มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จวกรัฐล้มเหลว ทำคดี 7 ปี ไม่สามารถนำคนอุ้ม “ทนายสมชาย” มาลงโทษ

วานนี้ (14 มี.ค.54) คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission) เผยแพร่แถลงการณ์โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Culture Foundation: CrCF) เรื่อง “เจ็ดปี รัฐล้มเหลวไม่สามารถนำคนอุ้มสมชายมาลงโทษ รัฐต้องตอบญาติ สังคมไทยและเวทีโลก ใครอุ้มทนายสมชาย” เผยแพร่วันที่ 12 มี.ค.54

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 11 มี.ค.54 ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาคดีกรณีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร หลังมีการแจ้งว่า พ.ต.ต.เงิน ทองสุก จำเลยที่ 1 สาบสูญ ระบุคดีนี้ยังไม่ชัดว่า ทนายสมชายบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแล้วหรือไม่ แม้โจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นภรรยาและโจทก์ร่วมที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบตามกฎหมาย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายจัดการแทนในคดีและไม่มีสิทธิเป็นโจทก์ร่วม ส่วนคำให้การพยานยังสับสน ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ พ.ต.ต.เงิน และให้ออกหมายขังไว้ระหว่างฎีกา ส่วนจำเลยอื่นพิพากษายืนยกฟ้องตามศาลชั้นต้น

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า ในโอกาสครบรอบ 7 ปี การหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นคดีที่สาธารณชนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศให้ความสนใจเป็นอย่าง มาก เนื่องจากจำเลยที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นาย และยังมีผู้ที่เกี่ยวข้องในข้อหาดังกล่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้น ผู้ใหญ่อีกหลายนาย ที่ยังไม่สามารถนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ อีกทั้ง คดีนี้ยังความเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นที่วิจารณ์กันว่า คดีเช่นนี้ ผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมักลอยนวล โดยที่กฎหมายไทยไม่สามารถนำตัวมาลงโทษได้

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุต่อมาว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้ตอกย้ำข้อวิจารณ์ดังกล่าว และเป็นการยืนยันว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยไร้ประสิทธิภาพ หรือปกป้องเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดให้ลอยนวล และไม่มีกฎหมาย หรือมาตรการที่เพียงพอในการนำผู้กระทำผิดโดยบังคับให้บุคคลสูญหายมาลงโทษได้ เนื่องจากไม่มีข้อหาการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดอาญา ในกฎหมายไทย อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมของไทย ยังไม่ยอมรับว่า การบังคับให้บุคคลสูญหาย หรือ Enforced Disappearances หรือการอุ้มหาย อุ้มฆ่าเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง

“เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลจะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชั้นพนักงานสอบสวนและอัยการ เพื่อแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่กระทำผิดแต่ ลอยนวล ทั้งขอเรียกร้องให้รัฐบาล เร่งลงนามเข้าเป็นภาคี อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of all persons from Enforced Disappearance) อันจะนำมาซึ่งการตราบทบัญญัติในกฎหมายอาญาว่า การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นการกระทำผิดทางอาญา การปฏิบัติตามพันธกรณีตามอนุสัญญา จะนำไปสู่การสร้างมาตรฐาน ทั้งทางกฎหมาย การบริหารงานตุลาการ และด้านการคุ้มครองพยานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อคุ้มครอง และยุติการบังคับให้บุคคลสูญหาย ในประเทศไทย โดยรัฐต้องแสงความมุ่งมั่นและเจตจำนงทางการเมือง ต่อเวทีระหว่างประเทศที่จะมีการพิจารณารายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของ ประเทศไทย ตามระบบ UPR ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2554 ที่จะถึงนี้” นายสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิฯ กล่าว

ทั้งนี้แถลงการณ์มีรายละเอียดดังนี้

 

แถลงการณ์
เจ็ดปี รัฐล้มเหลวไม่สามารถนำคนอุ้มสมชายมาลงโทษ
รัฐต้องตอบญาติ สังคมไทยและเวทีโลก ใครอุ้มทนายสมชาย

ในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2554 ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 และนางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และบุตรของนายสมชาย ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นาย1 ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ เพื่อกระทำผิด และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใด โดยใช้กำลังประทุษร้าย จากกรณีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2547

คำพิพากษาอุทธรณ์วิเคราะห์เหตุการณ์ว่า เกิดเวลาค่ำแสงน้อย พยานไม่เห็นหน้าจำเลย ยกประโยชน์แห่งความสงสัย กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นยกฟ้องให้จำเลยที่ 1 พ้นผิด จำเลยที่ 2 – 5 ไม่มีประจักษ์พยาน จำเลยที่ 5 หลักฐานทางโทรศัพท์ไม่น่าเชื่อถือ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยที่ 2 – 5 องค์กรสิทธิมนุษยชน เสนอรัฐบาลรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศ เรื่องการคุ้มครองบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหายในเวที UPR2 ที่กรุงเจนีวา เดือนตุลาคม พ.ศ.2554 เพื่อแสดงเจตจำนงทางการเมือง แก้ไขระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ล้มเหลวในการนำคนผิดมาลงโทษ เรียกร้องรัฐจะต้องตอบญาติ ตอบสังคม และเวทีโลก ให้ได้ว่า ใครอุ้มทนายสมชาย

ในวันนี้ เป็นวันครบรอบ 7 ปี การหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน คดีนี้ คดีที่สาธารณชนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากนอกจากจำเลยที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นาย ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดี ยังมีผู้ที่เกี่ยวข้องในข้อหาดังกล่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ อีกหลายนาย ที่ยังไม่สามารถนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ อีกทั้ง คดีนี้ ยังความเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเป็นที่วิจารณ์กันว่า คดีเช่นนี้ ผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมักลอยนวล โดยที่กฎหมายไทยไม่สามารถนำตัวมาลงโทษได้

คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้ตอกย้ำข้อวิจารณ์ดังกล่าว และเป็นการยืนยันว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยไร้ประสิทธิภาพ หรือปกป้องเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดให้ลอยนวล (Impunity) และไม่มีกฎหมาย หรือมาตรการที่เพียงพอในการนำผู้กระทำผิดโดยบังคับให้บุคคลสูญหายมาลงโทษได้ เนื่องจากไม่มีข้อหาการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดอาญา ในกฎหมายไทย อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมของไทย ยังไม่ยอมรับว่า การบังคับให้บุคคลสูญหาย หรือ Enforced Disappearances หรือการอุ้มหาย อุ้มฆ่าเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง

ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยไปว่า เมื่อภรรยาและบุตรของทนายสมชาย ซึ่งเป็นโจทก์ร่วมไม่สามารถยืนยันได้ว่า ทนายสมชายเสียชีวิตจากการถูกทำร้าย หรือได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการงานเองได้ จึงไม่เข้าตามหลักเกณฑ์ที่จะใช้สิทธิเป็นผู้เสียหายแทนได้ การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้บุคคลในครอบครัวของนายสมชายทั้ง 5 คน เข้าเป็นโจทก์ร่วมนั้น มิชอบตามกฎหมาย จึงไม่ต้องพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม คำพิพากษาของศาลเท่ากับเป็นการตัดสิทธิของภรรยาและบุตรทั้ง 4 ของนายสมชาย ในการเข้ามามีส่วนรวมในการต่อสู้ เพื่อค้นหาความจริง และเพื่อความยุติธรรมในกระบวนการศาล ศาลอุทธรณ์ไม่รับคำอุทธรณ์โดยโจทก์ร่วม คือ ภรรยาและบุตร ในการพิจารณาอุทธรณ์คดีนี้ ทั้งๆที่ ศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้ นายสมชายเป็นบุคคลสาบสูญ หลังหายตัวไปครบ 5 ปี แล้ว เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2552

“เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลจะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชั้นพนักงานสอบสวนและอัยการ เพื่อแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่กระทำผิดแต่ ลอยนวล ทั้งขอเรียกร้องให้รัฐบาล เร่งลงนามเข้าเป็นภาคี อนุสัญญาว่าด้วย การคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of all persons from Enforced Disappearance) อันจะนำมาซึ่งการตราบทบัญญัติในกฎหมายอาญาว่า การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นการกระทำผิดทางอาญา การปฏิบัติตามพันธกรณีตามอนุสัญญา จะนำไปสู่การสร้างมาตรฐานทั้งทางกฎหมาย การบริหารงานตุลาการ และด้านการคุ้มครองพยานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อคุ้มครอง และยุติการบังคับให้บุคคลสูญหาย ในประเทศไทย โดยรัฐต้องแสงความมุ่งมั่นและเจตจำนงทางการเมือง ต่อเวทีระหว่างประเทศที่จะมีการพิจารณารายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของ ประเทศไทย ตามระบบ UPR ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2554 ที่จะถึงนี้” นายสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิฯ กล่าว

...........................

  1. พ.ต.ต.เงิน ทองสุก อดีต สว.กอ.รมน. ช่วยราชการกองปราบปราม, พ.ต.ท.สินชัย นิมปุญญกำพงษ์ อายุ 42 ปี อดีตพนักงานสอบสวน กก.4 ป., จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง อายุ 40 ปี อดีต ผบ.หมู่งานสืบสวน แผนก 4 กก.2 บก.ทท., ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต อายุ 38 ปี อดีตเจ้าหน้าที่ธุรการ กก.4 ป. และ พ.ต.ท.ชัดชัย เลียมสงวน อายุ 45 ปี อดีตรอง ผกก.3 ป. เป็นจําเลยที่ 1-5
  2. การจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) โดยประเทศไทย จะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ สถานการณ์สิทธิมนุษยชน ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ในวันที่ 5 และ วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2554 และ วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554 เป็นวันสุดท้ายที่องค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ จะสามารถส่งรายงานสถานการณ์สิทธิฯ ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ โดยมีการคาดการณ์ว่า ประเด็นเรื่องการหายตัวไปของทนายสมชาย จะเป็นประเด็นที่ทาง HRC จะท้วงติงสอบถามความคืบหน้า ในการนำคนผิดมาลงโทษ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท