Skip to main content
sharethis

แรงงานดีเดย์1พ.ค.เลิกจ่ายเงินประกันสังคม

นาย นิมิตร เทียนอุดม เลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวภายหลังการเสวนาร่วมหาทางออก สร้างความเป็นธรรมให้ผู้ประกันตน โดยเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคม รับฟังและแก้ไขโดยเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างระบบสุขภาพบนมาตรฐานเดียวของ ประเทศ โดยจะให้เวลาประกันสังคม 30 วัน ที่จะต้องทำให้ผู้ประกันตนออกจากจากระบบประกันสังคม ในเรื่องบริการด้านสุขภาพ

"พวกเราได้ตัดสินใจแล้วที่จะหยุด จ่ายเงินสมทบในส่วนรักษาพยาบาล ที่คิดเห็นเงินประมาณ คนละ 250 บาทต่อเดือนในวันที่ 1 พ.ค."นายนิมิตรกล่าว

นอก จากนี้จะจัดเคลื่อนไหวใหญ่ในรูป ของสมัชชาผู้ประกันตนเพื่อแสดงออกถึง แนวคิดปฏิเสธการรักษาในระบบประกันสังคม โดยต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลด้านสุขภาพในระบบสปสช.เช่นเดียวกับประชาชน ทั่วไป และให้หยุดจ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลเอกชน ที่เติบโตจากรายได้หลัก เงินประกันสังคม แต่กลับมีพฤติกรรมปฏิเสธ บ่ายเบี่ยงการรักษาผู้ประกันตนที่เป็นโรคร้ายแรง ที่ต้องรักษาต่อเนื่อง และมีค่ายาแพง อย่างไม่รับผิดชอบ"นายนิมิตรกล่าว

ด้าน นส.สารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าครั้งนี้จะเป็นการทำงานปกป้องสิทธิตัวเอง และสิทธิคนส่วนใหญ่ของสังคมที่เป็นผู้ใช้แรงงาน ที่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาในระบบประกันสังคม

"แม้ การกำหนดให้จ่ายเงินจะเป็น กฎหมายบังคับ แต่ในเรื่องนี้จะได้มีการศึกษาหาช่องทางที่จะไม่จ่ายโดยไม่ผิดกฎหมาย เพราะขณะนี้มีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อชี้ว่าพรบ.ประกันสังคมที่กำหนดให้จ่ายเงินสมทบ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะขอให้คุ้มครองที่ผู้ประกันตนจะชะลอ ซึ่งผู้ประกันตนจะไม่จ่ายเงินสมทบจนกว่าจะมีคำวินิยฉัยที่ชัดเจน"นางสารี กล่าว

(โพสต์ทูเดย์, 6-3-2554)

"มาร์ค"รับลูกข้อเสนอองค์กรสตรีเนื่องในวันสตรีสากล โอ่อยู่ในนโยบาย รบ.เพียบ คนงานหญิงประท้วง

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ห้องประชุม ชั้น 3 อาคาร อเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง นโยบายรัฐบาล ผู้หญิงทำงานกับคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน ในงานประกาศเจตนารมณ์ ผู้หญิงทำงาน สู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของทุกคนในวาระการเฉลิมฉอง 100 ปี วันสตรีสากล 8 มีนาคม จัดโดย 33 เครือ ข่ายองค์กรแรงงาน องค์กรทำงานประเด็นผู้หญิง และองค์กรสิทธิมนุษยชน ตอนหนึ่งว่า ได้ติดตามปัญหาของผู้หญิงที่มีอยู่หลายมิติ และรัฐบาลให้ความสนใจแก้ปัญหาของสตรีมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เรื่องของข้อจำกัดของสตรีไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีในหลายประเทศ และมีการติดขัดที่โอกาสในการทำงานของสตรีจะถูกจำกัดเมื่อมีครอบครัวแล้ว เราจึงพยายามแก้ปัญหา เช่น การออก พ.ร.บ.คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ การทำแผนปฏิรูปประเทศในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม นโยบายในการดูแลแม่และเด็กในระดับต่างๆ การส่งเสริมให้ผู้ชายสามารถลาไปดูแลบุตรได้ การส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กที่อยู่นอกระบบ เป็นต้น สำหรับคำประกาศเจตนารมณ์กับสิ่งที่รัฐบาลทำมีความสอดคล้องกัน และเรายังมีสิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติม และทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคประชาชน

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายกฯรับแผ่นประกาศเจตนารมณ์ฯจากเครือข่ายสตรี ปรากฏว่าหญิงสาวคนเดิมได้เดินมาถ่ายภาพนายกรัฐมนตรีด้วย จากนั้นได้เขียนข้อความในแผ่นกระดาษ 3 แผ่น ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง โดยแผ่นแรกเป็นรูปฝ่ามือมีข้อความประกอบว่า "ใครเปื้อนเลือด?"  และแผ่นที่ 2 และ 3 เขียน เหมือนกันว่า "ดีแต่พูด" ซึ่งนายอภิสิทธิ์เห็นข้อความดังกล่าว จึงกล่าวก่อนเข้าปาฐกถาว่า "ผมขอความร่วมมือ วันนี้เป็นวันสตรีสากล ใครที่ต้องการแสดงออกทางการเมือง ผมขอให้ไปพูดกันข้างนอก และขอให้รอฟังในสภาฯ จะได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด" หญิงคนดังกล่าวจึงเขียนแผ่นกระดาษอีกใบว่า "เหรอ" แล้วชูค้างไว้อีกจนจบงาน ขณะที่นายอภิสิทธิ์ก็ปาฐกถาต่อไป

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามเข้าไปดึงแผ่นกระดาษจากมือผู้หญิงคนดังกล่าว แต่เกิดการยื้อยุดกัน ขณะที่นางสุนี ไชยรส ที่ปรึกษากลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี พยายามขอร้องให้ผู้หญิงคนนี้หยุดถือป้าย เพราะวันนี้ถือเป็นวันของสตรีจึงไม่ควรทำเช่นนี้ แต่หญิงคนดังกล่าวไม่สนใจ ซ้ำส่งต่อไปให้เพื่อนผู้หญิงที่มาด้วยกันอีก 2 คน ซึ่งนั่งแถวถัดไปด้านหน้าชูป้ายที่เขียนว่า "ดีแต่พูด" ขึ้นตลอดการปาฐกถาทำให้นายอภิสิทธิ์มีสีหน้าไม่สู้ดีนักตลอดการพูด เนื่องจากมีสื่อมวลชนและช่างภาพเข้ารุมถ่ายรูปหญิงดังกล่าวรวมทั้งผู้ร่วม งานที่หันไปดูทำให้ไม่สนใจฟังปาฐกถาของนายกฯ ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวเข้าสอบถามทราบว่า กลุ่มหญิงดังกล่าวเป็นอดีตพนักงานบริษัท ไทรอัมพ์ ที่เคยออกมาประท้วงเพราะถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม

 (มติชน, 6-3-2554)

ตลอดวันนี้มีแรงงานไทยจากลิเบียเดินทางกลับ 776 คน

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า วันนี้(6 มีค) มีแรงงานไทยจากประเทศลิเบียเดินทางด้วยสายการบินต่างๆ ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว 456 คน โดยกลุ่มสุดท้ายจะเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เที่ยวบินที่ QR610 EY418 และเที่ยวบินที่ EY408 จำนวน 320 คน ทำให้มีแรงงานเดินทางกลับแล้ว 776 คน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์จนถึงเที่ยงคืนวันนี้ คาดว่ามีแรงงานไทยกลับถึงประเทศแล้วประมาณ 5,547 คน โดยกรมการจัดหางานให้การช่วยเหลือ อาทิ มอบเงินให้รายละ 1,500 บาท แนะนำข้อมูล ข้อปฎิบัติในการรับสิทธิคุ้มครองแรงงาน และการจัดเตรียมรถโดยสารเดินทางกับภูมิลำเนา นายศิวพงษ์ แสนโภชน์ อายุ 33 ปี ซึ่งเดินทางถึงประเทศไทย ได้แสดงความยินดีและขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือ ส่วนวันพรุ่งนี้(7 มีค)จะมีแรงงานทยอยเดินทางกลับอีกประมาณ 7 เที่ยวบิน หรือประมาณ 491 คน เที่ยวบินแรกที่จะมาถึง เที่ยวบินที่ QR612 เวลา 06.00 น.

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 6-3-2554)

แรงงานจากลิเบียร้องรัฐช่วยเหลือค่าจ้างค้างจ่าย-หนี้สิน

ความ คืบหน้าแรงงานไทยจากผลกระทบ เหตุการณ์ไม่สงบในประเทศลิเบียยังคงเดิน ทางกลับไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเที่ยวบินแรกวันนี้มาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเวลา 06.00 น. โดยสายการบินไทยเที่ยวบิน ทีจี 945 จากกรุงโรม ประเทศอิตาลี จำนวน 50 คน เที่ยวบินที่ 2 อีเค 374 จากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) จำนวน 15 คน ในเวลา 08.00 น. เที่ยวบินที่ 3 ทีจี 518 เวลา 08.40 น. จากยูเออี จำนวน 104 คน เที่ยวบินที่ 4 ในเวลา 08.45 น. จำนวน 245 คน ส่วนใหญ่คนงานที่เดินทางมาในช่วงเช้ามีสภาพที่อ่อนเพลียเพราะเหน็ดเหนื่อย จากเดินทาง

นาย ธีรพล แก้วดวงดี ชาวนครพนม กล่าวว่า ตนไปทำงานก่อสร้างที่พักอาศัยในกรุงตริโปลี สถานการณ์มีความรุนแรง ได้ยินเสียงปืนรอบที่พักตลอดเวลา รู้สึกดีใจที่สามารถรอดชีวิตกลับมาได้ เป็นการเดินทางไปทำงานต่างประเทศครั้งแรก และพบกับเหตุไม่คาดฝัน ขอฝากรัฐบาลช่วยเหลือติดตามค่าจ้างค้างจ่ายเป็นเวลา 2 เดือน เป็นเงินเกือบ 30,000 บาท รวมถึงจัดหาตำแหน่งงานในต่างประเทศให้ เพราะตนยังมีหนี้สินจากการนำที่ดินไปจำนองเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

นายชีวิน ผ่องแผ้ว ชาวหนองคาย อายุ 40 ปี กล่าวว่า ตนเคยทำงานต่างประเทศมาแล้ว ประเทศลิเบียเป็นประเทศที่ ถือว่ายากลำบากและเสี่ยงชีวิตมากที่สุด ก่อนเกิดเหตุตนเพิ่งทำงานได้เพียง 1 เดือน 20 วัน ยังไม่เคยได้รับค่าจ้างเลย มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางกว่า 100,000 บาท ยังกังวลการช่วยเหลือเรื่องเงินชดเชยเพราะไม่ทราบจะได้รับเงินคืนมามากน้อย เพียงใด ซึ่งนายจ้างระบุจะหารือกันหลังกลับถึงประเทศไทย แต่ตนคงไม่กลับไปทำงานลิเบียอีก โดยช่วงระหว่างอพยพในแคมป์มีคนงาน 700 คน เป็นคนไทย 29 คน และคนงานไทยเป็นชุดสุดท้ายที่ได้รับการช่วยเหลือออกจากแคมป์ ในวันที่ 1 มีนาคม ตนต้องใส่เสื้อผ้าชุดเดิมตลอด 15 วันที่ได้รับการช่วยเหลือและเดินทางไปที่เมืองอื่นก่อนกลับมาไทย

นายสุพจน์ บุญเจริญ ผู้อำนวยการกองตรวจและคุ้มครองคนหางาน เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าวันนี้มีแรงงานไทยกลับมา 444 คน ตัวเลขล่าสุดมีคนไทยกลับมาถึงไทยแล้วรวมทั้งสิ้น  5,728 คน และคาดว่าจะเดินทางมาในช่วงบ่ายอีก 4 เที่ยวบิน

(สำนักข่าวไทย, 7-3-2554)

เตือนแรงงานไทยอย่าสวมแท็คด้วยการปลอมบัตร ปชช. หวังทำงานไต้หวันหลังครับ 9 ปี

นาง สาวสุมล ถาวรวสุ จัดหางานจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน ได้รับการประสานจากสำนักงานแรงงาน ที่ดูแลคนงาน ณ กรุงไทเป ว่าเมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานแรงงานฯ ได้ให้ความช่วยเหลือคนงาน ซึ่งเคยเดินทางไปทำงานในไต้หวันมาแล้ว 3 ครั้ง รวมระยะเวลาทำงาน 8 ปี 9 เดือน และได้เปลี่ยนชื่อ และทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ แล้วยื่นเรื่องขอกลับไปทำงานกับนายจ้างรายเดิม เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา แต่เมื่อบริษัทจัดหางานพาไปพิมพ์ลายนิ้วมือและขอใบถิ่นที่อยู่ที่สำนักงาน ตรวจคนเข้าเมืองไทจง กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองไทจงควบคุมตัวส่งให้อัยการดำเนินคดีในข้อหา ปลอมแปลงเอกสาร และแจ้งข้อมูลเท็จต่อเจ้าหน้าที่ โดยอ้างว่าแรงงานไทยดังกล่าวเปลี่ยนชื่อก่อนการเดินทางมาทำงาน ทั้งๆ ที่เหลือเวลาทำงานไม่ถึง 3 เดือน ซึ่งแสดงถึงเจตนาที่จะทำผิดกฎหมายการจ้างงานไต้หวัน ทั้งนี้ สำนักงานแรงงานฯ ได้พยายามให้ความช่วยเหลือเพื่อต่อสู้คดี โดยโต้แย้งว่าการเปลี่ยนชื่อหรือเปลี่ยนนามสกุล เป็นสิทธิของประชาชนไทยที่กระทำได้อย่างถูกกฎหมาย อีกทั้ง ยังเป็นความนิยมและความเชื่อของคนไทย ซึ่งถือว่าเป็นศิริมงคลแก่ตน ดังนั้น การจับกุมในข้อหาดังกล่าวจึงเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง

แต่ เนื่องจากคดีนี้ได้ถูกส่งเข้าสู่ กระบวนการของศาลไต้หวันแล้ว จึงต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ดังนั้น เพื่อป้องกันการกระทำผิดกฎหมายการจ้างงานของไต้หวัน ทั้งที่เป็นการกระทำโดยจงใจหรือทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม สำนักงานจัดหางานจังหวัดสุพรรณบุรี จึงขอแจ้งเตือนให้แรงงานไทยที่ทำงานในไต้หวันครบ 9 ปี แต่ต้องการกลับไปทำงานในไต้หวันอีกครั้ง ให้รอร่างกฎหมายการจ้างงานฉบับใหม่ให้ผ่านการรับรองจากสภานิติบัญญัติก่อน ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวได้แก้ไขอนุญาตให้ขยายเวลาทำงานของแรงงานต่างด้าวออก ไปเป็น 12 ปี โดยระหว่างนี้ขอให้ละเว้นที่จะใช้วิธีใดๆ ที่เป็นการฝ่าฝืนหรือทำผิดกฎหมายการจ้างงานของไต้หวัน เพราะปัจจุบันทางการไต้หวันได้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบเอกสารหรือหลักฐานของ แรงงานต่างด้าวที่จะเข้าไปทำงานในไต้หวัน โดยนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการตรวจสอบฐานข้อมูลและลายพิมพ์นิ้วมือ ซึ่งพบว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีแรงงานไทยถูกส่งตัวกลับประเทศหรือถูกดำเนินคดีไปแล้วหลายราย

ผู้ ที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศ สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกกฎหมายได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดสุพรรณบุรี ศูนย์ราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ชั้น 2 ถนนสุพรรณบุรี ชัยนาท ตำบลสนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี โทรศัพท์หมายเลข 0-3553-5388 , 0-3540-8205-6 ในวันและเวลาราชการ โดยไม่หยุดพักกลางวัน

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 7-3-2554)

ศาลแรงงานกลางนัดไกล่เกลี่ยแอร์-ผู้บริหารการบินไทย 4 เม.ย.นี้

นายอากาศ วสิกชาติ ในฐานะทนายความของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวภายหลังยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลางให้วินิจฉัยกรณีที่บริษัท การบินไทย ออกหลักเกณฑ์การปรับบุคลิกภาพของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ผิดต่อสภาพการจ้างที่มีอยู่เดิมหรือไม่ ว่า ตนได้รับมอบหมายจากพนักงานการบินไทยรวม 22 คน ให้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานในวันนี้ เพื่อขอคำวินิจฉัยจากศาลเป็นบรรทัดฐาน พร้อมยืนยันว่าที่ผ่านมาพนักงานกลุ่มนี้ไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งหรือยุติ เรื่องด้วยการฟ้องร้อง แต่จากการไปร้องเรียนที่กระทรวงแรงงาน หรือเจรจากับผู้บริหารกลับไม่ได้ข้อยุติ โดยศาลแรงงานกลางรับคำฟ้องไว้พิจารณา และนัดพร้อมคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายมาไกล่เกลี่ยที่ศาลแรงงานกลางในวันที่ 4 เมษายนนี้ เวลา 09.00 น. หากไม่สามารถตกลงกันได้ ก็จะกำหนดประเด็นพิจารณา ก่อนนัดไต่สวนอีกครั้ง

ทั้ง นี้ ก่อนหน้านี้บริษัท การบินไทยได้ออกหลักเกณฑ์การปรับบุคลิกภาพของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน โดยใช้ค่าดัชนีมวลกาย (บีเอ็มไอ) และรอบเอวหากลดไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ให้ปฏิบัติงานบินภายในประเทศ หรือเส้นทางบินไปกลับวันเดียว และปฏิบัติงานภาคพื้นดิน ทำให้พนักงานบางส่วนไม่พอใจออกมาเคลื่อนไหว ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (8 มี.ค.) เวลา 10.00 น.ตัว แทนพนักงานจะไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เนื่องจากเห็นว่าระเบียบดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างพนักงานอ้วนกับ ผอมหรือไม่ด้วย

(สำนักข่าวไทย, 7-3-2554)

จบแล้ว สหภาพ-ผู้บริหาร MAXXIS สามารถตกลงข้อเรียกร้องกันได้

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 54 เวลา 13.00 น. มีการเจรจาขึ้นอีก 1 ครั้ง ณ ห้องประชุม สำนักแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน กรุงเทพมหานคร โดยทาง นางอัมพร  นิติ สิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นผู้ประสานงานให้เกิดการเจรจาระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างของบริษัทแม็กซิส อินเตอร์แนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ในเขตอุตสาหกรรมอีสเทิร์น 300/1 หมู่ 1 ตำบลตาสิทธิ์ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ซึ่งวันนี้ข้อเรียกร้องที่นายจ้างเรียกร้องเอากับลูกจ้างจบลงแล้วในเวลา 05.40 น.เป็น การเจรจาที่ทรหดอดทน และยาวนาน ผลการเจรจาทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ทำให้ข้อตกลงกันได้ทำให้ข้อเรียกร้อง และข้อพิพาทแรงงานเป็นอันยุติ ผลของข้อตกลงมีดังนี้

1. บริษัทฯและสหภาพแรงงานฯ ตกลงเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงานจากเดิม 2 กะ เป็น 3 กะ ยกเว้นในบางแผนกหรือหน่วยงานที่บริษัทฯพิจารณาแล้วเห็นว่ายังคงสภาพการทำงาน เดิม

2. บริษัทฯ ตกลงจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับพนักงานทุกคนดังต่อไปนี้

2.1 ค่าทำงานกะบ่าย 40 บาท และค่าทำงานกะดึก 55 บาท

หมายเหตุ ทำงานไม่น้อยกว่า 7 ชั่วโมงรวมเวลาพัก

2.2 เบี้ยขยัน

- แบบขั้นบันได 600 บาท 700 บาท 800 บาท 900 บาท เพิ่มตามเดือน สำหรับพนักงานที่ต้องเข้าทำงาน 3 กะ

- แบบขั้นบันได 600 บาท 700 บาท 800 บาท เพิ่มตามเดือน สำหรับพนักงานที่ไม่มีการทำงาน 3 กะ

หมายเหตุ ไม่มาสาย ไม่กลับก่อน ไม่ขาด ลางาน ไม่ป่วยมานอนห้องพยาบาลเกินกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน หรือขาดงานเกิน 1 ชั่วโมง ในเวลาทำงาน ยกเว้นถ้าเป็นการทำงานล่วงเวลาต้องได้รับคำสั่ง(ถึงได้รับ) ไม่ลางานบางชั่วโมง และถ้าไม่ผ่านในขั้นใดๆ ทำให้ไม่ได้รับเบี้ยขยันจะต้องกลับมาเริ่มต้นในขั้นแรกเสมอ

3. วันหยุดพักผ่อนประจำปี

3.1 สำหรับพนักงานที่ไม่ได้มีการทำงาน 3 กะ จะได้สิทธิการลาพักผ่อนประจำปี ดังนี้

3.1.1 พนักงานที่มีอายุงาน 1-4 ปี ใช้สิทธิลาพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 6 วัน

3.1.2 พนักงานที่มีอายุงาน 5-8 ปี ใช้สิทธิลาพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 7 วัน

3.1.3 พนักงานที่มีอายุงาน 8 ปีขึ้นไป ใช้สิทธิลาพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 8 วัน

3.1.4 วันลาพักผ่อนประจำปีสูงสุดปีละ 8 วัน

3.1.5 ใช้สิทธิการลาไม่หมด สามารถสะสมได้ 2 ปีติดต่อกัน

3.2 สำหรับพนักงานที่ต้องการทำงาน 3 กะ จะได้สิทธิการลาพักผ่อนประจำปี ดังนี้

3.2.1 พนักงานที่มีอายุงาน 1-3 ปี ใช้สิทธิลาพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 6 วัน

3.2.2 พนักงานที่มีอายุงาน 4-6 ปี ใช้สิทธิลาพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 7 วัน

3.2.3 พนักงานที่มีอายุงาน 7-9 ปีขึ้นไป ใช้สิทธิลาพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 8 วัน

3.2.4 พนักงานที่มีอายุงาน 10 ปีขึ้นไป ใช้สิทธิลาพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 9 วัน

3.2.5 วันลาพักผ่อนประจำปีสูงสุดปีละ 9 วัน

3.1.5 ใช้สิทธิการลาไม่หมด สามารถสะสมได้ 2 ปีติดต่อกัน

4. ค่าเดินทาง (ค่ารถ) ให้แก้ไขใหม่เป็น

4.1 สำหรับพนักงานที่อยู่ในแผนกที่มีการเปลี่ยนแปลงการทำงาน 3 กะ บริษัทฯ กำหนดค่าเดินทาง(ค่ารถ)เดือนละ 850 บาท ตามระเบียบการจ่ายเดิม เมื่อหักให้ใช้เกณฑ์การหักวันละ 850 บาท หาร30 วัน

4.2 สำหรับพนักงานที่ไม่ได้การเปลี่ยนแปลงการทำงานเป็น 3 กะ บริษัทฯ กำหนดค่าเดินทาง(ค่ารถ) เดือนละ 800 บาท ตามระเบียบการจ่ายเดิม เมื่อหักให้ใช้เกณฑ์การหักวันละ 800 บาท หาร30 วัน

5. ค่าข้าว บริษัทฯ ให้ค่าข้าว 35 บาท สำหรับพนักงานที่ทำงานกะดึก ส่วนในช่วงเวลาอื่นๆ(กะเช้าและกะบ่าย) รวมถึงการทำงานล่วงเวลาให้คงเดิมและตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเดิม

6. บริษัทฯตกลงจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2553 ให้กับพนักงานที่ทำงานอยู่ในบริษัทฯ และที่มารายงานตัวภายในวันที่ 7 มีนาคม 2554 ถึงเวลา 17.00 น. เป็นจำนวนเงินและหลักเกณฑ์ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 22 ตุลาคม 2552 สำหรับพนักงานที่มารายงานตัวตั้งแต่วันที่ 8-10 มีนาคม 2554 ถึงเวลา 17.00 น. บริษัทฯตกลงจ่ายเงินโบนัสฯ โดยหักเงินส่วนเพิ่มจำนวน 2,000 บาท สำหรับพนักงานที่มารายงานตัวตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2554 เป็น ต้นไป บริษัทฯไม่พิจารณาจ่ายเงินโบนัสทั้งนี้ ตามข้อกำหนดดังข้างต้น บริษัทฯจะทำการจ่ายเงินโบนัสสำหรับผู้มีสิทธิได้รับเงินโบนัสนอกเหนือจากผู้ ที่บริษัทฯได้เคยมีประกาศตกลงไว้แล้ว บริษัทฯจะจ่ายให้ในวันที่ 22 มีนาคม 2554 โดยโอนเข้าบัญชีเงินเดือน

7. การปรับค่าจ้าง บริษัทฯตกลงปรับค่าจ้างประจำปีดังต่อไปนี้

7.1 บริษัทฯตกลงปรับค่าจ้างให้กับพนักงานทุกคนเข้าฐานเงินเดือนจำนวน 2 บาทต่อวันโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2554

7.2 ต้องผ่านการทดลองงาน 119 วันแล้ว หากครบทดลองงานระหว่างกลางเดือนให้มีผลในวันที่ 1 ของเดือนถัดไป

8. สภาพการจ้างอื่นใดที่ดีอยู่แล้วและไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้คงไว้ตามเดิม

9. ข้อตกลงฉบับนี้มีอายุ 14 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2554 ถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2554

หมายเหตุ ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 ถึงวันที่ 7 มีนาคม 2554 บริษัทฯจะไม่นำมาคิด KPI ของการคิดโบนัสและการปรับค่าจ้าง บริษัทฯตกลงยุติการปิดงานตามข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานฯและของบริษัทฯ

10. ให้พนักงานทุกคนกลับเข้าทำงานในแผนกเดิม ตำแหน่งเดิม หน้าที่การงานเดิมภายในวันที่ 10 มีนาคม 2554

เมื่อกลับเข้าไปทำงานแล้ว คนงานมีความกังวลว่าเค้า จะถูกนายจ้างกระทำกับเค้าอย่างนายจ้างของฟูจิตสึหรือเปล่า ที่ให้เช็คว่าตัวเองยังมีพักร้อนเหลือหรือไม่ ถ้ามีให้คนงานลาพักร้อน กลับไปแล้วพวกเค้าจะโดนกลั้นแกล้งหรือถูกเล่นงานแบบไหน และในรูปแบบใด ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่คนงานต่างกังวล

ในวันที่ 5 มีนาคม 54 จะมีพิธีการที่ยึดเป็นประเพณีของการมีชุมนุมของขบวนการแรงงาน นั้นคือ พิธีการปิดการชุมนุม จัดขึ้นในเวลา 17.00 น. ซึ่งเป็นการแสดงความรู้สึก ระลึกถึงสิ่งที่ทำร่วมกันตลอดระยะเวลาที่อยู่ร่วมกันมา

 (นักสื่อสารแรงงาน, 6-3-2554)

เตรียมงานรองรับแรงงานไทยจากลิเบีย

วันนี้ 8 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยถึงมาตรการเยียวยาช่วยเหลือแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาจากประเทศ ลิเบีย ว่า ขณะนี้กรมการจัดหางานได้เตรียมตำแหน่งงานว่างรองรับเอาไว้ โดยมีบริษัท 3 แห่งที่แจ้งความประสงค์รับคนงาน โดยมีการตั้งบูธรับสมัครงานที่สนามบิน ได้แก่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ในตำแหน่ง ช่างไม้ ช่างปูน ช่างท่อ และคนงานทั่วไป จำนวน 2,000 อัตรา บริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด เปิดรับช่างตำแหน่งต่างๆ รวมกว่า 1,000 อัตรา และบริษัท ดับเบิ้ล วิง สปิริต เซอร์วิส จำกัด รับสมัครคนงานในตำแหน่งต่างๆ ประมาณ 4,000 อัตรา ซึ่งรวมตำแหน่งที่เปิดรับในขณะนี้ประมาณ 7,068 อัตรา
      
นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งงานในต่างประเทศ ซึ่งกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ประสานไปยัง 4 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน ซึ่งมีความต้องการแรงงานไทยในภาคก่อสร้างประมาณ 300-500 อัตรา และภาคการผลิตอีก 3,000 อัตรา ส่วนในประเทศกาตาร์งานกลุ่มอุตสาหกรรม รวม 110 อัตรา ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ งานสาขาช่างจำนวน 478 อัตรา และประเทศคูเวต จำนวน 331 อัตรา รวมตำแหน่งงานในต่างประเทศทั้งสิ้น 4,419 อัตรา
      
ล่า สุด นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เตรียมเดินทางไปยังไต้หวัน เพื่อเจรจาขยายตลาดแรงงานรองรับแรงงานไทยที่มาจากประเทศลิเบีย
      
อธิบดี กรมการจัดหางาน กล่าวอีกว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง และธนาคารพาณิชย์ รวมถึงบริษัทนายจ้าง ในการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่ต้องการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ด้วยการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ ในธนาคาร 3 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) โดยจะปล่อยกู้ให้กับแรงงานรายละ 50,000-150,000 บาท ในวงเงินธนาคารแห่งละ 1,000 ล้าน บาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดรายละเอียดของการปล่อยกู้ เบื้องต้นจะให้สิทธิพิเศษกับแรงงานที่เดินทางกลับมาจากประเทศลิเบียก่อน

(เดลินิวส์, 8-3-2554)

เผยแรงงานออกจากลิเบีย ถึงไทยแล้ว 7,035

โฆษกกระทรวง การต่างประเทศ ระบุ แรงงานออกจากลิเบีย ถึงไทยแล้ว 7,035 คน บางส่วนยังคงทำงานต่อที่ลิเบีย พร้อมยืนยัน เร่งช่วยเหลือแรงงานอย่างเต็มที่

นาย ธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึง การให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยในลิเบีย ว่า ขณะนี้มีแรงงานไทยที่เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้วจำนวน 7,035 คน จากแรงงานทั้งหมด 12,975 คน ซึ่งเป็นข้อมูลที่กระทรวงแรงงานได้ปรับปรุงยอดของแรงงานใหม่ เนื่องจากตัวเลขเดิมของแรงงานไทยที่เดินทางไปโดยบริษัทจัดหางาน ที่อยู่ในลิเบียมีจำนวน 23,000 คน เป็นข้อมูลเมื่อ 5 ปี ที่ผ่านมา และบางส่วนเป็นจำนวนแรงงานที่ซับซ้อนกัน เพราะบางคน หมดสัญญากับบริษัทจัดหางานแล้ว แต่ยังคงทำงานอยู่ที่ลิเบียต่อ จึงทำให้หลายฝ่ายเกิดความสับสนในเรื่องจำนวนของแรงงานไทย

ส่วน กรณีที่หลายฝ่าย เข้าใจว่าการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยดำเนินการล่าช้ามีสาเหตุมาจาก งบช่วยเหลือของรัฐบาลยังส่งไม่ถึงกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการต่างประเทศ นั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน เนื่องจากการช่วยเหลือแรงงานนั้นหน้าที่หลักเป็นของ บริษัทจัดหางานก่อน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศมีหน้าที่สนับสนุนเรื่องของหนังสือเดินทาง หรือการประสานการเช่าเครื่องบิน และยืนยันว่าการอพยพแรงงานได้ดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 8-3-2554)

แอร์-สจ๊วตการบินไทยยื่นศาลแรงงานขอคุ้มครองให้ข่าวกับสื่อมวลชนได้

ศาลแรงงานกลาง 9 มี.ค.-ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบ่ายวันนี้ (9 มี.ค.) นายอากาศ วสิกชาติ ทนายความของกลุ่มพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 22 คน ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของบริษัท ที่กำหนดให้พนักงานต้อนรับฯ บนเครื่องบินต้องมีค่า BMI และ รอบเอวตามที่บริษัทกำหนด พร้อมด้วยแกนนำกลุ่มพนักงานต้อนรับ เดินทางไปที่ศาลแรงงาน เพื่อยื่นคำร้องใช้สิทธิตามกฎหมายต่อศาลแรงงานขอความคุ้มครองชั่วคราวให้ กลุ่มพนักงานต้อนรับฯ ดังกล่าว โดยอนุญาตให้โจทก์ใช้สิทธิในการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชน ในกรณีเดียวกันกับผู้บริหารที่เป็นจำเลยได้แถลงข่าวหรือให้ข่าวไว้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

นาย อากาศ เปิดเผยว่า เนื่องจากกลุ่มพนักงานต้อนรับฯ ที่ยื่นฟ้องติดขัดระเบียบของบริษัทที่ระบุว่า ห้ามให้ข่าวกับสื่อมวลชน ยกเว้นผู้มีอำนาจ ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิในการชี้แจงข้อมูลข่าวสาร เพื่อปกป้องประโยชน์ส่วนได้ส่วนเสียของตน ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ทำ ให้ที่ผ่านมาฝ่ายบริหารออกมาชี้แจงข้อมูลฝ่ายเดียว เกิดปัญหาในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนที่ต้องการได้ข้อมูลจากฝ่ายพนักงาน ที่ได้รับผลกระทบบ้าง

คำ ร้องนี้เป็นการเปิดมิติใหม่ของ ข้อพิพาทด้านแรงงาน ถือเป็นคนแรกที่ขอใช้สิทธิคุ้มครองลูกความกรณีการให้ข่าวและข้อเท็จจริงกับ สื่อมวลชน หากศาลพิจารณาก็จะช่วยให้ลูกจ้างหรือพนักงานในหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชนสามารถใช้สิทธิชี้แจงกับสื่อได้ โดยไม่ถือว่าผิดระเบียบองค์กรนายอากาศ กล่าว

สำหรับคำร้องระบุว่าเนื่องจากนาย ชัชวาล เสนะวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินบริษัทการบินไทยฯ จำเลยที่ 3 ใน คดีนี้ได้แถลงข่าวผ่านสื่อมวลชนหลายแขนง ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบต่อโจทก์และพวกอย่างมาก เป็นเหตุให้โจทก์และพวกได้รับความเสียหาย มีผู้เข้ามาให้ความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ แต่โจทก์ไม่สามารถไปออกรายการได้ เนื่องจากตามระเบียบของบริษัทมีกำหนดห้ามให้ข่าวกับสื่อมวลชน ยกเว้นผู้มีอำนาจเป็น เหตุให้โจทก์ไม่สามารถใช้สิทธิในการชี้แจงข้อมูลข่าวสารเพื่อปกป้อง ประโยชน์ส่วนได้ส่วนเสียของตน อันเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ด้วยความจำเป็นดังกล่าว โจทก์จึงขอให้ศาลแรงงานกลางได้โปรดใช้อำนาจตามมาตรา 58 ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 สั่ง ให้คุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ก่อนมีคำพิพากษา โดยอนุญาตให้โจทก์ใช้สิทธิในการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชน ในกรณีเดียวกันกับที่จำเลยที่ 3 ได้แถลงข่าวหรือให้ ข่าวไว้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โดยในคำร้องระบุเพิ่มเติมด้วยว่า นอกเหนือจากโจทก์แล้ว การให้ข่าวกับสื่อมวลชนของจำเลยที่ 3 ยังเป็นการทำให้ลูกจ้างของบริษัท จำเลยที่ 1 อีก 40 คน ซึ่งได้รับผลจากคำสั่งในลักษณะเดียวกัน ไม่สามารถใช้สิทธิในการชี้แจงข้อมูลข่าวสารเพื่อปกป้องประโยชน์ส่วนได้ส่วน เสียของตนเช่นเดียวกัน จึงขอให้ศาลกำหนดให้คำสั่งคุ้มครองประโยชน์ก่อนมีคำพิพากษาตามคำร้องฉบับนี้ มีผลผูกพันกับพนักงานทั้ง 40 คนดังกล่าวด้วย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

(สำนักข่าวไทย, 9-3-2554)

เอกชนขู่ลดแรงงานหากรัฐเดินหน้าขึ้นค่าจ้าง

ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ได้เห็นพ้องร่วมกันว่า หากรัฐบาลต้องการให้มีการปรับค่าแรงตามนโยบาย เอกชนก็ต้องปรับตัวโดยการนำเครื่องจักรมาใช้แทน ลดจำนวนแรงงานเพื่อลดต้นทุนการผลิต ส่วนอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้แรงงานก็จะใช้วิธีผลักภาระนี้ไปที่การขึ้น ราคาสินค้า ซึ่งประชาชนจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

นาย พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงต้องการให้ใช้กลไกขอ งคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (คณะกรรมการไตรภาคี) เป็นหลัก เนื่องจากเป็นกระบวนการทางกฎหมาย และเป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่รัฐบาลออกมาประกาศว่าต้องการขึ้นค่าแรง

"ตามหลักการแล้วการพิจารณาขึ้นค่า แรงจะทำกันปีละ 2 ครั้ง ไม่ใช่ปรับขึ้นกันเรื่อยๆ โดยการขึ้นค่าแรงต้องนำปัจจัยด้านเงินเฟ้อ ความสามารถในการแข่งขัน ภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไปมาเป็นหลักในการพิจารณา และหากรัฐบาลต้องการเพิ่มปัจจัยด้านค่าครองชีพเข้าไปเป็นปัจจัยเสริมก็ควรจะ ประกาศออกเป็นหลักเกณฑ์ด้วย เพื่อความชัดเจ"นายพยุงศักดิ์กล่าว

ทั้ง นี้การประกาศขึ้นค่าแรงของ รัฐบาลเป็นเรื่องประชานิยมมากเกินไป ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะกระทบต่อภาคธุรกิจ ขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นการดึงค่าครองชีพให้สูงขึ้น รวมถึงส่งผลกระทบต่อนักลงทุน ซึ่งถือเป็นความผันผวนทางนโยบาย

ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประกาศขึ้นค่าแรงรัฐบาลจำเป็นต้องดูถึงกลไกต่อไปด้วยว่าขึ้นแล้วจะกระทบ เงินเฟ้อมากน้อยแค่ไหน กระทบขีดความสามารถเท่าไหร่ และจะมีกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างไร ซึ่งต้องคิดถึงระยะยาวด้วย การประกาศออกมาเฉยๆ โดยไม่มีการเชื่อมโยงหรือแผนการรองรับ ทำให้เอกชนไม่รู้ว่ารัฐบาลคิดอะไร มีเป้าหมายอะไร และนำมาวางแผนไม่ได้              

(โพสต์ทูเดย์, 9-3-2554)

เผยแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ไม่มาต่ออายุใบอนุญาตทำงานกว่า 2 แสนคน

ก.แรงงาน 9 มี.ค.- นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน เปิดเผยความคืบหน้าในการต่ออายุใบอนุญาตทำงานและการพิสูจน์สัญชาติแรงงาน ต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ว่า ในจำนวนแรงงานต่างด้าวทั้งหมดที่มีใบอนุญาตทำงานในปี 2553 จำนวน 932,255 คน พบว่ามีผู้มาต่ออายุใบอนุญาตทำงานภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันครบกำหนดการต่ออายุใบอนุญาตเพียง 706,445 คน เท่ากับมีแรงงานที่ถูกกฎหมายหายไปจากระบบถึง 225,810 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 24.22 ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ เพราะสูงที่สุดเมื่อเทียบจากจำนวนแรงงานต่างด้าวที่หายไปจากระบบในแต่ละปี ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10-15

สาเหตุ คาดว่ามาจากแรงงานบางส่วนได้ เดินทางกลับประเทศ หรือเปลี่ยนนายจ้างโดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ทำให้ขาดสิทธิ รวมถึงการที่มีข่าวว่าจะมีการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ ทำให้แรงงานต่างด้าวชะลอการต่ออายุใบอนุญาต นอกจากนี้ แรงงานบางส่วนยังเข้าใจคลาดเคลื่อนโดยรอที่จะไปพิสูจน์สัญชาติก่อนมาขอต่อ อายุใบอนุญาตทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และที่ผ่านมาได้มีการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจไปแล้ว ทั้งนี้ ตัวเลขแรงงานที่หายไปจากระบบกว่า 200,000 คน จะรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าว (กบร.) ทราบเพื่อเร่งรัดปราบปรามจับกุมต่อไป.

(สำนักข่าวไทย, 9-3-2554)

สร.TIG ชี้แจงไกล่เกลี่ยวันที่ 9 มี.ค. ไม่ได้ เนื่องจากผู้แทนเจรจาต้องขึ้นศาลวันเดียวกัน

9 มี.ค. 54 - สหภาพ แรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊สได้เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากกรณีที่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจังหวัดสระบุรี ได้ทำการนัดเหมายเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานภายใน 5 วัน โดยกำหนดนัดหมายในวันที่ 9 มีนาคม 2554 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานบริษัทไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) สาขาท่าลาน

เนื่องจากผู้บริหารของบริษัทไทยอิน ดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) ได้ไปแจ้งความดำเนินคดีอาญากับลูกจ้างจำนวน 15 คนในข้อกล่าวหาว่าร่วมกันทำให้ผู้อื่นกลัวหรือตกใจ ตามสำนวนของสถานีตำรวจนครบาลบางนาคดีอาญาที่ 596/2552 โดยสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 7 (พระโขนง) ได้กำหนดวัน เวลาและสถานที่ส่งตัวผู้ต้องหาท้ายบันทึกทราบนัดไว้ในวันที่ 9 มีนาคม 2554 เวลา 13.00 น. ณ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 7 (พระโขนง) ซึ่งทางบริษัทฯก็ทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดีเพราะผู้บริหารของบริษัทฯเป็นผู้ แจ้งความดำเนินคดีและคนงานก็ได้แจ้งการลางานเพื่อไปต่อสู้คดีไว้แล้ว ซึ่งรายละเอียดปรากฎตามที่ส่งมาด้วยหมายเลข 2 ผู้แทนของสหภาพฯในการเจรจาข้อเรียกร้องของบริษัทฯจำนวน 7 คนนั้น เป็นผู้ที่ถูกผู้บริหารดำเนินคดีใน 15 คนดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้สหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียล แก๊สให้ความเห็นว่าการดำเนินการดัง กล่าวเป็นการไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 เกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของการดำเนินกิจการของสหภาพฯโดยปราศจากการแทรกแซง และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 เกี่ยว กับสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองจากการถูกแทรกแซงในการทำงานขององค์กร และการบริหารงานขององค์กร ดังนั้นสหภาพฯ จึงไม่สามารถเข้าร่วมการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ท่านกำหนดขึ้นได้ เพราะผู้แทนเจรจาของสหภาพฯทั้ง 7 ท่านต้องไปต่อสู้คดีที่ผู้บริหารของบริษัทฯแจ้งความดำเนินคดีไว้

(ประชาไท, 9-10-2554)

กต.เผย แรงงานไทยในลิเบียกลับถึงไทยแล้ว 7,975 ราย

นาย ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุด เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณี การอพยพแรงงานไทยออกจากประเทศลิเบีย ว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการเกือบเสร็จสิ้นแล้ว ตามที่มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในประเทศลิเบีย จำนวน 12,975 คน ส่วนตัวเลขอื่นนั้นเป็นตัวเลขที่สะสมเพิ่มขึ้นทุกปีตลอดในรอบ 5 ปี โดยไม่ได้หักลบแรงงานที่เดินทางกลับแล้ว ดังนั้นจำนวน 12,975 คนนี้ ณ วันที่ 9 มี.ค.สามารถนำแรงงานไทยกลับประเทศไทยแล้ว จำนวน 7,975 คน โดยขณะนี้ยังเหลืออยู่ที่ลิเบียอีก 201 คนเท่านั้น อยู่ที่กรุงตูนิส , ตูนิเซีย 1,488 คน และอยู่ที่ประเทศอื่น เช่น อียิปต์ , มอลต้า , กรีซ ฯลฯ อีก จำนวน 2,339 คน ซึ่งการดำเนินการอพยพแรงงานไทยที่ผ่านมา ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ได้มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่จากสถานทูตไทยในประเทศนั้นๆ ไปคอยอำนวยความสะดวกตลอด

(แนวหน้า, 10-3-2554)

เตือนแรงงานไทยที่จะไปทำงานลาว

10 มี.ค. 54 - นาย พิชิต นิลทองคำ จัดหางานจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน ได้รับแจ้งจากกรมการกงสุลว่าสถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต ได้ช่วยเหลือแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานที่แขวงอัตตะปือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 115 คน ที่เดินทางไปทำงานกับบริษัท เอแอลพี พัฒนาครบวงจรและก่อสร้างชลประทาน จำกัด ประสบปัญหานายจ้างค้างค่าจ้าง ปัจจุบันยังมีการชักชวนเพื่อนำแรงงานไทยเข้าไปทำงานกับบริษัทดังกล่าว โดยแรงงานไทยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก แต่ไม่มีสัญญาจ้าง และไม่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องของกรมการจัดหางาน บริษัทจะให้พนักงานของตนเข้าไปติดต่อแรงงานไทยโดยตรง ทำให้ยากลำบากต่อการดำเนินการป้องกันและช่วยเหลือ ขณะนี้สถานกงสุลใหญ่ ได้รับแจ้งว่าบริษัทฯ ได้ว่าจ้างแรงงานไทยชุดใหม่จำนวนประมาณ 20 คน เข้าไปทำงานอีก

สำนัก งานจัดหางานจังหวัดชลบุรี จึงขอแจ้งเตือนให้คนหางานและประชาชนทั่วไปได้ทราบ หากมีผู้มาชักชวนให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศ โปรดอย่าหลงเชื่อ ตรวจสอบข้อมูลจากกรมการจัดหางานก่อน เพื่อมิให้ถูกหลอกลวง และเพื่อป้องกันคนหางานรายใหม่ ที่อาจจะลักลอบเดินทางไปทำงานที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยไม่ผ่านขั้นตอนของกรมการจัดหางาน ขอให้สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดชลบุรี เลขที่ 199 หมู่ที่ 3 ถนนนารถมนตเสวี ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี โทร.08-6516-5203 หรือ 0-3839-8051 ในวันและเวลาราชการ

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์)

สรส.-คสรท.ยื่นหนังสือค้านร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะ

11 มี.ค. 54 - ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อเวลา 10.30 น. ตัวแทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ประมาณ 15 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ. .. ที่สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการวาระแรก และอยู่ระหว่างการพิจาณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญกับประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ออกมารับหนังสือ โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย สภาผู้แทนราษฎร แจ้งว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาไม่อยู่ จึงไม่อนุญาตให้เข้าอาคารรัฐสภา ทำให้กลุ่มผู้มายื่นหนังสือไม่พอใจ และบอกว่า เมื่อพวกตนมาดี แต่ไม่มีใครต้อนรับ วันข้างหน้าหากมากันมาก ก็อย่าหาว่าไม่เตือนก็แล้วกัน จากนั้นจึงได้เดินทางกลับ

(สำนักข่าวไทย, 11-3-2554)

มูลนิธิผู้บริโภคขู่ร้องนายกฯ ประกันสังคมไม่เป็นธรรม

เมื่อ เวลา 12.00 น. วันที่ 11 มี.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสืือร้องขอความเป็นธรรม กรณีที่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการจ่ายเงินสมทบค่ารักษาพยาบาลเป็นประจำทุกเดือน น.ส.สารี เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการจัดตั้ง "ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน" เพื่อดำเนินการเรียกร้องความเป็นธรรม สำหรับประชาชนจำนวน 9.5 ล้่านคน ที่ต้องจ่ายค่าประกันสังคมทั้งที่ไม่สมควรจ่ายในส่วนนี้

จากที่ได้ ประกาศว่าในวันแรงงาน ที่ 1 พ.ค. นั้น จะงดจ่ายเงินค่าประกันสังคมในส่วนของค่ารักษาพยาบาล ในความเป็นจริงแล้วไม่ต้องการทำให้เป็นเรื่องขัดต่อกฎหมาย แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องการทำให้ลูกจ้างรู้ว่าขณะนี้เสียเปรียบ เพราะถูกหักค่าประกันตนจากเงินเดือนทุกเดือน เชื่อว่าถ้าลูกจ้างรู้เยอะๆ ก็จะตื่นตัวในการเรียกร้องสิทธิของตน ซึ่งเหล่าลูกจ้างเป็นกลุ่มเดียวที่เสียเปรียบ เพราะนายจ้างยังใช้สิทธิบัตรทองฟรี เนื่องจากเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ แต่ลูกจ้างกลับต้องจ่ายสตางต์

"เรื่อง นี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ อยากเห็นลูกจ้างมีความตื่นตัว มีหลายสิบบริษัทที่โทรเข้ามาสนับสนุนให้ยกเลิกการจ่ายสตางค์เฉพาะใน ส่วนที่เป็นเรื่องสุขภาพ แต่อาจจะนำไปใส่ไว้ในประกันสังคมส่วนอื่น แทน เช่น เบี้ยชรา ส่วนเรื่องงดจ่าย จริงๆนั้นไม่ได้ต้องการงดจ่าย และเชื่อว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาได้ทัน" น.ส.สารีกล่าว

ใน ส่วนการเรียก ร้องต่อจากนี้ ทางชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน อยู่ในระหว่างการติดตามเรื่องที่กรรมาธิการกำลังแก้กฏหมาย ว่าจะแก้ออกมาอย่างไร แล้วอาจจะพิจารณาว่าจำเป็นต้องไปพบนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ไปยื่นหนังสืือร้องขอความเป็นธรรมต่อรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ หลังจากยื่นหนังสืือร้องขอความเป็นธรรมต่อกสม. ทำให้มีการนัดประชุมในวันพุธที่ 16 มี.ค. นี้ ซึ่งจะพิจารณาเรื่องนี้ในที่ประชุมเป็นเรื่องเร่งด่วนต่อไป.

(ไทยรัฐ, 11-3-2554)

เผยแรงงานไทยในญี่ปุ่น มีเกือบ 2 หมื่นคน

นายสุเมธ มโหสถ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริกเตอร์ ที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่สูงกว่า 10 เมตร พัดถล่มหลายเมืองโดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น ว่า จากการตรวจสอบกับสำนักบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศพบว่า มีแรงงานไทย เดินทางไปทำงานและฝึกงานแบบมีรายได้ ที่ประเทศญี่ปุ่น กระจายอยู่ในหลายเมือง รวมกว่า 19,700 คน จากจำนวนคนไทยทั้งหมดกว่า 42,200 คน แบ่งเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย 13,700 คน แบ่งเป็นแรงงานวิชาชีพ และฝีมือ กว่า 2,400 คน กึ่งฝีมือฝึกงาน 4,300 คน  และแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้มีวีซ่าในการทำงาน กว่า 7,000 คน และแรงงานผิดกฎหมายกว่า 6,000 คน ซึ่งจนถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับแรงงานไทยได้ เพราะระบบโทรศัพท์ที่ประเทศญี่ปุ่นล่มชั่วคราว และได้มีการอพยพเจ้าหน้าที่ออกจากสถานทูตไทยในกรุงโตเกียวแล้ว

อย่าง ไรก็ตาม ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มีคำสั่งด่วน ให้ตั้งคณะทำงานเตรียมการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ภัยสงคราม หรือเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ทั่วโลก โดยให้นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน และเพื่อคอยติดตามช่วยเหลือแรงงานในประเทศต่างๆ ให้ทันท่วงที

(แนวหน้า, 11-3-2554)

แรงงานจากลิเบียกลับถึงไทยแล้วกว่า 9,000 คน

12 มี.ค. 54 - บรรยากาศที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เรียบร้อยในต่างประเทศ บริเวณอาคารผู้โดยสารขาเข้าประตู 10 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เช้าวันนี้แรงงานไทยจากประเทศลิเบีย ยังคงทยอยกลับถึงประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เที่ยวบินเริ่มตั้งแต่เวลา 05.45 น. โดยสายการบินไทยเที่ยวบินที่ ทีจี 945 จากกรุงเอเธนส์ มีแรงงานไทยจำนวน 80 คน เที่ยวบินที่ 2โดยสายการบินไทยเที่ยวบินที่ทีจี 518 จากเมืองดูไบ ในเวลา 08.40 น.มีแรงงานไทยจำนวน 177 คน นอกจากนี้ ยังมีเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากกรุงเอเธนส์อีก 260 คน ที่รอการยืนยันเวลาที่ชัดเจนอีกครั้ง โดยทางเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางาน ได้ให้แรงงานที่เพิ่งเดินทางกลับมาถึงรายงานตัว พร้อมกรอกชื่อที่อยู่ของตนเองและบริษัทนายจ้าง ก่อนแจ้งสิทธิที่คนงานจะได้รับเช่น หากเป็นสมาชิกกองทุนช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งคุ้มครองคนงานตลอดอายุสัญญาจ้างบวกอีก 5 ปี จะได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 15,000 บาท โดยสามารถติดต่อขอรับเงินได้ที่จัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และยังมีการมอบเงินช่วยเหลือเป็นค่าอาหารและค่าเดินทางกลับภูมิลำเนาคนละ 1,500 บาท พร้อมจัดรถไปส่งที่บริเวณสถานีขนส่งด้วย สำหรับยอดรวมแรงงานกลับถึงประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 9,261คน  ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 2,000 คน จะทยอยเดินทางกลับถึงไทยไม่เกินวันที่ 15 มีนาคมนี้

(สำนักข่าวไทย, 12-3-2554)

แรงงานไทยในญี่ปุ่น เกือบ 20,000 คน ปลอดภัยแล้วกว่าร้อยละ 90

12 มี.ค. 54 - นายก มล สวัสดิ์ชูแก้ว อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน สำนักงานแรงงานไทยในประเทศญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์ผ่านโทรศัพท์ทางไกลจากประเทศญี่ปุ่นว่า จนถึงขณะนี้ ยังไม่พบว่ามีแรงงานไทย ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ และคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มหลายเมืองในประเทศญี่ปุ่น โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่จากสำนักงานแรงงานไทยในประเทศญี่ปุ่นและสถานเอกอัคร ราชทูตไทย สามารถติดต่อแรงงานส่วนใหญ่ได้แล้วกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนแรงงานทั้งหมดกว่า 19,000 คน เพราะส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในกรุงโตเกียว ซึ่งขณะนี้ได้มีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานไทยที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว เพื่อคอยอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือแรงงานที่ประสบปัญหาอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ยังคงมีแรงงานบางกลุ่มที่น่าเป็นห่วงโดยเฉพาะที่เมืองมิยากิ ซึ่งได้รับความเสียหายหนักจากคลื่นยักษ์สึนามิ มีแรงงานไทยทำงานอยู่ 2 คน ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถติดต่อได้ เพราะการสื่อสารถูกตัดขาด ทางสถานเอกอัครราชทูตไทย กำลังอยู่ในระหว่างหาทางเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

(สำนักข่าวไทย, 12-3-2554)

 

คสรท.ตั้งคำถามถึงกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 มีนาคม 2554 คระกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีการจัดเวทีแถลงข่าว ชำแหละกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพราะราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ …) พ.ศ. …. โดย คุณชาลี ลอยสูง ประะานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย คุณวิไลวรรณ แซ่เตีย คุณชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ รองประธนฯและตัวแทนในกรรมาธิการ ได้ร่วมกันแถลงดังนี้

เมื่อวันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม 2551 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อรัฐสภา ในนโยบาย 9 ด้านที่รัฐบาลจะดำเนินการเพื่อสร้างเสริมให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีต่อประชาชน ไทย หนึ่งในนั้นคือ นโยบายด้านสังคมและคุณภาพชีวิต ข้อ 3.2 เรื่องนโยบายแรงงาน ซึ่งระบุในข้อ 3.2.2 ว่ารัฐบาล จะปฏิรูประบบประกันสังคมให้มีความเข้มแข็งมั่นคง ให้มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ โปร่งใส และขยายความคุ้มครองถึงบุตรและคู่สมรสของผู้ประกันตนในเรื่องการเจ็บป่วย รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกันตน

นับตั้งแต่ปี 2551 จวบ จนปัจจุบัน การดำเนินการของรัฐบาลด้านปฏิรูปประกันสังคมที่ดูจะเป็นรูปธรรมที่สุด คือ การขยายประกันสังคมไปสู่กลุ่มแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะนโยบายในระดับกระทรวงแรงงาน ทั้งในสมัยนายไพฑูรย์ แก้วทอง และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่เร่งรัดให้มีการขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม โดยขยายสิทธิประโยชน์และผลักดันการคุ้มครองตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533

สำหรับ ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการปฏิรูปประกันสังคมให้มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ โปร่งใส ยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม แม้ว่านายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในการเปิดงานสมัชชาแรงงาน: ปฏิรูปประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตแรงงาน เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2554 ว่า “…ผม อยากจะเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการปฏิรูประบบประกันสังคมในปัจจุบัน ข้อเรียกร้องทั้งในเรื่องของการขยายการครอบคลุมของประกันสังคมก็ดี ทั้งในเรื่องของความเป็นอิสระและความโปร่งใสในการบริหารจัดการของกองทุน ประกันสังคมก็ดี และการปฏิรูปในภาพรวมเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้มีส่วนได้ เสียโดยตรง ผมถือว่า เป็นหลักการที่สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของประเทศ และเป็นสิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรับไปดำเนินการ ในส่วนของการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นเรื่องของความต้องการที่จะเห็น
ธร รมาภิบาล หลักธรรมาภิบาลเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการมีส่วนร่วมและความเป็นอิสระนั้น ผมยืนยันครับว่า เป็นหลักคิดที่มีความสอดคล้องกับแนวทางที่รัฐบาลต้องการที่จะเดินไป…”

ต่อมาที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 26 มกราคม 2554 ได้ลงมติในวาระที่ 1 รับ หลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ทั้งฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี และฉบับบูรณาการแรงงาน ที่เสนอผ่านนายสถาพร มณีรัตน์ กับคณะ กับนายนคร มาฉิม กับคณะ และมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 36 คน เพื่อพิจารณา โดยถือเอาร่างพระราชบัญญัติของคณะรัฐมนตรีเป็นหลักในการพิจารณา โดยมีคณะกรรมาธิการประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ 13 คน พรรคเพื่อไทย 11 คน พรรคเพื่อแผ่นดิน 3 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 2 คน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 2 คน พรรคภูมิใจไทย พรรคกิจสังคม พรรคมาตุภูมิ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานประกันสังคม หน่วยงานละ 1 คน

สถานการณ์ เหล่านี้ รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า ตนมีความตั้งใจที่จะปฏิรูประบบประกันสังคมให้มีความเข้มแข็งมั่นคง หากแต่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยยังเห็นว่า หัวใจของการปฏิรูประบบประกันสังคมคือการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ โปร่งใส ที่ปัจจุบันยังขาดหลักประกันว่าจะเกิดขึ้น

ดังที่ปรากฏในการประชุมคณะ กรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกัน สังคม นับตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 จนถึงวันที่ 10 มีนาคม 2554 พบว่า หลักการและเจตนารมณ์ ของการปฏิรูประบบประกันสังคม ที่เสนอไว้ในร่าง พรบ.ประกันสังคม พ.ศ….(ฉบับบูรณาการแรงงาน) มิได้ถูกหยิบยกมาเป็นสาระสำคัญ หลักการดังกล่าว ประกอบด้วย

(1)    ประกัน สังคมต้องเป็นองค์กรอิสระ กล่าวคือ สำนักงานประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระที่กำหนดระเบียบวิธีการในการบริหาร จัดการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้เองเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและ ผู้จ่ายเงินสมทบมีสิทธิกำหนดนโยบาย การปฏิบัติ สิทธิประโยชน์ มีส่วนร่วมในการบริหารองค์กร ตรวจสอบ รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ตัดสินใจ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง สังกัดกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี

(2)    ความโปร่งใส กระบวนการการตรวจสอบ กล่าวคือ ภายใต้ภาวะการบริหารงาน (กองทุน 7แสน ล้าน) ที่มีความซับซ้อน และมีการเปลี่ยนแปลงที่ รวดเร็ว กิจการของ สปส. มีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องมีการปรับปรุงจัดการให้ดีขึ้นต่อไปเรื่อยๆ  เพื่อ ให้ในที่สุด มีการจัดการที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลที่ดีที่สุด จนกระทั่งได้รับการยอมรับจากผู้ประกันตน และผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไปว่า กิจการมีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance)

(3)    บัตรเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาลคู่สัญญา กล่าวคือ  ผู้ ประกันตนและคู่สมรสต้องมีสิทธิเข้ารับบริการทางการแพทย์ตามความต้องการ หรือความสะดวกในแต่ละครั้งของตนเองเฉกเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ที่เข้ารับการรักษาหรือบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลใดก็ได้ตามความสะดวก หรือความต้องการของตน การขยายสิทธิประโยชน์ควรให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิประโยชน์อย่างรวดเร็ว ตรงตามสิทธิ และเหมาะสมกับสภาพงานของคนทำงาน

(4)    หนึ่ง คนหนึ่งเสียง ในการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม กล่าวคือ ผู้ประกันตนทุกคนควรมีสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมในลักษณะหนึ่งคน หนึ่งเสียง ต้องมีการแก้ไของค์ประกอบกระบวนการได้มา คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ และวาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อเป็นหลักประกันชัดเจนให้ได้มาซึ่งประธานกรรมการ  กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายผู้ประกันตนซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของนายจ้างและผู้ประกันตน  ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความสามารถ ความเหมาะสม และไม่มีส่วนได้เสียในกิจกรรมที่กระทำกับสำนักงานทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

(5)    ประกัน สังคมถ้วนหน้าเพื่อคนทำงานทุกคน กล่าวคือ การประกันสังคมเป็นหลักการที่คนทำงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันสมทบเป็น กองทุนเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนในอนาคตเมื่อเกิดเหตุใดเหตุหนึ่งจะได้รับ สิทธิประโยชน์เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกันตน ดังนั้น คนทำงานทุกคนควรเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพื่ออย่างน้อยเป็นหลักประกันให้กับ ตนเอง
 
โดยสรุป จากการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม นับตั้งแต่ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 จนถึงครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2554 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีความเห็นและท่าทีต่อกรรมาธิการ ดังนี้

ประการ แรก คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม บางส่วนยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในกฎหมายประกันสังคม รวมทั้งความเข้าใจมิติต่างๆ ของผู้ใช้แรงงาน และงานด้านสวัสดิการสังคม ดังนั้น จึงมักจะรับฟังข้อเสนอหน่วยงานของรัฐ จากสำนักงานประกันสังคมและสำนักงานกฤษฎีกาเป็นหลัก

ประการ ที่สอง กระบวนการพิจารณากฎหมายของคณะกรรมาธิการฯ บ่งชี้ว่าไม่เป็นไปตามหลักการที่รัฐบาลแถลงไว้ การพิจารณาเนื้อหากฎหมายรายมาตราไม่ใช่ สาระสำคัญของการปฏิรูประบบประกันสังคม ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเสนอทั้ง 5 ประเด็น รวมทั้งแนวทางการปฏิรูประบบประกันสังคมที่นายกรัฐมนตรีเคยรับข้อเสนอ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

ประการ ที่สาม คณะกรรมาธิการซึ่งเป็นตัวแทนจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ไม่ได้รับโอกาสให้แสดงความคิดเห็นเท่าที่ควร และการสรุปบันทึกการประชุมจะขาดความเห็นของคณะกรรมาธิการจากคณะกรรมการ สมานฉันท์แรงงานไทย รวมทั้งการไม่ให้ความสำคัญในการนำเสนอความคิดเห็นของที่ปรึกษากรรมาธิการ ฝ่ายแรงงาน

ประการที่สี่ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีการพิจารณาไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 25 มาตรา จากทั้งหมด 46 มาตรา จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า กฎหมายฉบับนี้ฯ มีการพิจารณาอย่างรวดเร็วและรวบรัด เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้ผ่านก่อนการยุบสภา เพราะเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้ล่วงหน้าแล้ว

จาก สถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีความเห็นต่อ การพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. .. ว่าร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. .. ที่กำลังอยู่ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญในขณะนี้ ยังไม่ตอบโจทย์ในการปฏิรูประบบประกันสังคมไปสู่ความเป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส และยังไม่ตอบคำถามต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของสมาชิกผู้ประกันตนจำนวน 9.4 ล้านคน ที่เป็นเจ้าของกองทุนประกันสังคม 8 แสนล้านบาท แต่อย่างใด

(นักสื่อสารแรงงาน, 12-3-2554)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net