Skip to main content
sharethis

คนงานยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ยันสำนักงานประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระ ย้ำถ้าไม่ได้ ก็ไม่ต้องการ พ.ร.บ.ฉบับนี้

 

วันนี้ (24 มี.ค.54) เวลา 10.30 น. แรงงานประมาณ 200 คน ภายใต้การนำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) รวมตัวกันบริเวณตรงข้ามอาคารรัฐสภา เพื่อแสดงพลังยืนยันข้อเสนอของคนงานต่อการปฏิรูปประกันสังคม และยื่นหนังสือผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกัน สังคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และเพื่อผลักดันให้คณะกรรมาธิการฯบรรจุข้อเสนอของ คสรท. ที่มีหัวใจสำคัญ คือต้องการให้ปรับปรุงสำนักงานประกันสังคมจากหน่วยราชการเป็นองค์กรอิสระ ไว้ในพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับใหม่ที่กำลังพิจารณาอยู่

เนื่องจากขณะนี้ คสรท.เห็นว่าหลักการและเจตนารมณ์ของการปฏิรูประบบประกันสังคมที่เสนอไว้ใน ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... หรือ “ฉบับบูรณาการแรงงาน” ที่เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานร่วมกันยกร่างขึ้น ไม่ได้ถูกหยิบยกมาเป็นสาระสำคัญแต่อย่างใด เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรถือเอาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีเป็นหลักในการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติที่กำลังพิจารณาอยู่จึงยังไม่ตอบโจทย์การปฏิรูประบบประกัน สังคมให้ไปสู่ความเป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของสมาชิกผู้ประกันตนกว่า 9.4 ล้านคนที่เป็นเจ้าของทุนประกันสังคม

ต่อมาเวลา 12.30 น. นางผุสดี ตามไท รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และนายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.พรรคพลังประชาชน ออกมารับหนังสือจากนางสาวธนพร วิจันทร์ คณะกรรมการอำนวยการสมานฉันท์แรงงานไทยในฐานะตัวแทนกลุ่มแรงงาน โดยนางผุสดี ได้กล่าวตอบต่อกลุ่มแรงงานที่มาแสดงจุดยืนว่า เราไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาเดือดร้อนของแรงงาน ในฐานะที่ทำงานฝ่ายนิติบัญญัติก็อยากทำกฏหมายให้ดีและอยากให้ผ่านเร็วที่สุด แต่ผลจะเป็นอย่างไรอยู่ที่ฟ้าและดิน เพราะเราต่างก็มีข้อจำกัดในการทำงานด้วยกันทั้งสองฝ่าย ยืนยันว่าสภาจะหาที่ลงให้ข้อเสนอของแรงงาน แต่คงไม่ได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงขอเสนอให้เรียงลำดับความสำคัญสิ่งใดอยากได้ก่อนได้หลัง

ขณะที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสงคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ในฐานะรองประธานกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ถ้าประเด็นของเราไม่ได้รับพิจารณา เราก็ไม่เอา เรารับไม่ได้ และจะเคลื่อนไหวต่อ แต่ถ้ารัฐบาลเอาข้อเสนอ 5 ข้อ เราก็จะสนับสนุน

สำหรับข้อเสนอ 5 ข้อเพื่อการปฏิรูประบบประกันสังคมของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีดังนี้
1.ประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระ
2.ความโปร่งใสและกระบวนการตรวจสอบ
3.บัตรเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาลคู่สัญญา
4.หนึ่งคนหนึ่งเสียงในการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม
5.ประกันสังคมถ้วนหน้าเพื่อคนทำงานทุกคน

กลุ่มแรงงานได้กล่าวปราศรัยทิ้งท้ายก่อนแยกย้ายว่า หวังว่าคณะกรรมาธิการฯจะนำข้อเสนอของเราไปพิจารณา และถ้าไม่ได้เราจะกลับมาใหม่อย่างแน่นอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net