คนจากโตเกียวแห่เข้าพักในโอซาก้า หนีกัมมันตรังสี

แปลและเรียบเรียงจาก "Osaka hotel occupancy rate surges as people flood in from Tokyo"
The Japan Times/Bloomberg 19 มี.ค. 2554

http://search.japantimes.co.jp/cgi-bin/nb20110319n1.html

โรงแรมในโอซาก้ากำลังเป็นที่ต้องการอย่างสูง เนื่องจากผู้พักอาศัยและบริษัทต่างๆ เดินทางออกจากโตเกียวเพื่อหาที่พักชั่วคราว ด้วยเป็นห่วงการรั่วไหลของรังสี หลังแผ่นดินไหวที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

โรงแรมเซนต์เรจิสโอซาก้า ซึ่งสัปดาห์นี้ราคาห้องพักต่อวันเริ่มต้นที่ 70,000 เยน (ประมาณ 26,200 บาท) ถูกจองเต็มทั้งสัปดาห์ ในขณะที่ห้องจัดเลี้ยงของโรงแรมสวิสโซเทล นันไก ถูกแปลงเป็นสำนักงานชั่วคราว เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ที่ดิวิโอโอซาก้าก็ถูกจองเต็มทั้งเดือน

ความเป็นห่วงการรั่วไหลของรังสี ที่โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา ซึ่งเสียหายหลังแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อ 11 มี.ค. ส่งผลให้พนักงานของบริษัทอย่างแบล็คสโตนกรุ๊ป ที่ปรึกษาการลงทุนชั้นนำ และ บีเอ็นพี พาริบาส กลุ่มธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลก ต้องออกจากเมืองหลวง

ระดับรังสียังอยู่ในระดับปกติที่โอซาก้า ซึ่งห่าง 600 ก.ม. จากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะหมายเลขหนึ่ง ทำให้มันกลายเป็นที่พักพิงแห่งใหม่ของบรรดาบริษัทและผู้พำนักจากโตเกียว

"เราเห็นการเพิ่มขึ้นของผู้เข้าพักจากโตเกียว" คูมิโกะ ฟูกูชิมะ โฆษกหญิงของโรงแรมเซนต์เรจิสกล่าว และเสริมว่าเป็นครั้งที่โรงแรมถูกจองเต็มทั้งสัปดาห์ นับตั้งแต่เปิดโรงแรมในเดือนตุลาคม "การสอบถามเพิ่มขึ้นมากจากทั้งบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทต่างชาติ ถึงห้องพักสำหรับพนักงานของพวกเขา" ปกติห้องพักที่โรงแรมนี้มีอัตราเข้าพักร้อยละ 70-80 จากทั้งหมด 160 ห้อง และระยะเข้าพักเฉลี่ยได้เพิ่มขึ้นเป็น 4-5 คืน จากเดิม 2-3 คืน เธอกล่าว

ที่โรงแรมสวิสโซเทล นันไก บริษัทการเงินของยุโรปแห่งหนึ่งที่ปฏิเสธจะเปิดเผยชื่อ ได้ตั้งสำนักงานชั่วคราวขึ้นในห้องจัดเลี้ยง มิชิโกะ ฟูจิกะวะ โฆษกหญิงของโรงแรมบอกว่าห้องพักทั้ง 548 ห้องถูกจองเต็มโดยบริษัทจากโตเกียว และห้องพักถูกจัดสรรมากถึง 60 ห้องสำหรับแต่ละบริษัท "ทันทีหลังจากแผ่นดินไหว เราได้รับการยกเลิกการเข้าพักจำนวนมาก" "แต่ตอนนี้เรามีห้องไม่พอ"

การตรวจวัดโดยสถาบันปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของมหาวิทยาลัยโตเกียว ชี้ว่ารังสีในเมืองโอซาก้าอยู่ในระดับปกติ

เอสเอพี บริษัทซอฟต์แวร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เปิดเผยว่า บริษัทได้สำรองห้องพัก 520 ห้องในโอซาก้าและโกเบ เพื่อให้พนักงานของบริษัทและครอบครัวใช้ได้

สำนักข่าวแห่งชาติออสเตรียรายงานว่า เอกอัครราชทูตออสเตรียประจำญี่ปุ่น ย้ายออกจากโตเกียวเนื่องจาก "ความคาดการณ์ไม่ได้" ของเตาปฏิกรณ์ และจะทำงานจากโอซาก้า ส่วนรัฐบาลเยอรมนีก็กล่าวว่า กำลังย้ายการดำเนินงานบางส่วนของสถานทูตไปที่โอซาก้า

โรงแรมขนาด 292 ห้อง ริทซ์-คาร์ลตัน โอซาก้า มี "อัตราเข้าพักในโรงแรมสูงขึ้นอย่างมาก" มัตซึโกะ อาเกซะกะ โฆษกหญิงของโรงแรมกล่าว "แขกจำนวนมากของเรา เป็นครอบครัวที่มีลูก จากเขตมหานครโตเกียว"

การพุ่งสูงขึ้นของผู้มาเยือน อาจช่วยสนับสนุนโอซาก้า ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงอสังหาริมทรัพย์เติบโตมากที่สุดในรอบสองทศวรรษ มีการสร้างอาคารพาณิชย์และช็อปปิ้งคอมเพล็กซ์อีก 557,000 ตร.ม.

โอซาก้าเคยเป็นศูนย์กลางทางการค้าของญี่ปุ่น บริษัทหลักทรัพย์โนมูระ บริษัทนายหน้าแห่งแรกของญี่ปุ่นก่อตั้งขึ้นที่นี่ แม้บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งจะย้ายสำนักงานใหญ่ไปอยู่โตเกียวแล้วก็ตาม แต่บริษัทชั้นนำอื่นๆ อย่าง พานาโซนิค ชาร์ป ซันโย ก็ยังอยู่ในโอซาก้า เช่นเดียวกับตลาดหลักทรัพย์โอซาก้าและตลาดซื้อขายล่วงหน้าชั้นนำหลายแห่ง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทต่างๆ รวมถึง เรโซนาโฮลดิ้งส์ (กลุ่มธุรกิจการเงินการธนาคารใหญ่อันดับ 4 ของญี่ปุ่น), กลุ่มธุรกิจธนาคารของบริษัทมิตซูบิชิ ยูเอฟจี ไฟแนนเชียลกรุ๊ป และซูมิโตโมะ มิตซุย ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (อันดับ 1 และ 2 ของญี่ปุ่น) ได้ย้ายสำนักงานใหญ่ของบริษัท จากโตเกียวมาโอซาก้า

"บริษัทต่างๆ จะต้องหาทางจัดสรรตัวเองให้อยู่ในที่หลากหลาย" โทโมฮิโกะ ซาวายานะงิ ผู้อำนวยการบริหารกลุ่มโรงแรมโจนส์แลงลาซาลซึ่งมีฐานอยู่ที่โตเกียว กล่าว "บริษัทจำนวนมากอาจต้องการที่จะทำงานต่อได้ในโอซาก้า ถ้าเกิดมีเหตุกาณ์อะไรแบบนี้เกิดขึ้นอีก"

ดิวิโอโอซาก้า ได้รับ "การสอบถามที่พักมากกว่าปกติ" ตั้งแต่ 15 มี.ค. ฮารูกะ นากะทานิ ผู้จัดการเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์กล่าว โดยห้องพักทั้ง 14 ห้องถูกจองเต็มจนถึงเดือนเมษายน เทียบกับอัตราการเข้าพักปกติที่ 70%

"การสอบถามจำนวนมากมาจากครอบครัวที่มีลูก และบางครั้งก็มีสัตว์เลี้ยงด้วย" นากะทานิบอกกับเรา "เราจำเป็นต้องบอกปฏิเสธพวกเขาไป"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท