ไล่รื้อชุมชนพระราม 6 ชาวบ้านเดินหน้าขอความชัดเจนสัญญาที่อยู่ใหม่

ชาวบ้านยันไม่ต้องการขวางแต่ที่ผ่านมายังไม่ได้รับความชัดเจนเรื่องที่อยู่ใหม่ วันนี้เริ่มเคลื่อนขบวนร้องการแก้ปัญหาที่ ก.คมนาคมฯ หลังโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เร่งรัดรื้อถอนบ้านเรือน 2 วันแล้วเสร็จเกือบหมด วันนี้ (1 เม.ย.54) 10.30 น.มีรายงานข่าวว่ากลุ่มชาวบ้านชุมชนพระราม 6 และชุมชนใกล้เคียงที่อีก 9 ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน พร้อมกับกลุ่มคนจนเมืองในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศภายใต้เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวนหลายร้อยคนได้รวมตัวเดินทางจากที่ตั้งชุมชนโดยมีเป้าหมายจะเดินทางไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเรียกร้องการแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่จากกรมบังคับคดีเข้ารื้อถอนบ้านเรือนในชุมชนพระราม 6 ถนนประชาราษฎร์สาย 1 แขวง-เขตบางซื่อ ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ฐานะโจทก์ยื่นฟ้องผู้อาศัยอยู่ภายในชุมชนประมาณ 40 หลัง ฐานะจำเลย และศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้รื้อถอนเมื่อวันที่ 19 ก.ค.53 แต่ชาวบ้านภายในชุมชนกว่า 100 คน ได้รวมตัวประท้วง กระทั่งเกิดเหตุปะทะกันทำให้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยการไล่รื้อดังกล่าวเป็นไปตามการเร่งรัดก่อสร้างโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน วานนี้ (31 มี.ค.54) แม้จะมีการเจรจาระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่และตัวแทนบริษัทฯ ซึ่งเข้ามาควบคุมการรื้อถอน เพื่อให้เวลากับชาวบ้านอีกระยะหนึ่งในการหาที่อยู่ใหม่ และมีการระดมกำลังชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงเพื่อมาร่วมผลักดันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่การรื้อถอนยังคงดำเนินต่อเนื่องถึงช่วงเย็นจนแล้วเสร็จเกือบทั้งหมด โดยเจ้าหน้าที่จากกรมบังคับคดีชี้แจงว่าการรื้อถอนเริ่มต้นจากบ้านที่เจ้าของเซ็นรับทราบแล้ว อย่างไรก็ตาม ตามคำสั่งศาลเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บังคับคดีในการรื้อถอน ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอข้อสรุปในส่วนการจ่ายค่าชดเชยเรื่องค่าขนย้าย ค่าที่อยู่อาศัยหลังคาเรือน ที่ชาวบ้านต้องเจรจากับทางบริษัทฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการรื้อถอน กลุ่มชาวบ้านเฝ้าดูการทำงานของเจ้าหน้าที่และคนงานรื้อถอนอย่างใกล้ชิด บ้างก็นั่งน้ำตาซึม บ้างก็บ่นว่ากลุ่มเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งพยามยามเข้าไปปกป้องบ้านหนึ่งหนึ่งจากการรื้อถอน โดยยืนประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพยายามร้องเพลงปลอบขวัญและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน แต่เมื่อบ้านหลังอื่นๆ ถูกรื้อถอนจนเกือบหมด กลุ่มชาวบ้านจึงถอนตัวออกมา เพราะไม่สามารถผลักดันเจ้าหน้าที่ต่อไปได้เนื่องจากกำลังคนน้อยกว่า อย่างไรก็ตามในวันเดียวกันนั้น ได้มีชาวบ้านเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จากพื้นที่จังหวัดต่างๆ อาทิ ราชบุรี นครปฐม ขอนแก่น อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี ฯลฯ ทยอยเดินทางเข้ามาร่วมชุมนุมกับชาวบ้านชุมชนพระราม 6 ด้วย “ทีนี้คนจนก็ไม่มีที่ไป ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้จะช่วยกันอย่างไร แต่ก็ต้องต่อสู้กันเอง” นายโรติ อายุ 51 ปี ชาวชุมชนโชติวัต ซึ่งเป็นชุมชนในเขตโครงการรถไฟสายสีแดงที่ถูกรื้อถอนก่อนหน้านี้ กล่าวหลังมาเฝ้าสังเกตการณ์ นายสุเทพ โตเจิม ประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เขตบางซื่อ และเป็นหนึ่งในผู้ถูกไล่รื้อในครั้งนี้ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายน 2553 ชาวชุมชนได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้ ร.ฟ.ท.จัดหาพื้นที่ใหม่ให้ชาวบ้านจาก 10 ชุมชนในพื้นที่เขตบางซื่อ ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฯ ซึ่งตรงนี้ชาวบ้านยินยอมออกจากพื้นที่ ไม่ได้ขัดขืน แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านรอคอยสัญญาเช่าที่แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากปัญหาการจัดหาพื้นที่ นายสุเทพ กล่าวต่อมาว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านพูดตลอดเรื่องข้อเรียกร้อง 2 ข้อ คือ 1.เรื่องที่ดิน โดยชาวบ้านเสนอให้แบ่งปันพื้นที่ส่วนที่เหลือจากการก่อสร้างมาจัดสรรให้ชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านยินยอมที่จะเช่าอยู่ไม่ใช่การอยู่ฟรีเหมือนที่ผ่านมา 2.เรื่องค่าชดเชย ซึ่งเงินยังไม่มีการจ่าย แต่ใช้วิธีฟ้องบังคับให้ชาวบ้านต้องออกจากพื้นที่ หากไม่ยอมก็จะถูกจับ หรือถูกปรับ ทั้งที่ทางบริษัทฯ ได้รับงบประมาณรื้อย้ายถึง 300 ล้านบาท ซึ่งส่วนตัวคิดว่าน่าจะต้องเอางบในส่วนนี้มาบริหารจัดการเป็นค่าชดเชยให้แก่ชาวบ้านที่ต้องไร้ที่อยู่อาศัย นายสุเทพให้ข้อมูลด้วยว่า ขณะนี้ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนคำสั่งจ้างกลุ่มยูนิค-ซุนวู จอยท์เวนเจอร์ ให้ก่อสร้างโครงการรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เนื่องจากการประมูลไม่โปร่งใส โดยขณะนี้ ทาง ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างทำเรื่องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และยังคงให้บริษัทฯ ดำเนินการโครงการต่อ “โครงการของรัฐสร้างและทำลายไปพร้อมๆ กัน โดยทำให้คนฝั่งหนึ่งมีความเจริญ แต่อีกฝั่งหนึ่งกลับถูกทำลายที่อยู่ ต้องย้ายออกจากพื้นที่โดยการฟ้องขับไล่ ราชการและรัฐมองคนจนเป็นเศษขยะที่ต้องกวาดออกให้พ้นทางเพื่อคนรวย แล้วอย่างนี้สังคมจะปรองดองได้อย่างไร” นายสุเทพกล่าว นายสุเทพกล่าวถึงสถานการณ์เฉพาะหน้าว่า จะต้องมีการพูดคุยกันเรื่องการจัดที่พักในคืนนี้ให้กับชาวบ้านนับร้อยคน หลังจากที่คืนก่อนหน้านี้ชาวบ้านส่วนหนึ่งต้องนอนรวมกันในเต็นท์ของเครือข่าย และยังมีเรื่องของน้ำ-ไฟที่โดนตัดแล้ว ส่วนเรื่องพื้นที่รองรับที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ก็ต้องมีการพูดคุยถึงความชัดเจน ด้านนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. กล่าวว่า จะไม่ยกเลิกการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันแน่นอน เพราะขณะนี้การก่อสร้างได้คืบหน้าไปแล้วกว่า 50% แม้ว่าการก่อสร้างจะล่าช้ากว่าแผนไป 20% ก็ตาม เนื่องจากติดปัญหาการเวนคืนพื้นที่ก่อสร้างบริเวณชุมชนพระราม 6 ชุมชนวัดเสาหิน และชุมชนสีน้ำเงิน โดยมีประชาชนบางส่วนไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่เขตก่อสร้าง จะได้เร่งรัดให้ผู้รับเหมาก่อสร้างไปเจรจา รวมทั้งขอใช้อำนาจของศาลเข้าไปบังคับคดีเพื่อให้แล้วเสร็จตามกำหนด โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการในปี 2555 ทั้งนี้ โครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ- ตลิ่งชัน เป็นโครงการการก่อสร้างรถไฟทั้งระบบราง และระบบรถไฟฟ้ามีระยะทางตลอดโครงการความยาว 15.2 กิโลเมตร มีวงเงิน 8,748 ล้านบาท เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.51 ผู้รับจ้างเริ่มปฏิบัติงานตามสัญญา ลงวันที่ 15 ม.ค.52 ต่อมาสำนักงบประมาณเห็นชอบเมื่อวันที่ 11 ส.ค.52 ให้เพิ่มวงเงินเพิ่มขึ้นจากจากเดิมเป็น 9,087 ล้านบาท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท