสรรค์ รวมทั้งมีจุดประสงค์อื่นๆ แอบแฝงอีกมากกว่านั้นแต่มิขอเอ่ยถึง เกรงจะระคายเคืองเบื้องบาทของใครบางคน และพลอยให้ไม่อ่านบทความของฉันให้จบ (ซึ่งเป็นความต้องการของฉัน)

คำนี้มีนัยยะทั้งทางการเมือง และนัยยะทางชนชั้นทางสังคม ที่กำลังบอกถึงคุณภาพของผู้รับบริการว่าเป็นเช่นไร อีกทั้งยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์ และการผูกพันของผู้ให้กับผู้รับอย่างที่ไม่เท่าเทียมและเสมอภาค หากแต่เป็นแนวคิดแบบสังคมสงเคราะห์ หรือประชาสงเคราะห์ และถ้าท่านติดตามเรื่องนี้แล้วก็ผูกโยงไปถึงธุรกิจการศัลยกรรมทางการแพทย์ ที่ว่าด้วยการแปลงเพศ ซึ่งมีบริษัทเอกชนในคราบโรงพยาบาลให้การสนับสนุน และทรงร่างผ่านม้าขี่ (ม้าขี่ เป็นภาษาเหนือ หมายถึงร่างทรง หรือคนทรงเจ้า) ที่มีชื่อว่า กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศ และสร้างวาทกรรมของการพัฒนาสังคมและตัวตนทางเพศมากมาย เพื่อสร้างความชอบธรรมต่อการสื่อสารกับมวลชน

สิ่งที่กลุ่มดังกล่าวพยายามอธิบายตัวตนทางเพศของเขาว่า พวกเขาก็คือผู้หญิงแต่มีความผิดปรกติคือเกิดมามีร่างเป็นชายซึ่งต้องได้รับ การรักษาเพราะความผิดปรกตินั้นถูกบอกว่าเป็น โรคชนิดหนึ่ง และย้ำอยู่เสมอว่าเป็นหญิงตั้งแต่เกิด ซึ่งประเด็นนี้ก็ทำให้ฉันสับสนเข้าอย่างจังว่า เธอรู้ได้อย่างไร เพราะตอนคลอดหมอคงไม่สับสนเครื่องเพศขนาดเห็นจู๋ แล้วบอกว่าเป็นจิ๋ม แต่ฉันเชื่อว่าการเป็นชาย เป็นหญิง เป็นกะเทย เป็นเกย์ หรือเป็นเพศภาวะอื่นๆ มันมีส่วนของสังคมสร้างมันขึ้นมา พูดง่ายๆ คือเป็นกระบวนการสังคม ที่เรียกว่า สิ่งแวดล้อมทางสังคม สร้างและขัดเกลาขึ้นมากอปรพันธุ์กรรม ซึ่งก็เป็นอิทธิพลที่มนุษย์ทุกคนประสบอยู่แล้ว และกลุ่มดังกล่าวนี้ก็ไม่ได้ประกาศตัวตนของการเป็นผู้หญิงข้ามเพศตั้งแต่ เด็ก ๆ ซึ่งก็มาประกาศตัวมาไม่กี่ปีมานี้แล้วจะบอกว่ารู้ตั้งแต่เด็กอย่างไร

หากแต่พวกเธอก็อยู่ในช่วงกระบวนทางสังคมต่อตัวตนทางเพศของเธอแล้วกำหนด อัตลักษณ์ทางเพศดังกล่าวในช่วงหลังไม่ใช่หรือ และใช้โอกาสทางสังคมสร้างพื้นที่ให้ตัวเองในการอธิบายตัวตนทางเพศของตนเอง ใหม่กับสังคม ซึ่งต้องบอกว่าเป็นการอธิบายอย่างอัตวิสัย หรือ ตอบสนองความอยากของตนเองอย่างมิไยดีต่อผลกระทบทางสังคมและชีวิตอื่น เพราะความเป็นจริงยังมีกะเทย ที่มีร่างเป็นชายแล้วแต่งตัวเป็นหญิง และบางนางก็ไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศแต่อย่างใด ซึ่งเธอเหล่านั้นก็ภูมิใจในความเป็นอัตลักษณ์ทางเพศแบบนั้น แต่วันดีคืนดีมีคนบอกว่าเธอเหล่านั้นผิดปรกติ เพราะไม่เหมือนพวกฉันที่รู้ว่าฉันผิดปรกติเพราะมีร่างและมีอวัยวะเพศชายแต่ ฉันเป็นผู้หญิง จึงจำเป็นต้องรักษาด้วยการแปลงให้เหมือนหญิงเลยแล้วความผิดปรกติก็จะมลายหาย ไปเป็นคนปรกติ และอย่างไรถ้ากะเทยอีกคนที่ก็บอกว่าตนเองก็เป็นหญิงแต่ไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศ เธอจะกลายเป็นวัตถุต้องสงสัยไปเลยหรือเปล่าว่าผิดปรกติ บางท่านก็บอกว่ามันเป็นขบวนการของจิตใต้สำนึกที่ลึกๆ คิดว่าตนเองเป็นหญิง ซึ่งฉันก็บอกว่ามันก็ไม่ผิดที่จะคิดอย่างนั้น แต่ต้องไม่ทำให้จิตใต้สำนึกมันวิปริต วิปลาสขนาดที่ทำให้ผู้อื่นเขาสับสน และสยองขวัญกับคำอธิบายภายใต้วาทกรรมแห่งโรค และความผิดปรกติ

กล่าวคือถ้ากลุ่มดังกล่าวจะอธิบายหรือกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองตาม ความพึงใจของตนก็ทำไปแต่อย่าไปบอกว่าพวกมึง คนอื่นวิปริต ผิดปรกติ ถ้ามึงเป็นชายแล้วแต่งหญิง หรือพวกกะเทยที่ไม่แปลง ซึ่งถึงแม้นว่ากลุ่มดังกล่าวจะไม่บอกกล่าวตรงๆ ว่ากะเทยไม่แปลงผิดปรกติ แต่ด้วยนัยยะมันถูกอธิบายอย่างนั้น และในขณะเดียวคนทำงานด้านความหลากหลายทางเพศเองก็มีความประสงค์ที่จะสร้าง การรับรู้ทางสังคมเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ ตัวตนทางเพศ รสนิยมทางเพศ ที่หลากหลายในสังคมนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ได้ผิดปรกติ หรือแปลกประหลาดอย่างไร ถ้าไม่ไปทำให้ใครเดือดร้อน และพยายามทำให้เห็นความหลากหลายดังกล่าวว่ามีอยู่จริงและควรให้ความเคารพต่อ ความต่างนั้นๆ แต่การที่ผู้หญิงข้ามเพศเหล่านั้นกำลังส่งเสริมแนวคิดดังกล่าวมันกลายเป็น การผลิตซ้ำความคิดแบบคู่ตรงข้าม ที่ว่าด้วยหญิงกับชาย คือถ้าคุณไม่อยากเป็นชาย คุณก็กระโดดมาฝั่งผู้หญิงและสร้างรูปลักษณ์ใหม่ให้สอดคล้องกับผู้หญิง และความเป็นผู้หญิง

กล่าวคือถึงที่สุดก็ไม่พ้นจากกรอบหญิงชาย และรากฐานของกรอบดังกล่าวก็มีระบอบปิตาธิปไตย หรือชายเป็นใหญ่ในสังคมที่ควบคุมและแทรกซึมทุกระบบของสังคมจนเห็นเพศอื่น ด้อยกว่าเพศตน ซึ่งนี่ก็เหมือนกลับไปหาจุดฐานความคิดเก่าที่ไปไม่พ้นจากกรอบหญิงชาย และสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือกลุ่มนี้พยายามยกเหตุผลของการเป็นผู้หญิงข้ามเพศ ที่มาจากการอธิบาย ขององค์การอนามัยโลก ที่ว่าด้วยเรื่องบัญชีแยกโรค (ICD 10) ที่กล่าวว่า Transexualism นั้นยังเป็นโรค หรือผิดปรกติอยู่ และทางสมาคมจิตแพทย์อเมริกาเองก็ยังคงคำนี้ว่าเป็นโรคเช่นกัน ทางเครือข่ายคนทำงานด้านคนรักเพศเดียวทั้งระดับสากลและระดับประเทศก็มีเครือ ข่ายเพื่อนกะเทยไทยพยายามรณรงค์ที่จะถอดถอนคำนี้ออกจากบัญชีรายชื่อโรคนี้ ซึ่งคำอธิบายเหล่านั้นเป็นคำอธิบายทางการแพทย์ที่ทรงอำนาจหากแต่อ่อนด้อย ปัญญาทางสังคมอยู่ เพราะการเป็นกะเทยนั้นมิได้เป็นโรค หรือจิตวิปริต หรือผิดปรกติ

หากเป็นเช่นนั้นคนเหล่านี้ก็ไม่สามารถดำรงตนในสังคมอย่างปรกติหรือมี คุณภาพเช่นที่เห็นกัน คำว่า ผู้หญิงข้ามเพศนั้น เหตุตั้งแต่ทางเครือข่ายความหลากหลายทางเพศพยายามที่จะเข้าไปร่วมรณรงค์ เรื่องการใช้คำนำหน้านามของผู้หญิง ซึ่งมีการพูดกันว่าถ้ากะเทยจะใช้สิทธิ์ทางกฎหมายเรื่องนี้ร่วมกับกลุ่ม ผู้หญิงก็ต้องเปลี่ยนแปลงร่างกายให้เป็นหญิงทั้งกายและใจถึงจะใช้สิทธิ์ได้ แต่กระนั้นก็ยังไม่เป็นที่สิ้นสุดต่อเรื่องดังกล่าวว่ากะเทยจะใช้คำนำหน้า นาง นางสาวได้จนปัจจุบัน ในระดับสากลคำว่า male to female , Transfemale , Transwomen ก็มีการนำมาเป็นถ้อยคำในเชิงสัญญะ ของการขับเคลื่อนทางการเมืองเรื่องเพศ และกลุ่มดังกล่าวก็เลือกที่ใช้คำว่า ผู้หญิงข้ามเพศ (Transwomen) มาอธิบายตัวตน และเป็นประเด็นในการขับเคลื่อนทางกฎหมาย

นัยยะของการเปลี่ยนคำนำหน้านามดังได้กล่าวข้างต้น หากแต่ฉันเองไม่ติดใจต่อการเคลื่อนด้วยยุทธวิธีของกลุ่มนี้ แต่สิ่งที่กลุ่มต้องสำเหนียกและคำนึงถึงว่าการเคลื่อนนั้นต้องคำนึงถึงมวลชน โดยร่วมด้วย การเคลื่อนต้องไม่สร้างการละเมิดสิทธิ์ การกีดกัน การตีตราซ้ำซ้อน หรือทำให้คนอื่นกลายเป็นชายขอบแล้วตัวเองเสวยแท่นอยู่ศูนย์กลางแต่เพียง กลุ่มเดียว กล่าวง่ายๆ คือ กรุณาอย่าเหยียบหัวชาวบ้านขึ้นไป อย่าลืมว่าถึงแม้นเราพยายามจะเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับใดๆ ให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ วิถีเพศ และชีวิตของเรา แต่หากสังคมยังไม่เปลี่ยนทัศนคติที่ถูกต้องต่อความเป็นเพศของแต่ละบุคคลแล้ว นั้น การมีกฎหมายก็เปล่าประโยชน์ เพราะสังคมไม่ได้ดำรงอยู่ด้วยกฎหมายเท่านั้น

เพราะฉะนั้นกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศควรที่จะแสวงหาโอกาสในการทำงานด้าน ทัศนคติ ความคิด ความเชื่อของสังคม แล้วจับมือร่วมกับมวลชน แสวงหาแนวร่วมผู้สนับสนุนมากกว่าสร้างผู้คัดค้านด้วยเหตุแห่งความไม่ประสี ประสาทางสังคม สร้างความรู้ที่สอดคล้องกับความจริง ศึกษาวิจัยในเรื่องนี้กับสังคม มากกว่าที่จะออกมาให้ข้อมูลเชิงทรรศนะที่ขาดวิ่น แต่ควรเปิดเสียงและคำพูดของทั้งผู้เห็นด้วยและเห็นต่างที่มิได้มุ่งแต่การทำ โฆษณาชวนเชื่อ แสวงประสบการณ์ของผู้หญิงข้ามเพศ กะเทยทั้งที่ได้รับผลกระทบจากการแปลงและไม่แปลงต่างกันอย่างไรในการดำรง ชีวิตประจำวัน

อะไรคือตัวตนที่แท้จริง และความเป็นตัวเองของผู้หญิงข้ามเพศ การออกมาสู่สาธารณะชนผ่านสื่อมวลชนอย่างหาสาระดีๆ ฟัง มากกว่าภาพกะเทยแย่งกันพูดในทีวี จังหวะในการก้าวเดินควรมียุทธวิถีที่สร้างสรรค์กว่านี้ มากกว่าทำให้มันเป็นปัญหา หรือประเด็นทางสังคมแล้วเดินกลับบ้านส่วนใครจะเดือดร้อนก็ช่างหัวมัน เห็นทีกลุ่มดังกล่าวควรทำการบ้านมากกว่าทำโฆษณา เพราะคุณไม่พูดความจริงทั้งหมด หากคุณเลือกที่จะพูดบางส่วน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ เรื่องนี้ เรื่องแปลงเพศเอื้ออาทร เพื่อใครกันแน่!!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net