Skip to main content
sharethis

นักวิจัยชาวคะเรนนีเผยแพร่รายงาน “หยุด การโจมตีด้วยเขื่อนต่อชาวคะเรนนี” เผยบริษัทจีนลงนามกับรัฐบาลทหารพม่าเตรียมสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า 3 แห่งในแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำสาขา ในรัฐคะเรนนี ซึ่งเคยเป็นพื้นที่บังคับอพยพประชาชนหลายหมื่นคนในช่วงปี 2539 มาก่อน หวั่นหากมีการสร้างเขื่อน ทหารพม่าจะเข้ามาในพื้นที่เพิ่ม และจะเกิดคลื่นผู้อพยพระลอกใหม่

หน้าปกรายงานเรื่อง “Stop the Dam Offensive against the Karenni” หรือ “หยุด การโจมตีด้วยเขื่อนต่อชาวคะเรนนี” ซึ่งเผยแพร่โดยนักวิจัยชาวคะเรนนี เผยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากรัฐบาลทหารพม่าดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อน ผลิตกระแสไฟฟ้า 3 แห่งในพื้นที่

พื้นที่ก่อสร้างเขื่อนยวา ติ๊ด 1 ใน 3 ของโครงการก่อสร้างเขื่อนในรัฐคะเรนนี ประเทศพม่า โดยล่าสุดนักวิจัยชาวคะเรนนีเผยว่าเริ่มมีนักสำรวจจากบริษัทจีนเข้ามาใน พื้นที่เพื่อสำรวจแล้ว และเริ่มมีการก่อสร้างที่พักสำหรับนักสำรวจชาวจีนด้วย (ที่มาของภาพ: Burma Rivers Network / Karenni Development Research Group)

แผนที่จากรายงาน “Stop the Dam Offensive against the Karenni” เส้นทึบสีแดง สามจุด คือพื้นที่ก่อสร้างเขื่อน 3 แห่งในรัฐคะเรนนี ซึ่งพบว่าพื้นที่ก่อสร้างเขื่อน 2 แห่ง อยู่ในพื้นที่สีเทา ซึ่งทหารพม่าเคยสั่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เป็นจำนวนกว่า 37,000 คน จากหมู่บ้าน 212 แห่ง เมื่อปี 2539 ขณะที่จุดสีดำกลางแผนที่คือเขื่อนลอปิตา ซึ่งสร้างหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากเงินปฏิกรรมสงครามของญี่ปุ่น ก็เคยทำให้เกิดผู้อพยพนับหมื่นในพื้นที่มาแล้ว

 

เผยพม่าเตรียมผุดเขื่อนผลิตไฟฟ้า 3 แห่งในรัฐคะเรนนี กำลังรวม 800 เมกะวัตต์
วานนี้ (10 มี.ค. 54) กลุ่มวิจัยเพื่อการพัฒนาชาวคะเรนนี หรือ เคดีอาร์จี (Karenni Development Research Group – KDRG) และเครือข่ายแม่น้ำพม่า (Burma Rivers Network) เผยแพร่รายงานเรื่อง “Stop the Dam Offensive against the Karenni” หรือ “หยุด การโจมตีด้วยเขื่อนต่อชาวคะเรนนี” โดยเผยว่ารัฐบาลทหารพม่าเตรียมก่อสร้างเขื่อนสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมด 3 แห่งในแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำสาขา ในพื้นที่รัฐคะเรนนี ทางตะวันออกของพม่า

โครงการก่อสร้างเขื่อนทั้ง 3 แห่งประกอบด้วย เขื่อนยวาติ๊ด (Ywathit Dam) หรือในภาษาท้องถิ่นคือเขื่อนจ็อกจิน หรือ หินแดง (Kyauk Kyin or Red Stone) เป็นเขื่อนขนาดใหญ่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 600 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนแม่น้ำสาละวิน อยู่ห่างจาก อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 60 กิโลเมตร หากโครงการก่อสร้างเขื่อนสำเร็จ น้ำจะท่วมพื้นที่กว้างจากสันเขื่อนขึ้นไปทางทิศเหนือจนถึงรัฐฉาน โดยนักวิจัยเชื่อว่า จะเป็นเครื่องมือคุกคามประชากร ท่ามกลางการโจมตีจากกองทัพทหารพม่าต่อประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

โครงการก่อสร้างเขื่อนแห่งที่สองคือ โครงการเขื่อนแม่น้ำปอน (Pawn Dam) กำลังผลิตไฟฟ้าขนาด 130 เมกะวัตต์ ซึ่งแม่น้ำปอนเป็นแม่น้ำไหลผ่านใจกลางรัฐคะเรนนีก่อนไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน โดยนักวิจัยกลุ่มนี้ระบุว่าโครงการสร้างเขื่อนจะมีผลกระทบต่อชาวยินตาเลโดย ตรง ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประชากรเหลืออยู่เพียง 1,000 คนเท่านั้น

นอกจากนี้รัฐบาลทหารพม่า ยังมีแผนการสร้างเขื่อนในแม่น้ำตะเบต (Thabet Dam) ซึ่งจะผลิตกระแสไฟฟ้า 110 เมกะวัตต์ เขื่อนอยู่ที่ตอนเหนือของรัฐคะเรนนี และเมืองลอยก่อ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐคะเรนนีอีกด้วย

 

เผยนักสำรวจจากบริษัทจีนมาแล้ว ชาวบ้านห้ามเข้าพื้นที่
ทั้งนี้เมื่อเดือนมกราคมปี 2553 บริษัทต้าถัง ได้ทำสัญญาลงนามบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น หรือ MOU กับรัฐบาลทหารพม่าแล้ว โดยนายคูตอเหร่ นักวิจัยกลุ่มวิจัยเพื่อการพัฒนาชาวคะเรนนีหรือ เคดีอาร์จีเผยว่า ขณะนี้เริ่มมีรายงานว่าบริษัทต้าถังส่งคณะสำรวจประกอบด้วยวิศวกรและคนงานชาว จีน เพื่อเข้ามาสำรวจในพื้นที่สร้างเขื่อน ในพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนยวาติ๊ด เริ่มมีการก่อสร้างที่พักให้กับวิศวกรและคนงานชาวจีน และพื้นที่ซึ่งเตรียมก่อสร้างเขื่อนนั้นเดิมชาวบ้านจะเข้าไปหาปลา ล่าสัตว์ ทำเกษตร ขณะนี้ก็ถูกเจ้าหน้าที่พม่าสั่งห้ามเข้าพื้นที่

นอกจากนี้ยังมีการนำซิเมนต์เข้ามาจากชายแดนไทยเพื่อใช้ก่อสร้างที่พักให้ กับคณะสำรวจของบริษัทจีน มีการตัดไม้สำหรับก่อสร้างที่พักของคณะสำรวจ มีการซ่อมถนนที่เป็นเส้นทางมุ่งสู่พื้นที่ก่อสร้างเขื่อน โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลให้เหตุผลว่าเป็นการซ่อมแซมเพื่อประโยชน์ส่วนรวม นักวิจัยกลุ่มเคดีจีอาร์ยังเปิดเผยด้วยว่า เริ่มมีข่าวลือเกิดขึ้นในชุมชนว่าจะมีการย้ายหน่วยทหารพิทักษ์ชายแดน หรือ BGF ออกจากพื้นที่ และจะมีทหารพม่าเข้ามาประจำการแทน

 

นักวิจัยแจงข้อกังวล 6 ประการในการสร้าง ติงสร้างเขื่อนไม่ศึกษาผลกระทบ
จากรายงานของกลุ่มวิจัยเคดีอาร์จี ยังเปิดเผยข้อกังวล 6 ประการในการสร้างเขื่อนรัฐคะเรนนี ได้แก่ หนึ่ง จะส่งเสริมความขัดแย้งและความไร้เสถียรภาพ โดยการสร้างเขื่อนจะยิ่งทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น เนื่องจากต้องมีการตรึงกำลังทหารมากขึ้นเพื่อคุ้มครองคนงาน ทำให้พื้นที่ขาดความมั่นคง

สอง การเดินหน้าโครงการอย่างเป็นความลับ แม้ว่าวิศวกรอยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่โครงการเขื่อน แต่ชาวบ้านในพื้นที่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเขื่อน และไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปใกล้โครงการที่ผ่านมาไม่มีการเปิดเผยผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม หรือสุขภาพ อันเนื่องมาจากเขื่อนยวาติ๊ด และเขื่อนแม่น้ำปอน ไม่มีการสำรวจขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับแม่น้ำสาละวินในพม่า อันเป็นผลมาจากการสู้รบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

หวั่นส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในแม่น้ำสาละวิน
สาม ภัยคุกคามต่อป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยนักวิจัยกลุ่มเคดีอาร์จีเผยว่า เกิดการตัดไม้ในพื้นที่สร้างเขื่อนยวาติ๊ดเพิ่มจำนวนขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา มีการตั้งค่ายและโรงเลื่อยริมฝั่งแม่น้ำสาละวินในพื้นที่รัฐคะเรนนีขึ้นไปจน ถึงพรมแดนรัฐฉาน ป่าไม้เหล่านี้เป็นตัวแทนความอุดมสมบูรณ์ของป่าดิบเขาคะยา-กะเหรี่ยง เขื่อนที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ ทั้งนี้แม่น้ำสาละวินเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์น้ำอย่างน้อย 47 สายพันธุ์ ซึ่งไม่สามารถพบในที่แห่งอื่นของโลก

สี่ ผลผลิตด้านเกษตรที่ลดลง ทั้งนี้แม่น้ำสาละวินมีตะกอนมากและเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญสำหรับเรือกสวนไร่ นาตามริมฝั่งน้ำเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรด้านท้ายน้ำ และเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประชาชนเกือบครึ่งล้านที่อาศัยอยู่บริเวณสามเหลี่ยม ปากแม่น้ำสาละวินในรัฐมอญ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวสำคัญ เขื่อนที่สร้างจะปิดกั้นไม่ให้ตะกอนไหลไปถึงเรือกสวนไร่นาด้านท้ายน้ำ ทำให้ผลผลิตลดลงและกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร

 

หวั่นการสร้างเขื่อนจะทำให้เกิดการอพยพประชาชนในพื้นที่
ห้า ภัยคุกคามต่อชนพื้นเมือง โดยชนพื้นเมืองหลายพันคนได้ถูกบังคับอพยพโยกย้ายออกไประหว่างการก่อสร้าง และไม่สามารถกลับมาได้เนื่องจากความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการก่อสร้างเขื่อนจะทำให้โอกาสที่พวกเขากลับมายากขึ้น

หก การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของระดับน้ำและการขาดแคลนน้ำ โดยการเก็บและปล่อยน้ำหลังเขื่อนจะเป็นไปตามความต้องการด้านกระแสไฟฟ้า แต่ไม่ได้ตอบสนองความปลอดภัยหรือความต้องการด้านเกษตรของผู้อยู่ท้ายน้ำเลย การเพิ่มและลดของระดับน้ำอย่างรวดเร็วทำให้เรือติดและเกิดอุบัติเหตุ การขาดแคลนแหล่งน้ำทำให้เกิดโอกาสน้ำกร่อยเข้ามาในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่ น้ำ นักวิจัยกลุ่มนี้ยังหวั่นว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนซึ่งตั้งอยู่ในแนวแผ่นดินไหวซึ่งอาจทำให้เกิดเขื่อน แตกและเกิดน้ำท่วม

 

เผยพื้นที่สร้างเขื่อน เคยเป็นพื้นที่บังคับอพยพประชาชนร่วม 37,000 คน
นอกจากนี้ จากรายงานของกลุ่มวิจัยเคดีอาร์จี พบว่าพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนยวาติ๊ด และเขื่อนแม่น้ำปอน อยู่ในพื้นที่ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าสั่งบังคับโยกย้ายคนจำนวนมากในช่วงปี 2539 ซึ่งทำให้ประชาชนกว่า 37,000 คน จากหมู่บ้าน 212 แห่ง ถูกบังคับโยกย้าย โดยรัฐบาลได้บังคับให้ไปอยู่ในพื้นที่ซึ่งรัฐบาลจัดสรรซึ่งมีความแออัดยัด เยียด ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุให้คนจำนวนมากเลือกที่จะซ่อนตัวในป่า หรือหลบหนีเข้าประเทศไทย

นักวิจัยเคดีอาร์จียังระบุด้วยว่า ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าไฟฟ้าจากเขื่อนแห่งใหม่ในรัฐคะเรนนีจะถูกส่งไปให้กับ พื้นที่ใด แต่จากลักษณะที่เกิดขึ้นกับโครงการเขื่อนอื่นๆ ในพม่า มีความกลัวว่าจะนำไฟฟ้าไปขายให้กับไทยหรือจีน หรือตอบสนองด้านวงการกองทัพพม่าและแวดวงเป็นหลัก

 

เรียกร้องให้ยุติโครงการสร้างเขื่อนในรัฐคะเรนนีและแม่น้ำสาละวินทันที
ทั้งนี้ กลุ่มวิจัยเพื่อการพัฒนาชาวคะเรนนี มีข้อเรียกร้องสามข้อคือ หนึ่ง ให้หยุดสร้างเขื่อน ที่ไม่มีการสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสังคมตลอดระยะของแม่ น้ำ สอง การพัฒนาที่ยั่งยืนและการประเมินผลกระทบจากโครงการ จะต้องเป็นไปในภาวะสันติ สาม ขอเรียกร้องให้ยุติโครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินและในรัฐคะเรนนีทันที

“ถ้ามีการสร้างเขื่อน ผลโยชน์จากการสร้างเขื่อน ย่อมมาจากเลือดเนื้อชาวคะเรนนี” นายคูตอเหร่ นักวิจัยกลุ่มวิจัยเพื่อการพัฒนาชาวคะเรนนี กล่าว

 

พบ บ.ก่อสร้าง เข้าโครงการยูเอ็น และจ่อเอ็มโอยูอีก 2 เขื่อนในแม่น้ำโขง
จากรายงานของนักวิจัยเคดีอาร์จี ยังเผยด้วยว่า บริษัทต้าถังของจีน ซึ่งจะเป็นผู้ก่อสร้างโครงการดังกล่าว ยังเป็นสมาชิกโครงการ Global Compact ของสหประชาชาติด้วย ซึ่งบริษัทที่จะอยู่ในโครงการนี้ต้องดำเนินงานและมียุทธศาสตร์ตามหลักการอัน เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งในเรื่องสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านคอรัปชั่น โดยในคู่มือ “แนวปฏิบัติสำหรับธุรกิจที่รับผิดชอบในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งและพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงสูง” โครงการ Global Compact มุ่งส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันว่าจะไม่เข้าไปสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษย ชน และรัฐต้องกำหนดกลไกรับข้อร้องเรียน และจำแนกว่ามีบริษัทการค้าใดที่ดำรงอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งได้และไม่ก่อให้ เกิดอันตราย

ทั้งนี้ จากรายงานในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 13 ก.ค. 2553 ยังเปิดเผยด้วยว่า บริษัทต้าถัง ยังอยู่ในระหว่างการทำสัญญาลงนามบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น หรือ MOU ในการก่อสร้างเขื่อนปากแบ่ง กำลังผลิต 1,230 เมกะวัตต์ ในลาว และการก่อสร้างเขื่อนสานะคาม บริเวณพรมแดนไทย-ลาว ซึ่งมีกำลังผลิต 1,200 เมกะวัตต์ด้วย

000

บทเรียนจากเขื่อนใหญ่ในรัฐคะเรนนี

เขื่อนลอปิตา รัฐคะเรนนี
เขื่อนลอปิตา รัฐคะเรนนี (ที่มาของภาพ: map.google.com)

นอกจากโครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าแห่งใหม่จำนวน 3 แห่ง ในรัฐคะเรนนีแล้ว ก่อนหน้านี้เมื่อ พ.ศ. 2493 มีการสร้างเขื่อนลอปิตา (Lawpita Dam) ในรัฐคะเรนนี ซึ่งเป็นค่าปฏิกรรมสงครามหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากญี่ปุ่น โดยเขื่อนดังกล่าวสามารถมีกำลังผลิตไฟฟ้าคิดเป็น 1 ใน 4 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจากกระแสน้ำทั้งหมดทั่วพม่า

แต่การสร้างเขื่อนดังกล่าวทำให้ประชาชนกว่า 12,000 คนต้องอพยพ และมีการส่งทหารหลายพันนายเข้ามาคุ้มครองโครงการ โดยจากข้อมูลของเครือขายแม่น้ำในพม่า ระบุว่าการสร้างเขื่อนแห่งนี้ได้นำไปสู่การละเมิดสิทธิประชาชนในท้องถิ่น มีการบังคับเกณฑ์แรงงาน ความรุนแรงทางเพศ และการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย ในปัจจุบันมีการประมาณการว่ามีกับระเบิด 18,000 อัน ถูกฝังกระจายอยู่รอบโรงไฟฟ้าและเสาไฟฟ้าของโครงการดังกล่าว นอกจากนี้ยังการจำกัดให้ใช้น้ำเพื่อประโยชน์ของโรงไฟฟ้าเป็นหลัก ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำและเป็นเหตุให้เกิดอุทกภัยที่ทำลายพืชผล โดยปัจจุบันร้อยละ 80 ของประชาชนในพื้นที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เนื่องจากไฟฟ้าที่ผลิตจากโครงการดังกล่าวถูกส่งไปที่ภาคกลางของพม่า

นอกจากนี้ยังเคยมีรายงานข่าวเมื่อเดือนมกราคมปี 2553 ว่า กองกำลังของพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี หรือ เคเอ็นพีพี (Karenni National Progressive Party - KNPP) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยต่อต้านรัฐบาล ได้ลอบวางระเบิดทำลายเสาไฟฟ้าแรงสูง ในพื้นที่รัฐคะยาห์ ซึ่งเชื่อมระหว่างเขื่อนลอปิตา และเมืองตองอู ผลของการวางระเบิดทำให้ไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้

พล.ต.ปี่ทู ผู้บังคับบัญชาการทหาร กองกำลัง KNPP ได้ชี้แจง สาเหตุการทำลายเสาไฟฟ้าแรงสูงดังกล่าวว่า “แม้โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า จะตั้งอยู่ในเขตรัฐคะเรนนี แต่ประชาชนชาวคะเรนนี กลับไม่มีสิทธิ์ได้ใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ แม้แต่ในเมืองหลวงหลอยก่อของเรา ก็ได้ใช้กระแสไฟฟ้าในปริมาณที่จำกัด หลอดไฟแทบจะไม่ติดด้วยซ้ำ ในยามค่ำคืน ประชาชนส่วนมากยังต้องพึ่งแสงสว่างจากแสงเทียน กระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากรัฐคะเรนนีนี้ ทหารพม่าส่งป้อนเข้าไปใช้ตามโรงงานผลิตอาวุธ และภาคธุรกิจต่างๆ ในเขตพม่าเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงระเบิดโค่นทำลายเสาไฟฟ้าแรงสูงเหล่านี้ทิ้งเสีย”

ดาวน์โหลด:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net