Skip to main content
sharethis

มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดงานเปิดตัวโครงการเว็บไซต์และอี-ไลบรารี่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ "ชาญวิทย์" ชวนสร้าง "เสรีภาพ-เสมอภาค-ภราดรภาพทางอินเทอร์เน็ต"  ด้าน "จอน" ชี้ปรากฎการณ์แพรวาในเฟซบุ๊ก เป็นความน่ากลัวของอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้คนเกลียดกันได้แม้อาจไม่รู้จักกัน

(12 มี.ค.54) มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดงานเปิดตัวโครงการเว็บไซต์และอี-ไลบรารี่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ห้องบุญชู โรจนเสถียร ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

หน้าแรกเว็บไซต์ http://puey-textbooksproject.org/

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กรรมการมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์กล่าวถึงโครงการจัดทำ "เว็บไซต์และอี-ไลบรารี่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์" ว่า เป็นความพยายามเก็บบันทึกผลงานของป๋วย อึ๊งภากรณ์ รวมถึงผลงานของมูลนิธิโครงการ ตำราสังคมศาสตร์และมนุษย ศาสตร์ ซึ่งมีที่มาจากโครงการตำราฯ โดย อ.ป๋วยฯ ในฐานะคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.ขณะนั้น มีส่วนอย่างยิ่งในการผลักดัน ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ มูลนิธิฯ ได้จัดทำเว็บไซต์ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ และในอนาคตจะทำโครงการอื่นๆ ต่อไป อาทิ โครงการจิตร ภูมิศักดิ์, เสน่ห์ จามริก, สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นต้น

ตอนหนึ่ง ชาญวิทย์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากสื่อสารออกไปคือ ในบรรยากาศของการเมืองหลากสี "ซาหลิ่ม" ในระดับ "ท้องถิ่นๆๆ" แถวๆ ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และ/หรือแถวสี่แยกราชประสงค์ ที่ส่วนใหญ่ผู้คนอยู่ในวัยกลางคน หรือไม่ก็ 60-80 นั้น ทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกถึงคนหนุ่ม คนสาว-รุ่นใหม่ ในอียิปต์ ในลิเบีย ในตะวันออกกลาง ที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกสากลที่ "ไร้พรมแดน" หรือ borderless แต่ยังมี "เขตแดน" หรือ boundary

รวมถึงทำให้นึกไปถึงสถิติของการปิดกั้น "เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต" ของรัฐบาลไทย โดยใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปิดเว็บไปเกือบ 75,000 และในจำนวนนี้ มีถึง 57,330 ที่เป็นกรณีของข้อหา "หมิ่นฯ" มีการศึกษาวิจัยที่แสดงว่าจำนวนของคดีเช่นนี้เพิ่มจากประมาณปีละ 2-3 รายในช่วงทศวรรษ 1980 หรือเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา กระโดดมาเป็นจำนวนสูงถึง 164 รายในปี 2552

นอกจากนี้ ชาญวิทย์ ระบุว่า เขานึกถึงคำกล่าวของนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ถึงสิ่งที่เรียกว่า "เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต" ที่ว่า

"เราเชื่อว่า รัฐบาลที่สร้างเครื่องกีดขวางต่อ "เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต" ไม่ว่าจะโดยเทคนิคการกรอง ระบอบการเซ็นเซอร์ หรือการจู่โจมต่อผู้ที่ใช้สิทธิในการแสดงออกและชุมนุมออนไลน์นั้น ที่สุดแล้วก็จะพบว่าตนเองต้องจนมุม และจะต้องพบกับชะตากรรมของเผด็จการ และก็จะต้องเลือกระหว่างที่จะต้องปล่อยให้กำแพงขวางกั้นนั้น พังทะลายลง หรือไม่ก็ต้องจ่ายราคาค่างวดอย่างสูงในการที่จะรักษาเอาไว้" (ฮิลลารี คลินตัน)

ดังนั้น เขาจึงอยากให้ช่วยกันสร้างเสรีภาพ-เสมอภาค-ภราดรภาพทางอินเทอร์เน็ต สร้างโลกใหม่ที่ไร้พรมแดน และเต็มไปด้วย "สันติ" ของ "ประชา" และของ "ธรรม"

สำหรับเว็บไซต์ http://puey-textbooksproject.org/ ประกอบด้วยส่วนที่หนึ่ง คือ เว็บป๋วย อึ๊งภากรณ์ http://puey-ungphakorn.org/ ซึ่งรวบรวมประวัติ ต้นฉบับลายมือข้อเขียนชิ้นสำคัญของ อ.ป๋วย พร้อมคำแนะนำและข่าวสารจากหน้าหนังสือพิมพ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับ อ.ป๋วย รวมถึงปาฐกถาป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเปิดให้ดาวน์โหลดฟรี ไฟล์เสียงและวิดีโอบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับ อ.ป๋วยฯ
 

 

ส่วนที่สอง คือ มูลนิธิโครงการสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ http://textbooksproject.org/ ซึ่ง อ.ป๋วยมีบทบาทผลักดันให้เกิดขึ้น โดยในส่วนนี้ จะรวบรวมหนังสือซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นในวาะต่างๆ ของมูลนิธิฯ โดยเปิดให้ดาวน์โหลดฟรี รวมถึงรวบรวมสื่อวิดีโอที่ผลิตโดยมูลนิธิฯ ด้วย ทั้งหมดนี้เพื่อเผยแพร่ความรู้ และอนุรักษ์หนังสือที่หลายเล่มไม่ได้ผลิตอีก
 

 

ด้าน จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ประชาไทและทายาทของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า เขาเป็นทายาททางกรรมพันธุ์ของป๋วย แต่ไม่ใช่ทายาททางความคิด แม้จะรับอิทธิพลมาบ้างก็ตาม ทั้งนี้ สมัยหนึ่ง พ่อของเขาเป็นที่เกลียดชังของสังคม สมัยหนึ่งเป็นวีรบุรุษของสังคม เขามองว่าสังคมไทยแปลกมาก เดี๋ยวนี้เป็นธรรมเนียมที่จะชมพ่อของเขา โดยมีตั้งแต่คนที่มีความคิดแบบขวาสุดจนซ้ายสุด หยิบข้อเขียนของป๋วยมาเสนอได้ทุกด้าน รวมทั้งมีคนจำนวนมากเขียนในอินเทอร์ เน็ตว่า ถ้าพ่อของเขารู้ว่า เขาหรือใจ (อึ๊งภากรณ์) ตอนนี้เป็นอย่างไร พ่อต้องตายไปไม่หลับตา อย่างไรก็ตาม แม้เขาจะรู้จักพ่อในฐานะส่วนตัว มากกว่างาน แต่เชื่อว่า พ่อจะยังนอนหลับต่อได้ รวมถึงเชื่อว่า พ่อจะเห็นด้วยกับ อ.ชาญวิทย์ในเรื่องสันติภาพ ไม่ต้องการให้มีการรบกับกัมพูชาหรือประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเชื่อในเรื่องประชาธิปไตยและสันติภาพ

นอกจากนี้ จอนกล่าวถึงปรากฎการณ์ในโลกออนไลน์ว่า เพิ่งเล่นทวิตเตอร์จริงๆ เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา โดยพบว่า ตัวเองไปอยู่ในหน้าบัญชีของคนอื่นสองครั้งแล้ว และสามารถโพสต์ได้ด้วย ซึ่งน่ากลัวมาก ทั้งนี้เมื่อหาข้อมูลจึงทราบว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ขณะที่ตอนนี้สหรัฐอเมริกากำลังทุ่มเทเงินเป็นพันๆ ล้านเพื่อพัฒนาอาวุธไซเบอร์ที่จะเข้าทำลายหรือควบคุมคอมพิวเตอร์ทั่วโลกผ่าน อินเทอร์เน็ต และมีกรณีที่เว็บเดอะฮัฟฟิงตัน โพสต์ ซึ่งเป็นชุมชนบล็อกเกอร์ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา ก็ถูกซื้อโดย AOL บริษัทออนไลน์ขนาดใหญ่ด้วย

จอนกล่าวถึงกรณีที่น่ากลัวอีกเรื่องคือ กรณีปรากฎการณ์แพรวา โดยบอกว่า แม้ในสังคมทั่วไป เราจะมีทั้งคนรักและคนเกลียด เป็นเรื่องที่พอรับมือได้ เขาเองในฐานะบุคคลสาธารณะระดับหนึ่งก็พอรับได้ ถ้ามีคนเกลียดเป็นแสน แต่คนอย่างแพรวามีคนมาเกลียดสามแสนกว่าคน (ตัวเลขจากการกด "ไลค์" ในเพจ "มั่นใจว่าคนไทยเกินล้านคนไม่พอใจ แพรวาฯ) ตั้งคำถามว่า ผู้ที่เกลียดเขา รู้จักเขาหรือเปล่า หรือสร้างภาพของเขาขึ้นมา นี่คือความน่าเกลียดของอินเทอร์เน็ต ในฐานะเป็นที่แพร่ความเกลียดชังได้ อย่างไรก็ตาม ก็คงเหมือนกับเทคโนโลยีทั้งหลายที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ทั้งนี้ ข้อดีหนึ่งที่สำคัญของอินเทอร์เน็ตก็คือ เปิดให้คนเล็กคนน้อยสื่อสารต่อโลกได้

ภายในงานเปิดตัว มีการจัดเสวนาเรื่อง "ความคิด ความรู้และการต่อสู้ในโลกออนไลน์" ด้วย (ติดตามได้ที่นี่ เร็วๆ นี้)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net