นักข่าวพลเมือง: สภาที่ปรึกษาใต้ พ.ร.บ.ศอ.บต. 3 เมษารู้ผล 49 ขุนพลพัฒนาใต้?

หลังจากคลอด พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ.ศอ.บต.) ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 53 ที่เอื้อให้การทำงานของศอ.บต.ทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาได้ง่ายยิ่งกว่าเดิม และในพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ได้ระบุให้มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อตรวจสอบพร้อมประเมินผลการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้แล้วรายงานต่อเลขาธิการและนายกรัฐมนตรีทราบ และอำนาจหน้าที่อีกมากตามที่ระบุใน พ.ร.บ.ศอ.บต.ฉบับนี้ สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำหนดในพ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามมาตรา 19 ที่ระบุให้มีสภาที่ปรึกษาฯ มาจากการคัดเลือกและผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 49 คน และมาจากผู้แทนสมาชิกจาก 13 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดละ 1 คน 2. ผู้แทนกำนันและผู้ใหญ่บ้าน จังหวัดละ 1 คน 3. ผู้แทนกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและอิหม่ามประจำมัสยิด จังหวัดละ 1 คน 4. ผู้แทนเจ้าอาวาส จังหวัดละ 1 คน 5. ผู้แทนผู้สอนและบุคลากรทางการศึกษา จังหวัดละ 1 คน 6. ผู้แทนหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมจังหวัด จังหวัดละ 1 คน 7. ผู้แทนซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือวิถีของประชาชนในพื้นที่ จังหวัดละ 1 คน 8. ผู้แทนกลุ่มสตรี จังหวัดละ 1 คน 9. ผู้แทนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา จำนวน 1 คน 10. ผู้แทนสถาบันศึกษาปอเนาะ จำนวน 1 คน 11. ผู้แทนศาสนาอื่น จำนวน 1 คน 12. ผู้แทนสื่อมวลชนในกิจการหนังสือพิมพ์ กระจายเสียงและโทรทัศน์ จำนวน 1 คน และ13. ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่ใช่ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ จำนวน 5 คน ในส่วนของผู้แทนที่มาจากลำดับที่ 1 – 8 ทางจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก จะมีในส่วนของผู้แทนเจ้าอาวาส และผู้แทนหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดที่จะมีขั้นตอนการประชุมภายในกลุ่มผู้แทนแล้วทำการประชุมคัดเลือกกันเอง ส่วนผู้แทนลำดับที่ 9 – 12 ทางศอ.บต. จะเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกเอง และกลุ่มสุดท้าย นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้คัดสรรผู้ทรงคุณวุฒิแต่งตั้งขึ้นมาเอง นายภานุ อุทัยรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า ตามประกาศศอ.บต. เรื่องการสมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ประเภทต่างๆ ซึ่งได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิคัดเลือกตามบัญชีรายชื่อที่ประสงค์จะสมัครเข้ารับการคัดเลือกยื่นใบสมัครตั้งแต่วันที่ 7 – 9 มี.ค.54 ในประเภทผู้แทนสถาบันศึกษาปอเนาะ ผู้แทนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา และประเภทผู้แทนสื่อมวลชน วันที่ 18 - 20 มี.ค.54 กลุ่มผู้แทนที่ทาง ศอ.บต. เปิดรับสมัครเฉพาะในส่วนของประเภทสื่อมวล ผู้แทนสถาบันศึกษาปอเนาะ และผู้แทนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา จังหวัดชายแดนใต้ ในส่วนประเภทอื่นๆ ทางจังหวัดต่างๆในพื้นที่ 5 จังหวัดได้รับผิดชอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว รายชื่อบุคคลที่สมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ประเภท ผู้แทนสื่อมวลชน จังหวัดชายแดนใต้ หมายเลข ผู้สมัคร หมายเลข 1 นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล หมายเลข 2 ว่าที่ พ.ต.พงศ์จักรกฤษณ์ สิทธิบุศย์ และหมายเลข 3 นายหมุดตะเหล็บ โหดหีม ประเภท ผู้แทนสถาบันศึกษาปอเนาะ จังหวัดชายแดนใต้ หมายเลขผู้สมัคร หมายเลข 1 นายอับดุลอาซิส ยานยา หมายเลข 2 นายมูฮำมัดอาลาวี บือแน หมายเลข 3 นายเซ็ง ใบหมัด หมายเลข 4 นายรอยาลี เซ็ง และหมายเลข 5 นายแวอูเซ็ง แวยูโซ๊ะ ส่วนประเภท ผู้แทนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา จังหวัดชายแดนใต้ หมายเลขผู้สมัคร หมายเลข 1 นายอับดุลรอนิ กาหะมะ หมายเลข 2 ว่าที่ ร.ต.อับดุลฮาฟิช หิเล หมายเลข 3 นายเส็น แสงอารี และหมายเลข 4 นายซอและห์ ตาและ หนึ่งในผู้ที่ลงสมัครในกลุ่มประเภทสื่อมวลชนอย่าง นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย สมาชิกสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขชายแดนใต้(สสต.) กล่าวถึงความแตกต่างกันระหว่างสภาชุดเก่า(สสต.)ที่ตนดำรงตำแหน่งกับสภาชุดใหม่ที่จะมีการเลือกตั้งว่า จะมีลักษณะค่อนข้างคล้ายกัน เพียงแต่ว่าสภาชุดเก่ามาจากการแต่งตั้ง บทบาทหน้าที่ ของสภาชุดเก่าเป็นการเสนอความเห็นในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ มีการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ว่ามีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนหรือไม่ สภาชุดเก่ามีหน้าที่ แต่ไม่ได้อำนาจ แต่สภาชุดใหม่ มีหน้าที่และอาจจะมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น ทั้งในการเสนอความเห็น ตรวจสอบ และการเสนอย้ายข้าราชการในพื้นที่ที่ถูกชาวบ้านร้องเรียนว่าประพฤติตนไม่ถูกต้อง ไชยยงค์ กล่าวถึงวิธีการคัดเลือกสภาที่ปรึกษาในครั้งนี้ว่า ผมคิดว่าอะไรก็ตามที่มาจากการเลือกตั้งต้องมีการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้เราไม่ได้คนดีร้อยเปอร์เซ็นต์ การที่เราแต่งตั้งคณะกรรมการสามารถตรวจสอบคนที่ดี ขยัน และเป็นบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจในบริบทของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เมื่อมีการเลือกตั้งกลับมีการส่งคนทางสายการเมืองเพื่อเข้ามานั่งเป็นที่ปรึกษา อาจจะดูจากโดยรวมแล้วสภาที่ปรึกษาฯชุดใหม่นี้ ไม่มีผลประโยชน์อะไร แต่หากว่าสามารถส่งคนของตัวเองให้เข้ามานั่งในสภานี้ได้จะสามารถสั่งให้สภาฯหันซ้ายหันขวาได้ ในการลงสมัครเพื่อเป็นสภาที่ปรึกษาฯ มีความสนใจที่มีผู้ที่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ปี 2551 แต่สอบตก และต่อมาได้เข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอย่างพรรคมาตุภูมิ นายอับดุลรอนิ กาหะมะ ผู้สมัครอีกรายที่ลงสมัครเพื่อเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ประเภทผู้แทนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา โรงเรียนอิสลามประชาสงเคราะห์(ผู้รับใบอนุญาต) ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่ง เช่น กรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี กรรมการเลขานุการสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อุปนายกสมาคมการศึกษาเอกชนจังหวัดปัตตานี และเป็นหนึ่งที่จะลงเป็นสส.แบบบัญชีรายชื่อในนามพรรคมาตุภูมิ แต่ด้วยความใหม่ในสายงานทางการเมืองทำให้ลำดับบัญชีในพรรคไม่ได้อยู่ในอันดับต้นทำให้ต้องหาทางที่จะสามารถเข้ามานั่งในเก้าอี้สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ นายอับดุลรอนิ เผยถึงเหตุผลที่ลงสมัครว่า เนื่องจากดูโครงการของศอ.บต.ใหม่ นับเป็นโครงสร้างที่เปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มประเภทมีส่วนร่วมในการพัฒนา และอำนาจหน้าที่แตกต่างจากเดิม เปรียบเสมือนกับเป็นสภาเล็กในสภาใหญ่จากส่วนกลาง ที่สามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายที่จะลง และมีอำนาจตรวจสอบการทำงาน ยังมีอำนาจในการแต่งตั้งอนุกรรมการในการตรวจสอบเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และการมีอำนาจอย่างแท้จริงมิใช่อยู่ในตัวบทกฎหมายเท่านั้นนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นจริง เมื่อกลุ่มต่างๆ เข้ามานั่งตรงนี้ ทำให้สภาที่ปรึกษาฯทำงานได้อย่างเต็มที่จริงๆ จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ถูกต้องตามความจำเป็นและความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะบุคคลที่เข้ามาอยู่ตรงจุดนี้ล้วนเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ ส่วนความคาดหวังที่จะได้มานั่งในสภาที่ปรึกษาฯ นายอับดุลรอนิ กล่าวว่า ก็ได้เดินสายเพื่อไปทำความรู้จักกับกลุ่มเดียวกันในต่างจังหวัดก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ในส่วน 2 จังหวัด ปัตตานีและนราธิวาสได้มีการพูดคุยและส่งตัวผมเพื่อลงเพียงคนเดียวเพื่อจะได้มีคะแนนเสียงที่มากกว่าผู้สมัครรายอื่น จะมีการลงคะแนนเสียงคัดเลือกผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามสาขาและประเภทต่างๆ ได้แก่ ผู้แทนโรงเรียนปอเนาะ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ผู้แทนกลุ่มสตรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บุคลากรทางการศึกษา ผู้ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาสังคมและสื่อมวลชน ตามภูมิลำเนาของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน ในวันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน 2554 ตั้งแต่เวลา 08.00 – 15.00 น. สถานที่ลงคะแนน ณ ศาลากลางจังหวัด สำนักงานคณะกรรมอิสลามประจำจังหวัด สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนประจำจังหวัด สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และศาลาประชาคมอำเภอ ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับเจ้าอาวาสในพระพุทธศาสนา ผู้แทนศาสนาอื่น หอการค้า และสภาอุตสาหกรรม จะดำเนินการประชุมและคัดเลือกกันเอง ....................... สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอำนาจหน้าที่ที่ได้ระบุไว้ในมาตรา 23 พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ มากพอสมควรนับตั้งแต่การ ให้ความเห็นในนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติจัดทำหรือปรับปรุงเพื่อเสนอสภาความมั่นคงแห่งชาติพิจารณา การให้คำปรึกษา เสนอแนะ ร่วมมือ และประสานงานกับ ศอ.บต. ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ การตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ของ ศอ.บต. แล้วรายงานต่อเลขาธิการ และนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบ การให้ความเห็นในเรื่องที่นายกรัฐมนตรี หรือเลขาธิการเห็นว่า สมควรได้รับฟังความคิดเห็นของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อประกอบการพิจารณาในการบริหาร การพัฒนา และการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การแสวงหาข้อเท็จจริง ข้อมูลข่าวสาร หรือข้อคิดเห็นจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อใช้ประกอบการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ การเสนอความเห็นต่อเลขาธิการเพื่อประกอบการพิจารณาในการสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือนออกไปจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามมาตรา 12 และหากมีกรณีฉุกเฉินหรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ประธานสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเสนอความเห็นไปก่อนก็ได้ แล้วรายงานให้สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทราบโดยเร็ว การพิจารณาเรื่องร้องเรียนของประชาชนที่เกี่ยวกับปัญหาความไม่เป็นธรรมหรือได้รับความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อการนี้อาจเชิญเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นหรือให้จัดส่งเอกสารหรือข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น การแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือหรือปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม และออกระเบียบเกี่ยวกับการประชุมและระเบียบอื่นที่จำเป็นในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่ต้องไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ว่างลงหรือพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุใดก็ตาม ให้ดำเนินการคัดเลือกและแต่งตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท