Skip to main content
sharethis

หมายเหตุจากประชาไท: ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน (Cross Border News Agency) ฉบับที่ 104 (28 มีนาคม 2554) รายงาน เนื้อหาจากเวทีเสวนาเรื่อง เสียงครวญจาก “ลุ่มน้ำโขง” บอกเล่าปัญหาการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติที่เป็นผลมาจากนโยบายการพัฒนา ประเทศ และการแสดงนิทรรศการภาพถ่ายแรงงานข้ามชาติในลุ่มน้ำโขง “ประชาไท” แบ่งนำเสนอเป็น 2 ตอน เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2554 เวลา 09.00-13.00 น. โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.) ร่วมกับหน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรในประเทศไทย (SDSU-CCT) เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group-MWG) เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (Action Network for Migrants-ANM) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนาเรื่อง เสียงครวญจาก “ลุ่มน้ำโขง” บอกเล่าปัญหาการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติที่เป็นผลมาจากนโยบายการพัฒนาประเทศ และการแสดงนิทรรศการภาพถ่ายแรงงานข้ามชาติในลุ่มน้ำโขง ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน สะพานหัวช้าง ราชเทวี กรุงเทพฯ ช่วงแรก เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกของช่างภาพในนิทรรศการ (อ่านที่นี่) ส่วนช่วงที่สอง เป็นการเปิดเวทีเสวนาเรื่อง เสียงครวญจาก “ลุ่มน้ำโขง” บอกเล่าปัญหาการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติ ที่เป็นผลมาจากนโยบายการพัฒนาประเทศ ดำเนินรายการโดย เจนจินดา ภาวะดี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบัน องค์กรภูมิภาคหรือในระดับอาเซียนยังมีบทบาทน้อย เเม้จะมีการรวมตัวเพื่อกลายเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2015 แต่การมีบทบาทมีส่วนรับรู้ปัญหาของคนยากจนคนด้อยโอกาสยังมีไม่มากนัก แม้ว่าเรื่องนโยบาย โครงสร้างอาจเป็นเรื่องไกลตัว แต่มองว่าปัญหาเเรงงานเเก้ไม่ได้ด้วยการสังคมสงเคราะห์ ต้องเเก้ปัญหาเชิงนโยบาย โครงสร้าง กลไกอำนาจรัฐที่มีผลต่อเเรงงาน มิฉะนั้นจะกลายเป็นเรื่องการยอมจำนน อยู่ในวังวนปัญหาที่ซ้ำซาก ทั้งนี้ มองว่าประเด็นปัญหาแรงงานข้ามชาติมี 4 มิติ กล่าวคือ เรื่องเขตเเดน ทั้งพม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย รัฐ ชนชั้นนำ ชนชั้นปกครองมองเขตเเดนต่างกับประชาชน มองเป็นเรื่องการได้-เสีย เป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ ประวัติศาสตร์ สังคม เราต้องถามว่าวิชาประวัติศาสตร์สอนเราเรื่องภูมิศาสตร์ สอนเรื่องเขตเเดนในฐานะการได้หรือเสียดินเเดน เป็นการกระตุ้นแนวคิดชาตินิยม ไม่มองความมั่นคงของคนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ผมเคยทำงานที่ศรีสะเกษ ที่นั่นมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เป็นญาติพี่น้องกัน ข้ามไปมาหาสู่กัน เรื่องของเขตเเดนมาทีหลัง หรือกรณีของคนไทยพลัดถิ่นที่ยังไม่ได้รับการเเก้ไข นี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่มาจากเรื่องเขตแดน ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วคนชายเเดนไม่ได้มองรัฐในเรื่องความมั่นคง ดังนั้นเมื่อมองเป็นเรื่องความมั่นคงจึงส่งผลกระทบต่อเรื่องการจัดการติดตามมา เช่น ที่จังหวัดระนอง เเรงงานข้ามชาติที่หลบหนีเข้าเมืองถูกทหารตั้งด่านไล่ยิงสกัด เสียชีวิตถึง 8-9 ศพ ทั้งๆ ที่ในกลุ่มแรงงานนั้นมีทั้งผู้หญิงและเด็ก หรือกรณีที่เเม่สอด มีแรงงานถูกยิงตายหลายศพ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถหาคนผิดมาลงโทษได้จริง กรณีเหล่านี้ชี้ให้เห็นชัดว่าเป็นการเเก้ปัญหาที่มองเเต่เรื่องเขตเเดนเป็นสำคัญ รวมถึงยังเป็นการใช้อำนาจรัฐมาเป็นเครื่องมือสังหาร ทำร้าย ทำลายประชาชน เเละชุมชนท้องถิ่น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยนมิติการมองเขตเเดนไปไกลกว่าเรื่องอธิปไตย ดินเเดน แต่จำเป็นต้องมองไปที่มิติของความเป็นคน ความเป็นพี่น้อง หรือเรื่องของคนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น เรื่องการเมืองการปกครอง ในเเต่ละประเทศการเมืองการปกครองเป็นตัวกำหนดทิศทางการอพยพของคนในประเทศ อย่างกรณีเมื่อปลายปีที่แล้วมีการเลือกตั้งในประเทศพม่า มีการกวาดล้างชนกลุ่มน้อยจำนวนมาก การเลือกตั้งกลับกลายเป็นการเพิ่มความขัดเเย้งให้มากขึ้น มีการอพยพของคนจำนวนมากมายหลายหมื่นคนมาที่ประเทศไทย หลายคนก็ถูกผลักดันกลับ โดยการส่งกลับไม่รู้จะไปเจออันตรายหรือไม่ เสี่ยงต่อกับระเบิดหรือไม่ หรือจะมีภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นอย่างไรต่อผู้อพยพบ้าง ดังนั้นหลายคนก็จะมาอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยแทน หลายคนก็มาเป็นแรงงานข้ามชาติ เราเห็นชัดว่าบริเวณพื้นที่ชายแดนดูแลโดยทหาร ทำให้คนอพยพมาบางกลุ่มที่คิดว่าถ้าอยู่ในพื้นที่ที่ทหารจัดให้จะถูกบังคับส่งกลับจึงทำให้ผู้อพยพต้องหลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ตามป่าเขา หรือหลบไปเป็นเเรงงานตามชายเเดนหรืออยู่กับญาติ ทีนี้จะอยู่ให้ได้ก็ต้องขายเเรงงานเพื่อดำรงชีวิตต่อไป เรื่องนโยบายระหว่างประเทศ ที่พบว่าประชาชนมักจะเป็นเบี้ยตัวสุดท้ายที่ถูกทำร้าย ท่ามกลางการเปิดเสรีทางการค้า กลไกอาเซียนด้านการค้าเสรี มีคำถามว่าเป็นเสรีของประชาชน หรือนายทุนนักธุรกิจ เพราะถ้ามองนักลงทุนเป็นตัวตั้ง ภาคประชาชาชนก็ต้องการการเปิดเสรีด้านเคลื่อนย้ายประชากร ปัญหาสถานะบุคคล การได้รับสิทธิเเละการดูเเลตามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วประชาชนกลับตกเป็นเหยื่อของนายหน้าค้ามนุษย์ที่เอารัดเอาเปรียบเเรงงานข้ามชาติ เมื่อเกิดการค้าเสรี หลักสิทธิมนุษยชนจะดูเเลคนข้ามชาติได้อย่างไร นี้เป็นคำถามที่สำคัญมาก เพราะการดูเเลต้องเป็นธรรม เสมอภาค เท่าเทียม ที่ผ่านมาเรายังไม่เห็นความเสมอภาคของประชาชน เเต่ในกลุ่มนายทุนมีความเสมอภาคเสมอ นี้คือความไม่เป็นธรรมในการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ที่หมู่บ้านวาเล่ย์ อ.พบพระ จ. ตาก เมื่อเดือนธันวาคม 2553 ที่ชาวบ้านอพยพหนีภัยการสู้รบเข้ามา ชาวบ้านบางคนไม่อยากกลับ เเต่สุดท้ายชาวบ้านบอกว่าต้องกลับเพราะต้องไปเก็บเกี่ยวผลิตผลการเกษตรมาขาย เป็นต้น หรือกรณีชายแดนไทยกัมพูชาก็เช่นกัน เช่น ที่เกาะกง นักธุรกิจไทยไปลงทุนที่นั่น เกิดระบบการค้าเสรีที่ไม่เป็นธรรมละเมิดสิทธิเเรงงานจำนวนมาก เรื่องการทุจริต คอร์รัปชั่น ที่มีการใช้เเรงงานผ่านกระบวนการค้ามนุษย์ มองมนุษย์เป็นเหยื่อที่สามารถค้าขายได้ ดังเช่นกรณี 54 ศพในตู้คอนเทนเนอร์ที่ จ.ระนอง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านั้นต่างเป็นผลมาจากอำนาจรัฐที่เชื่อมโยงกับนักการเมืองเเละอิทธิพลในพื้นที่ ดังนั้นโดยสรุปทั้งเเรงงานไทยเเละเเรงงานข้ามชาติต้องมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน มีความจำเป็นที่ต้องมีการแก้ไขในระดับนโยบายและเชิงโครงสร้างร่วมด้วย เราต้องทำให้คนจนทั้งผองในอาเซียนที่มีความหลากหลายต้องรวมตัวกันในการต่อสู้ สร้างสิทธิเเรงงานที่เป็นธรรม มีการผลักดันกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ผ่านการยึดหลักสิทธิมนุษยชน ต้องไม่มองว่าเเรงงานผิดกฎหมาย เป็นคนเถื่อน แต่ให้มองว่าเขาคือคนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น มาหาชีวิตที่ดีกว่า อย่ามองว่ามาแย่งอาชีพคนไทย เพราะอย่างไรก็ตามภาคธุรกิจไทยก็ต้องการเเรงงานราคาถูกอยู่แล้ว เขามาทำงานในงานที่คนไทยไม่อยากทำ อย่ามองว่าเขามาเอารัดเอาเปรียบในด้านสิทธิต่างๆ อย่ามองว่าดูเเลดีกว่าคนไทย เพราะนั่นคือสิทธิพื้นฐานของความเป็นคนที่เขาพึงได้รับ เขาเป็นเพื่อนร่วมโลก ภูมิภาค เขามาทำงาน เสียภาษี เราเก็บเงินภาษีจากเขาเเล้ว ก็สมควรให้ความเป็นธรรมเเละการดูเเลเขา อย่ามองว่าเขาเอาเชื้อโรคมาแพร่ ในฐานะที่ผมเป็นหมอเห็นว่าการดูเเลสิทธิสุขภาพ ต้องทำให้เกิดในทุกคนเพื่อที่ทุกคนจะมีสุขภาพดีร่วมกัน แต่ปัญหาในทางปฏิบัติคืองบ สปสช. ยังไม่สามารถกระจายลงอำเภอ จังหวัด ชุมชน มีจึงผลต่อการเข้าถึงสิทธิในสุขภาพ เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยโดยรวม สุดท้ายขอให้คิดว่า กสม. เป็นเครื่องมือในการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม ถ้าทำงานร่วมกัน เสียงครวญที่ดังขึ้นจะแปรเปลี่ยนเป็นพลังในการต่อสู้ เพื่อประโยชน์และความถูกต้องของมนุษยชาติทุกคนต่อไป สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อย้อนถามตัวเองถึงกลุ่มเเรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ก็พบว่าเหมือนกับเเรงงานที่ต้องทำงานในต่างถิ่น เมื่อก่อนคนไทยในชนบทก็เป็นเเรงงานย้ายถิ่นมาทำงานในกรุงเทพฯ ดังนั้นเเรงงานไทยก็ถือเป็นเเรงงานย้ายถิ่นในลุ่มแม่น้ำโขงด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราจึงต้องเคารพเเรงงานข้ามชาติในฐานะผู้ที่มีส่วนร่วมสร้างเศรษฐกิจไทย ในขณะที่เเรงงานไทยก็ย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศ สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ แต่ทั้งคู่ต่างตกอยู่ในสภาพที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดนหลอก เเรงงานไทยจ่ายเงินไปทำงานต่างประเทศ สามเเสน ห้าเเสน เเล้วไม่ได้งานทำ เเสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเเละสังคมไทยเองก็ยังจัดการเรื่องเเรงงานย้ายถิ่นไม่ดีพอ วันนี้เราเห็นแล้วว่าชะตากรรมร่วมกันของเเรงงานย้ายถิ่นในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มเเม่น้ำโขง คือ ปัญหาระดับนโยบายที่เป็นผลมาจากการพัฒนาประเทศ ดังเช่นกรณีการสร้างเขื่อนในประเทศจีน ที่ทุกคนมองว่าเขื่อนสร้างในจีน ไม่น่าจะกระทบมาถึงประเทศไทย หรือกรณีที่ประเทศไทยเองก็ไปลงทุนสร้างเขื่อนในประเทศพม่า ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ทุนเคลื่อนย้ายได้เสรี การบริโภคทรัพยากรเสรี พื้นที่ลุ่มน้ำโขงกลายเป็นฐานการเเย่งชิงทรัพยากรผ่านนโยบายการพัฒนา ทำให้ประชาชนจากประเทศต้นทางประสบความยากลำบากเเละไม่สามารถดำรงชีวิตได้ ต้องเดินทางมาเป็นเเรงงานข้ามชาติในประเทศใกล้เคียง ทุนต่างๆ ได้เข้าไปกอบโกยทรัพยากร เช่น การสร้างเขื่อนในประเทศพม่า ที่ส่งผลต่อน้ำท่วมที่ดินทำกินของประชาชนในพม่า ทำให้พวกเขาไม่มีที่ทำกิน หรือการเข้ามาของทุนเเอบแฝง เช่น กรณีนายทุนต่างชาติเข้าไปเช่าหรือซื้อที่ดินเพื่อทำเกษตรพันธสัญญา เหล่านี้เห็นชัดว่าเเรงงานไม่ได้รับการคุ้มครองแน่นอน รัฐบาลไทยเเละรัฐบาลประเทศในเเถบนี้มีปัญหาในการกำหนดนโยบาย เพราะไปเน้นการทำงานที่ขาดการมีส่วนร่วม นโยบายเน้นเฉพาะการเอื้อการลงทุนของทุนของต่างชาติที่ต้องการเเรงงานราคาถูก จึงย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศลุ่มเเม่น้ำโขง ทำให้นโยบายรัฐเปิดช่องให้เกิดการจ้างเเรงงานราคาถูก ถ้าไม่ได้ กลุ่มทุนก็จะขู่ย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น กรณีนี้หลายประเทศก็จะโดนเหมือนกัน คือต้องเปิดให้มีเเรงงานราคาถูกเพื่อสนองต่อทุนต่างชาติ ให้สิทธิพิเศษในด้านต่างๆจนส่งผลต่อการเอารัดเอาเปรียบ เช่น การลงนามในสัญญา FTA ที่ทุนเสรีเข้ามาเอาเปรียบเเย่งชิงฐานทรัพยากรจำนวนมาก พบว่ากติการะหว่างประเทศของ ILO หรือ UN เเละรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ดี เเต่ในทางปฏิบัติยังไม่เกิดผลให้มีความเท่าเทียม เสมอภาคเเละได้รับการคุ้มครองเท่ากันจริง เเรงงานไทยพยายามสู้ให้ได้ค่าเเรงเสมอกัน ปัญหาคือนายจ้างมักจ้างเเรงงานข้ามชาติโดยค่าแรงที่ถูกกว่า เพราะเห็นว่าแรงงานมีข้อจำกัดในเรื่องการเรียกร้องสิทธิ สามารถส่งกลับง่าย สำหรับเเรงงานในวันนี้เห็นว่ากำลังสู้อยู่สองประเด็นคือเรื่องเเรงงานที่ทำงานบ้าน ที่ทำงานหนัก เเละเสี่ยงต่อการขูดรีดทางเพศ กับระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมดีพอ เเละให้เหมาะสมกับการเข้ามาทำงานระยะสั้นของเเรงงานข้ามชาติด้วย โดยให้เก็บเงินในอัตราที่เหมาะสม ในทางนโยบาย มีความพยายามที่ทำให้เเรงงานไทยกับเเรงงานข้ามชาติไม่ให้เข้าใจกัน เช่น กรณีแม็กซิส ที่เเรงงานข้ามชาติกัมพูชาถูกใช้เป็นข้อต่อรอง หากเเรงงานไทยพยายามเคลื่อนไหวเพื่อสวัสดิภาพที่ดีในการทำงาน นายจ้างจะปลดเเล้วจ้างเเรงงานข้ามชาติเเทนเเรงงานที่เป็นสมาชิกสหภาพอยู่แล้ว ดังนั้นมีความจำเป็นที่รัฐต้องออกนโยบายที่สมดุล ต้องตระหนักว่าเเรงงานข้ามชาติมีคุณค่ามหาศาล เเต่ก็ต้องยอมรับเช่นเดียวกันว่าบางครั้งการจ้างเเรงงานข้ามชาติก็กระทบกับเเรงงานไทยโดยไม่ได้ตั้งใจ ขณะนี้ BOI ให้จ้างเเรงงานข้ามชาติในโครงการที่ส่งเสริมการลงทุนได้ เช่น ยานยนต์ อิเลคโทรนิกส์ สิ่งทอ ซึ่งเป็นงานที่คนงานไทยทำอยู่แล้ว ประเด็นนี้ไม่ได้กีดกัน รังเกียจ เเต่เป็นการต่อสู้ทางนโยบายที่การจ้างเเรงงานข้ามชาติจะต้องมีข้อจำกัดบ้าง เพราะหลายครั้งถูกนำมาใช้ในการทำลายสหภาพ ต้องต่อสู้ให้รัฐบาลไทยลงนามในอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 89 และ 97 เพื่อให้เเรงงานข้ามชาติสามารถตั้งสหภาพได้ เพราะกฎหมายไทยบอกว่ากรรมการสหภาพต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น ถ้ารัฐบาลอนุมัติผ่าน เเรงงานข้ามชาติก็จะสามารถตั้งสหภาพได้ ดังนั้นเเรงงานไทยเเละเเรงงานข้ามชาติต้องร่วมกันต่อสู้ เหมือนคนไทยในชนบทต่อสู้เรื่องการสร้างเขื่อนในต่างประเทศเป็นต้น ฉะนั้นทั้งคนชนบท เเรงงานไทยในเมือง และเเรงงานข้ามชาติต้องผนึกกำลังกันต่อสู้ในความไม่เป็นธรรมทั้งปวงร่วมกัน รศ.สุรีย์พร พันพึ่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การย้ายถิ่นกับการพัฒนานี้เป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะมนุษย์อยากเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ อยากมีความก้าวหน้าด้านอาชีพ มีความต้องการเงินส่งกลับบ้าน พ่อเเม่ก็ต้องการให้ลูกเรียนหนังสือ เหล่านี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา กล่าวได้ว่าการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน เป็นความต้องการของระบบทุนนิยม เเรงงานข้ามชาติจึงมีความสำคัญอย่างขาดไม่ได้ ดังนั้นต้องมีการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับเรื่องต่างๆที่จะตามมา โดยเฉพาะการจัดการเรื่องคน เพราะคนทุกคนมีสิทธิของความเป็นคนอยู่แล้ว เวลามองนโยบายแรงงานข้ามชาติที่เหมาะสมกับประเทศไทยนั้น จะเห็นว่านโยบายการจดทะเบียนเเรงงานได้ดำเนินการมาตั้งเเต่ พ.ศ.2539 อย่างเป็นรูปธรรม เเต่วันนี้ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายการจัดการระยะยาวมากกว่า มีการเปลี่ยนนโยบายการจัดการทุกสองปี ทั้งๆที่มีการพูดมาตลอดว่านโยบายเเรงงานไม่มีความเเน่นอน จะไม่ดำเนินการต่ออายุ เเต่ก็ต่อมาเรื่อยๆ ถึง15 ปี เเละนโยบายที่ผ่านมาก็สะท้อนความต้องการของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ ที่ผ่านมามีการใช้ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงของประเทศเป็นเเกนในการกำหนดนโยบาย จึงส่งผลต่อการปฏิบัติที่มีปัญหาตลอดมา ผนวกกับช่องโหว่ของกฎหมาย มาตรการที่เคร่งครัดเกินไป ดังนั้นเเม้เปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติเเล้วก็ตาม แต่แรงงานก็ยังโดนตำรวจข่มขู่รีดไถตลอดมา เหล่านี้จะแก้ปัญหาได้อย่างไร หรือในกรณีของนโยบายการพิสูจน์สัญชาติก็ยังมีปัญหา แรงงานยังต้องไปรายงานตัวกับ ตม. เพื่อขออนุญาตเดินทางออกนอกจังหวัด หรือขณะเดินทางไปพิสูจน์สัญชาติก็เสียเงิน เสียค่านายหน้า ถูกเอารัดเอาเปรียบตลอดเวลา จึงเห็นชัดว่านโยบายด้านเเรงงานข้ามชาติของรัฐจึงมีความไม่สอดคล้องกัน เเม้อยู่ในกระทรวงเดียวกัน มีหลายรูปแบบ เมื่อต้องประสานงานต่างกระทรวงกันก็คุยกันไม่รู้เรื่อง กฎหมายเละมาตรการต่างๆ ก็ดำเนินการในลักษณะต่างคนต่างปฏิบัติ แม้รัฐบาลจะเเก้ปัญหาโดยให้มี กบร.เป็นหน่วยงานจัดการกลาง เเต่ก็ยังเป็นการทำงานในลักษณะต่างคนต่างทำ กบร.มีกรรมการ 10 กว่าชุด มีอนุกรรมการ 8 ชุด แต่พบว่ากลับไม่มีเจ้าภาพหลักคอยดำเนินการ เห็นว่านโยบายเเรงงานข้ามชาติที่เหมาะสม ต้องสามารถครอบคลุมทั้งเเรงงานในประเทศเเละในระดับภูมิภาค ต้องเป็นนโยบายที่ตอบสนองต่อปัญหาความต้องการเเรงงาน เเละความต้องการบุคลากรในเเต่ละภาคส่วนว่าทิศทางของอุตสาหกรรมระดับประเทศจะมีทิศทางไปทางใด เพื่อกำหนดทิศทางของเเรงงานที่ต้องการได้อย่างชัดเจน ตลอดจนต้องผลักดันเเรงงานที่เข้ามาทำงานให้เป็นเเรงงานเหมือนกันเเละอยู่ภายใต้โครงสร้างเดียวกัน รวมทั้งต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน ได้เเก่ การทำงานที่ถูกสุขลักษณะเเละปลอดภัย ที่อยู่อาศัย อนามัย การศึกษา สิ่งเเวดล้อม สิทธิการเป็นพลเมือง เด็กที่เกิดในประเทศไทยได้รับการนับเป็นพลเมือง ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่อง global citizen ขอเเค่เป็น Thai citizen ก่อน เป็นต้น การดำเนินนโยบายต้องมีลักษณะเชิงรุก มิใช่ดำเนินนโยบายเเบบตั้งรับปีต่อปี นโยบายควรกำหนดระยะเวลา 3-5 ปี เปิดให้มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการกำหนดนโยบาย มิใช่เเค่มารับฟังเเละปฏิบัติตาม รวมทั้งสื่อต้องเข้ามามีบทบาทในการสร้างความเข้าใจซึ่งกันเเละกันร่วมด้วย นโยบายต้องใช้ประโยชน์จากการกระจายอำนาจเเละการทำงานกับท้องถิ่น ทำงานผนึกกำลังในพื้นที่ชุมชน ไม่ว่ากับคนไทย หรือไม่ไทย ให้มีความเป็นเจ้าของร่วมกันในชุมชน มีการใช้ประโยชน์จากการกระจายงบประมาณจากการจดทะเบียนเพื่อดูเเลเเรงงานข้ามชาติ เป็นนโยบายที่ยอมรับความหลากหลายในสังคม ไม่เคร่งครัด เน้นการเดินสายกลาง ทำความเข้าใจทั้งสองฝ่าย สื่อสารสองทาง จะนำมาซึ่งความเข้าใจซึ่งกันเเละกันในสังคม สำหรับในตัวแรงงานข้ามชาติเองก็ต้องมีการให้ความรู้ ความเข้าใจ เปิดพื้นที่ เรียนรู้บริบทต่างๆ ของคนในชุมชนที่ตนเองเข้าไปอยู่ร่วม ต่างฝ่ายต่างต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกันไม่มองว่าเเรงงานข้ามชาติมาเพื่อรับความช่วยเหลือ เเต่เขาเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนเเปลงในชีวิตตนเอง ไม่ได้มารับการสังคมสงเคราะห์ ต้องพยายามมองภาพรวม ต้องเข้าใจร่วมกันว่าทุกคนต้องการเเสวงหาโอกาสที่ดีในชีวิตเหมือนกับเรา ประเวศน์ คิดอ่าน อดีตเลขาธิการสภาคริสเตียนแห่งเอเชีย กล่าวว่า ในพระคัมภีร์ กล่าวว่า เมื่อคนต่างด้าวมาอยู่ในเเผ่นดินของเจ้า จงอย่างข่มเหงเขา จงรักเขาเหมือนกับรักตนเอง เพราะเจ้าเคยเป็นคนต่างด้าวมาก่อนเช่นกัน ที่ผ่านมาโบสถ์มีบทบาทการดำเนินการกับผู้อพยพย้ายถิ่นฐานมานาน ดังนั้นจึงขอเเบ่งปันประสบการณ์ขององค์กรศาสนาว่าคริสเตียนมีมุมมอง ประสบการณ์ บทบาท เเละวิสัยทัศน์ต่อการทำงานอย่างไร ประเด็นเเรกว่าด้วยเสียงครวญจากลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำโขงมีหกประเทศ เสียงครวญจากลุ่มเเม่โขงก็คือเสียงครวญจากเรา ณ ที่นี้ด้วย เพราะที่นี่มีคนต่างจังหวัดที่อพยพเข้ามาในกรุงเทพฯ กว่า 60% ดังนั้นเสียงครวญก็คือเสียงของเราด้วยเหมือนกัน เเม้จะไม่ได้ข้ามชาติเเต่ก็ข้ามจังหวัด ในมุมมองของศาสนาคริสต์ การอพยพเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษยชาติ เพราะเรามีเท้าเพื่อเดินมีมือเพื่อทำงาน เเละมีสมองเพื่อคิดหาหนทางสู่ชีวิตที่ดีขึ้น เป็นธรรมชาติที่เราจะต้องดิ้นรนเพื่อความมั่นคงเเละสันติสุขในชีวิต ในพระคัมภีร์มีเรื่องของการอพยพมากมายเเม้กระทั่งพระเยซูเเละบิดามารดาของท่านก็อพยพมาก่อน เมื่อมีเเผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับเเรกเมื่อ พ.ศ. 2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลอง นั่นก็เป็นการเริ่มต้นการอพยพสองรูปแบบ คือ จากชนบทสู่เมืองเเละจากไทยไปต่างประเทศ ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกเเรงงาน เเละเป็นจุดรองรับเเรงงานจากประชาชนไทยที่อพยพจากชนบท ต่อมาเราเป็นจุดรองรับเเรงงานข้ามชาติที่ 90% เป็นพม่า 10% เป็นกัมพูชา ลาวอีกประมาณ 8% ประสบการณ์ขององค์กรคริสเตียนในสภาคริสตจักร เรามีความสนใจด้านเเรงงานย้ายถิ่นเเละเเรงงานข้ามชาติมาตลอด ตั้งเเต่ก่อนพ.ศ. 2504 ก่อนหน้านั้นได้มีมิชชันนารี ชื่อ ดร.ซิมเมอร์เเมน ทำการวิจัยเศรษฐกิจไทยเเละภาวะความเป็นอยู่ในชนบท เมื่อพ.ศ.2492 หรือ 12 ปีก่อนมีเเผนพัฒนาเศรษฐกิจ ในช่วงนั้นสภาคริสตจักรในประเทศไทยได้มีการจัดตั้งฟาร์มชื่อว่า ฟาร์มสัมพันธกิจ ที่ จ.เชียงราย มีการเชิญพี่น้องประมาณ 50 ครอบครัว โดยการนำของศาสนาจารย์เข้ามาตั้งชุมชนใหม่ มีการจัดสรรที่ดิน 10 ไร่เพื่อเลี้ยงชีพ หลังจากนั้น 7 ปีต่อมา สภาคริสตจักรฯได้ตั้งเเผนกชูชีพชนบทเพื่อพัฒนาเกษตรกรในชนบท ปี 2510 ตั้งโครงการประชาคมเเรงงานในกรุงเทพฯ ทำงานกับกลุ่มที่อยู่กองขยะบริเวณอ่อนนุชเเละพระประเเดง นอกจากนั้นยังมีงานดังต่อไปนี้ คือ วาระเร่งด่วนในการทำงานของสภาคริสตจักร ได้เเก่ การเเก้ปัญหาเฉพาะหน้า การจัดศูนย์พักพิง (Shelter) ช่วยเหลือชั่วคราวบริเวณชายแดนด่านเจดีย์สามองค์ เเละแม่สอด เป็นต้น งานระยะปานกลาง คือ การอำนวยความสะดวกให้กลุ่มเพื่อนชาวพม่าใช้ สนค. เป็นพื้นที่การเเลกเปลี่ยนประสบการณ์เเละแบ่งปันปัญหา งานระยะยาว คือ ความร่วมมือในการทำงานระหว่างคริสตจักรกับองค์กรที่แก้ไขปัญหาเชิงนโยบายเพื่อหารือการเเก้ไขปัญหาระยะยาวร่วมกัน เช่น ความร่วมมือกับ คพรส. สสส. เครือข่ายแรงงานข้ามชาติเเละองค์กรอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงยังมีงานภายนอกประเทศ คือ คริสตจักรได้ประสานงานกับพี่น้องเเรงงานไทยในต่างประเทศ โดยส่งเจ้าหน้าที่ไปทำงานกับพี่น้องเเรงงานไทยในไต้หวัน ฮ่องกง สิงค์โปร์ ดังนั้นจึงเห็นชัดว่าบทบาทของคริสตจักรจึงช่วยเหลือทั้งเเรงงานไทยและเเรงงานต่างชาติควบคู่ทั้งสองส่วน มีคำถามว่าทำไมองค์กรศาสนาต้องทำงานด้านนี้ ประการเเรก คริสตศาสนามองมนุษย์ในฐานะสิ่งที่ได้รับการทรงสร้างจากพระฉายาของพระเจ้า ทุกคนเสมอกันหมด ในฐานะความเป็นคน ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ตามความเชื่อทางศาสนา ประการที่สอง ทุกคนต้องได้รับการปกป้องสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ข้อนี้อาจจะขัดหลักปกครอง หลักกฎหมาย เเต่ต้องมีหลักความยุติธรรมอยู่ในตัวประการที่สาม มนุษย์ต้องมีชีวิตที่สมบูรณ์ตามความเชื่อ ทั้งด้านร่างกาย จิตวิญญาณ จิตใจ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ประการที่สี่ พระคัมภีร์สอนเรื่องการต้อนรับคนแปลกหน้าจากต่างถิ่น เหมือนรักตนเอง คริสตจักรจึงเป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของประชาชน ดังนั้นในการทำงานเช่นนี้ เราต้องรู้เขารู้เรา เข้าใจชีวิตผู้ใช้เเรงงาน ยึดหลักความเสมอภาค ทำงานอย่างเสมอภาค ส่งเสริมความเท่าเทียมกัน เเละส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการทำงานร่วมกัน ขาดซึ่งกันเเละกันไม่ได้ หากจะต้องการเเก้ปัญหาให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น รวมถึงต้องมองว่าการอพยพไม่ใช่ปัญหาเศรษฐกิจเเต่เป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนร่วมด้วย การอพยพหยุดไม่ได้ด้วยองค์กรเเต่ต้องหาวิธีทำให้ประชาชนมั่นใจในประเทศต้นทางของตนเเละประเทศปลายทาง เเก้ไขด้วยการร่วมมือทุกภาคส่วน เเละขจัดหรือลดปัญหาการละเมิดต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net