Skip to main content
sharethis

เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมหนองแซง-ภาชี พ้อหน่วยราชการออกใบอนุญาตแล้วทิ้งประชาชนเผชิญชะตากรรม รับผลกระทบโครงการโรงไฟฟ้าในพื้นที่ จวกอุตสาหกรรมจังหวัดทำได้แค่รับเรื่อง บริษัทฯ ไม่ส่งคนเข้าร่วม สรุปนัดตัวแทนทุกหน่วยงานลงพื้นที่ 8 เม.ย.นี้ 1 เม.ย.54 เวลา 14.00 น.ห้องประชุมสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมกรุงเทพฯ นั่งเป็นประธาน เปิดการประชุม รับเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมหนองแซง-ภาชี ที่ร้องเรียนว่า บริษัทเจ้าของโรงไฟฟ้าหนองแซง กำลังการผลิต 1600 เมกกะวัตต์ คือ บริษัทเพาเวอร์เจเนอเรชั่นซัพพลาย จำกัด ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท กัลฟ์ เจพี เอนพีเอส ได้ว่าจ้างผู้รับเหมา ทำการปรับถมที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซงตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2554 ตามที่ได้รับใบอนุญาตเมื่อปี 2553 จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามการพิจารณาเบื้องต้นของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้สร้างผลกระทบต่อชาวบ้าน ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมนำโดยนายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี และนางปฐมมน กัณหา พร้อมชาวบ้านประมาณ 20 คน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี ตัวแทนจากกรมโรงงาน กรุงเทพฯ ตัวแทนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ หรือ สผ.(ผู้อนุมัติ อีไอเอ) ผู้อำนวยการฝ่ายออกใบอนุญาตสำนักงานคณะกรรมกำกับกิจการพลังงาน และตัวแทนจากสำนักงานกำกับกิจการพลังงานเขตสระบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้ไม่ใช่การประชุมตรวจการปฏิบัติตามอีไอเอ เพราะบริษัทผู้ปฏิบัติไม่มาร่วมประชุมด้วยจึงไม่สามารถตรวจการปฏิบัติตามอีไอเอได้ เพราะต้องฟังบริษัทชี้แจงด้วย ด้านอุตสาหกรรมจังหวัดระบุว่าการประชุมครั้งนี้สืบเนื่องจากการที่เจ้าหน้าที่ราชการทั้งหมดไปประชุมตรวจการปฏิบัติตาม อีไอเอ ของโรงฟ้า 2 โรงในเครือบริษัทกัลฟ์ฯ คือที่โรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 อ.แก่งคอย มาเมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ และได้ทำจดหมายเชิญตัวแทนชาวบ้านหนองแซงไปตรวจอีไอเอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซงซึ่งมีเจ้าของเดียวกัน ที่ห้องประชุมโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 แต่เครือข่ายชาวบ้านไม่ไป โดยให้เหตุผลว่าสถานที่ไม่เป็นกลาง และเกรงบริษัทถ่ายรูปชาวบ้านไปลงจุลสารของบริษัทเหมือนที่บริษัทเคยทำมาแล้วตอนที่ตุลาการศาลปกครองลงเผชิญสืบในพื้นที่เมื่อปีที่แล้ว เพื่อโฆษณาว่าบริษัทสามารถทำความเข้าใจกับกลุ่มคัดค้านได้แล้ว อุตสาหกรรมจังหวัดจึงยินยอมมาเปิดประชุมที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ชั่วโมงแรกของการประชุมเริ่มต้นด้วยการปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมโรงงานอุตสาหกรรม, สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมรวมทั้งเจ้าหน้าที่ทรัพยากรจังหวัด และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และตัวแทนจากกำกับกิจการพลังงานเขตสระบุรี ต่อข้อร้องเรียนของชาวบ้าน ในส่วนหนังสือของสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน กทม.ตอบการร้องเรียนของชาวบ้านว่า ให้อุตสาหกรรมจังหวัดเป็นผู้กำกับดูแลการปฏิบัติตาม อีไอเอ แต่เมื่อชาวบ้านสรุปปัญหาความเดือดร้อน และผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นตัวอย่างถึงรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้ถูกกำหนดไว้ให้ผู้ก่อสร้างปฏิบัติ แต่ไม่มีการติดตามตรวจสอบได้เพราะไม่มีใครมาตรวจและไม่มีบทลงโทษถ้าไม่ปฏิบัติตาม อีไอเอ ขณะที่อุตสาหกรรมจังหวัดบอกในที่ประชุมว่า ตัวเองไม่มีอำนาจในการตรวจสอบเรื่องที่บริษัททำรั้วปิดกั้นทางเดินคันคูน้ำสาธารณะและทางสาธารณะในที่ดินของโรงไฟฟ้า และแนะให้ชาวบ้านไปแจ้งความกับตำรวจและไปที่กรมที่ดิน หรือ อบต.ร้องเรียนเพราะเป็นหน่วยงานดูแลเรื่องที่ดินสาธารณะ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านได้ตั้งตำถามถึง สผ.ว่าหากไม่มีการทำการสำรวจเรื่องคูน้ำสาธารณะใน อีไอ เอ ถือว่า อีไอเอ เท็จหรือไม่ พร้อมกับท้าให้เจ้าหน้าที่ราชการทั้งหมดไปดูที่พื้นที่ในวันนี้เพื่อให้เห็นกับตาว่า บริษัทล้อมรั้วปิดกั้นทางสาธารณะจริง เจ้าหน้าที่ สผ.จึงได้แย้งชาวบ้านว่าที่ทางสาธารณะนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยยกกรณีนิคมอุสาหกรรมสมุทรสาครซึ่งเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมได้จ่ายเงินเพื่อเปลี่ยนทางเดินหรือลำน้ำสาธารณะโดยชาวบ้านยินยอมรับค่าชดเชย จากนั้น ในเวลาประมาณ 16.30 น.ประธานในที่ประชุมสรุปเรื่องร้องเรียน 8 เรื่อง และนัดให้หน่วยราชการที่มาประชุมในวันนี้มาลงดูพื้นที่ ในวันที่ 8 เมษายน 2554 โดยนัดพบชาวบ้านเวลา 10.00 ที่วัดธรรมสินธุ์โสภา ฝั่ง ต.หนองน้ำใส อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ริคลองระพีพัฒน์ติดกับที่ดินที่บริษัทกำลังทำบ่อน้ำขนาดใหญ่ ก่อนปิดการประชุม นางปฐมมน กัณหา กล่าวทั้งน้ำตาว่าไม่นึกว่าชาวบ้านจะต้องมาอยู่ในสภาพถูกทอดทิ้งเช่นนี้ พวกชาวบ้านพยายามรักษาแผ่นดินของปู่ย่าตายายแต่ก็ต้องมาเผชิญกับการไม่ได้รับการคุ้มครองจากข้าราชการที่กินเงินเดือนจากภาษีของชาวบ้าน วันนี้แทนที่จะมีการแก้ไขปัญหา พวกหน่วยราชการกลับโยนความรับผิดชอบกันไปมา ไล่ชาวบ้านไปแจ้งความใหม่ “ขอให้พี่น้องพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศอย่ายินยอมให้มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงฟ้าได้เป็นอันขาด เพราะหน่วยงานออกใบอนุญาตไม่มีความรับผิดชอบแม้แต่น้อย โยนให้หน่วยงานอื่น” นางปฐมมน กล่าวทิ้งท้าย สรุปเบื้องต้น 8 เรื่องที่ บริษัทก่อผลกระทบต่อชุมชน คือ 1.บริษัทรับเหมา ปรับพื้นที่ของบริษัทเพาเวอร์เจเนอเรชั่น ตัดต้นไม้ที่เป็นพื้นที่ป่าส่วนหนึ่งในที่ดินบริษัท ออกทั้งหมด ตั้งแต่เดือน มกราคม ต่อ กุมภาพันธ์ 2554 ผิดจากอีไอเอของบริษัทเองที่ระบุว่าจะตัดต้นไม้ใหญ่ที่เป็นที่ทำรังวางไข่ของนกปากห่างในช่วงหน้าแล้งคือตั้งแต่เมษายนไป การตัดต้นไม้ที่เป็นที่อยู่ของนกปากห่างตั้งแต่มกราคม ทำให้นกไม่มีที่ทำรังวางไข่ 2.บริษัทใช้รถแบคโฮหลายคัน และรถสิบล้อหลายคัน ทำงานตั้งแต่ ตี 4 ถึง 4 ทุ่ม สร้างความรบกวนทางเสียงและฝุ่นควันให้กับชาวบ้านที่อยู่โดยรอบ ซึ่งในอีไอเอ บริษัทเขียนไว้ว่า จะทำงานเฉพาะช่วงกลางวัน 3.รถบรรทุกดินของบริษัทที่บรรทุกดินเข้า-ออก จากพื้นที่ ไม่มีการปิดคลุมมิดชิด กันดินร่วงหล่นหรือฟุ้งกระจาย ผิดจากที่ในอีไอเอเขียนไว้ 4.การก่อสร้างบ่อน้ำขนาดใหญ่สำหรับสำรองน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ฝั่งอำเภอภาชี มีการล้อมรั้วปิดกั้นทางเดินบนคันคูน้ำที่ชาวบ้านเรียกว่าร่องหนูสำหรับส่งน้ำเข้านาชาวบ้าน ปิดกั้นทางเดินสาธารณะที่ชาวบ้านใช้ร่วมกัน และยื่นขอเปลี่ยนทางเดินสาธารณะ และคลองร่องหนู โดยไม่สนใจสำรวจความคิดเห็นจากชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์จริง 5.สูบน้ำจากบ่อในพื้นที่ของบริษัทฯ ออกมาใส่คลองชลประทานโดยไม่รู้ว่าเป็นน้ำกร่อย และไม่บอกชาวบ้าน ทำให้ชาวนาบางรายสูบน้ำจากคลองที่บริษัททิ้งน้ำใส่นาข้าวทำให้ข้าวตายเพราะโดนน้ำกร่อย 6.ในอีไอเอ ระบุว่า บริษัทรับเหมาจะควบคุมคนงานก่อสร้างไม่ให้ออกมา จับสัตว์น้ำ หรือขโมย ผัก ผลไม้ชาวบ้าน แต่มีการว่ายน้ำมาขโมยสายบัว, ขโมยมะม่วง, ตกปลาในคลองสาธารณะทุกวันซึ่งเป็นการแย่งใช้ทรัพยากรของชุมชนจากคนงาน (ในอีไอเอ ระบุว่าช่วงก่อสร้างจะมีคนงานสูงสุด 4000 คน) 7.คนงานก่อสร้างร้านค้าริมถนนบนคันคลองชลประทาน ทำให้ถนนแคบลง การสัญจรของชาวบ้านลำบากขึ้น 8.อบต.หนองกบ เจ้าของพื้นที่และเป็นศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ตามที่บริษัทฯ ระบุไว้ใน อีไอเอ ชาวบ้านไม่ไว้วางใจเพราะคนในครอบครัว นายก อบต.เป็นคู่กรณีคดีทำร้ายร่างกายที่สมาชิกเครือข่ายอนุรักษ์ถูกกล่าวหาต้องขึ้นศาลอยู่ในขณะนี้ (คดีฟ้องพยายามฆ่า) และ อบต.หนองกบ ไม่เปิดเผยข้อมูลเอกสารที่ได้อนุญาตให้ บริษัทรับหมาขุดดินถมดินในพื้นที่ที่เครือข่ายอนุรักษ์ร้องขอ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net