Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตลอดการประชุมร่วมกันทั้ง 3 ครั้ง ระหว่างนายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กับแกนนำและชาวเขาผู้ประกอบการค้าในตลาดชาวเขาดอยมูเซอ เกี่ยวกับการดำเนินโครงการปรับปรุงตลาดฯ นั้น ทางผู้ว่าฯ ได้แสดงจุดยืนอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่

ประการแรก เหตุผลในการดำเนินงานปรับปรุงตลาดฯ ของทางจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ความไม่สะอาด ไม่เป็นระเบียบของตลาด ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลมุ่งไปที่การตอบสนองนักท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยเข้าใจว่าการก่อสร้างอาคารใหญ่โตสวยงามตามที่ทางจังหวัดออกแบบมานั้น จะตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว

ประการที่สอง ทางจังหวัดตั้งเป้าไว้แล้วว่าอย่างจะต้อง ดำเนินการปรับปรุงและก่อสร้างอาคารแห่งใหม่ให้ได้ เนื่องจากงบประมาณตกมาแล้ว การไม่ดำเนินการตามโครงการฯ ที่กำหนดไว้ เป็นความเสียหายแก่ทางจังหวัด รวมทั้งการขัดขวางคัดค้านก็จะทำให้จังหวัดอับอายไปทั้งประเทศ ทั้งนี้ได้กล่าวว่าการดำเนินการดังกล่าวได้จัดทำประชาคมมาแล้ว 4 ครั้ง

ประการที่สาม การกำหนดกลุ่มผู้ค้าให้เข้าไปดำเนินการ ค้าขายในพื้นที่ใหม่ที่จะปรับปรุงนั้น ทางจังหวัดได้กำหนดให้เป็นผู้ค้ารายเก่า เฉพาะที่มีรายชื่อจากการสำรวจของทางจังหวัดเท่านั้น มิได้สนใจผู้ค้ารายใหม่ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งมีความเดือดร้อนในการทำ มาหากิน ซึ่งการค้าขายในตลาดเกือบจะเป็นเพียงช่องทางเดียวที่ชาวบ้านสามารถมีอาชีพ และรายได้เลี้ยงครอบครัว

ประการที่สี่ การรวมตัวคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่ต่อ โครงการปรับปรุงตลาดฯ ของทางจังหวัด เกิดจากการยุยงของแกนนำซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องในตลาด มีพฤติกรรมที่เคลือบแคลงน่าสงสัยในการกระทำดังกล่าว

ประการที่ห้า ตัดตอนการแก้ปัญหาตลาดฯ เฉพาะช่วงปัจจุบัน ไม่สนใจพัฒนาการ ความเป็นมาและบทบาทของตลาดที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของชาวเขาในพื้นที่ดอย มูเซอ

จากการติดตามความเคลื่อนไหวการดำเนินงานมาระยะหนึ่ง มีโอกาสได้เข้าร่วมสังเกตการประชุมทั้ง 3 ครั้ง ได้พูดคุยกับทั้งแกนนำและชาวบ้านที่ทำมาค้าขายในตลาด พบว่าทัศนะและความเห็นของชาวบ้านไม่สอดคล้องต้องกันกับทางจังหวัด ดังนี้

ประการแรก จริงอยู่ว่าตลาดชาวเขาดอยมูเซอ ที่จะดำเนินการปรับปรุงนั้น ในปัจจุบันมีสภาพที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยและกีดขวางการจราจร การเข้าจอดรถของนักท่องเที่ยวค่อนข้างลำบาก เนื่องจากถูกปิดบังไปด้วยแผงขายสินค้าของชาวบ้าน ชาวบ้านเล่าว่า ที่ชาวบ้านต้องออกมาตั้งแผงข้างถนนกีดขวางการจราจรนั้นเป็นเพราะพวกเขาถูก ผู้ค้าขายชาวพื้นราบที่ขึ้นมาตั้งแผงขายสินค้าบังหน้า กีดขวางมิให้นักท่องเที่ยวเดินเข้าไปซื้อสินค้าในอาคารที่พวกเขาตั้งแผงอยู่ พวกเขาจึงจำเป็นต้องย้ายแผงขายสินค้าออกมาทางด้านนอก

ส่วนประเด็นการก่อสร้างอาคารถาวรใหญ่โตของทางจังหวัดซึ่งใช้งบประมาณสูง ถึงกว่า 7 ล้านนั้น ชาวบ้านสะท้อนว่า อาคารในลักษณะดังกล่าวไม่เป็นที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินเข้ามาจับจ่าย ซื้อสินค้า ประสบการณ์การค้าขายของพวกเขากว่า 10 ปี ชี้ให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวนิยมเดินจับจ่ายสินค้าในลักษณะแผงลอยมากกว่า สีสันที่หลากหลายของร่ม การแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า การพูดจาด้วยสำเนียงชนเผ่า สินค้าเป็นพืชผักที่ปลูกในพื้นที่ซึ่งสะอาดและปลอดภัย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ต่างหากเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว พวกเขายังได้ยกตัวอย่างอาคารต่างๆ ที่ทางราชการสร้างไว้แล้วในที่สุดก็ไม่ได้ใช้สอย ถูกปล่อยทิ้งร้าง ทำให้สูญเสียงบประมาณของแผ่นดินเป็นจำนวนมาก เช่น การสร้างอาคารที่ตลาดชาวเขาดอยมูเซอแห่งใหม่ ตลาดชาวเขาซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้บริเวณทางเข้าศูนย์พัฒนาสังคมที่ 16 จ.ตาก จุดชมทิวทัศน์ บริเวณ ก.ม.32 บนเส้นทางตาก-แม่สอด ตลาดลอยฟ้าที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก เป็นต้น

ประการที่สอง จากที่ทางจังหวัดกล่าวว่าการดำเนินงานตาม โครงการปรับปรุงตลาดฯ นั้น ได้มีการประชุมและทำประชาคมมาแล้ว 4 ครั้ง ซึ่งก็ผ่านการเห็นชอบ สำหรับในประเด็นนี้ชาวบ้านกล่าวว่า ชาวบ้านได้เข้าร่วมประชุมประชาคมเพียงครั้งเดียว คือที่ศูนย์พัฒนาสังคมที่ 16 จ.ตาก ที่ผู้ว่าฯ ขึ้นมาพบปะพูดคุยด้วย ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ก็มิได้มีข้อสรุปว่าชาวบ้านเห็นด้วย ชาวบ้านเกือบทั้งหมดแสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยหลายประการ เช่น รูปแบบอาคาร ขนาดและจำนวนแผงจำหน่ายสินค้าฯ รวมทั้งจำนวนและรายชื่อผู้ค้าที่ทางจังหวัดสำรวจมาก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง ฯลฯ

สำหรับในการจัดประชุมอีก 3 ครั้งที่ทางจังหวัดกล่าวอ้างนั้น ตัวแทนผู้ค้าขายที่ไปร่วมประชุมนั้น เป็นกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับโครงการปรับปรุงตลาดมาตั้งแต่ต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพื้นราบที่ขึ้นมาค้าขาย รวมทั้งชาวม้งบางส่วนที่จะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นหากมีการดำเนินการ ชาวบ้านตัวจริงเสียงจริงในพื้นที่ที่ทำการค้าขายมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม

ชาวบ้านได้พยายามท้วงติงมาตลอดทั้งการส่งหนังสือชี้แจงไปยังบุคคลและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การเข้าชี้แจงในที่ประชุม แต่ข้อเสนอของชาวบ้านก็มิได้รับความใส่ใจจากทางจังหวัด

ประการที่สาม ทางจังหวัดสนใจเพียงการแก้ปัญหาให้กับผู้ ค้าขายรายเดิมที่ทางจังหวัดสำรวจรายชื่อไว้ ในประเด็นนี้ชาวบ้านมีความคิดเห็นว่า ปัจจุบันชาวเขาในพื้นที่ดอยมูเซอ ได้เพิ่มจำนวนขึ้นมาก ครอบครัวหนึ่งมีลูกหลานแยกครอบครัวออกไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็ประกอบอาชีพปลูกพืชผักแล้วนำมาขายที่ตลาด นอกจากนั้นยังมีชาวเขาที่อพยพมาจากที่อื่นเพื่อมาเป็นลูกจ้างของหน่วย งานราชการในพื้นที่ แต่ก็ถูกเลิกจ้างแล้วไม่มีอาชีพรองรับ รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่อีกจำนวนไม่น้อยซึ่งเคยเป็นลูกจ้างหน่วยงานก็ถูก เลิกจ้าง ชาวเขาเหล่านี้ล้วนเป็นเครือญาติพี่น้องกันทั้งสิ้น เป็นชาวบ้านในพื้นที่ดอยมูเซอ แม้จะเป็นเรื่องที่ดีที่ผู้ค้าขายเดิมจะได้รับสิทธิ แต่ชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ยังเดือดร้อนอยู่ ตลาดจะเป็นที่พึ่งที่จะเป็นช่องทางทำมาหากินต่อไป จึงเห็นว่าต้องใส่ใจและให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้ด้วย ไม่ใช่ให้ความสำคัญกับผู้ค้าขายรายเดิมอย่างเดียว ซึ่งชาวบ้านมีความเห็นแย้งกับทางจังหวัดที่มุ่งจะใช้งบประมาณกว่า 7 ล้านบาทแก้ปัญหาและช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าเพียง 200 กว่ารายที่มีการสำรวจรายชื่อไว้ โดยไม่สนใจแก้ปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่

ประการที่สี่ การกล่าวหาแกนนำของทางจังหวัดว่าได้ทำการยุยง โดยแกนนำไม่มีความเกี่ยวข้องในตลาด มีพฤติกรรมที่เคลือบแคลงน่าสงสัย ซึ่งชาวบ้านสะท้อนประเด็นนี้ว่า พวกเขาจำเป็นต้องมีแกนนำเป็นตัวแทนในการเจรจาเรียกร้องกับทางราชการ เนื่องจากพวกเขาเรียนมาน้อย ไม่รู้จัดวิธีการเจรจาต่อรองกับทางราชการ แกนนำที่ออกมาช่วยเหลือพวกเขาล้วนเป็นเครือญาติพี่น้องพวกเขาทั้งสิ้น บุคคลเหล่านี้มีประสบการณ์เพียงพอที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้ และที่สำคัญเป็นบุคคลที่พวกเขาเชื่อมั่น ให้ความศรัทธาและไว้วางใจ เป็นที่พึ่งสำหรับชาวบ้านได้ และยืนยันว่าแกนนำเหล่านี้ไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากชาวบ้านนอกจากปัญหาของชาวบ้านจะได้รับการบรรเทาจัดการแก้ไข

หากทางจังหวัดพิจารณาข้อมูลอย่างถี่ถ้วน จะพบว่าการกล่าวหานั้นเกินเลยไปมาก โดยเฉพาะนายจักรพงษ์ มงคลคีรี ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงให้กับทางจังหวัดมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นแกนนำชาวบ้านในการดูแลรักษาป่าจนได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ซึ่งเป็นรางวัลระดับประเทศที่มอบให้กับชุมชนที่มีผลงานการดูแลรักษาป่าเป็น ที่ประจักษ์ และยังถูกใช้เป็นพื้นที่นำร่องการจัดทำโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ หรือการได้รับเลือกเป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการน้ำของสถาบันสารสนเทศทรัพยากร น้ำและการเกษตร (สสนก.) รวมทั้ง “กาแฟมูเซอ” ซึ่งเป็นแบรนด์กาแฟสดจากดอยมูเซอของสหกรณ์การเกษตรบ้านห้วยปลาหลดจำกัด ที่จักรพงษ์ เป็นแกนนำซึ่งเป็นที่รู้จักในวงที่กว้างขวางมากขึ้น

ประการสุดท้าย การตัดตอนการแก้ปัญหาตลาดฯ เฉพาะช่วงปัจจุบัน ไม่สนใจพัฒนาการ ความเป็นมาและบทบาทของตลาดที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของชาวเขาในพื้นที่

ชาวบ้านสะท้อนประเด็นนี้ว่า ปัจจุบันชาวเขาในพื้นที่ดอยมูเซอ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่พื้นที่ทำกินมีเท่าเดิม และพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช การบุกรุกป่าเพื่อทำไร่แบบในอดีตไม่สามารถทำได้ การออกไปทำงานนอกพื้นที่ก็ไม่มีความมั่นคง เนื่องจากเรียนไม่สูงและไม่สามารถแข่งขันกับคนเมืองได้ คนที่ออกไปทำงานข้างนอกส่วนใหญ่จึงต้องกลับมาอยู่บ้าน ชาวบ้านในปัจจุบันจำนวนมากที่ปลูกพืชผักแล้วนำมาขายที่ตลาดชาวเขาดอยมูเซอ บ้างก็นำมาวางขายเอง บ้างก็นำมาฝากญาติและเพื่อนบ้านขาย บ้างก็นำมาขายส่งให้กับผู้ที่มีแผงขายในตลาด ฯลฯ ทำให้มีรายได้พอที่จะเลี้ยงดูครอบครัว ส่งลูกหลานเรียนหนังสือ สร้างบ้านเรือน ผ่อนรถ ฯลฯ ตลาดชาวเขาดอยมูเซอแห่งนี้ จึงเสมือนเป็นที่พึ่งเกือบจะสุดท้ายของชาวบ้านที่พอจะหาเลี้ยงชีพ เนื่องจากจะไปประกอบอาชีพอย่างอื่นก็ไม่รู้จะไปทำอะไร

ความแตกต่างในจุดยืนระหว่างชาวบ้านกับทางจังหวัดเป็นเหตุที่ไม่ ทำให้การเจรจาร่วมกันประสบผลความสำเร็จ การดำเนินงานต่อไปจึงเป็นการเลือกระหว่าง จะทำเพื่อตอบสนองชาวบ้านในพื้นที่หรือตอบสนองความต้องการของทางจังหวัด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net