ข่าวสารประชาชนรอบสัปดาห์ (20-26 มี.ค.54)

 มติสมัชชาปฏิรูปฯ ร่วมผลัก ส่วนกลางโอนอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการ
สมัชชา ปฏิรูปฯ ชี้การกระจายอำนาจยังไม่เป็นจริง ออกมติให้ส่วนกลางเร่งถ่ายโอนสู่ท้องถิ่น เสนอจัดระบบการเงินการคลังใหม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและชุมชนเป็นตัวตั้ง พร้อมเสนอตั้งสภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ
 
26 มี.ค.54 ที่อิมแพค คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ สมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 1 ได้พิจารณาวาระ “การปฏิรูปการกระจายอำนาจ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” โดยพบว่าข้อจำกัดและปัญหาการจัดการภายใต้โครงสร้างและกลไกที่มีอยู่ใน ปัจจุบัน ส่งผลให้ระบบการกระจายอำนาจ สถานะและบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีความเป็นอิสระ
 
ขณะที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบมีกฎหมาย อำนาจหน้าที่และภารกิจที่แตกต่างกัน ในทางปฏิบัติยังไม่มีความต่อเนื่องของการดำเนินงาน ขาดการสนับสนุนจากภาคการเมือง  ขาดกลไกการขับเคลื่อนที่มีความมุ่งมั่นในการทบทวนบทบาทและภารกิจของราชการ ส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ที่มีความทับซ้อนและซ้ำซ้อนกับภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
สมัชชา ปฏิรูปฯ มีความเห็นว่า การจัดสมดุลเชิงอำนาจเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยลดอำนาจการบริหารจัดการของการบริหารราชการส่วนกลางลง ให้เหลือเพียงภารกิจหลักเท่าที่จำเป็น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการจัดกระบวนการบริหารงานพัฒนาเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วม ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
 
ทั้งนี้ สมัชชาปฏิรูปฯ ได้มีมติให้คณะกรรมการสมัชชาปฎิรูปเสนอต่อคณะรัฐมนตรี มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดำเนินการให้เป็นไปตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓ เกี่ยวกับการสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะและพัฒนาศักยภาพ ชุมชนท้องถิ่นให้จัดการตนเองในทุกระดับ รวมทั้งให้เป็นไปตามมติสมัชชาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูปเมื่อ วันที่ ๒-๓ มีนาคม ๒๕๕๔  ในการปฏิรูปโครงสร้างและระบบการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งสาระสำคัญประกอบด้วยข้อเสนอด้านกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับ ข้อเสนอด้านการถ่ายโอนภารกิจ ข้อเสนอด้านการเงินการคลังท้องถิ่น และข้อเสนอด้านการจัดความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับท้องถิ่น
 
สมัชชา ปฏิรูปฯ ยังมีมติให้มีการร่างกฎหมายสภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ โดยเน้นสัดส่วนของผู้แทนภาคประชาชน ผู้แทนสภาท้องถิ่น ผู้แทนผู้บริหารท้องถิ่น ตัวแทนข้าราชการส่วนท้องถิ่นไม่น้อยกว่าสองในสาม และมีสัดส่วนหญิงชายที่เหมาะสม พร้อมกับเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพัฒนาระบบการเลือกตั้งท้องถิ่น มีการจัดสรรจำนวนผู้แทนตามสาขาอาชีพ และกลุ่มผลประโยชน์ และเพิ่มสัดส่วนของผู้แทนจากสภาองค์กรชุมชน และสภาวิชาชีพอื่นๆ ให้เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นด้วย
 
นอกจากนี้ สมัชชาปฏิรูปฯ ยังมีมติเสนอตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นตามมติ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓และให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดระบบการเงินการคลังให้ประชาชนมีส่วน ร่วม มีภาคประชาชนมากกว่าครึ่งหนึ่งกำกับเรื่องการคัดเลือกผู้บริหาร การกำหนดนโยบายและจัดสรรงบประมาณในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชาติจนถึงระดับชุมชน
 
 
เมืองตากเปิดเวทีประชาคมแผนปรับ“ตลาดมูเซอ”-ผู้ว่าฯเล็งเปิดเฟส 2-3 เพิ่ม
เมืองตากเปิดเวทีทำประชาคมความขัดแย้งโครงการปรับปรุงตลาดมูเซอชื่นมื่น ผู้ว่าฯเล็งเปิดเฟส 2 - 3 เพิ่ม ให้ชาวเขาตั้งแผง
       
26
มี.ค.54 รายงาน ข่าวจากจังหวัดตาก แจ้งว่า หลังจากนายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้สั่งการให้นายวาทิต ปัญญาคม ป้องกันจังหวัดตาก เป็นเป็นตัวแทน ผวจ.ตาก เพื่อเป็นประธานประชาคมพ่อค้าแม่ค้าชาวเขาตลาดดอยมูเซอ ที่มีปัญหาหลังทางโยธาธิการจังหวัด จะทำการรื้อถอนตลาดเพื่อปรับปรุงด้วยงบประมาณ 7.2 ล้านบาท เนื่องจากตลาดเก่ามีความแออัด สกปรก รวมทั้งกีดขวางทางการจราจร แต่ถูกต่อต้านจากชาวเขาจนไม่สามารถดำเนินไปได้ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย โยธาธิการจังหวัด กรมทางหลวง และอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช รวมทั้งผู้นำมวลชนและชาวเขาจำนวนกว่า 300 คน ได้ส่งตัวแทนจำนวน 22 คนเข้าประชุม
       
ปรากฏว่า ในที่ประชุมมีการถกเถียงถึงผลดีผลเสียของการปรับปรุงเนื่องจากเมื่อเสร็จ แล้วจะมีร้านค้าไม่เพียงพอกับแม่ค้า ซึ่งจากแปลนเดิมที่มีการสำรวจปริมาณแม่ค้าว่ามีเพียง 214 คน แต่ต่อมาได้เพิ่มขึ้นเป็น 384 คน ไม่รวมแผงลอยที่วางเกะกะทางเท้าและบริเวณที่จอดรถอีกกว่า 200 ราย
       
จากการประชาคมกว่า 3 ชั่วโมง จนได้ข้อสรุปว่าในจำนวน 384 รายนั้นจะได้เข้าไปขายในตลาดที่ปรับปรุงใหม่ ส่วนที่เหลือจะมีการขยายพื้นที่สองข้างทางที่ใกล้กับตลาดเก่า เพื่อรองรับเป็นการชั่วคราวจากนั้นทางจังหวัดจะสร้างตลาดเฟสที่ 2 และเฟสที่ 3 เพื่อรองรับผู้ที่ยังไม่แผงขาย ซึ่งได้สร้างความพอใจให้กับพ่อค้าแม่ค้าชาวเขาจึงต่างแยกย้ายกันกลับ
 
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเรียกร้องไทยโพสต์ บทความนิวเคลียร์ อาจเข้าข่ายโฆษณาแฝง
เมื่อไม่นานมานี้  นายอิฐบูรณ์  อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยว่า  จากการที่หนังสือพิมพ์หนังสือพิไทยโพสต์ เอ็กซ์-ไซท์ ฉบับ วันที่ 24-25 มีนาคม 2554 ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง “เหลียวหลังแลหน้า 5 ทศวรรษนิวเคลียร์ไทย อนาคตอยู่ในมือใคร(1)” โดยใช้พื้นที่ในหน้า 3 เต็มหน้า และมีเนื้อหากล่าวถึง พัฒนาการด้านพลังงานนิวเคลียร์และแผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย ซึ่งกำลังเป็นข้อถกเถียงของสังคมในปัจจุบัน โดยแบ่งออกเป็นตอนๆ  แต่จากการตรวจสอบของมูลนิธิฯ พบว่า บทความดังกล่าวไม่มีการระบุชื่อของผู้เขียนหรือแหล่งที่มาของบทความแต่อย่าง ใด และไม่ชัดเจนว่าเป็นพื้นที่การนำเสนอข่าวหรือบทความของหนังสือพิมพ์เองหรือ ไม่ อีกทั้งไม่ได้มีการระบุให้ผู้อ่านทราบอย่างชัดแจ้งว่า พื้นที่ตีพิมพ์บทความดังกล่าวเป็นพื้นที่เพื่อการโฆษณาหรือไม่

“เราเห็นว่าการนำเสนอบทความหรือข้อความด้านเดียวและอาจจะเป็นโฆษณาแฝงใน ลักษณะนี้ เป็นการกระทำที่อาจขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. 2541 ได้ วันนี้มูลนิธิฯจึงได้มีหนังสือถึงบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เพื่อขอให้ตรวจสอบการนำเสนอบทความดังกล่าวว่า ดำเนินการเป็นไปตาม ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ฯหรือไม่

หากพบว่ามีการกระทำที่ขัดต่อจริยธรรมของหนังสือพิมพ์ ขอให้หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์รับผิดชอบด้วยการแก้ไขการนำเสนอบทความที่จะมีการ นำเสนอในตอนต่อไปให้ถูกต้องตามข้อบังคับของจริยธรรมฯโดยเร็ว หรือหากไม่สามารถแก้ไขได้ให้พิจารณายุติการตีพิมพ์บทความเรื่องนี้ตอนต่อไป โดยทันที เพื่อป้องกันมิให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนหรือสับสนในการรับ ข่าวสารได้ และหากไม่ได้รับการแก้ไขใด ๆ มูลนิธิฯจะได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติต่อไป” นายอิฐบูรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ ข้อจริยธรรมสำคัญที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เห็นว่าหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์จำเป็นต้องตรวจสอบการกระทำของตนเองว่าขัดต่อข้อ จริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์หรือไม่นั้น ได้แก่ ข้อ 5 หนังสือพิมพ์ต้องนำเสนอข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือหมู่คณะ , ข้อ 13 หนังสือพิมพ์ต้องไม่เสนอข่าวโดยเลื่อนลอยปราศจากแหล่งที่มา พึงระบุชื่อบุคคลที่ให้สัมภาษณ์ หรือให้ข่าวอย่างเปิดเผย เว้นแต่จะมีเหตุอันควรปกปิดเพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของแหล่งข่าวและ ต้องเป็นประโยชน์ต่อสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของสาธารณชน และ ข้อ 19 ข้อความที่เป็นประกาศโฆษณาที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ ต้องแสดงให้เห็นชัดว่าเป็นประกาศโฆษณา จะแอบแฝงเป็นการเสนอข่าวหรือความคิดเห็นมิได้
 
 
โวยบ่อโรงไฟฟ้าบัวสมหมาย เมืองดอกบัว ทำชาวบ้านเจ๊ง
สืบ เนื่องจากกรณีที่ชาวบ้าน 6 ชุมชน ในพื้นที่ ต.ท่าช้าง และ ต.บุ่งมะแลง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ได้รวมตัวคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 9 เมกะวัตต์ ของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด เนื่องจากกระบวนการอนุญาตไม่โปร่งใส และเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองแกลบ รวมทั้งปริมาณน้ำใต้ดินที่ชาวบ้านใช้ในการอุปโภคบริโภคอาจจะขาดแคลนเนื่อง จากโรงไฟฟ้าต้องใช้น้ำใต้ดินในกระบวนการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลต่อการปลูกพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านนั้น
 
ล่า สุด วันที่ 25 มี.ค. 54 ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนกว่า 10 คน ได้เดินทางมายังศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมกับถือป้ายข้อความที่ระบุว่าการก่อสร้างของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด ได้ส่งผลกระทบทำให้ชาวบ้านขาดแคลนน้ำ โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านเดินทางมาในครั้งนี้ เพื่อขอให้นายสรุพล สายพันธ์ ผู้ว่าราชการ จ.อุบลราชธานี มีคำสั่งให้บริษัทบัวสมหมายไบโอแมส จำกัดหยุดขุดบ่อน้ำและหยุดการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยมีนายสุรสิทธิ์ เกิดผล รองป้องกันภัยจังหวัดอุบลราชธานีรับหนังสือแทน
 
นาง ทองคับ มาดาสิทธิ์ ชาวบ้านซึ่งได้รับผลกระทบ กล่าวว่า ตอนนี้ทางบริษัทได้ขุดบ่อน้ำขนาดประมาณ 15 ไร่ เพื่อทำเป็นบ่อเก็บและบำบัดน้ำเสียของโรงไฟฟ้า น้ำใต้ดินของชุมชนไหลไปร่วมกันในบ่อน้ำดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านในหมู่ที่ 13 บ้านคำนกเปล้า และหมู่ที่ 18 บ้านคำสร้างไชย ขาดน้ำในการทำนาปรัง ซึ่งมีชาวบ้านเดือดร้อนทั้งหมด 26 ราย เนื้อที่ร่วมกันแล้วกว่า 97 ไร่ นอกจากนี้ดอกมะม่วงหิมพานต์ซึ่งเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านถึงปีละ ไม่ต่ำกว่า 22,050,000 บาท ก็ดอกแห้งแล้วดำเนื่องจากขาดน้ำ ตอนนี้ชาวบ้านเดือดร้อนมาก อยากขอให้ผู้ว่าราชการช่วยยับยั้งการขุดบ่อน้ำของบริษัทอย่างเร็วที่สุด
 
ด้าน น.ส.สดใส สร่างโศรก กล่าวว่า อยากทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า การก่อสร้างไม่ได้หมายถึงการสร้างตัวโรงงานเท่านั้น แต่การขุดบ่อเพื่อทำบ่อน้ำเสีย หรือการถมดิน ก็เป็นส่วนหนึ่งของการก่อสร้าง และทำให้ประชาชนเดือดร้อน ดังนั้นทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้าไปดูแล เพราะถือว่าทางบริษัทไม่ได้ทำตามมติที่ตกลงกันไว้ และควรลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่
 
หลัง จากได้รับทราบข้อมูล นายสุริสิทธ์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบทางคณะกรรมการแก้ไขปัญหาในระดับจังหวัดได้มีมติให้บริษัทฯ หยุดดำเนินการใดๆ ไว้ก่อนจนกว่าปัญหาจะมีข้อยุติ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นจะนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งอาจจะมีการลงไปตรวจสอบในพื้นที่ตามที่ชาวบ้านเสนอ โดยตนจะทำการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อ และแจ้งให้ชาวบ้านทราบผลภายในวันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคมนี้
 
 
โวย กฟผ.นำเจ้าหน้าที่ รุกที่ดินชาวบ้าน สำรวจตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูง
กฟผ.นำ กำลังเจ้าหน้าที่ กว่า 60 คน พร้อมเครื่องสำรวจขุดเจาะบุกที่ดินชาวบ้าน จ.อุดรธานี ปักเสาไฟฟ้าแรงสูงและวางแนวสายส่งไฟฟ้า ที่ไทยจะรับซื้อจากเขื่อนน้ำงึมในลาว ขณะที่ยังเป็นคดีอยู่ในชั้นศาลปกครอง
 
จาก การติดตามกรณีเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.พยายามลงพื้นที่สำรวจที่ดิน เพื่อทำการก่อสร้างเสาและวางแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ขนาด 500 กิโลโวลต์ (KV) น้ำพอง 2 – อุดรธานี 3 ที่ไทยจะรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำงึม สปป.ลาว ซึ่งแนวสายส่งดังกล่าวพาดผ่านที่นาของชาวบ้านใน อ.เมือง และอ.กุมภวาปี ทำให้เกิดการคัดค้านโครงการดังกล่าว โดยขณะนี้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 55 ราย ได้ยื่นฟ้องคดีขอให้ กฟผ.เพิกถอนการก่อสร้างแนวสายส่งไฟฟ้าดังกล่าวต่อศาลปกครองขอนแก่น และคดียังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองอุดรธานี โดยมีการโอนคดีจากศาลปกครองขอนแก่นมายังศาลปกครองอุดรธานี
 
ผู้ สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อช่วงเช้าวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ กฟผ.พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ อปพร.จากท้องที่ อ.เมือง อ.กุมภวาปี และ อ.ประจักษ์ศิลปาคม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ช่างรังวัดและขุดเจาะสำรวจดิน จำนวนทั้งหมดกว่า 60 คน โดยมีอุปกรณ์ช่างและอาวุธพร้อมมือ ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายยังได้เหน็บอาวุธปืนพกสั้นที่เอว ซึ่งสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ได้เดินทางไปที่บ้านเหล่ากล้วย ต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ในบริเวณที่นาของนายสง่า บุญโยรัตน์ และนางเคียม สุวรรณะ จากนั้นเจ้าหน้าที่ทั้งหมดได้กรูลงไปในที่นาของชาวบ้าน โดยมีชาวบ้านที่เฝ้าระวังพื้นที่อยู่พยายามทักท้วงและกั้นขวางไว้ไม่ให้เข้า ไปในพื้นที่ แต่ก็ไม่เป็นผลเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยกันให้เจ้าหน้าที่ กฟผ.และหน่วยช่างเข้าไปดำเนินการสำรวจพื้นที่จนแล้วเสร็จ
 
ผู้ สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้นายสง่า ซึ่งอยู่ในวัยเกือบ 70 ปี เป็นลมล้มฟุบลงไป ทำให้ลูกหลานต้องรีบนำไปปฐมพยาบาล ขณะที่ชาวบ้านคนอื่นๆ ได้แต่ต่อว่าเจ้าหน้าที่ บ้างก็ร้องห่มร้องไห้
 
จาก นั้น เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น.วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็ได้ยกกำลังพลจากบ้านเหล่ากล้วย ไปยัง บริเวณที่นาของนายบุญเลี้ยง โยทะกา ที่บ้านแม่นนท์ หมู่ 2 ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยนายบุญเลี้ยง และกลุ่มชาวบ้านที่เฝ้าระวังอยู่ได้ช่วยกันขัดขวาง ไม่ให้เจ้าหน้าที่ลงสำรวจพื้นที่ด้วยเช่นกัน จึงเกิดการเข้าเจรจา ระหว่างทางเจ้าหน้าที่ กฟผ.กับชาวบ้าน โดย เจ้าหน้าที่ กฟผ.บอกว่าการเข้าสำรวจพื้นที่เป็นการทำตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนการฟ้องร้องเป็นเรื่องของศาลนั้นก็จะมีการดำเนินการจะทำควบคู่กันไป แต่นายบุญเลี้ยงยืนยันไม่ยอมให้เข้าไปในที่ดินของตน และระบุว่า กฟผ.และเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาในพื้นที่เป็นผู้บุกรุก
 
“คุณ กำลังขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานมีความผิดตามกฎหมาย” เจ้าหน้าที่ กฟผ.คนหนึ่ง กล่าว ขณะเดียวกันก็พยายามผลักดันให้นายบุญเลี้ยงออกไปเพื่อจะได้ขุดเจาะสำรวจดิน
 
ผู้ สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ระหว่างที่กลุ่มชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ได้มีการผลักดันกันอยู่นั้น ได้มีกลุ่มชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอีกประมาณ 50 คน เดินทางมาช่วยนายบุญเลี้ยง โดยได้ช่วยกันด่าทอ และขับไล่ อยู่เป็นเวลาเกือบ 1 ชั่วโมง จึงสามารถผลักดันให้เจ้าหน้าที่ออกจากที่นาของนายบุญเลี้ยง แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้ทำการขุดเจาะสำรวจดิน โดยขยับออกห่างจากจุดเดิมที่จะตั้งเสาไฟฟ้าในที่นาของนายบุญเลี้ยงไป ประมาณ 50 เมตร ขณะที่เจ้าของที่นาในแปลงดังกล่าวไม่ได้อยู่ในบริเวณ
 
ผู้ สื่อข่าวให้ข้อมูลด้วยว่า ก่อนหน้านี้ กฟผ.ได้มีหนังสือแจ้งมายังกลุ่มชาวบ้านที่ถูกเสาไฟฟ้าและแนวสายส่งพาดผ่าน จำนวน 10 ราย ในพื้นที่บ้านแม่นนท์ หมู่ 2 ต.หนองไผ่ อ.เมือง และบ้านเหล่ากล้วย หมู่ 3 ต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี ว่าจะลงมาทำการก่อสร้างเสาและขอเข้าพื้นที่ โดยเริ่มเข้ามาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.53 แต่เมื่อช่วงเช้าวันที่ 15 มี.ค.54 เจ้าหน้าที่ กฟผ.ก็ได้เดินทางเข้าไปในที่ดินของนายบุญเลี้ยง เพื่อเข้าสำรวจดินก่อนทำการก่อสร้างเสาไฟฟ้า แต่นายบุญเลี้ยง ได้ออกมาขัดขวาง และใช้เวลาเจราจาเกือบ 1 ชั่วโมง จนชาวบ้านข้างเคียงหลายสิบคน ทนดูพฤติกรรมของ เจ้าหน้าที่ กฟผ.ไม่ไหว จึงออกมาช่วยเหลือและให้กำลังใจนายบุญเลี้ยง จากนั้นเจ้าหน้าที่ กฟผ.จึงถอยกลับไป
 
ช่วง บ่ายวันเดียวกันนั้นกลุ่มชาวบ้านจึงทำหนังสือส่งไปถึง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักงาน กฟผ. ร้องขอให้เจ้าหน้าที่ กฟผ. ยุติการลงพื้นที่เพื่อเข้ามาดำเนินการก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงในบริเวณที่ดิน ของชาวบ้านในรายที่ยังไม่ยินยอม จนกว่าจะมีคำตัดสินของศาลปกครอง และขอให้เลิกพฤติกรรมข่มขู่ชาวบ้าน หลังจากนั้นในวันที่ วันที่ 22 มี.ค.54 กกพ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริง และทำบันทึกถ้อยคำชาวบ้าน ส่งผลให้สถานการณ์ในพื้นที่ลดความตึงเครียดลง แต่ต่อมาก็เกิดเหตุการณ์การเผชิญหน้าดังกล่าวขึ้นอีก
 
 
เครือข่ายลุ่มน้ำทั่วประเทศ แถลงจากเวทีปฏิรูปฯ จี้รัฐทบทวนโครงการเขื่อน
25 มี.ค.54 เครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำภาคเหนือ (ปิง วัง ยม น่าน) อีสาน (ชี มูล สงคราม) ใต้ (ลุ่มน้ำท่าแซะ-รับร่อ ลุ่มน้ำคลองกราย ลุ่มน้ำสายบุรี) ลุ่มน้ำโขง และลุ่มน้ำสาละวิน ร่วมกันออกแถลงการณ์ “ประสานความร่วมมือปฏิรูปการจัดการน้ำ ปฏิรูปประเทศไทย” จากเวทีปฏิรูปประเทศไทย อิมแพคเมืองทองธานี กรุงเทพฯ
 
แถลงการณ์ ดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการผลักดันและให้ยกเลิกโครงการเขื่อนบนแม่ น้ำสาละวิน โครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขง รวมทั้งโครงการเขื่อนในประเทศไทย เช่น เขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่, เขื่อนแม่วงศ์ จ.นครสวรรค์, เขื่อนโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ, เขื่อนท่าแซะ เขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร, เขื่อนลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี เขื่อนคลองกราย จ.นครศรีธรรมราช เขื่อนสายบุรี จ.ปัตตานี
 
พร้อม ให้รัฐบาลดำเนินการทบทวนแผนการจัดการลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ โดยหันมาสนับสนุนและผลักดันการจัดการน้ำชุมชน โดยใช้แนวคิดภูมิปัญญาชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นวางแผนการจัดการน้ำชุมชน โดยคนในพื้นที่มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน และแสดงความรับผิดชอบ รวมทั้งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่ผ่านมา อาทิ เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี, เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา จ.ศรีษะเกษ เป็นต้น
 
“พวก เราขอให้รัฐทบทวนการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เหล่านี้ รวมทั้งให้รัฐทบทวนแผนการจัดการลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ แล้วหันมาผลักดันแนวคิดการจัดการน้ำโดยชุมชน ซึ่งจะเป็นทางออกในการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” แถลงการณ์ระบุ พร้อมลงท้ายว่าจะร่วมมือกันติดตาม ตรวจสอบและเสนอแนะทางออกในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการจัดการน้ำ ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อไป
 
 
 
แถลงการณ์
 
เครือข่ายลุ่มน้ำ เหนือ อีสาน ใต้ โขง สาละวิน
 
ประสานความร่วมมือปฏิรูปการจัดการน้ำ ปฏิรูปประเทศไทย
 
กว่า ร้อยปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้รวมศูนย์การจัดการน้ำไว้ที่กรมชลประทาน ซึ่งได้ใช้แนวคิดการจัดการน้ำแบบตะวันตกโดยเฉพาะการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ในการจัดการน้ำ แต่บทเรียนที่ผ่านมาทำให้เรารู้ว่าเขื่อนขนาดใหญ่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำ แล้ง น้ำท่วมได้ อย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง ปัญหาน้ำท่วมอยู่ตลอดมา
 
เมื่อ คืนที่ผ่านมา (24 มีนาคม 2554) ได้เกิดแผ่นดินไหว 6.7 ริกเตอร์ในประเทศพม่าใกล้กับจังหวัดเชียงรายของประเทศไทย ซึ่งรับรู้ได้ถึงตึกสูงในกรุงเทพฯ ห่างจากเขื่อนจิงหงในประเทศจีน 168 กิโลเมตร
อีก ทั้ง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา ได้เกิดแผ่นดินไหวในประเทศลาว ใกล้กับจุดที่จะสร้างเขื่อนไซยะบุรี 4.6 ริกเตอร์ นี่คือสัญญาณเตือนภัยที่บอกให้เราต้องเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติและต้อง ทบทวนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ซึ่งเสี่ยงต่อหายนะภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
 
พวก เราเครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำภาคเหนือ (ปิง วัง ยม น่าน) อีสาน (ชี มูล สงคราม) ใต้ (ลุ่มน้ำท่าแซะ-รับร่อ ลุ่มน้ำคลองกราย ลุ่มน้ำสายบุรี) ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำสาละวิน เป็นเครือข่ายองค์กรชาวบ้านที่รวมตัวกันเพื่อปกป้อง รักษา และฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่า ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ได้สรุปบทเรียนและเห็นถึงหายนะภัยที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั่ว โลก รวมทั้งเขื่อนในประเทศไทย ได้สร้างปัญหาให้กับดิน น้ำ ป่า ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก บทเรียนจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วโลก ได้บอกให้เราเห็นว่า ยุคสมัยของการสร้างเขื่อนได้สิ้นสุดลงแล้ว มนุษยชาติพึงร่วมกันตระหนักถึงภัยของการสร้างเขื่อน และต้องบอกกล่าวกับรัฐบาลรวมทั้งผู้บริหารบ้านเมืองของตนให้ตระหนักถึงภัย ที่มนุษย์ร่วมกันสร้างขึ้น ในนามเขื่อน
 
พวก เราเครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำ เหนือ อีสาน ใต้ โขง สาละวิน รู้สึกห่วงใยในแนวทางการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการผลักดันโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีแผนการที่จะสร้างเขื่อนขึ้นบน แม่น้ำสาละวิน ในจีน 13 เขื่อน ในพม่าอีก 5 เขื่อน เขื่อนบนแม่น้ำโขง ในจีนสร้างไปแล้ว 4 เขื่อน และมีแผนที่จะสร้างในจีนอีก 4 เขื่อน ในแม่น้ำโขงตอนกลางและตอนล่างอีก 12 เขื่อน อาทิ เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนปากแบ่ง เขื่อนดอนสะฮอง ในลาว เขื่อนปากชม เขื่อนบ้านกุ่ม พรมแดนไทยลาว เขื่อนซำบอ ในเขมรฯลฯ รวมทั้งเขื่อนในประเทศไทยที่กำลังผลักดันกันอยู่ อาทิ เขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่, เขื่อนแม่วงศ์ จ.นครสวรรค์, เขื่อนโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ, เขื่อนท่าแซะ เขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร, เขื่อนลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี เขื่อนคลองกราย จ.นครศรีธรรมราช, เขื่อนสายบุรี จ.ปัตตานี เป็นต้น
 
พวก เราขอให้รัฐทบทวนการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เหล่านี้ รวมทั้งให้รัฐทบทวนแผนการจัดการลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ แล้วหันมาผลักดันแนวคิดการจัดการน้ำโดยชุมชน ซึ่งจะเป็นทางออกในการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน พวกเราขอเรียกร้องต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้
 
     1.ยุติการผลักดันและให้ยกเลิกโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน
     2.ยุติการผลักดันและให้ยกเลิกโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขง
     3.ยุติการผลักดันและให้ยกเลิกโครงการเขื่อนในประเทศไทย เช่น เขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่, เขื่อนแม่วงศ์ จ.นครสวรรค์, เขื่อนโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ, เขื่อนท่าแซะ เขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร, เขื่อนลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี เขื่อนคลองกราย จ.นครศรีธรรมราช เขื่อนสายบุรี จ.ปัตตานี
     4.ให้รัฐทบทวนแผนการจัดการลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ โดยหันมาสนับสนุนและผลักดันการจัดการน้ำชุมชน โดยใช้แนวคิดภูมิปัญญาชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นวางแผนการจัดการน้ำชุมชน โดยคนในพื้นที่มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน
     5.ให้รัฐ แสดงความรับผิดชอบ รวมทั้งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่ผ่านมา อาทิ เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี, เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา จ.ศรีษะเกษ, เป็นต้น
 
พวก เราเครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำ เหนือ อีสาน ใต้ โขง สาละวิน จะร่วมมือกันติดตาม ตรวจสอบและเสนอแนะทางออกในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการจัดการน้ำ ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชนสืบต่อไป
 
ด้วยจิตรคารวะ
เครือข่ายลุ่มน้ำ เหนือ อีสาน ใต้ โขง สาละวิน
25 มีนาคม 2554 ณ เวทีปฏิรูปประเทศไทย อิมแพคเมืองทองธานี กรุงเทพฯ
 
 
ภาคประชาชนไทยขู่พร้อมประท้วงใหญ่ หาก รบ.ไทยปล่อย “เขื่อนไซยะบุรี” สร้าง
24 มี.ค.54 สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการร่วม (Joint Committee) จาก 4 ประเทศแม่น้ำโขงคือกัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม ภายใต้กลไกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission หรือเอ็มอาร์ซี) ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 25 มีนาคม ที่ประเทศกัมพูชา โดยหัวข้อพิจารณาสำคัญที่เข้าใจว่าจะมีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณา คือข้อเสนอของรัฐบาล สปป.ลาวให้สร้างเขื่อนไซยะบุรีขนาด 1,280 เมกกะวัตต์ในภาคเหนือของลาว เป็นเขื่อนแรกบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง โดยคณะกรรมการร่วม จะต้องให้ความเห็นอันเป็นจุดยืนของแต่ละประเทศ แม้จะไม่มีสิทธิยับยั้งไม่ให้รัฐบาลลาวสร้างก็ตาม
 
ทั้งนี้ เขื่อนไซยะบุรีได้รับการคัดค้านอย่างเข้มแข็งจากภาคประชาชนของทุกประเทศ รวมทั้งในเวทีภาคประชาชน “พญา นาค ปลาแดก คนลุ่มน้ำโขง: กับเขื่อนไซยะบุรี” ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 19 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ที่สกลนคร ซึ่งประชาชนไทยกว่าห้าร้อยคน ร่วมยืนยันคัดค้านเขื่อนไซยะบุรีและเรียกร้องให้ตัวแทนจากกรมทรัพยากรน้ำของ ไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการร่วม และเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยมีจุดยืน โดยต้องใช้กฎหมายไทยในการพิจารณาโครงการเขื่อนไซยะบุรี และยืนยันพร้อมประท้วงใหญ่ หากยังมีการผลักดันให้ก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ตัวแทนกรมทรัพยากรน้ำกลับยังไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนในประเด็นจุดยืน ในกรณีเขื่อนไซยะบุรี ที่ไทยจะเป็นทั้งผู้ลงทุน และผู้ซื้อไฟเกือบทั้งหมดแห่งนี้
 
จาก สถานการณ์การรณรงค์ของภาคประชาชนในช่วงสามปีที่ผ่านมา ในประเด็นเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลัก ที่มีข้อเสนอสร้างทั้งหมด 12 เขื่อน ทั้งนี้ 8 เขื่อนในเขตประเทศลาว 2 เขื่อนระหว่างพรมแดนไทย-ลาวและอีก 2 เขื่อนในประเทศกัมพูชา อันก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวคัดค้านในกลุ่มภาคประชาชน ทั้งในแต่ละประเทศและทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งนี้ มีรายชื่อบุคคลหลายหมื่นรายชื่อ และองค์กรจากหลายสิบประเทศ ส่งผ่านไปยังผู้นำของประเทศแม่น้ำโขง และกรรมาธิการแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย กลับยังไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนใดๆ ที่จะสนับสนุนความห่วงใยของประชาชนในลุ่มน้ำ ทั้งที่ประเทศไทย คือผู้ที่จะซื้อไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด จากเขื่อนแม่น้ำโขงสายประธานทั้ง 12 เขื่อน โดยเฉพาะในกรณีเขื่อนไซยะบุรี บริษัท ช.การช่างของไทยจะเป็นผู้ลงทุนสร้างเขื่อนโดยมีเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ กรุงไทย กรุงเทพ และกสิกรไทย ไทยจึงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบที่อยู่ในระดับเทียบเท่ากับรัฐบาลลาวได้
 
“ความ กังวลหลักของประชาชนในตอนนี้ คือ ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าข้อคิดเห็นต่อเขื่อนไซยะบุรีที่แสดงออกไปแล้วนั้นจะ ได้รับการนำเสนอในระดับนโยบาย สิ่งที่เราเรียกร้อง คือให้มีการศึกษาข้อมูลด้านผลกระทบอย่างชัดเจนและสมบูรณ์ การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของเขื่อนไซยะบุรี ยังมีอีก อย่างน้อย 10 ประเด็นที่ขาดความชัดเจน และหากเกิดผลกระทบจริง ผู้สร้างย่อมต้องเป็นผู้รับผิดชอบ” นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวในที่ประชุมเวทีภาคประชาชน “พญานาค ปลาแดก คนลุ่มน้ำโขง: กับเขื่อนไซยะบุรี”
 
เช่นเดียวกับนายเหลาไท นิลนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำโขง สกลนคร ที่กล่าวว่า “ผู้ ร่วมงานส่วนใหญ่ในเวทีนี้เป็นบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนของไทย ในระยะ 40 ปีที่ผ่านมา ทว่าวันนี้ โครงการเขื่อนแม่น้ำโขงมีความท้าทายและซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะเขื่อนไซยะบุรีที่เป็นของนายทุนไทย ไฟฟ้ารับซื้อโดยประเทศไทย แต่เขื่อนตั้งอยู่ในประเทศลาว ขณะเดียวกัน ผลกระทบที่มหาศาลและชัดเจน จะข้ามพรมแดนกลับมาสู่ชาวไทย การเรียกร้องของเรา เป็นการขับเคลื่อนในนามคนลุ่มน้ำโขงทั้ง 4 ประเทศ โดยเฉพาะประชาชนลาวที่ไม่มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็น ก่อนที่เขื่อนไซยะบุรีจะนำไปสู่การสร้างอีก 11 เขื่อนที่เหลือ”
 
ทั้งนี้ แม้จะมีการเปิดเวทีให้ข้อมูลในประเทศไทยในกรณีเขื่อนไซยะบุรีทั้งใน อ.เชียงของ จังหวัดเชียงราย, อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และที่อำเภอเมือง จังหวัดนครพนมในช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา นายไชยพร ศิริพรไพบูลย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวกับประชาชนในที่ประชุมที่จังหวัดสกลนครในวันเสาร์ที่ผ่านมาเพียงว่า กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะกองเลขาจะต้องทำความเห็นส่งสำนักเลขาธิการของเอ็มอาร์ซี โดยตนเองรับรู้ว่าความเห็นจากประชาชนทั้งสามเวที คือโครงการเขื่อนไซยะบุรียังเปิดเผยข้อมูล และทำการศึกษาไม่เพียงพอ โดยเฉพาะไม่มีข้อมูลเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเสนออย่างชัดเจน ว่าตนเองพร้อมคณะ ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย จะมีความเห็น หรือมีท่าทีอย่างไรต่อประเด็นการสร้างเขื่อนดังกล่าว
 
“ไม่ แน่ใจว่ารัฐบาลไทยรับรู้หรือไม่ว่า การตัดสินใจเรื่องเขื่อนไซยะบุรีกำลังเป็นตัวชี้บอกระดับความรับผิดชอบ และสำนึกของไทยต่อประเด็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมข้ามประเทศ และอนาคตของไทยในเรื่องพลังงานในภูมิภาคนี้ การที่ตัวแทนรัฐบาลไทยพยายามไปยึดโยงการตัดสินใจของตัวเองเข้ากับกรอบของ เอ็มอาร์ซี ซึ่งไม่มีเสียงของประชาชนมาตั้งแต่แรก นับเป็นเรื่องน่าอับอาย แทนที่จะยืนยันว่าเขื่อนไซยะบุรีจะกระทบกับไทย และเราต้องสามารถใช้กฏหมายรัฐธรรมนูญ กรอบกฏหมายสิ่งแวดล้อมของไทย และเสียงของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยที่พูดชัดเจนว่าเราไม่ต้องการเขื่อน บนแม่น้ำโขงสายหลักเป็นตัวตัดสิน แต่กลับให้ตัวแทนระดับกรม ซึ่งไม่กล้าแม้แต่จะพูดว่าประชาชนไม่เอาเขื่อน ไปเป็นตัวแทนตัดสินใจในโครงการที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของแม่น้ำโขง และภูมิภาค ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า กลไกเอ็มอาร์ซีนั้นล้มเหลวมาตั้งแต่แรก” นางสาวเปรมฤดี ดาวเรือง ผู้อำนวยการโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติกล่าว
 
ทั้ง นี้ หลังจากการประชุมคณะกรรมการร่วม ภาคประชาชนกำหนดให้มีท่าทีร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งเพื่อพิจารณาตามที่มีข้อเสนอให้มีการรวมตัวกันอีกครั้งหนึ่งที่ธาตุ พนม จังหวัดนครพนม และการไปเยี่ยมเยียนสถานทูตลาว
 
 
หนุน นายก อบต.สู้คดี บ.โรงไฟฟ้าแกลบ ฟ้องหมิ่นประมาท
เมื่อ วันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา ประชาชนจาก 3 ตำบลในจังหวัดเชียงราย ประกอบด้วย ต.เวียงเหนือ ต.ทุ่งก่อ ต.ริมกก เดินทางมายังศาลจังหวัดเชียงรายเพื่อให้กำลังใจ นางอุบลรัตน์ ปิยะโกศล นายก อบต.เวียงเหนือ จำเลยที่ 1 ในคดีหมิ่นประมาทและแจ้งความเท็จ ซึ่งถูกบริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัดยื่นฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทและแจ้งความเท็จ จากการที่นำเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านกว่า 4 พันกว่าคนที่ยื่นคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า(แกลบ) ส่งไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกล่าวหาว่าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เคยมีมติสั่งให้มีการยุติการก่อสร้าง
ด้าน นางอุบลรัตน์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่หนักใจกับคดีดังกล่าวและเชื่อมั่นในความถูกต้องและกระบวนการยุติธรรม พร้อมระบุว่า การที่ตนเป็น นายก อบต. มีหน้าที่ต้องดูแลและรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ การที่มีประชาชนมายื่นหนังสือ และร่วมลงชื่อในการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ กว่า 4 พันคน มา อบต. ตนในฐานะนายกฯ ก็ต้องทำตามหน้าที่ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับทราบ ถึงความต้องการของประชาชน และเอกสารต่างๆ ที่ยื่นก็เป็นเอกสารหลักฐานจริงจากหน่วยงานของรัฐและเอกชน พร้อมย้อนถามบริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัดว่า “มัน หมิ่นประมาทตรงไหนกัน” ถ้าตนไม่ส่งเรื่องที่ชาวบ้านร้องเรียน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างหากถึงจะมีความผิดโทษฐานละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่
ทั้ง นี้ นางอุบลรัตน์ชี้แจงว่า ข้อกล่าวหาว่าตนแจ้งความเท็จนั้น เป็นเรื่องที่บริษัทพูดไม่จริง โดยบริษัทฯกล่าวว่า นายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในขณะนั้น ไม่มีมติให้มีการยุติการก่อสร้าง ทั้งที่นายสุเมธได้มีมติจริง ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2552 และตัวแทนของบริษัทคือ นายนพดล ธานีรักษ์ ยังได้ลงชื่อรับทราบอีกด้วย โดยนายอำเภอเวียงชัยก็ได้ทำหนังสือแจ้งมติดังกล่าว มาที่ อบต.เวียงเหนือ ว่าไม่สมควรให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ในหมู่ 8 บ้านไตรแก้ว ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย
ต่อ มาในเวลาประมาณ 15.00 น. ประชาชนที่ได้เดินทางมาให้กำลังใจและติดตามคดีดังกล่าว ได้ออกมายืนรวมตัวกันบริเวณด้านหน้าศาลจังหวัดเชียงราย พร้อมชูป้าย "หนังสือแจ้งผลการพิจารณาคณะกรรมการกลั่นกรอง" ที่มีมติว่า ไม่สมควรให้มีการก่อสร้าง และลงนามเห็นชอบโดยนายสุเมธ แสงนิ่มนวล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อให้สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปได้รับทราบ
ด้าน สถานการณ์ในพื้นที่ในวันดังกล่าว มีหน่วยงานจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ กอรมน. ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อสอบถามประชาชนที่ชุมนุมประท้วงบริเวณด้านหน้าสถาน ที่ก่อสร้าง พร้อมรับปากให้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหา
ประชาชน ในพื้นที่ให้สัมภาษณ์ว่า ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา พวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานของรัฐเลย โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงราย ทั้งๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่แสดงเจตนารมณ์มาตั้งแต่ต้น ว่าไม่ให้มีการก่อสร้าง จนผู้ว่าฯ มีมติออกมาแล้ว แต่ท้ายที่สุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมจังหวัด ทั้งที่เป็นเพียงคนแค่ 6-7 คน และไม่ใช่คนเชียงรายโดยกำเนิดด้วยซ้ำ แต่กลับยัดเยียดและสร้างปัญหาให้คนกว่า 7 พันคนใน 3 ตำบล พร้อมย้อนถามทางบริษัทฯ ให้ศาลมาไกล่เกลี่ยขอให้เรายอมให้สร้าง จะทำให้เหมือนโรงไฟฟ้ามุ่งเจริญ ที่จังหวัดสุรินทร์ แล้วทำไม โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดทับสะแกของท่าน ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไม่ทำให้เหมือนที่มุ่งเจริญก่อน ทั้งๆ ที่เจ้าของเดียวกัน ทำไมปล่อยให้เกิดฝุ่นควัน จนชาวบ้านต้องฟ้องศาลปกครอง จนศาลปกครองมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินการ
ทั้ง นี้ ย้ำด้วยว่า จะปักหลักสู้จนกว่าบริษัทฯ จะยอมยุติการก่อสร้าง โดยจะไม่ยอมให้โครงการที่ไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรม เกิดขึ้นในชุมชนอย่างเด็ดขาด เพราะเท่ากับเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดๆ ไว้ให้คนรุ่นหลัง และเท่ากับเป็นการทำลายระบบนิติรัฐ และการปกครองของชุมชนที่มีมาอย่างยาวนาน ถึงแม้ว่าจะถูกยัดเยียดคดี หรือจำเป็นจะต้องเอาชีวิตเข้าแลกก็พร้อมสูญเสีย เพื่อปกป้อง และรักษาชุมชนของเราเอาไว้ให้ลูกหลาน
 
“กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง” จี้ใช้ “มาตรา 25” เร่งรื้อถอนพื้นที่อุตสาหกรรมเหล็กรุกป่าสงวน
“สุ วิทย์” เมินรับหนังสือกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ปล่อยคอยเก้อที่ทำเนียบ ก่อนย้ายไปชุมนุมหน้ากระทรวงทรัพย์ฯ จี้เร่งใช้มาตรา 25 รื้อถอนเอกชนรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง ด้าน ทส.รับลูกทำหนังสือด่วน ถึงพ่อเมืองประจวบฯ แล้ว
 
22 มี.ค.54 เมื่อเวลาประมาณ 8.00 น.ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 300 คน นำโดย นายวิทูร บัวโรย เดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อนเข้าประชุมคณะ รัฐมนตรี (ครม.) ขอเร่งรัดความคืบหน้าการบังคับใช้มาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ที่ดิน 52 ไร่ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าครองแม่รำพึง ซึ่งกรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 ม.ค.53 และเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 53 ได้มีคำสั่งใช้มาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 โดยไล่รื้อถอนสิ่งก่อสร้างของผู้บุกรุกคือกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน ในเครือบริษัทสหวิริยาออกจากพื้นที่
 
อย่าง ไรก็ตาม นายสุวิทย์ ไม่ได้ออกมาพบกับกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งที่มีการส่งหนังสือเพื่อนัดหมายตั้งแต่ เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ชุมนุมได้มอบหนังสือผ่านนายสุรพล ปัตตานี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และขอให้มีการประสานกับ 7 หน่วยงานที่เกี่ยวของ อาทิ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรน้ำ สำนักความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และตัวแทนกระทรวงทรัพย์ฯ เข้าร่วมการประชุมเพื่อพูดคุยกับชาวบ้านที่กระทรวงทรัพย์ฯ
ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมมีนายนายดำรงค์ พิเดช รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน มีการพูดคุยถึงการบังคับใช้มาตรา 25 ให้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิและให้บริษัทออกไปจากพื้นที่ เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง จำนวน 52 แปลง จากกรณีที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ได้ร่วมกันตรวจสอบการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิดังกล่าวแล้วพิสูจน์พบว่าผู้ บุกรุกออกเอกสารสิทธิ์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนกระทั่งกรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์มีคำ สั่งใช้มาตรา 25 ให้ผู้บุกรุกออกจากพื้นที่ ซึ่งทางกรมป่าไม้ก็เห็นชอบใช้คำสั่งนี้เช่นกัน แต่ผู้บุกรุกได้อุทธรณ์คำสั่ง ทำให้ชาวบ้านหวั่นเกรงว่ากระบวนการจะล่าช้า
 
นาย ดำรงค์ กล่าวยืนยันว่า ได้เซ็นหนังสือด่วนลงวันที่ 22 มี.ค.54 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อแจ้งผลวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองแล้ว เพื่อยืนยันตามความเห็นของนายอำเภอบางสะพาน ในฐานะเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่ รำพึง ที่ได้มีคำสั่งให้ผู้อุทธรณ์ออกจากป่าสงวน และงดเว้นการกระทำใดๆ ในเขตป่าสงวน โดยในส่วนของนายสุวิทย์ รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ ก็ได้ยืนยันแล้วว่า ไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ของผู้บุกรุก ดังนั้นทางกระทรวงทรัพย์ฯ โดยกรมป่าไม้ นายอำเภอ สามารถดำเนินการตามมาตรา 25 ได้เลยทันที อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคดีความที่ทางบริษัทอาจมีการยื่นอุทธรณ์ก็ให้เป็นไปตามกระบวนการ
 
“ข้าราชการเพียงทำได้ตามกระบวนการที่มี ส่วนการจะไปเย้วๆ ไล่ให้อุตสาหกรรมออกจาพื้นที่คงทำไม่ได้” นายดำรงค์ กล่าว
 
ส่วน กรณีที่มีเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้เข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญศาลเพื่อ ต่อสู้คดีกับชาวบ้าน โดยยืนยันว่ามีการเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าโกงกางซึ่งเป็นพื้นที่ป่า อนุรักษ์กว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ทั้งหมดมาก่อนหน้าที่จะมีการเข้าใช้ประโยชน์โดยกลุ่มทุน อุตสาหกรรม ในเรื่องนี้ นายสุวิทย์ รัตน มณี อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่าการดำเนินการของบุคคลดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนบุคคล ซึ่งทางกรมป่าไม้ได้ทำเรื่องชี้แจงต่อศาลแล้วว่าเป็นคนละส่วนกับส่วนราชการ นอกจากนั้นทางกรมป่าไม้ยังได้ตั้งผู้ชำนาญการและเตรียมข้อมูลหลักฐานโต้แย้ง ไว้แล้ว เพื่อพร้อมนำส่งศาลหากมีการเรียกถามความเห็น
 
นอก จากนั้นกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงยังเรียกร้องให้มีการจัดการน้ำอย่างเป็นธรรม เนื่องจากในพื้นที่มีปัญหาการแย่งชิงน้ำระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคเกษตร และยังได้ขอให้มีการเปิดเผยรายชื่อคณะทำงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำใน พื้นที่ ซึ่งตัวแทนจากกรมทรัพยากรน้ำกล่าวให้ข้อมูลว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันตก พร้อมให้ข้อมูลรายชื่อคณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาคลองบางสะพานใหญ่ 37 คน อันประกอบด้วยนายอำเภอ ปลัดอำเภอและกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้ดูแลการจัดการน้ำในพื้นที่ พร้อมระบุว่ารายชื่อดังกล่าวสามารถทำการเปลี่ยนแปลงได้ หากมีการทำเรื่องมายังกรมทรัพยากรน้ำ
 
ทั้ง นี้ การประชุมใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง โดยมีตัวแทนชาวบ้าน 30 คนเข้าร่วมการประชุม ส่วนที่เหลือรวมตัวกันอยู่ที่บริเวณด้านหน้ากระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อรอคำตอบ
 
ด้าน นายวิทูรย์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงกล่าวภายหลังการพูดคุยว่า เนื้อที่ที่ถูกบุกรุกกว่า 798 ไร่ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึก สายพานลำเลียง และถนนส่วนบุคคลเส้นทางท่าเรือ ซึ่งในวันนี้ทางกระทรวงทรัพย์ฯ ได้ลงนามในหนังสือให้ยกเลิกคำอุทธรณ์ทั้งหมดส่งให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อประสานต่อไปยังทางอำเภอ และถือว่ามาตรา 25 ให้มีผลบังคับใช้แล้ว นอกจากนั้นการที่ชาวบ้านมากันในวันนี้ก็เพื่อติดตามการประกาศป่าพรุแม่รำพึง ให้เป็นพื้นที่ชุมน้ำแห่งชาติหรือ แรมซาร์ ไซด์ (Ramsar Sites) เพื่อให้มีมาตรการคุ้มครองดูแลและป้องกันการบุกรุก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำสรุปข้อมูลจากสำนักงานทรัพยากรฯ จังหวัดเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงนามเห็นชอบ
 
ส่วน นายสุพจน์ ส่งเสียง รองประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านหลายคนโดนคดีจากการฟ้องร้องของบริษัทเอกชนคนละเกือบ 20 คดี ในส่วนตัวเขาโดนมากกว่า 20 และขณะนี้ก็มีคดีคงค้างอยู่อีก 4 คดี ซึ่งในส่วนคดีที่มีการพิจารณาแล้วส่วนใหญ่จะเห็นว่าชาวบ้านต้องแพ้คดีและถูก เรียกค่าเสียหาย แต่ในวันนี้เมื่อพิสูจน์ได้แล้วว่าทางบริษัทมีการบุกรุก และชาวบ้านร่วมกันต่อสู้เพื่อเอาที่ดินคืนมาให้กับส่วนรวมได้หลายร้อยไร่ ในส่วนนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบความสูญเสียที่ผ่านมาให้แก่ชาวบ้าน
 
นาย สุพจน์ กล่าวแสดงความเห็นด้วยว่า เอกสารที่มีการลงนามโดยนายดำรงค์ พิเดช รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการลงนามในวันนี้หลังจากที่ชาวบ้านต้องเดินหน้ามาติดตาม ซึ่งหากไม่มีการมาเรียกร้องชาวบ้านก็คงต้องรอกันต่อไปเรื่อยๆ
 
กลุ่มค้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแปดริ้วยุติชุมนุมแล้ว
ฉะเชิงเทรา 21 มี.ค.นางสุมิตรา ศรีสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เดินทางมายังที่ว่าการอำเภอพนมสารคาม เนื่องจากชาวบ้านยังคงปักหลักชุมนุมมาแล้ว 7 วัน และวันนี้ ได้นำรถบรรทุกปิดถนนสาย 304 ฝั่งขาออกฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี เพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมเชื้อเพลิงถ่านหิน ในพื้นที่ ม.3 ต.เขา หินซ้อน และเรียกร้องให้ย้ายพื้นที่ก่อสร้างของโครงการออกไป โดยระบุว่า ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หากให้มีการก่อสร้างจะเกิดผลกระทบกับชาวบ้าน รอง ผู้ว่าฯ ฉะเชิงเทราได้ให้ชาวบ้านส่งตัวแทนมาร่วมหารือกันที่ห้องประชุมที่ว่าการ อำเภอพนมสารคาม โดยชาวบ้านขอให้จังหวัดช่วยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบ ข้อเท็จจริง และจะทำหนังสือเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ย้ายโครงการก่อสร้างออกจาก พื้นที่ จากนั้นกลุ่มชาวบ้านแยกย้ายเดินทางกลับ.-สำนักข่าวไทย
 
เปิดแผนพิทักษ์ป่าดงใหญ่ ทหารกว่า 900 นายเตรียมบุกรื้อชาวบ้านบุรีรัมย์ 170 ครัวเรือนพ้นป่า
21 มี.ค.54 นายเหมราช ลบหนองบัว ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานได้เปิดเผยข้อมูลว่า จากการประชุมของหน่วยงานราชการที่กองทัพภาคที่ 2 และหน่วยงานความมั่นคงเมื่อวันที่ 22 กุม กาพันธ์ที่ผ่านมาได้มีคำสั่งให้ชาวบ้านที่อาศัยทำกินในตำบลลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์กว่า 170 ครัวเรือนออกจากพื้นที่ภายในเดือนมีนาคมนี้ ทั้งที่พวกเขาเหล่านั้นได้เข้าทำกินตามนโยบายเปิดป่าของรัฐตั้งแต่ปี 2526 โดยคำสั่งรื้อถอนดังกล่าวเป็นการยื่นคำขาดกับชาวบ้านว่า หากไม่ออกจากพื้นที่ก็จะใช้กำลังรื้อถอนตามแผนปฏิบัติพิทักษ์ป่าดงใหญ่ที่มี กำลังทหารกว่า 900 นายร่วมปฏิบัติการณ์
         
ตัว แทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้เข้าร้องเรียนหน่วยงานของรัฐและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้นำพื้นที่ดังกล่าวมาเป็นโฉนดชุมชนจำนวน 1,900 ไร่เพื่อให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันและพื้นที่ดังกล่าวก็อยู่ระหว่าง ดำเนินการ ส่วนพื้นที่ที่เหลือจำนวน 2,830 ไร่ที่หมดสัญญาเช่าของบริษัทเอกชนในการปลูกป่ายูคาลิปตัสก็ควรดำเนินการ ฟื้นฟูให้เป็นป่าธรรมชาติต่อไป
           
“ระหว่าง ที่กระบวนการทุกอย่างกำลังทำงาน ทหารกลับจะมาทำแบบนี้ ถือว่าไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรมกับชาวบ้าน เสมือนหนึ่งเป็นการกดดันชาวบ้านให้ออกนอกพื้นที่เพื่อเปิดโอกาสให้นายทุน เข้ามาเช่าช่วงปลูกไม้ยูคาลิปตัสต่อ เพราะบริษัทเอกชนที่เช่าสัมปทานอยู่ก่อนหน้านี้กำลังจะหมดสัญญาลงเร็วๆ นี้ แต่กลับไม่เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ ในทางตรงกันข้ามทหารกลับข่มขู่และคุกคามชาวบ้าน ผมมองว่าหากทหารยังอยู่ในพื้นที่ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น ดังนั้นจึงเสนอให้ทหารควรออกไปจากพื้นที่และปล่อยให้หน่วยงานอื่นเข้ามา ดำเนินการโดยฟังเสียงชาวบ้าน”ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าว
      
นายศรี ศักร วัลลิโภดม อนุกรรมการปฏิรูปที่ดิน ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและน้ำ ในกรรมการปฏิรูปประเทศไทย(คปร.) กล่าวว่า คปร.เคยรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวมาจากชาวบ้านแล้ว โดยตนได้แนะนำให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันให้เหนียวแน่นและหยัดยืนสู้กับความไม่ ชอบธรรมกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ คปร.จะเร่งผลักดันเรื่องราวของชาวบ้านที่ จ.บุรีรัมย์และชาวบ้านอีกหลายพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐต่อ สังคมต่อไป ทั้งนี้เสนอให้คณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานควรเร่งแก้ปัญหาให้ชาวบ้านอย่างเร่งด่วน เพราะได้ให้คำมั่นสัญญากับชาวบ้านไว้แล้ว
  
“สิ่ง แรกที่รัฐบาลควรต้องทำ คือ ชะลอการเข้าไปของทหารและดำเนินการในการจัดการที่ดินทำกินตามแนวทางปฏิรูป ที่ดินให้ชาวบ้านอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนที่จะทำการไล่รื้อ ทั้งนี้คปร.ก็จะหาทางช่วยเหลือความเดือดร้อนนี้อีกทางหนึ่ง”นายศรีศักร กล่าว
 
ที่มา: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1300688419&grpid&catid=19&subcatid=1906

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท