Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา ‘ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้’ และ ‘เครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้’ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “ชุมนุมช่างภาพชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 : Take a photo, Take care of each other” ณ ห้องน้ำพราว 2 โรงแรม ซี.เอส. จังหวัดปัตตานี เพื่อเปิดโอกาสให้ช่างภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ได้ร่วมแลกเปลี่ยนสนทนา เกี่ยวกับบทบาทของนักถ่ายภาพในการจะมีส่วนช่วยดูแลชุมชนของตนเอง โดยมีช่างภาพข่าว ช่างภาพอิสระ รวมทั้งผู้ที่สนใจการถ่ายภาพเข้าร่วมงานมากกว่า 120 คน

ทั้งนี้ ผู้ที่มาร่วมงานในวันดังกล่าวได้นำภาพถ่ายมาร่วมจัดแสดงภายในงานด้วย ซึ่งเป็นภาพที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตและการเกื้อกูลกันและกันของผู้คนในจังหวัด ชายแดนใต้

นายปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ ได้เริ่มต้นชวนสนทนาด้วยการแนะนำความเป็นมาของเครือข่ายช่างภาพฯ ผ่านกิจกรรมที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อครั้งประกาศระดมภาพบันทึกเหตุการณ์ภัยพิบัติในพื้นที่จังหวัด ชายแดนภาคใต้เมื่อปลายปี 2553 โดยผู้ส่งภาพมาร่วมจัดแสดงจำนวนมาก ทั้งช่างภาพสื่อมวลชน ช่างภาพสื่อทางเลือก ช่างภาพอิสระ รวมทั้งภาพที่ถ่ายโดยชาวบ้านผู้ประสบภัย โดยนำไปจัดแสดงที่บ้านดาโต๊ะ ต.แหลมโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติรุนแรง ทั้งนี้ ยังได้ประสานกับทางเครือข่ายภาคประชาสังคมชายแดนใต้และสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย เข้าร่วมจัดเวทีสาธารณะ อันเป็นกระบวนการหนึ่งที่ก่อให้เกิดการระดมความช่วยเหลือเข้าไปสู่ชุมชนที่ ได้รับผลกระทบให้สามารถฟื้นฟู ดูแลทรัพยากร และจัดการตัวเองได้ ต่อจากนั้น ภาพชุดดังกล่าวยังได้ถูกนำไปจัดแสดงในงานชุมนุมนักข่าวพลเมืองทั่วประเทศ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เพื่อเป็นการสะท้อนถึงพลังของการใช้ภาพดูแลซึ่งกันและกัน

ผู้ประสานงานเครือข่ายช่างภาพฯ ระบุว่า การถ่ายภาพไม่ได้จำกัดว่าต้องใช้กล้องที่มีประสิทธิภาพสูงตามอย่างมืออาชีพ กล้องมือถือก็สามารถสะท้อนข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาได้ สิ่งสำคัญคือ บทบาทของนักถ่ายภาพที่จะเป็นผู้เล่าเรื่องบ้านของตัวเอง และจะใช้ภาพถ่ายและการถ่ายภาพช่วยเหลือดูแลซึ่งกันได้อย่างไร

ในช่วงเช้า นายวีรนิจ ทรรทรานนท์ บรรณาธิการและเจ้าของเว็บไซต์ taklong.com ได้นำเสนอประสบการณ์และความรู้ใหม่ๆ จากแวดวงนักถ่ายภาพว่า ช่างภาพมือใหม่มักจะคาดหวังคุณค่าของภาพจากอุปกรณ์เป็นหลัก โดยจะมองข้ามคุณค่าในแง่ของมุมมอง วิธีคิด และความหมายของภาพ ทั้งที่เป้าหมายหลักของภาพคือ การสื่อสารความหมายออกไป

“แนวคิดการถ่ายภาพที่ดีนั้น คือการนำเสนอมุมมองของคนนั้นๆ มากกว่าเรื่องอุปกรณ์ คุณภาพของภาพจึงอยู่ที่คุณค่าและความหมายของภาพ เพราะภาพทำหน้าที่เป็นสื่อที่สื่อสารความหมายออกไป ไม่ได้เกี่ยวกับยี่ห้อของกล้อง ภาพทำหน้าที่เป็นสาร มนต์ขลังของการภาพถ่าย คือ ความนิ่งของภาพ เพราะเป็นการแช่แข็งความจริงวินาทีนั้นไว้ ซึ่งวิดีโอทำไม่ได้”

บรรณาธิการเว็บไซต์ taklong.com เชื่อว่า ภายในปี 2011 จะเป็นปีที่วงการกล้องและพฤติกรรมผู้ใช้กล้องจะปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยสังเกตได้จากทิศทางของเทคโนโลยี และการดีไซน์ของกล้องรุ่นใหม่ ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองกลุ่มผู้ใช้ที่หลากหลายมากขึ้น

“กล้องดิจิตอลที่ขายดีอย่างถล่มทลายที่สุดในปี ค.ศ.2010 คือ โทรศัพท์มือถือ ซึ่งสามารถถ่ายภาพได้สะดวกและเชื่อมต่อออนไลน์กับ social network ได้ทันที”

“ในอดีตกล้องได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้ชายใช้ แต่ล่าสุดกล้องรุ่นใหม่เปิดตัวด้วยสีแดง หรือกล้องบางรุ่นนั้นมีระบบโฟกัสที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ จึงเป็นสัญญาณที่สำคัญว่าทิศทางของโลกในเรื่องการถ่ายภาพจะไม่ใช่โลกเฉพาะ ของผู้ชายอีกต่อไป”

ในช่วงบ่ายเป็นวงสนทนาเกี่ยวกับบทบาทของช่างภาพในการจะมีส่วนช่วยดูแล สังคมท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ใน ปัจจุบัน ทั้งนี้ ได้มีการยกตัวอย่างบทเรียนทั้งในและต่างประเทศที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าและ พลังของภาพถ่าย

นายฟูอัด แวสะแม ช่างภาพอิสระ กลุ่ม Seed จังหวัดปัตตานี กล่าวถึงการใช้ภาพถ่ายเชิงบวกเพื่อช่วยถ่วงดุลภาพความรุนแรงจากพื้นที่ชาย แดนใต้ว่า สังคมส่วนใหญ่จะมองพื้นที่สามจังหวัดผ่านภาพเหตุการณ์ข่าวรายวันจากสื่อ กระแสหลัก แต่ว่าในพื้นที่ยังมีเรื่องราวน่าสนใจอีกมากมาย ทั้งวัฒนธรรม เอกลักษณ์ ธรรมชาติ โดยช่างภาพสามารถใช้ช่องทาง social network ซึ่งง่ายที่สุด ต้นทุนต่ำ และเผยแพร่ได้ไกล สื่อสารภาพถ่ายแง่มุมต่างๆ ออกไปได้

“บางครั้งเรื่องราวใกล้ตัว เช่น เรือกอและที่จอดเรียงราย ชายหาดที่มีแพะเดินเล่น ความสมบูรณ์ของธรรมชาติ เมื่อสื่อสารออกไปก็จะทำให้คนข้างนอกรู้ว่าที่นี่ยังมีเรื่องราวอีกมากมาย ที่ไม่รู้ ผมเคยคุยกับคนข้างนอก เขาบอกว่าถ้าไม่มีเหตุการณ์ก็อยากจะมาถ่ายรูปเรือกอและ แต่ถึงเขาไม่ได้มา ภาพของเราก็ทำให้เขารู้สึกอยากมา อย่างน้อยภาพถ่ายของผมก็ช่วยได้แล้ว”

ด้านนายนครินทร์ ชินวรโกมล ช่างภาพสำนักข่าว EPA, ช่อง 5 และเครือเนชั่น ประจำจังหวัดยะลา กล่าวในฐานะตัวแทนของสื่อมวลชนในพื้นที่ว่า ความเป็นสื่อมวลชนจำเป็นต้องนำเสนอทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่า มีความรุนแรงเกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ดี ช่างภาพสามารถเลือกใช้มุมมองของภาพเพื่อลดความรุนแรงบนพื้นที่สื่อได้ แต่ต้องไม่เป็นการบิดเบือนความจริง

“วิธีคิดของผมจะพยายามไม่ถ่ายภาพศพหรือเลือด แต่จะใช้มุมมองภาพอธิบายเหตุการณ์ เพราะสื่อมวลชนที่ดีควรรับผิดชอบสังคม ไม่ทำลายและซ้ำเติม ผมก็ดีใจที่ปัจจุบันมีช่างภาพในพื้นที่เยอะ ทั้งปัตตานี ยะลา นราธิวาส มีภาพดีๆ เยอะ ที่พยายามถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเองออกสู่สังคมได้มากขึ้น ตรงนี้จะช่วย balance (ถ่วงดุล) ภาพความรุนแรงของผมได้”

นายชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ นักเขียนสารดีและช่างภาพ อิสระ ผู้ก่อตั้งสำนักหัวใจเดียวกัน จากจังหวัดนราธิวาส มองว่า การนำเสนอภาพปกติหรือภาพวิถีชีวิตจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพื้นที่ได้ดี โดยสามารถใช้เทคนิคการบอกเล่าได้หลากหลาย ทั้งมิติ มุมมอง และช่องทาง ซึ่งจะเป็นวิธีในการช่วยกันดูแลสังคมบ้านเราได้จริง

“ทุกเช้าเมื่อตื่นมาเห็นพี่น้องไปละหมาด หรือถ่ายภาพคนพุทธคนมุสลิมซื้อของในตลาดซึ่งเป็นภาพปกติมาก นี่แหละคือการช่วยพื้นที่ ศิลปะของภาพถ่ายมันมีความแข็งแรง เข้าถึงคนง่าย เพียงเราต้องลุกขึ้นมาถ่ายภาพสิ่งรอบตัว”

ด้านนายสมิทธิ ธนานิธิโชติ ช่างภาพอิสระ อดีตบรรณาธิการภาพนิตยสารโอเพ่น แสดงความคิดเห็นว่า ภาพถ่ายไม่ใช่เรื่องของภาพลักษณ์ แต่ใครจะใช้ภาพถ่ายในการสร้างภาพ อาทิ การท่องเที่ยว ก็ทำได้ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่ไม่รู้ว่าใครเป็นใครเช่นนี้ ภาพถ่ายที่ดีควรรับใช้การบันทึกประวัติศาสตร์

“ผมคิดว่า วันนี้เราไม่เห็นผลหรอกว่าถ่ายรูปไปเพื่ออะไร แต่เมื่อวันหนึ่งสถานการณ์คลี่คลาย ไม่ว่าใครเป็นฝ่ายชนะหรือสามารถปรองดองกันได้ ภาพถ่ายก็คือบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ แล้ววันนั้นมันอาจจะถูกอธิบายในอีกแบบหนึ่ง มันอาจไม่ได้ถูกตีความในแบบนี้ ณ ตอนนี้ ใครมีหน้าที่ตรงไหนก็ควรทำให้ดีที่สุด”

นอกจากนี้ สมิทธิ ยังได้ยกตัวอย่างภาพถ่ายที่สร้างผลกระทบต่อสังคมโลกมาให้ได้เรียนรู้และเล่า เรื่องราวให้ฟัง อาทิ ภาพสงครามเวียดนามที่ปรากฎเด็กหญิงคนหนึ่งเปลือยเปล่าหนีระเบิดของกองทัพ สหรัฐฯ และภาพคานธี ซึ่งต่อมาได้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เชิงสันติวิธี

นายฮาฟิส สาและ พิธีกรดำเนินวงสนทนาได้ถามถึงความคาดหวังต่อความร่วมมือกันของเครือข่ายช่าง ภาพชายแดนใต้ ซึ่ง นครินทร์ ได้ตอบว่า ในพื้นที่ยังมีภาพดีๆ อีกมากมายที่ยังไม่ได้ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ ซึ่งจะเป็นภาพที่ช่วยถ่วงดุลความรุนแรงในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี และคาดหวังว่า จะได้เห็นภาพเหล่านั้นถูกสื่อสารออกไปสู่สังคมผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่า สังคมที่นี่ยังต้องการที่จะดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข

ด้าน ฟูอัด ได้สะท้อนสภาวะของช่างภาพในพื้นที่ว่า ปัญหาหลักของการถ่ายภาพในพื้นที่ คือ ไม่กล้าไปคนเดียว ทั้งนี้ เพราะจะเป็นที่เพ่งเล็งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ หรือแม้กระทั่งฝ่ายตรงข้ามรัฐ ถ้ามีเครือข่ายช่างภาพที่แข็งแรง สิ่งที่ตามมาคือ ภาพถ่ายจำนวนมากจากเครือข่ายช่างภาพจะถูกสื่อสารออกไปสู่สังคมมากขึ้น

ขณะที่ ชุมศักดิ์ ได้เสนอว่า ครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่ทุกคนได้มาเชื่อมต่อเครือข่ายกันในพื้นที่ที่มี ความหลากหลาย จึงอยากให้มีความใจกว้างไม่จำกัดว่าเป็นพุทธหรือมุสลิม และเมื่อพัฒนาฝีมือการถ่ายภาพจนเก่งแล้วขออย่าลืมตัว ที่สำคัญอย่าหมดกำลังใจในการศึกษา ทดลอง เรียนรู้ แล้ววันหนึ่งจะเจอหนทางของตนเอง

ส่วนสมิทธิ ได้ให้กำลังใจช่างภาพในพื้นที่ชายแดนใต้ว่า แม้จะไม่สามารถไปเบียดช่องทางการสื่อสารจากสื่อกระแสหลักได้ แต่ทุกคนก็ต้องช่วยกันพยายามสื่อสารออกไป โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นประเด็นความรุนแรง

สมิทธิ อธิบายเพิ่มเติมว่า ความรุนแรงไม่ใช่เรื่องของการยิงกัน การก่อการร้าย หรือการวางระเบิดเท่านั้น แต่มันได้เกิดขึ้นในอีกหลายมิติ เช่น แถวจะนะ ที่ชาวบ้านต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้า หรือที่จังหวัดประจวบฯ ก็มีโรงถลุงเหล็ก เรื่องเหล่านี้อาจไม่ใช่ความรุนแรงเชิงก่อการร้าย แต่เป็นผลกระทบเชิงโครงสร้างของสังคม ซึ่งชาวบ้านก็ยังต้องต่อสู้ต่อไป

นายตูแวดานิยา มือรีงิง บรรณาธิการศูนย์ข่าวอามานและช่างภาพสำนักข่าว AFP ประจำจังหวัดปัตตานี ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า ในมุมหนึ่งของสงครามที่เกิดขึ้นยังมีความสวยงาม มีวิถีชีวิตที่ขับเคลื่อนและไม่ได้หยุดอยู่กับที่ ถ้ามีสงครามแล้วทุกสิ่งต้องหยุดตามไปด้วย เราก็จะไม่สามารถเดินก้าวไปข้างหน้าได้

“ภาพเก่าที่เราเคยถ่ายเมื่อ 5 ปี หรือ 10 ปีที่แล้ว ถ้าเรามาดูวันนี้อาจเป็นภาพที่มีค่าก็ได้ เช่น ภาพสงครามเวียดนาม ภาพมันเปลี่ยนโลกได้ ในเหตุการณ์ความรุนแรง วันนี้ถ้าเราบันทึกภาพเด็กๆ ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงไว้ จากนั้นอีก 5 ปีเราไปตามหาเด็กคนนั้นแล้วให้เขาเล่าเรื่อง ผมว่าก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ถึงแม้วันนี้ภาพอาจจะไม่มีค่า เพราะเรายังไม่เห็นผลของมัน แต่ผมเชื่อว่าสิบปีข้างหน้ามันคือประวัติศาสตร์ที่บันทึกโดยเรา”

ในช่วงท้ายของการสนทนา นายมูฮำมัดอายุป ปาทาน บรรณาธิการข่าวอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ได้ตั้งคำถามต่อวงสนทนาว่า ภาพอย่างไรคือภาพสันติภาพในสถานการณ์ความขัดแย้ง ซึ่ง ชุมศักดิ์ ได้ตอบว่า ภาพสันติภาพ คือ ภาพทุกภาพที่อยู่รายรอบทุกคน ในภาพเหล่านั้นจะมีเรื่องเล่าจากมุมมองต่างๆ ที่ได้สะท้อนเรื่องราวโดยปราศจากความขัดแย้ง ซึ่งจะนำไปสู่สันติความสมานฉันท์ได้

ขณะที่ ฟูอัด ตอบว่า ในมุมมองของการถ่ายภาพ การที่เรามีสิทธิเสรีภาพในการออกไปถ่ายภาพในแต่ละพื้นที่ได้ นั่นคือ หนทางแห่งสันติ ส่วน นครินทร์ อธิบายภาพแห่งสันติภาพว่า ต้องเป็นภาพที่มีอิสระในการบันทึกด้วยจิตวิญญาณ หรือความรู้สึกที่อยากจะถ่ายภาพนั้น เป็นสิ่งที่เล่าเรื่องของตัวเองได้ นำเสนอเรื่องราวของตัวเองในสังคม ด้าน สมิทธิ ตอบว่า สันติภาพต้องเกิดจากภายในตัวเราก่อน มันอาจจะแสดงออกผ่านภาพถ่าย งานเขียน หรือรูปวาด ซึ่งล้วนสะท้อนว่าเราไม่ได้อยากอยู่ในสภาพแบบนี้ แต่เราอยากให้เกิดความสงบสุข

นอกจากนี้ นายสมัชชา นิลปัทม์ อาจารย์คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยว่า สำหรับตน ภาพร้ายภาพดีไม่สำคัญ แต่อยู่ที่จะก้าวผ่านภาพร้ายภาพดีได้หรือไม่ สิ่งสำคัญอยู่ที่วิธีการ ในแต่ละภาพมีความดีความงามสอดใส่อยู่ในนั้น แต่ปลายทางคือ ภาพจะนำไปสู่สันติภาพได้จริงหรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ “ผมชอบหน้าที่ของภาพถ่าย คือ การบันทึกประวัติศาสตร์ มีภาพหนึ่งในนิทรรศการภาพถ่ายในงานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวคือ ภาพที่หม่อมคึกฤทธิ์สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี นั่งคุยกับผู้นำศาสนา 4-5 คน ในภาพนั้นทั้งสองฝ่ายซึ่งเป็นคู่เจรจาไม่มองหน้ากันเลย มีแต่หน้าบูดหน้าเบี้ยว มันเป็นภาพที่ทรงพลังมากๆ สำหรับเหตุการณ์ประท้วงเมื่อปี 2519 ผมอยากให้ภาพจากช่างภาพทุกคนทำหน้าเป็นผู้ช่วยจดจำประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง ซึ่งเกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้”

นายฮาฟิส พิธีกรผู้ดำเนินวงสนทนาได้สรุปในช่วงท้ายของการสนทนาว่า พลังในการจะขับเคลื่อนงาน คือ ‘นียะ (เนียต)’ หมายถึง เจตนา ‘อามาน๊ะ’ หมายถึงความรับผิดชอบ และ ‘ยามาอ๊ะ’ หมายถึงกลุ่มเครือข่าย ทั้งสามอย่างจะเป็นพลังของแรงบันดาลใจ พลังของเครือข่ายที่จะทำให้การภาพถ่ายเกิดประโยชน์ต่อสังคม 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net