เสวนา: เปิดเสรีอาเซียนปี 2558 ผลกระทบต่อการพัฒนาการกฎหมายไทย

25 มี.ค.54 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้จัดเสวนาเรื่อง "การเปิดเสรีอาเซียน พ.ศ. 2558: ผลกระทบต่อการพัฒนาการของกฎหมายในประเทศไทย" ปาฐกถานำโดย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ร่วมเสวนาโดย นายพรชัย ด่านวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ดร.ธเนศ สุจารีกุล ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ดำเนินรายการโดย รศ.ณรงค์ ใจหาญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2558 เป็นปีที่สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) หรืออาเซียน (ASEAN) วางเป้าหมายสู่การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ และนโยบายการเปิดเสรีก็เป็นส่วนหนึ่งของการรวมตัวเป็นประชาคมในครั้งนี้ด้วย การเปิดเสรีของประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบนั้น เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาเป็นเวลานาน และส่งผลต่อกฎหมายของชาติสมาชิกอาเซียนรวมทั้งกฎหมายของประเทศไทย
 
กฎหมายต้องปรับให้สอดคล้องกับความเป็นประชาคมอาเซียน
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ในฐานะเลขาธิการอาเซียนได้กล่าวเปิดประเด็นว่า "อาเซียนเป็นเสมือนแกนหลักในการปรับตัวสู่สังคมโลกยุคใหม่" นาย สุรินทร์เห็นว่าสิ่งที่ท้าทายไทยในตอนนี้คือ การแข่งขันที่มีมากขึ้น ซึ่งก็ต้องตั้งคำถามว่าการแข่งขันที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลอย่างไรต่อกฎหมายของ ไทย ทั้งนี้นายสุรินทร์เห็นว่าข้อตกลงต่างๆของอาเซียนนั้น ผูกโยงกับประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ และผูกมัดประชากรกว่า 600 ล้านคน เมื่อเป็นเช่นนี้ กฎหมายก็ต้องวางอยู่บนพันธะที่ผูกพันอยู่กับความเป็นอาเซียน
นาย สุรินทร์ยังกล่าวเปรียบเทียบอาเซียนกับอียูด้วยว่า การก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนนั้นไม่สามารถเดินตามแบบของสหภาพยุโรปหรืออียู ได้ เพราะจุดเริ่มต้นของอาเซียนกับสหภาพยุโรปนั้นต่างกัน นายสุรินทร์กล่าวว่า อียูมีสถานะเป็น "สหภาพ" (union) ที่ประเทศสมาชิกเป็นไปในทางเดียวกัน ส่วนอาเซียนนั้นเป็น "ประชาคม" (Association) ที่ประเทศสมาชิกล้วนมีความหลากหลายทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา และวัฒนธรรม นายสุรินทร์เห็นว่าสมาชิกอาเซียนต้องปรับตัวเข้าหากัน จึงจะสามารถเริ่มต้นเดินไปในทางเดียวกันได้ และจะนำไปสู่การปรับระบบและเงื่อนไขต่างๆให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่นเดียวกับกฎหมายก็ต้องมีการปรับและทำให้สามารถตรวจสอบการทำหน้าที่ของกัน และกันในมาตรฐานของอาเซียนได้
 
มาตรา 190 เป็นปัญหาโดยตรงต่อไทยกับอาเซียน
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ และนายพรชัย ด่านวิวัฒน์เห็นตรงกันว่า มาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบัน ที่ระบุว่าการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และต้องชี้แจงต่อรัฐสภานั้น เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับประเทศไทย โดยนายสุรินทร์เห็นว่านับตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ การดำเนินการต่างๆ ของไทยกับอาเซียนนั้นเดินหน้าไปได้ช้ามาก เพราะฉะนั้นกฎหมายตัวนี้ก็ต้องมีการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับการก้าวสู่การ เปิดเสรีอาเซียน
นาย พรชัย ด่านวิวัฒน์กล่าวในช่วงเสวนาเช่นกันว่า มาตราดังกล่าวเป็นปัญหาสำหรับไทยในการทำข้อตกลงของรัฐบาลไทยในเวทีระหว่าง ประเทศ นายพรชัยเห็นว่า กฎหมายต้องมีขอบเขตระบุให้ชัดเจนกว่านี้ว่า ข้อตกลงใดบ้างที่จำเป็นต้องผ่านมาตรา 190 หรือต้องมีการตีความอย่างไรจึงจะถือว่าไม่ขัดกับมาตราดังกล่าว นายพรชัยยังได้กล่าวถึงข้อจำกัดของนักกฎหมายไทยอีกว่า มักจะตีความโดยไม่ดูให้แน่ใจก่อนว่าแท้จริงแล้วขัดกับกฎหมายหรือไม่
 
ระบบการศึกษายังผลิตนักกฎหมายระหว่างประเทศไม่เพียงพอ
เลขาธิการ อาเซียนกล่าวว่า การผลิตบุคลากรผ่านระบบการศึกษาในปัจจุบันนั้นยังไม่สามารถตอบสนองต่อการ แข่งขันได้ นายสุรินทร์เห็นว่า ภาษาอังกฤษเป็นภารกิจสำคัญของโรงเรียน และมหาวิทยาลัยที่ต้องมีการปรับเพื่อรองรับการเข้าสู่ตลาดอาเซียน โดยขยายความต่อว่า เราต้องรู้กฎหมายและข้อตกลงต่างๆ เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบ นายสุรินทร์กล่าวเปรียบเทียบถึงคุณครู 2 คนว่า "ครู คนหนึ่งสอนในตำราเล่มเดียวตั้งแต่เริ่มจนกระทั่งเกษียร ในขณะที่ครูอีกคนรับข่าวจาก CNN, BBC แล้วนำมาสอนเด็กเพื่อพาเด็กไปสู่โลกภายนอก" นายสุรินทร์ย้ำว่าการผลิตนักกฎหมายต้องผ่านระบบการศึกษาที่พาไปสู่โลกภายนอกด้วย
เช่น เดียวกับนายพรชัยที่กล่าวในช่วงเสวนาว่า การเรียนกฎหมายนั้นไม่ได้เรียนเพียงเพื่อแค่ไปสอบเนติบัณฑิตเท่านั้น หากแต่ต้องขยายวงไปยังด้านอื่นด้วย พรชัยกล่าวว่านักกฎหมายระหว่างประเทศกับนักกฎหมายภายในประเทศนั้นมีความเข้า ใจในเรื่องกฎหมายต่างกัน พร้อมทั้งเห็นว่า นักกฎหมายระหว่างประเทศของไทยในปัจจุบันนั้นยังมีไม่เพียงพอ จึงต้องมีการเรียนรู้กฎหมายระหว่างกันและปรับเข้าหากันเพื่อการเดินไปข้าง หน้าต่อ ส่วนนายธเนศ หนึ่งในผู้ร่วมอภิปรายเห็นว่า ต้องหาคนที่มีความสนใจในเรื่องกฎหมายระหว่างเทศอย่างแท้จริง และต้องมีพื้นฐานในการทำความเข้าใจอาเซียนได้พอสมควร เพื่อผลิตนักกฎหมายระหว่างประเทศรองรับกับอาเซียน
  
 
กฎหมายไทยต้องรองรับช่องโหว่ที่มากับการแข่งขันเสรี
ดร.สุรินทร์ เห็นว่าการเปิดเสรีอาเซียนที่จะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2558 นั้น จะส่งผลให้เกิดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจมากขึ้น และไม่สามารถเลี่ยงได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมตัวเพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงการเปิดเสรีอา เซียนที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้การเปิดเสรีจะทำให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามาเอาประโยชน์จากสมาชิกอาเซียน มากกว่าบรรษัทจากอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในระดับกลางและระดับย่อม หรือเอสเอ็มอี (SMEs)
นอก จากนี้การข้ามประเทศอย่างเสรีก็อาจเกิดปัญหาในเรื่องของอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ และแรงงานข้ามชาติ เพราะฉะนั้นนักกฎหมายก็ต้องมีการทำการศึกษาโดยคำนึงถึงช่วงโหว่และข้อเสีย ที่อาจเกิดขึ้นกับไทย เลขาธิการอาเซียนได้กล่าวด้วยว่า อาเซียนไม่ได้สร้างมาเพื่อคนรุ่นตน การเปิดเสรีที่จะเกิดขึ้นนี้ไม่ได้หมายความว่าเปิดทีเดียวแล้วจบ แต่เป็นการเปิดทีละขั้นตามขั้นตอน พร้อมทั้งต้องให้โอกาสในการปรับตัว เรียนรู้ และส่งเสริมกัน
 
กฎบัตรอาเซียนก็ต้องมีการพัฒนาด้วยเช่นกัน
ดร.ธเนศ สุจารีกุล เห็นว่าแม้ปัจจุบันอาเซียนจะมีการประกาศใช้กฎบัตรแล้ว แต่การบังคับใช้นั้นก็ยังไม่มีกรอบการดำเนินการที่ชัดเจน นายธเนศขยายความต่อไปว่า กฎบัตรอาเซียนประกอบด้วยประเด็นสำคัญ เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน การเคารพอธิปไตย การระงับข้อพิพาท เป็นต้น แต่ทั้งหมดเหล่านี้ก็ยังไม่ได้มีกรอบการดำเนินการตามข้อตกลงของอาเซียนที่ ชัดเจน เช่น เรื่องปัญหาเขตแดน การส่งผู้ร้ายข้ามแดน นายธเนศเห็นว่า รายละเอียดของกระบวนการระงับข้อพิพาทและรายละเอียดของการดำเนินการต่างๆในกฎ บัตรอาเซียนนั้น ต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนกว่านี้
นาย ธเนศกล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับข้อตกลงทางเศรษฐกิจว่า ต้องมีการระบุรายละเอียดให้ชัดเจนว่าอะไรที่เป็นข้อกำหนดทางเศรษฐกิจโดยตรง และยังกล่าวทิ้งท้ายเป็นคำถามให้ชวนคิดต่อไปว่า อาเซียนจะเป็นตลาดเสรีได้จริงหรือ โดยขยายความว่า การเปิดตลาดเสรีและความสามารถในการแข่งขันนั้น จะส่งผลต่อการเลือกปฏิบัติหรือไม่ จะส่งผลให้เกิดการแข่งขันระหว่างประเทศอย่างเสรีได้จริง หรือจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันระหว่างสินค้าจากต่างประเทศกับสินค้าภายใน ประเทศ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท