สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 27 มี.ค. - 2 เม.ย. 2554

รัฐเทอีก ขึ้นเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจ อีก 5% มีรายงานว่า ในการประชุมครม.วันที่ 28 มี.ค.นี้ ทางกระทรวงแรงงานเสนอให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบให้ปรับอัตราค่าจ้างรัฐวิสาหกิจ (ไม่เกินร้อยละ 5) ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ครั้งที่2/2554วันที่ 21 ก.พ.2554 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2554 เป็นต้นไป ทั้งนี้การพิจารณาปรับอัตราค่าจ้าง ของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ แต่ละแห่งให้คำนึงถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานและผลกระทบต่อต้น ทุนและอัตราค่าบริการที่จะเกิดขึ้นและให้คงสัดส่วนของรายจ่ายด้านบุคลากรต่อ รายได้ให้คงอยู่ในอัตราเดิมโดยไม่เป็นการผลักภาระให้ประชาชนและไม่กระทบต่อ การจัดเก็บรายได้ของกระทรวงการคลัง ในการนำรายได้ส่งคลังแผ่นดิน โดยแบ่งเป็น 3กลุ่มรัฐวิสาหกิจ ดังนี้ กลุ่มที่ 1.รัฐวิสาหกิจ 13 แห่ง อาทิ ที่ ครม.เคยมีมติให้สามารถกำหนดอัตราเงินเดือนค่าจ้างและสวัสดิการเองได้ตามม. 13(2)แห่งพ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ อาทิ บมจ.ปตท. บมจ.กสท บมจ.ทีโอที บมจ.อสมท และบมจ.การบินไทย เป็นต้น ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการรัฐวิสากิจแต่ละแห่งเป็นผู้พิจารณา หากจะปรับค่าจ้างให้ปรับได้ไม่เกินร้อยละ5 โดยใช้เงินงบประมาณของรัฐวิสาหกิจนั้น กลุ่มที่ 2 รัฐวิสาหกิจ 16 แห่งที่ใช้บัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนค่าจ้างเป็นของตนเอง อาทิ กฟน กฟผ. กฟภ. ธกส. ธอส ธนาคารออมสิน เป็นต้น ให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งพิจารณาปรับค่าจ้างของลูกจ้างทุกตำแหน่ง ไม่เกินร้อยละ5 ยกเว้นตำแหน่งผู้บริหารซึ่งใช้สัญญาจ้างและลูกจ้างระดับผู้บังคับบัญชาซึ่ง ใช้สัญญาจ้างที่มีระยะเวลากำหนดไว้ โดยให้เงินงบประมาณของแต่ละรัฐวิสาหกิจเองกรณีมีการปรับค่าจ้างแล้วอัตราใด เกินอัตราขั้นสูงสุดแล้ว และกลุ่มที่ 3 รัฐวิสาหกิจ 36 แห่งที่ใช้บัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนค่าจ้าง 58 ขั้น ตามประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ อาทิ การทางพิเศษฯ กปน. กปภ. การรถไฟฯ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท ขนส่ง จำกัด ขสมก. เป็นต้น ให้ปรับค่าจ้างของลูกจ้างทุกตำแหน่งในอัตราร้อยละ 5 ของอัตราที่ได้รับ ยกเว้นตำแแหน่งผู้บริหารซึ่งใช้สัญญาจ้างและลูกจ้างระดับผู้บังคับบัญชาซึ่ง ใช่สัญญาจ้างที่มีระยะเวลากำหนดไว้ โดยใช้เงินงบประมาณของแต่ละรัฐวิสาหกิจเอง ทั้งนี้โครงสร้างอัตราเงินเดือนค่า จ้าง 58 ขั้น ที่ปรับใหม่แล้วปรากฎดังนี้ เงินเดือนค่าจ้าง ขั้นต่ำ ลำดับที่1- ลำดับที่ 4 เดิมร้อยละ 4 ตามมติครม.2ต.ค.50 อยู่ที่ 5,510 เพิ่มเป็น 5,790 ขั้นกลาง ลำดับที่ 29 จากเดิม 22,860 เป็น 24,010 ขั้นสูงลำดับที่ 58 จากเดิม 113,520 เป็น119,200 (ไทยรัฐ, 28-3-2554) จับนายหน้าตุ๋นแรงงานไปทำงานลิธัวเนีย วันนี้ 28 มี.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผบก.ป. สั่งการ พ.ต.ท.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ รอง ผกก.1 บก.ป. พ.ต.ท.สิทธิเกียรติ ศรีจันทร์ สว.กก.1 บก.ป.นำกำลังเข้าจับกุม นายเด่นภูมิ ทาแก้ว อายุ 37 ปี อยู่บ้านเลขที่ 32 หมู่ 5 ต.วังปลาป้อม อ.นาวัง จ.หนองบัวลำภู ตามหมายจับศาลจังหวัดธัญบุรี ข้อหา ร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศโดยการหลอกลวงนั้นได้ไป ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง และร่วมกันฉ้อโกง จับกุมได้ที่ไซส์งานของบริษัทแห่งหนึ่งใน ต.หนองแฟบ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ทั้งนี้ สืบเนื่องจากผู้ต้องหาได้ร่วมกับภรรยา คือ น.ส.อุมารินทร์ จอมทรักษ์ อายุ 34 ปี ซึ่งถูกจับกุมตัวไปก่อนหน้านี้ หลอกลวงผู้เสียหายที่เป็นคนงานจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ว่า สามารถส่งไปทำงานเกษตรกรรมที่ประเทศลิธัวเนีย โดยเรียกเก็บเงินค่าดำเนินการรายละ 50,000 บาท เหตุเกิดในพื้นที่ ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2550-ธันวาคม 2551 ต่อเนื่องกัน แต่ภายหลังคนงานที่เดินทางไปกลับไม่ได้ทำงานตามที่มีการกล่าวอ้าง ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของประเทศลิธัวเนีย จับกุมและส่งตัวกลับประเทศไทย จากนั้นทั้งหมดจึงพากันเข้าร้องเรียนต่อกระทรวงแรงงาน และแจ้งความกับตำรวจท้องที่ต่างๆ กระทั่งต่อมา น.ส.อุมารินทร์ ถูกจับกุมตัวได้ ส่วนผู้ต้องหาพบว่ามีหมายจับติดตัวอยู่ถึง 16 หมาย ในข้อหาเดียวกัน และหลังจากก่อเหตุได้หลบหนีไปทำงานอยู่ที่ จ.ระยอง ก่อนจะถูกจับกุมดังกล่าว อย่างไรก็ดี จากแนวทางการสืบสวนเจ้าหน้าที่ยังเชื่อว่ามีผู้ร่วมกระทำความผิดด้วย และมีผู้เสียหายอีกหลายสิบรายที่ยังไม่ได้แจ้งความดำเนินคดี รวมมูลค่าเสียหายกว่า 4 ล้านบาท สอบสวนเบื้องต้นผู้ต้องหาให้การปฏิเสธโดยอ้างว่า น.ส.อุมารินทร์ เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหาแรงงานทั้งหมด ตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ส่วนสาเหตุที่ภรรยารับจัดหาคนงานน่าจะเป็นเพราะเคยไปทำงานต่างประเทศมาก่อน เมื่อมีผู้สนใจมาสอบถามจึงให้คำแนะนำ ส่วนกรณีที่มีการเรียกเก็บเงินตนก็ไม่ทราบเรื่อง ทั้งนี้ ชุดจับกุมได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ จ.ปทุมธานี รับไว้ดำเนินคดีและขยายผลจับกุมต่อไป (เดลินิวส์, 28-3-2554) ไฟเขียวร่าง พ.ร.ฎ.จ่ายเงินสมทบผู้ประกันตนนอกระบบ นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม. ) อนุมัติเรื่องการปฏิบัติการคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ ตามข้อเสนอของกระทรวงแรงงาน ที่เสนอให้ร่างพ.ร.ฏกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่ง สมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ... มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2554 ทั้งนี้ร่างพ.ร.ฎ.ดังกล่าว มีสาระได้แก่ การกำหนดให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของผู้ประกันตน ซึ่งมิใช่ลูกจ้าง พ.ศ. 2537 , การกำหนดคำนิยามคำว่า “ผู้ประกันตน” “เงินสมทบ” และ “สำนักงาน” ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น , การกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน,การกำหนดให้ผู้ประกันตน จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเป็นรายเดือนโดยกำหนดให้จ่ายเดือนละครั้ง นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้ประกันตนซึ่ง จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละ 100 บาท ได้รับประโยชน์ทดแทน 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีตาย และกำหนดให้ผู้ประกันตนซึ่งจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละ 150 บาท ได้รับประโยชน์ทดแทน 4 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีชราภาพ และกำหนดให้ผู้ประกันตนที่ถึงแก่ความตาย ให้ทายาทหรือบุคคลที่ระบุไว้มีสิทธิได้รับค่าทำศพ ร่างพ.ร.ฎ. ยังกำหนดให้ผู้ประกันตนซึ่งได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บ ป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ และกรณีตาย หากมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ในกรณีเดียวกัน ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนได้เพียงกรณีเดียวเป็นต้น (โพสต์ทูเดย์, 29-3-2554) สสส.จับมือ รง.ยกระดับทรัพยากรแรงงาน วันนี้ (28 มี.ค.)ที่โรงแรมปริ้นตั้น พาร์ท สวีท กรุงเทพฯ ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ Decent Work by Happy Workplace โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย โดย นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันทุกประเทศให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นลำดับต้นๆ หากประเทศใดไม่ให้ความสำคัญ จะทำให้เสียเปรียบการพัฒนาในทุกด้าน สูญเสียโอกาสในเวทีการแข่งขันทางการค้า การลงทุน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงมีนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ในสถานประกอบการ หรือ Long Life Learning เพื่อนำไปสู่ Decent Work หรือการมีสัมมาชีวะ ซึ่งต้องพัฒนาควบคู่กับการพัฒนาทัศนคติและการสร้างวัฒนธรรมที่ดีขององค์กร เพื่อให้คนในองค์กรมีการทำงานที่ดีและชีวิตมีความสุข ทั้งนี้ การลงนามข้อตกลงในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานร่วมกันในรูปแบบ Decent Work ควบคู่กับ Happy Work Place หรือ องค์กรแห่งความสุข ของ สสส.และสมาคมการจัดการงานบริหารบุคคลแห่งประเทศไทย เข้ามาร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อนำไปสู่แผนปฏิบัติการที่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมต่อไป และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้าน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ทรัพยากรบุคคลเป็นสิ่งสำคัญมากในองค์กร จากการประเมินองค์กรต่างๆ ในประเทศไทย พบว่า 10% ตระหนักว่า ทรัพยากรบุคคลเป็นเรื่องสำคัญ และเตรียมแผนรองรับเพื่อนำไปสู่การพัฒนา ส่วนอีก 90% ทราบว่า เป็นเรื่องสำคัญแต่ยังไม่มีแผนการจัดการพัฒนาบุคลากรรองรับ ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้บริหารองค์กรต่างๆ ที่จะพัฒนาทรัพยากรบุคคล ให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีภายในองค์กรและนำไปสู่องค์กรแห่งความสุขในที่สุด ทพ.กฤษดา กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือ Decent Work by Happy Workplace ระหว่าง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน สมาคมการบริหารจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย และ สสส. ถือเป็นการเชื่อมโยงและบูรณาการความร่วมมือ ระหว่าง 3 หน่วยงาน ให้เกิดประโยชน์ต่อสถานประกอบการ และสาธารณชน และนำไปสู่การจัดกิจกรรมร่วมกัน เช่น 1.การจัดสัมมนาเชิงวิชาการ สร้างเครือข่ายการทำงาน เพื่อให้เกิดการจัดการองค์ความรู้ 2.ขยายองค์ความรู้ไปสู่สาธารณะ 3.จัดกิจกรรมด้านมาตรฐานฝีมือแรงงาน 4.ขยายโครงการนำร่องการอบรมนักบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลมืออาชีพ และ5.พัฒนาศักยภาพบุคลากรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน “การก้าวไปสู่องค์กรแห่งความสุข หรือ Happy workplace จำ เป็นต้องประกอบด้วย องค์กรให้ความสำคัญกับพนักงาน ออกแบบองค์กรรองรับความต้องการของพนักงาน จะสร้างความสมดุลของคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีให้กับพนักงาน หรือสร้างให้พนักงานเกิดสุขภาวะและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีนำไปสู่การทำ งานที่มีประสิทธิภาพ “งานได้ผล คนมีความสุข” ก็จะกลายเป็นองค์กรแห่งความสุขอย่างแท้จริง” ทพ.กฤษดา กล่าว นายฉัตรพงษ์ วงษ์สุข นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย เป็นสมาคมวิชาชีพสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ โดยการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรของไทย ให้มีความสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ และยกระดับวิชาชีพการบริหารงานบุคคลให้ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง โดยให้บุคลากรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและองค์กรต่างๆ ได้รับความรู้ความเข้าใจงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มากขึ้น พร้อมนำความรู้ไปส่งเสริมและสร้างแนวทางการพัฒนาบุคลากรให้กับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้มีความพร้อมในการรับมือกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้น (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28-3-2554) แรงงานไทยได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นกว่าแสนคน นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ที่ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทย จากสถานประกอบการที่มีเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นเป็นชาวญี่ปุ่น 767 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 471,476 คน พบว่า ได้รับผลกระทบ 325 แห่ง ลูกจ้าง 108,808 คน ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการ ผลิตชิ้นส่วน และประกอบรถยนต์ ผลิต และจำหน่ายชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ จำหน่าย และซ่อมรถยนต์ ผลิตสายไฟฟ้า และ อาหาร ซึ่งจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเป็น 5 อันดับแรก คือ จังหวัดสมุทรปราการ 307 แห่ง ลูกจ้าง 99,600 คน พระนครศรีอยุธยา 1 แห่ง ลูกจ้าง 4,135 คน กรุงเทพมหานคร 11 แห่ง ลูกจ้าง 2,650 คน พิษณุโลก 1 แห่ง ลูกจ้าง 1,095 คน และ บุรีรัมย์ 1 แห่ง ลูกจ้าง 507 คน ส่วนมาตรการแก้ปัญหาในเบื้องต้น คือ ลดการทำงานล่วงเวลา ลดกำลังการผลิต ลดวันทำงาน หรือใช้มาตรา 75 ในการหยุดงาน แต่นายจ้างยังคงจ่ายค่าจ้างในอัตราร้อยละ 75 ของอัตราเงินเดือน อย่างไรก็ตามเชื่อว่า สถานการณ์จะคลี่คลายโดยเร็ว และจะไม่มีการปลดคนงาน เพราะสถานประกอบการที่กระทบส่วนใหญ่ ต้องการลูกจ้างฝีมือ อีกทั้งประเทศญี่ปุ่น มีนโยบายในการฟื้นฟูประเทศที่ชัดเจน ด้านอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครอง แรงงาน กล่าวอีกว่า มีสถานประกอบการประเภทอาหารและเกษตรแปรรูป ในจังหวัดเชียงใหม่ และผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในจังหวัดชลบุรี ที่ได้รับผลกระทบในเชิงบวก เนื่องจากบริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่น ไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนหรือสินค้าได้ จึงให้บริษัทลูกในประเทศไทย ผลิตแทน โดยเพิ่มเวลาการทำงานให้กับพนักงานจาก 2 กะเป็น 3 กะ ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้ให้อีกทางหนึ่ง (สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 29-3-2554) แรงงานขอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกร้อยละ 5 ตามรัฐวิสาหกิจ นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง กล่าวว่า ได้กำชับให้ฝ่ายเลขาฯ ของคณะอนุกรรมการฯ ค่าจ้างจังหวัดเร่งจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานในการนำมาพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปีให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้ โดยให้ศึกษารายละเอียดถึงค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพที่แท้จริงของแต่ละพื้นที่ ทั้งอัตราเงินเฟ้อ ค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่ายานพาหนะ รวมถึงเงินที่ใช้ไปในกิจกรรมสันทนาการ อาทิ เงินทำบุญ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาว่าจะมีความจำเป็นในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก ครั้งในช่วงกลางปีหรือไม่ หลังจากที่ในช่วงนี้ ราคาสินค้าที่จำเป็นหลายตัวทยอยปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้จะใช้เป็นฐานในการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างในช่วงปลายปีด้วย เนื่องจากที่ผ่านมา ตัวเลขค่าใช้จ่ายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานในหลายจังหวัด ซึ่งนำมาเป็นฐานคิดค่าจ้างขั้นต่ำครั้งที่ผ่านมา ถูกตั้งคำถามว่าเป็นตัวเลขที่ถูกต้องหรือไม่ ด้านนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมาฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า คณะกรรมการค่าจ้างกลางควรจะมีการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่โดย เร็ว อย่างช้าสุดช่วงกลางปีนี้ เพราะขณะนี้ค่าครองชีพของผู้ใช้แรงงานพุ่งสูงขึ้นมาก ตามราคาสินค้าที่สูงขึ้น อย่างน้อยต้องมีการปรับขึ้นอีกร้อยละ 5 ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างของพนักงานรัฐวิสาหกิจในวันที่ 1 เมษายนนี้ ส่วนในระยะยาว จะต้องเร่งปรับโครงสร้างราคาค่าจ้างที่เป็นธรรม ตามฝีมือและระยะเวลาในการทำงาน ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์กำลังเร่งจัดทำโครงสร้างค่าจ้างใหม่และจะนำเสนอให้ กระทรวงแรงงานพิจารณาภายในเดือนพฤษภาคมนี้ (สำนักข่าวไทย, 30-3-2554) ชมรมพิทักษ์สิทธิ์ฯ ขู่หยุดส่งเงินสมทบในส่วนค่ารักษาก่อนวันแรงงาน นายนิมิตร์ เทียนอุดม เลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิ์ผู้ประกันตน กล่าวว่า ในวันนี้ได้ยื่นหนังสือถึงนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้เร่งดำเนินการนำเงินสมทบในส่วนรักษาพยาบาลและคลอดบุตรไปใช้ใน สิทธิประโยชน์ชราภาพ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ชมรมพิทักษ์สิทธิฯ ได้เรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เร่งดำเนินการยกเลิกเก็บเงินสมทบในส่วนค่ารักษาพยาบาลและคลอดบุตร จากผู้ประกันตนและนายจ้างโดยด่วนภายใน 30 วัน โดยให้นำส่วนที่เป็นค่ารักษาพยาบาลและคลอดบุตรไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกัน ชราภาพแทน เนื่องจากผู้ประกันตนไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านสุขภาพและยังได้รับสิทธิ ประโยชน์ในการรักษาพยาบาลน้อยกว่าระบบบริการสุขภาพอื่น ๆ ประกอบกับการวินิจฉัยจากผู้ตรวจการแผ่นดินได้ให้ สปส.พิจารณาหยุดเก็บเงินสมทบจากผู้ประกันตนภายใน 30 วัน แต่จนถึงขณะนี้สปส.ยังไม่ยอมดำเนินการ จึงเรียกร้องให้ รมว.แรงงาน เร่งดำเนินการในเรื่องดังกล่าวภายใน 30 วัน หากไม่มีการดำเนินการตามข้อเรียกร้อง ชมรมพิทักษ์สิทธิฯ จำเป็นต้องดำเนินการหยุดส่งเงินสมทบค่ารักษาพยาบาลและคลอดบุตร ก่อนวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ และจะถือว่า รมว.แรงงาน ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วย ด้านนายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของชมรมพิทักษ์สิทธิฯ ให้นำเงินค่ารักษาพยาบาลไปสมทบกับกองทุนชราภาพนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องทำตามกฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคม หากยังไม่มีการแก้ไข สปส.ก็ไม่สามารถตัดสินใจได้ ทั้งนี้ หากกฎหมายมีความชัดเจน สปส.ก็พร้อมปฏิบัติตามทันที และส่วนตัวต้องการให้มีความชัดเจนโดยเร็ว จะได้ไม่ต้องสร้างความสับสนให้ผู้เกี่ยวข้อง (สำนักข่าวไทย, 30-3-2554) รมว.แรงงาน เชื่อ พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไข จะมีผลบังคับใช้ทันการเลือก บอร์ด สปส.ชุดใหม่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการประกันสังคม หรือ บอร์ด สปส. จะหมดวาระในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งผู้นำแรงงานและนักวิชาการต่างออกมาเคลื่อนไหวให้มีการเลือกตั้งบอร์ด สปส.ชุดใหม่ โดยให้ผู้ประกันตรงเลือกโดยตรง ว่า ในร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับแก้ไขใหม่ ได้เปลี่ยนแปลงกระบวนการการเลือกตั้งไปมาก โดยให้บอร์ด สปส.มาจากการเลือกตั้งของกลุ่มผู้ประกันตนโดยตรง คาดว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะกลับเข้าสภาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า และเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในเร็วๆ นี้ ซึ่งภายใน 1 เดือน คงจะแล้วเสร็จ เชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้น่าจะนำมาใช้ได้ทันในการเลือกตั้งบอร์ดชุดใหม่นี้ ส่วนเรื่องที่มีบางองค์กรเคลื่อนไหวไม่ให้จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคม กรณีรักษาพยาบาล เพราะมองว่าเป็นความเหลื่อมล้ำและต้องการให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้ดูแลงานด้านนี้ทั้งหมด นั้น เรื่องนี้ได้มีการหารือกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไปบ้างแล้ว ซึ่งตนเองเสนอว่าน่าจะให้เป็นสิทธิของผู้ประกันตนทั้ง 9 ล้านคนในการตัดสินใจ แทนที่จะเป็นผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวในขณะนี้ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะตอบคำถามแทนผู้ ประกันตนทั้งหมดได้หรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ทางออกที่ดีสำหรับเรื่องนี้คือควรมีการแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับ คือ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้สิทธิ์ประชาชนเป็นผู้เลือกด้วยตัวเอง นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังแนะว่าต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์ การให้บริการแก่ผู้ประกันตนซึ่ง สปส.กำลังดำเนินการอยู่ และพัฒนาระบบประกันสังคม ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้ทำโครงการโรงพยาบาลตัวอย่าง 5-6 แห่ง (สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์, 31-3-2554) นักวิชาการจี้รัฐขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำกลางปีชดเชยราคาสินค้าพุ่ง เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิอารมณ์พงศ์พงันร่วมกับกระทรวงแรงงาน จัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง “ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ : แรงงานไทยดีจริงหรือ?” โดยนาย สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า คำถามที่ว่าการปรับเพิ่มค่าจ้างขึ้นดีหรือไม่นั้น หากดูภาพรวมของสังคมจะเห็นว่ามีข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีคือเป็นการสร้างหลักประกัน ทางรายได้ให้แรงงานที่เข้าทำงานใหม่ซึ่งทำให้คนมีกำลังใจในการทำงาน แต่จะไปกระทบต่อต้นทุนสินค้าโดยเฉพาะกิจการที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ซึ่งโดยทั่วไปไม่มีผลกระทบมากนัก แต่มีผลในแง่จิตวิทยา และทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นการเพิ่มค่าจ้างให้ทุกปีทำให้ไม่รู้สึกขวน ขวายในการพัฒนาตัวเอง และส่งผลกระทบต่อผลิตภาพของประเทศโดยภาพรวม นายสมเกียรติกล่าวว่า ทำอย่างไรให้เรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นต้องมอง เรื่องหลักการการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยอิงมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือไอแอลโอ โดยคิดค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับ 1 คน แต่ไอแอลโอบอกว่าค่าจ้างขั้นต่ำต้องรวมถึงครอบครัวด้วย ดังนั้นจึงต้องพิจารณามุมมองตรงนี้ด้วย นายสมเกียรติกล่าวต่อว่า รายได้ของลูกจ้างเฉลี่ยใน กทม.อยู่ที่วันละ 303 บาท แต่ที่กระทรวงแรงงานกำหนดไว้คือวันละ 215 บาท ซึ่งส่วนเกินของรายได้มาจากการทำงานล่วงเวลา แต่การได้รายได้เพิ่มเช่นนี้ก็ต้องสูญเสียบางอย่างในชีวิต เช่น เวลาที่อยู่กับครอบครัวหายไป เนื่องจากต้องทำงานล่วงเวลา อย่างไรก็ตามการขึ้นค่าจ้างจำเป็น ต้องค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบมาก และก็จำเป็นต้องส่งสัญญาณว่าปีต่อไปก็จะให้ความสำคัญกับตรงนี้มากขึ้น เรื่องการปรับค่าจ้างตนได้รับการบังคับจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานให้ควบคุมดูแล แรงงานต่างด้าวให้ได้รับค่าจ้างเท่ากับแรงงานไทย ซึ่งลำบากใจมาก เพราะค่าจ้างแรงงานไร้ฝีมือของไทยเกือบสูงสุดในแถบอาเซียน ทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานมากขึ้น (เนชั่นทันข่าว, 31-3-2554) “มาร์ค” ชี้ ปรับขึ้นเงินเดือน ขรก. หวังช่วยเผชิญค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่วนค่าแรงขั้นต่ำ รอไปก่อน เมื่อเวลา 11.15 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีมอบเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติข้าราชการ พลเรือนดีเด่น ประจำปี 2553 เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน ประจำปี 2553ถึงกรณีการปรับขึ้นค่าเงินเดือนของข้าราชการเป็นวันแรก จะกระทบต่อเศรษฐกิจหรือไม่ ว่า เราหวังว่าจะช่วยพี่น้องข้าราชการและบุคลากรในภาครัฐ เพราะว่าค่าครองชีพสูงขึ้น เราจึงปรับขึ้นเพื่อที่จะให้สามารถเผชิญหน้าสถานการณ์ค่าครองชีพได้ ส่วนเรื่องของการปรับขึ้นค่าแรง แรงงานขั้นตำนั้น ขณะนี้กำลังพยายามทำความเข้าใจกันอยู่ เพราะว่าทางภาคธุรกิจเองได้ให้ความสนใจกับเรื่องนี้แล้ว และแนวคิดตรงนี้ตนคิดว่าจะได้รับการยอมรับมากขึ้น อาจจะใช้เวลาหน่อย เพราะเรื่องของคาแรงต้องเห็นชอบกัน 3 ฝ่าย (แนวหน้า, 1-4-2554) ศอ.บต.ชงครม.แจกค่าตอบแทนพิเศษลูกจ้างรัฐ 4.2 หมื่นคน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 4 เม.ย. กระทรวงการคลัง ขอความเห็นชอบการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่องการจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษรายเดือนให้แก่ผู้ปฏิบัติงานภาครัฐอื่นๆ ที่ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นไปตามผลการประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง การจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษรายเดือนให้แก่ผู้ปฏิบัติงานภาครัฐอื่นๆ ที่ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ส่วนราชการต่าง ๆ ถือปฏิบัติ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 54 ได้มีมติเป็นต้นไป โดยใช้เงินงบประมาณของส่วนราชการในงบดำเนินงานหรือเงินอื่นใด ตามระเบียบหรือหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานกำหนด ทั้งนี้ กระทรวงการคลังรายงานว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้มีหนังสือถึงกระทรวงการคลังขอให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (11 พ.ย. 51) โดยแจ้งข้อมูลจำนวนลูกจ้างในสังกัดส่วนราชการต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ จำนวน 42,408 คน ส่วนใหญ่จะเป็นลูกจ้างเหมาบริการ ลูกจ้างตามโครงการต่าง ๆ โดย ศอ.บต. เห็นว่า ไม่มีข้อจำกัดในการให้บุคคลใดได้รับสิทธิและเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ บุคคลดังกล่าว จึงส่งข้อมูลที่ได้รับแจ้งทั้งหมดมายังกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาดำเนินการ กระทรวงการคลังพิจารณาเห็นว่า เพื่อให้ได้ข้อยุติในการพิจารณา เรื่องการจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษรายเดือนให้แก่ผู้ปฏิบัติงานภาครัฐอื่น ๆ ที่ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อนนำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี จึงได้มีการจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวไป แล้ว 3 ครั้ง โดยมีมติดังนี้ 1. ให้แต่ละส่วนราชการที่มีระเบียบเกี่ยวกับเงินรายได้อยู่แล้วปรับแก้ไข ระเบียบกำหนดให้สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัด ชายแดนภาคใต้ได้ตามความเหมาะสมในแต่ละประเภทงานและข้อเท็จจริงและกรณีส่วน ราชการที่ดำเนินการจ้างเป็น Unit Cost ให้ปรับ Unit Cost เฉพาะในเขตพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สุงกว่าในเขตพื้นที่ปกติทั่วไปโดยระบุเป็นเงื่อนไข พิเศษ หรือกรณีจ้างแรงงานทั่วไปที่ทำงานในพื้นที่ก็ให้พิจารณากำหนดอัตราค่าจ้าง เพิ่มขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ เรื่องดังกล่าวสำหรับกรณีที่ส่วนราชการที่ได้รับเงินอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่าย รายหัวต่อคนจากรัฐในการบริหารจัดการ ก็สามารถขอเพิ่มเงินอุดหนุนต่อ สงป. ได้ อย่างไรก็ตาม การขอเพิ่มเงินอุดหนุนดังกล่าวต้องเท่าที่จำเป็น 2. มอบหมายให้ กค. โดยกรมบัญชีกลางรายงานผลการพิจารณา เรื่อง การจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษรายเดือนให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน ภาครัฐอื่นๆ ที่ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษรายเดือนให้คณะรัฐมนตรีทราบ. (ไทยรัฐ, 1-4-2554) เมินเสียงค้านไม่เหมาะ บอร์ดเมย์เดย์ตะแบง ประกวดธิดาแรงงาน อ้างหา 'พรีเซ็นเตอร์' นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2554 เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 เมษายนว่า มติในที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานฯ ยืนยันที่จะจัดการประกวดเทพธิดาแรงงานต่อไป เพราะการประกวดังกล่าว ไม่ได้สร้างความเสื่อมเสียให้แรงงานหญิงแต่อย่างใด แต่เป็นการทำตามนโยบายของรัฐบาลในการเฟ้นหาตัวแทนผู้ใช้แรงงาน เพื่อมาเป็นพรีเซนเตอร์ผู้ประกันตนมาตรา 40 หรือ แรงงานนอกระบบ ใช้งบประมาณจำนวน 5 แสนบาท จากงบกลางในการประชาสัมพันธ์ดึงแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมของ รัฐบาล ไม่เกี่ยวกับเงินของสำนักงานประกันสังคม หรือกระทรวงแรงงานแต่อย่างใด นายชินโชติกล่าวด้วยว่า ปีนี้แรงงานมีข้อเรียกร้อง 9 ข้อ ที่จะยื่นต่อรัฐบาล และคาดหวังว่าข้อเรียกร้องปีนี้จะได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลอย่างเป็น รูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องค่าจ้างที่นายกรัฐมนตรีออกมาพูดบ่อยครั้งว่าจะปรับให้สูงขึ้น กว่าร้อยละ 25 ภายใน 2 ปี รวมทั้งการรับรองอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 และการปฏิรูประบบประกันสังคม ซึ่งเห็นว่ารัฐบาลสามารถดำเนินการได้ทันที นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ในอัตราร้อยละ 50 เพื่อจูงใจให้แรงงานนอกเข้าสู่ระบบมากขึ้น ในส่วนงบประมาณการจัดงานที่ขอเพิ่มไป 3 ล้านบาทนั้น นายชินโชติชี้แจงว่า กว่าร้อยละ 90 นำไปใช้ในการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระชนมมายุ 84 พรรษา และใช้ถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ รวมทั้งเป็นงบจัดงานในส่วนภูมิภาคอีก 5 แสนบาทด้วย ผู้สื่อข่าวข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมถกเถียงกันมากถึงเรื่องการทำหนังสือชี้แจงไปยังกลุ่มบูรณาการแรง งานสตรี และหน่วยงานที่ไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการประกวดเทพธิดาแรงงาน ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่ควรทำหนังสือชี้แจง เพราะเป็นการต่อความยาวสาวความยืดไม่จบ แต่ได้เสนอให้แถลงผ่านสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม มีตัวแทนจากสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ตั้งคำถามถึง นายชีวเวช เวชชาชีวะ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นผู้ที่จัดงบประมาณในส่วนการประกวดเทพธิดาแรงงานถึงเหตุผลที่ต้องจัด ประกวดธิดาแรงงาน เพราะทำให้คณะกรรมการฯถูกสังคมโจมตี นอกจากนี้ยังตั้งคำถามไปยัง นางสุนีย์ ไชยรส รองประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีด้วยว่า ทำไมต้องออกมาโจมตีผ่านสื่อ แทนที่จะมาคุยกันในที่ประชุม เพราะทำให้เห็นถึงความแตกแยกของกลุ่มแรงงาน (บ้านเมือง, 2-4-2554)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท