Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ต้นทุนของรัฐที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางในระดับร้อยละ 1.26 ของ GDP สะท้อนให้เห็นถึงการขาดประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย เพราะโดยเปรียบเทียบแล้ว กระบวนการยุติธรรมไทยใช้ทรัพยากรทั้งงบประมาณและบุคลากรมากกว่าประเทศอื่นๆ หลายประเทศ ล่าสุด ทีดีอาร์ไอได้เสนอ 3 แนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมไทย โดยยกเลิกโทษอาญาในกฎหมายบางฉบับ การไกล่เกลี่ยในคดีที่ยอมความกันได้ และการใช้โทษปรับแทนการจำคุกในคดีความผิดไม่ร้ายแรง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในกระบวนการยุติธรรมได้เกินกว่าปีละ 2 พันล้านบาท

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ดำเนินการโครงการการวิเคราะห์กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วย เศรษฐศาสตร์ โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานทีดีอาร์ไอ เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อหาข้อเสนอแนะทางนโยบายในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการ ยุติธรรมไทย

การศึกษาพบว่า ระบบยุติธรรมทางอาญาของไทยประสบปัญหาการขาดประสิทธิภาพตลอดทั้งกระบวนการ เช่น ทุกๆ ปี ศาลยุติธรรมจะต้องรับคดีเข้าสู่การระบบมากเกินกว่าที่จะสามารถพิจารณาให้ เสร็จสิ้นลงได้ จึงมีคดีคั่งค้างในศาลจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และการที่มีนักโทษอยู่ในคุกมากกว่าที่สามารถรองรับได้ร้อยละ 70 การขาดประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาดังกล่าวมิได้ก่อให้เกิดต้น ทุนที่สูงต่อรัฐในรูปของการสูญเสียงบประมาณเท่านั้น แต่ยังสร้างต้นทุนที่สูงต่อสังคม และทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับความยุติธรรมอย่างล่าช้า จนในบางกรณีถึงขั้นไม่ได้รับความยุติธรร

ผลการศึกษาพบว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการออกแบบกฎกติกาต่างๆ ที่ทำให้เกิดแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสมหลายประการ โดยเฉพาะการใช้กระบวนการทางอาญาเป็นหลักในการระงับข้อพิพาท เช่นใช้โทษอาญากับการใช้เช็คแทนที่จะใช้กลไกทางธนาคารหรือกลไกอื่น  และการกำหนดโทษปรับในกฎหมายต่ำเกินกว่าระดับที่เหมาะสมมาก  ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ศาลมักลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยการจำคุกมากกว่าการปรับ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากกลไกในการกลั่นกรอง (screening) และเบี่ยงเบนคดีที่เข้าสู่ระบบ (diversion) ที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอคณะผู้วิจัยได้จัดทำแบบจำลองเพื่อศึกษาต้นทุนของ คดีอาญา พบว่า คดีอาญาที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นจะมีต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 7.7 หมื่นบาท และใช้แบบจำลองดังกล่าวศึกษาถึงความเหมาะสมของทางเลือกต่างๆ ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา พบว่า แนวทางในการปฏิรูปที่มีผลในการลดต้นทุนของกระบวนการยุติธรรมได้มากที่สุดตาม ลำดับ คือ หนึ่ง การยกเลิกโทษทางอาญาในกฎหมายบางฉบับ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 และกฎหมายหมิ่นประมาท สอง การสนับสนุนการไกล่เกลี่ยในคดีที่ยอมความกันได้ และสาม การใช้โทษปรับแทนการจำคุกในคดีอาญาที่ไม่ร้ายแรง  ทั้งนี้ แนวทางการปฏิรูปทั้ง 3 แนวทางจะช่วยลดต้นทุนในกระบวนการยุติธรรมได้รวมกันเกินกว่าปีละ 2 พันล้านบาท

สรุปต้นทุนของรัฐที่ลดลงจากการปฏิรูปตามแนวทางต่างๆ

 

ข้อเสนอปฏิรูป

ต้นทุนต่อคดี (บาท)

จำนวนคดีในศาลชั้นต้นที่ลดลง (ร้อยละ)

ต้นทุนที่ลดลง (ล้านบาทต่อปี)

กรณีฐาน (สภาพปัจจุบัน)
76,612
-
-
1. การยกเลิกโทษอาญา
 
 
 
    1.1 ยกเลิกโทษอาญาคดีเช็ค-หมิ่นประมาท
7,995
3.06
1,189
    1.2 ยกเลิกโทษอาญาในกฎหมายอื่น
48,574
1.33
210
2. การไกล่เกลี่ยในคดีที่ยอมความกันได้
62,593
7.01
520
3. การให้อัยการเป็นผู้ฟ้องแทนผู้เสียหาย
76,612
0.21
33
4. การให้ศาลไต่สวนมูลฟ้องคดีที่อัยการฟ้อง
76,612
0.07
11
5. การใช้โทษปรับแทนการจำคุก
55,778
0.00
605
6. การลดดุลพินิจในการให้ฎีกา
75,328
0.00
9.6
 

ที่มา: การประมาณการโดยคณะผู้วิจัย

ในประเด็นการใช้โทษปรับในการลงโทษผู้กระทำผิดทางอาญานั้น คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า โทษปรับที่ถูกกำหนดขึ้นอย่างเหมาะสม จะมีประสิทธิผลในการป้องปรามการกระทำความผิดได้ โดยไม่ก่อให้เกิดต้นทุนในระดับสูงต่อสังคม แนวทางหนึ่งในการเพิ่มบทบาทของโทษปรับในประเทศไทยคือการนำเอาโทษปรับตามราย ได้ (day fines) มาใช้คดีอาญาที่ไม่ร้ายแรง ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้โทษปรับระหว่างคนรวยและ คนจน และปัญหาการที่โทษปรับมีระดับคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามระดับค่าครองชีพ  ทั้งนี้ การใช้โทษปรับควรได้รับการหนุนเสริมด้วยโทษบริการสังคมในกรณีที่ผู้กระทำ ความผิดไม่สามารถชำระค่าปรับได้   ส่วนโทษจำคุกนั้นควรใช้เฉพาะในกรณีที่มีการทำความผิดร้ายแรงเท่านั้น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net