Skip to main content
sharethis

ที่ปรึกษาสาทิตย์ลงพื้นที่เก็บข้อมูล “เหมืองหินเขาคูหา” เสนอครม. แก้ปัญหาผลกระทบระบิดหิน ชาวบ้านเสนอเลิกประทานบัตร–ถอนประกาศแหล่งหิน–เอาผิดต่อประทานบัตรผิดขั้น ตอน–ให้รัฐบาลประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์

ยื่นข้อเสนอ–กฤษณรักษ์ จันทสุวรรณ์ ยื่นข้อเสนอของเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหาต่อรัฐบาล ผ่านนายภูเบศ จันทนิมิที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 29 มีนาคม 2554 ที่โรงเรียนสิทธิชุมชนเขาคูหา หมู่ที่ 9 ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา นายภูเบศ จันทนิมิ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงค์หนองเตย) พร้อมด้วยนายอุดมเดช นิ่มนวล อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ลงพื้นที่รับฟังปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองหินเขาคูหา โดยมีสมาชิกเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหาเข้าร่วมชี้แจงประมาณ 70 คน

นายภูเบศ กล่าวกับสมาชิกเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหาว่า ได้รับมอบหมายจากนายสาทิตย์ ให้มารับฟังข้อมูลความเดือดร้อนจากผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็น ธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ ตนไม่เคยทราบมาก่อนว่าเหมืองหินเขาคูหาอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1B เหลือสภาพความเป็นป่าไม้ ซึ่งสมควรอนุรักษ์ไว้คู่กับวิถีชุมชน คิดว่าพื้นที่ตรงนี้ต้องกลับมาเป็นของชุมชน ตนไม่เห็นด้วยกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติที่ไปละเมิดสิทธิ ชุมชน ส่งผลกระทบกับชาวบ้าน ขอยืนยันว่าการแก้ปัญหาต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วย

“ผมได้ขอข้อมูลเกี่ยวกับเหมืองหินเขาคูหาจากอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา เก็บข้อเท็จจริงและรับฟังความเห็นของชาวบ้านที่นี่ หลังจากนี้จะเสนอรัฐมนตรีสาทิตย์ให้นำเรื่องนี้เข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย” นายภูเบศ กล่าว

นายภูเบศ กล่าวว่า ถึงแม้นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศจะยุบสภาต้นเดือนพฤษภาคม 2554 เหลือระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือนเศษ ตนจะพยายามลงพื้นที่ 300 แห่ง ที่พีมูฟเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะกรณีโฉนดชุมชนชาวบ้านภาคใต้ฝั่งอันดามัน

นายกฤษณรักษ์ จันทสุวรรณ์ แกนนำเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา กล่าวว่า จากการที่ทางอำเภอรัตภูมิเปิดรับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหาเพียงแค่ 3 วัน มีชาวบ้านไปร้องเรียนทั้งหมด 326 หลัง หากเปิดให้ร้องเรียนโดยไม่มีกำหนดคาดว่าน่าจะมีการจำนวนมากกว่านี้ ผู้ประกอบการเหมืองหินไม่ยอมรับว่าสร้างผลกระทบทำให้บ้านเรือนแตกร้าว ส่งผลกระทบต่อชุมชนในรัศมี 5 กิโลเมตรเป็นอย่างน้อย

“ชาวบ้านไปคุยกับผู้ประกอบการก็ไม่รับผิดชอบ คุยกับหน่วยงานรัฐก็ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่รู้จะร้องเรียนค่าเสียหายจากใคร ปล่อยให้ปัญหาเรื้อรังมานานกว่า 3 ปี” นายกฤษณรักษ์ กล่าว

หลังจากนั้น นายกฤษณรักษ์ได้ยื่นข้อเรียกร้องของเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหาต่อ รัฐบาลผ่านนายภูเบศ โดบขอให้เพิกถอนประทานบัตรเขาคูหาของบริษัทพีรพลมายนิ่ง จำกัด และประทานบัตรของนายมนู เลขะกุล, ขอให้เพิกถอนเขาคูหาออกจากประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรม ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2540, ให้ดำเนินการสอบสวนเอาผิดผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการขอต่อใบอนุญาตผิดขั้นตอน ใช้เอกสารเท็จ และปกปิดข้อมูลสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจ และให้ประกาศเขาคูหาเป็นพื้นที่อนุรักษ์โดยให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

เป็นที่น่าสังเกตว่า ภายหลังจากเครือข่ายพิทักษ์สิทธิเขาคูหา เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มพีมูฟ มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นระยะ โดยวันที่ 7 มีนาคม 2554 พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เข้ามารับฟังความเดือดร้อนจากการทำเหมืองหินเขาคูหา และสำรวจบ้านเสียหาย

ต่อมา วันที่ 8 มีนาคม 2554 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยตัวแทนกองทุนยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้เข้ารับลงทะเบียนเพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในชั้นศาล หลังจากที่ชาวบ้าน 2 คนโดนฟ้องจากบริษัทผู้ได้รับประทานบัตรเรียกค่าเสียหาบเป็นเงิน 5 ล้านบาท พร้อมกับให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมา

จากนั้น วันที่ 10 มีนาคม 2554 ตัวแทนกระทรวงอุตสาหกรรมและคณะ ลงพื้นที่สำรวจและรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 14–15 มีนาคม 2554 ตัวแทนจังหวัดสงขลาและคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบบ้านที่ได้รับความเสียหายทั้ง 326 หลัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net