บรรยากาศ “วันสตรีสากลปีที่ 100” ที่เชียงใหม่ – ลำพูน

องค์กรสตรีที่เชียงใหม่ออกแถงการณ์เรียกร้องให้ผู้หญิงมีบทบาทเป็นผู้นำ แท้จริง พร้อมสนับสนุนการต่อสู้ของสตรีในตะวันออกกลาง ด้านแรงงานลำพูนฉลองวันสตรีสากลด้วยการจัดเสวนาเรื่องรัฐสวัสดิการ 



 
กิจกรรมเนื่องในวันสตรีสากลปีที่ 100 เมื่อ 8 มีนาคม ที่ผ่านมาที่ ถ.ท่าแพ จ.เชียงใหม่

 

รณรงค์สตรีสากลที่เชียงใหม่ เรียกร้องถึงเวลาผู้หญิงเป็นผู้นำ

วานนี้ (8 มี.ค. 54) ผู้สื่อข่าวรายงานการจัดกิจกรรมเนื่องในวันสตรีสากลปีที่ 100 ในภาคเหนือ โดยที่ จ.เชียงใหม่ ช่วงเย็นเวลา 18.00 น. องค์กรสตรีทั้งไทยและต่างประเทศหลายกลุ่มใน จ.เชียงใหม่ จัดกิจกรรมเดินรณรงค์จากเชิงสะพานนวรัฐ ถ.ท่าแพ มายังข่วงประตูท่าแพ เมื่อถึงข่วงประตูท่าแพ มีการจัดกิจกรรมภาควัฒนธรรม และมีการอ่านแถลงการณ์ “ถึงเวลาที่ผู้หญิงเป็นผู้นำ” สามภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาพม่า ภาษาอังกฤษ

ในแถลงการณ์มีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า “ถึงเวลาแล้วที่จะให้ผู้หญิง มีบทบาทเป็นผู้นำอย่างแท้จริงทั้งในด้านการเมือง ขบวนการแรงงาน การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และขบวนการเพื่อสันติภาพ” โดยรายละเอียดมีดังนี้

 

ถึงเวลาที่ผู้หญิงเป็นผู้นำ
วันสตรีสากล วันที่ 8 มีนาคม 2554 

ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีถือเป็นวันพิเศษของประชาคมโลก เป็นหนึ่งวันของปีที่เสียงของผู้หญิงจะได้รับการรับฟังอย่างแท้จริง รวมถึงการเฉลิมฉลองให้กับการปฏิบัติการต่างๆ ของผู้หญิง แต่หลังจากการครบรอบ 100 ปี วันสตรีสากล เราอยากบอกว่าการยอมรับฟังเสียงของผู้หญิงเพียงวันเดียวต่อปีนั้นไม่เพียงพอ เราอยากให้เสียงของพวกเราได้รับความสนใจและรับฟังทุกวัน เราอยากให้มีการเฉลิมฉลองให้แก่การปฏิบัติการของพวกเราทุกวัน และเราต้องการให้มีความเสมอภาคต่อผู้หญิงทุกคนในทุกวัน และทุกปี เพื่อให้สิ่งต่างๆ ดังกล่าวนี้บรรลุผล เราเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่จะให้ผู้หญิงมีบทบาทเป็นผู้นำอย่างแท้จริงทั้งใน ด้านการเมือง ขบวนการแรงงาน การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และขบวนการเพื่อสันติภาพ

มีเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวหลายเหตุการณ์ที่เป็นหัวใจของวันสตรีสากล โดยเริ่มต้นในวันที่แรงงานหญิงซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติได้ออกมาเดิน ขบวนรณรงค์ในกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อเรียกร้องให้ลดชั่วโมงการทำงาน เพิ่มค่าจ้าง และสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ในวันนั้นมีทั้งผู้หญิงและคนอื่นๆ นับล้านคนมาร่วมกันเดินเพื่อเรียกร้องให้ยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง และเพื่อสนับสนุนสิทธิของผู้หญิงในการทำงาน การได้รับการฝึกอบรม การเป็นผู้นำองค์กรของรัฐ รวมทั้งเพื่อสิทธิในการลงคะแนนเสียงในยุโรป อีกทั้งเหตุการณ์ในวันที่เริ่มต้นด้วยการนัดหยุดงานของผู้หญิงชาวรัสเซีย หลายแสนคนเพื่อเรียกร้องอาหาร สันติภาพ และสิทธิในที่ดิน วันสตรีสากล ณ วันนี้ เรามาเพื่อร่วมเฉลิมฉลองให้แก่ความเป็นผู้นำของผู้หญิงในเหตุการณ์ความ เคลื่อนไหวต่างๆ เพื่อความยุติธรรมในสังคมในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา

ความเป็นผู้นำของผู้หญิงที่ผ่านมานั้นมักจะไม่ได้รับความสนใจและไม่ถูก บรรจุในหน้าหนังสือประวัติศาสตร์ เพียงแต่ได้รับการพูดถึงในแง่ของการเป็นผู้นำในประเด็นผู้หญิง หรือได้รับการบันทึกในด้านการทำงานเพื่อสิทธิสตรีเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงผู้หญิงได้เป็นผู้นำในขบวนการความเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรง งาน เพื่อสิทธิการออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป เพื่อสันติภาพ และเพื่อประชาธิปไตย เราขอเรียกร้องให้ความเป็นผู้นำของผู้หญิงที่ผ่านมาได้รับการยอมรับอย่าง เห็นคุณค่า และเราขอเรียกร้องพื้นที่ในโลกปัจจุบันให้มีการผู้นำหญิงเพิ่มมากขึ้น

สองปีที่ผ่านมา เราได้เห็นแรงงานหญิงจากโรงงานสิ่งทอในประเทศพม่า บังคลาเทศ กัมพูชา จีน และประเทศไทย เป็นผู้นำอย่างกล้าหาญในการต่อต้านระบอบเศรษฐกิจโลกที่ทำให้เกิดสภาพการทำ งานอันย่ำแย่และยากจะทานทน เราต้องการให้มีผู้นำในสหภาพแรงงานที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น เหมือนอย่างที่คุณชารอน เบอร์โรส์ ผู้หญิงชาวออสเตรเลียที่เป็นประธานสมาพันธ์แรงงานสากล เราต้องการให้ผู้หญิงเป็นผู้นำ เป็นตัวแทนของเราเพิ่มมากขึ้น!! นางออ ง ซาน ซูจี เป็นหนึ่งในผู้นำเพื่อประชาธิปไตยในพม่า แต่เธอก็ไม่ได้รับตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาล เราต้องการให้มีการยอมรับต่อนางอองซานซูจี และผู้นำการเมืองหญิงทุกคนจากทั่วโลก

พี่น้องผู้หญิงของพวกเรากำลังเสี่ยงชีวิตเพื่ออิสรภาพอยู่บนถนนสายต่างๆ ในประเทศลิเบีย บาห์เรน ตูนิเซีย โอมาน และประเทศอิหร่าน จงเดินตามวิถีแห่งพวกเธอ จงตามวิถีแห่งเรา โลกต้องการผู้นำที่เป็นผู้หญิง ถึงเวลาแล้วที่ผู้หญิงจะเป็นผู้นำ

 

000

แรงงานลำพูนเสวนาเรื่องรัฐสวัสดิการ-ออกแถลงการณ์วันสตรีสากล

ขณะที่ย่านนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ อ.เมือง จ.ลำพูน เมื่อเวลา 18.00 น. วันเดียวกัน มีการจัดกิจกรรม "สืบทอดเจตนารมณ์วันสตรีสากล" จัดขึ้น ณ ที่ทำการสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ และที่ทำการสหภาพอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ โดยมีการจัดเสวนาหัวข้อ "จากประกันสังคม สู่รัฐสวัสดิการ ได้อย่างไร ?" โดย นายเจด็จ เชาน์วิไล มูลนิธิเพื่อนหญิง นางเสาวลักษณ์ ชายทวีป คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นายวรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาพร มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำพูน พรรคเพื่อไทย มีนายเจษฎา โชติกิจภิวาทย์ กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการเป็นผู้ดำเนินรายการ

นอกจากนี้ สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ สหภาพอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ และกลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ "คำประกาศสืบทอดเจตนารมณ์100 ปีวันสตรีสากล รวมพลังสามัคคี ต่อสู้เพื่อสิทธิความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้แรงงาน เพื่อความเป็นธรรม เพื่อเสรีภาพ และเพื่อประชาธิปไตย" โดยมีรายละเอียดดังนี้

000

"คำประกาศสืบทอดเจตนารมณ์100 ปีวันสตรีสากล รวมพลังสามัคคี ต่อสู้เพื่อสิทธิความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้แรงงาน เพื่อความเป็นธรรม เพื่อเสรีภาพ และเพื่อประชาธิปไตย"

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2400 กรรมกร หญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คนต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่

ในปี พ.ศ.2450 กรรมกร หญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาทนไม่ไหวต่อการเอารัด เอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ ของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส เนื่องจากกรรมกรหญิงเหล่านี้ต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใดๆ เป็นผลให้เกิดความเจ็บป่วยล้มตายตามมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก

จึงมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืนมา และมี "คลาร่า เซทคิน" ชาวเยอรมัน เป็นผู้นำสำคัญในการเคลื่อนไหว

บทบาทของ"คลาร่า เซทคิน" นั้น เป็นแกนนำสำคัญในการต่อต้านอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งพรรคนาซี และต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการ

คลาร่า เซทคิน” มี บทบาทสำคัญในการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคให้กับสตรี อีกทั้งยังทำงานเพื่อสตรีมาโดยตลอด ทำให้คลาร่า ได้รับการขนานนามจากกลุ่มองค์กรสตรีนานาชาติว่าเป็น "มารดาแห่งการเคลื่อนไหวสตรีสากล"

ในการเคลื่อนไหวของคนงานหญิง ได้มีการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย

อย่างไรก็ตามแม้การเรียกร้องครั้งนี้ จะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ "คลาร่า เซทคิน" และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น

ต่อมา วันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1910 ความพยายามของกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม 8 คือ ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง และอีก 8 ชั่วโมง เป็นเวลาพักผ่อน พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย

ทั้งนี้ยังได้รับรองข้อเสนอของ "คลาร่า เซทคิน" ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสตรีสากล

วันสตรีสากล จึงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของผู้หญิงและผู้ใช้แรงงานทั่วโลก

ในโอกาสนี้ เราในฐานะผู้ใช้แรงงาน ขอประกาศจะสืบทอดเจตนารมณ์ 100 ปีวันสตรีสากลว่า

เราจักรวมพลังสามัคคี ต่อสู้เพื่อสิทธิความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้แรงงาน เพื่อความเป็นธรรม เพื่อเสรีภาพ และเพื่อประชาธิปไตยสืบต่อไป

 

สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์

สหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์

กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท