Skip to main content
sharethis

เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้า อุบลฯ จี้นายกฯ ยกเลิกแผนสร้างโรงงานนิวเคลียร์ในไทย ก่อนสายเกินแก้ ชี้ญี่ปุ่นป้องกันรัดกุม ยังสูญเสียใหญ่หลวง

(16 มี.ค.54) เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน จังหวัดอุบลราชธานี ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยืนยันคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในประเทศไทย ระบุผลจากการระเบิดของเตาปฏิกรณ์ โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ชี้ให้เห็นว่า แม้ระบบความปลอดภัยของญี่ปุ่นมีความเคร่งครัดรัดกุม ก็ยังเกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง พร้อมเปรียบเทียบว่า หากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งระบบการเตือนภัย และมาตรฐานด้านความปลอดภัยยังมีปัญหา ตลอดจนประชาชนยังไม่คุ้นชินกับมหันตภัยอันเกิดจากพลังนิวเคลียร์และห่าง ไกลการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร คงจะเกิดความสูญเสียอันไม่อาจคาดการณ์ได้

 


จดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 3
เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี

เรื่อง ขอให้ทบทวนแผนการก่อสร้างและดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี

กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ผ่านสื่อมวลชน

ก่อนอื่นเครือข่ายคนไทยไม่เอานิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานีขอแสดงความเสียใจและไว้อาลัยต่อความสูญเสียของประชาชนชาว ญี่ปุ่น ที่ได้รับภัยพิบัติจากภัยธรรมชาติและการระเบิดของเตาปฏิกรณ์จากโรงไฟฟ้าพลัง นิวเคลียร์ฟูกูชิมะ

อุทาหรณ์จากประเทศญี่ปุ่น อันเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ ผนวกกับภัยพิบัติอันเกิดจากน้ำมือมนุษย์เกี่ยวแก่นโยบายด้านพลังงาน กล่าวคือ การเกิดคลื่นสึนามิ ที่ส่งผลถึงการระเบิดของเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ถือได้ว่า เป็นการซ้ำเติมเหตุการณ์ให้เลวร้ายยิ่งขึ้น จากเหตุการณ์ดังกล่าว สามารถจำแนกภัยพิบัติได้ ดังนี้ คือ

1) ภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ เป็นภัยอันไม่อาจแก้ไขได้ สิ่งที่ทำได้มีเพียงการป้องกัน เพื่อให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด

2) ภัยจากการระเบิดของเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ เป็นภัยอันสามารถแก้ไข และป้องกันได้

สำหรับประเทศไทย การที่รัฐบาลได้อนุมัติแผนพีดีพี 2010 โดยมีพลังงานนิวเคลียร์อยู่ในแผน 5,000 เมกะวัตต์ ในช่วงปี 2554-2573 มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 10 โรง และโรงไฟฟ้าก๊าซ 20 โรง โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ว่าจ้างบริษัทปรึกษาให้คัดเลือก 5 พื้นที่ ได้แก่ อุบลราชธานี นครสวรรค์ ตราด สุราษฎร์ธานี ชุมพร ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีถูกเลือกเป็นอันดับหนึ่ง โดยพิจารณาจากด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และการประเมนต้นทุนก่อสร้างของโรงไฟฟ้า ซึ่งการดำเนินการด้านข้อมูลได้แล้วเสร็จ และได้จัดส่งให้ สพน. แล้ว ต่อจากนี้ กฟผ. จะจัดเตรียมร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) ว่าจ้างที่ปรึกษากำหนดคุณสมบัติ (สเปค) ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หาก ครม. อนุมัติให้ก่อสร้าง ก็จะใช้เวลาในการประกวดราคาก่อสร้างประมาณ 3 ปี และใช้เวลาก่อสร้างอีก 6 ปี และจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าได้ในปี 2563

แผนการก่อสร้างและดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในพื้นที่จังหวัด อุบลราชธานีดังกล่าว กำลังนำพาประเทศและประชาชน ทั้งประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียงไปสู่ความหายนะ และฝ่ายนโยบายกำลังดูเบาเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งแม้แต่นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นยังยอมรับว่า ภัยพิบัติครั้งนี้เท่ากับความสูญเสียของญี่ปุ่นที่เกิดจากสงครามโลก ครั้งที่ 2 นั่นหมายถึงว่า ภัยพิบัติครั้งนี้ความสูญเสียอันสำคัญ เกิดจากการระเบิดของเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ซึ่งเทียบได้กับการทิ้งระเบิดปรมาณูของฝ่ายสัมพันธมิตรที่บริเวณ 2 เกาะของญี่ปุ่น เนื่องจากความสูญเสียจากนิวเคลียร์มิได้สิ้นสุดเพียงเหตุการณ์ยุติ หากแต่จะยังลุกลาม และยังความทุกข์ทรมานแก่ผู้ประสบภัยไปอีกนาน มิพักต้องพูดถึงความสูญเสียทางขวัญและกำลังใจ

หายนะภัยอันจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นจากแผนพีดีพี 2010 เป็นสาเหตุ ถือได้ว่าเป็นภัยพิบัติที่ ฯพณฯ สามารถยุติได้ เนื่องจากยังไม่มีการก่อสร้าง

จากเหตุการณ์ในญี่ปุ่นครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่า ระบบความปลอดภัยภายในประเทศของญี่ปุ่นมีความเคร่งครัดรัดกุมอย่างยิ่ง เนื่องจากญี่ปุ่นต้องเผชิญกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่เป็นนิตย์ แต่กระนั้น ก็ยังเกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงอย่างที่ประจักษ์ หากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งระบบการเตือนภัย และมาตรฐานด้านความปลอดภัยยังมีปัญหา ตลอดจนประชาชนชาวไทยยังไม่คุ้นชินกับมหันตภัยอันเกิดจากพลังนิวเคลียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ๆ จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ล้วนอยู่ในเขตชนบทห่างไกล ประชาชนยิ่งห่างไกลการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เป็นที่เชื่อได้โดยไม่ต้องสงสัยเลยว่า หากเกิดภัยพิบัติ จะต้องเกิดความสูญเสียอันไม่อาจคาดการณ์ได้

อนึ่ง การสำรองพลังงานของประเทศเป็นที่รับรู้อยู่แล้วว่า เป็นการคาดการณ์ที่เกินจริง ดังได้กราบเรียนมาแล้ว และถึงแม้ประเทศจะมีความต้องการพลังงานจริง มาตรการอันไม่ก่อให้เกิดภัยพิบัติยังมีอีกหลายวิธี เช่น มาตรการการประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นวิธีที่นอกจากจะทำให้แก้ไขปัญหาด้านพลังงานแล้ว ยังเป็นการสร้างวินัยแก่คนในชาติ อันจะส่งผลถึงการแก้ไขปัญหาในมิติอื่นๆ ตามมาอีกด้วย

เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน จังหวัดอุบลราชธานี ขอกราบเรียนมายัง ฯพณฯ ว่า เครือข่ายฯ ยังยืนยันจุดยืนเดิม คือ คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในประเทศไทย และได้โปรดพิจารณายกเลิกแผนพีดีพี 2010 เสียแต่ยังไม่ได้ดำเนินการมากกว่านี้

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาโดยด่วน จักขอบพระคุณยิ่ง

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏ อุบลราชธานี
นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
กลุ่มเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา
คณะอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดอุบลฯ(คป.สม.)
เครือข่ายคนฮักน้ำของ
กลุ่มสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล
กลุ่มสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนสิรินธร
กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล บ้านคำสร้างไชย ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ อุบลราชธานี
พ่อค้าประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี

ณ ศาลากลางหลังเก่าจังหวัดอุบลราชธานี
วันที่ 16 มีนาคม 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net