Skip to main content
sharethis

ในการให้สัมภาษณ์ประชาไท หมอตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ลงท้ายว่า “ความเชื่อว่าสถาบันกษัตริย์เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ทางการเมือง ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองร้อนแรงและมีสภาพอย่างที่เห็นในปัจจุบัน” สิ่งที่หมอตุลย์พูด ดูเหมือนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน แม้มีคนพูดต่อสาธารณะไม่มากนัก ด้วยข้อจำกัดตามมาตรา 112 เราคงไม่สามารถวิเคราะห์วิจารณ์ได้ว่า “สถาบันกษัตริย์เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ทางการเมือง” จริงหรือไม่ แต่เราน่าจะวิเคราะห์วิจารณ์ได้ว่า “ความเชื่อ” นั้นมีจริงหรือไม่ และจะแก้ไขอย่างไร ผมเห็นด้วยกับหมอตุลย์ว่า “ความเชื่อ” นั้นมีอยู่จริง แต่ไม่เห็นด้วยกับผู้ที่อ้างว่าความเชื่อนั้นเลื่อนลอย เชื่อกันไปเอง หรือมาจากการปลุกระดมของแกนนำเสื้อแดงแต่ฝ่ายเดียว แน่นอน ตลอด 5 ปีที่เกิดวิกฤต ในหลวงไม่เคยมีพระราชดำรัสอันทำให้ตีความได้ว่าพระองค์โน้มเอียงไปสนับสนุนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด มีแต่ทรงย้ำให้ยึดมั่นความถูกต้อง อย่ามีอคติ หนำซ้ำ พวกขอนายกพระราชทาน ยังหน้าหงาย (แต่ไม่เข็ด) เพียงแต่ท่าทีของผู้ที่มีอำนาจหน้าที่อยู่ใกล้ชิด ผู้ที่อยู่แวดล้อมสถาบัน โดยเฉพาะองคมนตรี นั่นต่างหาก ที่ทำให้เกิด “ความเชื่อ” อันลุกลามไปใหญ่โตในขณะนี้ และไม่ใช่เพียงข้ออ้าง-หรือแอบอ้างของแกนนำพันธมิตร ตลอดจนแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ (ซึ่งถ้าสามารถเอาเอกสารวิกิลีกส์ที่อ้างถึงเทพเทือกมาตีพิมพ์ได้ คงขายดีกว่าหนังสือ “ประเทศไทยของเราอย่าให้ใครมาเผาอีก” เป็นสิบเท่า) เพราะข้ออ้าง-หรือแอบอ้างเหล่านั้น ไม่ได้รับการปฏิเสธอย่างจริงจัง จากผู้ที่อยู่แวดล้อมสถาบัน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เคยปรามสนธิ ลิ้มทองกุล เมื่อครั้งที่เริ่มม็อบสวนลุมใหม่ๆ แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีใครพูดอีก กระทั่งสนธิกล่าวอ้างเรื่องผ้าพันคอก่อนรัฐประหาร มีใครเชื่อบ้างว่า รัฐประหาร 19 กันยา 49 “บิ๊กบัง” เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารตัวจริง (อ้างกันเรื่อยเปื่อยว่าบิ๊กบังรัฐประหารเพราะทักษิณจะสั่งปลด ต่อให้สั่งปลดจริงถ้าบิ๊กบังไม่มีแบ็ก ก็ไม่กล้าทำหรอกครับ) ของมันเห็นอยู่ชัดๆ ปัจจุบัน “บิ๊กบัง” เป็นได้แค่หัวหน้าพรรคต่ำสิบ เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารที่บ่มิไก๊ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในสายตาประชาชน เครือข่ายอำนาจรัฐประหารครั้งนี้ ใหญ่โตกว่า “บิ๊กบัง” เพียงลำพังหลายเท่า ยังไม่รวมความสามารถที่จะใช้อำนาจ “ตุลาการภิวัตน์” มาจัดการให้การเมืองเป็นไปตามที่ต้องการ ผู้ต่อต้านรัฐประหารพยายามจำกัดวงโดยใช้คำว่า “อำมาตย์” และพุ่งเป้าการเคลื่อนไหวไปที่ “โค่นอำมาตย์” แต่พวกเสื้อเหลืองก็ยังตั้งแง่หาว่า “อำมาตย์” มีความหมายกว้างกว่านั้น สำคัญที่ “ส่งสัญญาณ” “ความเชื่อ” ที่ว่านี้แก้ไขได้หรือไม่ ผม (เชื่อ) ว่าแก้ไขได้ ยังจำได้ไหม เมื่อ 3 ปีที่แล้ว หลังเหตุการณ์สลายม็อบพันธมิตร 7 ตุลาคม 2551 สมเด็จพระเทพฯ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่อเมริกา ตรัสว่าพันธมิตรไม่ได้ประท้วงในนามสถาบันพระมหากษัตริย์ พวกเขาทำด้วยตัวเอง หลังจากนั้น พวกเสื้อแดงก็สกรีนเสื้อ “เรารักพระเทพ” ใส่กันเกร่ออยู่พักหนึ่ง นั่นทั้งๆ ที่พระองค์มิได้ตรัสเข้าข้างใคร เพียงแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่า สถาบันไม่ได้สนับสนุนพันธมิตร มวลชนเสื้อแดงก็แซ่ซ้องสดุดีแล้ว เหตุการณ์นี้ยังแสดงให้เห็นว่า ข้อกล่าวหาเสื้อแดง “ล้มเจ้า” ไม่เป็นความจริง เพราะมวลชนยังพร้อมจะเคารพเทิดทูน โดยที่ไม่จำเป็นว่าสถาบันจะต้องแสดงท่าทีสนับสนุนพวกเขา ขอเพียงทำให้พวกเขามี “ความเชื่อ” ว่าสถาบันไม่เกี่ยวข้องและไม่ถูกดึงไปอ้างอยู่ฝ่ายเดียว ขณะที่อีกฝ่ายโดนไล่ล่าจนเข้าคุกระนาว ซึ่งเมื่อสถานการณ์มาถึงขณะนี้ เพียงคำพูดปฏิเสธว่า สถาบันไม่เกี่ยวๆๆ เห็นจะไม่พอ แต่ผู้ใกล้ชิดสถาบัน ผู้จงรักภักดี ควรจะ “ส่งสัญญาณ” ให้เห็นการปฏิบัติที่เป็นจริงด้วย อย่างไรคือการส่งสัญญาณ ขอให้ดูแบบอย่างกรณีที่ข้าราชการในพระองค์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ แต่งเครื่องแบบไปถ่ายภาพการชุมนุมของเสื้อแดง ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ จึงมีพระราชบัณฑูรให้ลงโทษไล่ออกจากราชการ นั่นคือการตัดสินพระทัยที่เฉียบขาด แสดงให้พสกนิกรทั้งประเทศเห็นว่า พระองค์ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ ซึ่งควรจะต้องแก้ไขไปตามกระบวนการประชาธิปไตย โดยไม่ดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้ถูกลงโทษในกรณีนี้มียศเรืออากาศเอก ยังด้อยวุฒิภาวะ ไม่มีวิจารณญาณพอที่จะเข้าใจความผิดร้ายแรงที่ตนกระทำ แต่ถามว่า บุคคลระดับสูงที่เข้ามาเกี่ยวข้องเลือกข้าง มีบทบาทในการรัฐประหาร ในรัฐบาล คมช.และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง อย่างที่ชาวบ้านเห็นกันโต้งๆ ล่ะ มีวิจารณญาณเพียงพอไหมที่จะเข้าใจว่าตัวเองทำให้ “เสื่อมเสียพระเกียรติ” ลูกศิษย์วัดย่อมไม่สามารถเปรียบได้กับมรรคนายก ฉันใดก็ฉันนั้น มรรคนายกควรรู้ตัวว่าทำให้วัดเสื่อม โดยมิจำเป็นต้องให้เจ้าอาวาสออกปาก นี่คือสิ่งที่ผู้คนต้องการเห็น บุคคลระดับสูงที่อยู่ใกล้ชิด ที่อ้างความจงรักภักดี เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง กับรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ ควรแสดงความรับผิดชอบ เพื่อ “ส่งสัญญาณ” ให้เห็นว่า สถาบันจะไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองอีก รับผิดชอบอย่างไรไม่น่าต้องบอก ที่อ้างๆ กันว่าพร้อมจะสละชีวิตเพื่อราชบัลลังก์นั้น ถึงเวลาที่ต้องเสียสละมาตั้งนานแล้ว สมมติเช่น ถ้าพลเอกเปรมลาออกจากประธานองคมนตรีเสียตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว กลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบที่สงขลา ไม่ต้องเปิดบ้านให้นายทหารนักการเมืองเข้าพบ ผมคิดว่า “ความเชื่อ” จะบรรเทาเบาบางลงกว่านี้แน่นอน เพราะประชาชนจะรู้สึกว่าเขาได้ “ความยุติธรรม” คืนมาบ้างแล้ว นั่นรวมทั้งการอ้างสถาบันไม่ขาดปาก ของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบทั้งหลายควรหยุดอ้างโดยสิ้นเชิง อย่างเช่น ผู้บัญชาการทหารบก ผู้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีบทบาทสำคัญในการปราบม็อบ เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ควรกล่าวอ้างความจงรักภักดีวันละ 3 เวลาหลังอาหาร ราวกับว่าท่านทำทุกอย่างเพื่อสถาบัน ท่านควรจะพูดอยู่อย่างเดียวว่า ท่านมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งรัฐบาล เพราะการอ้างเช่นนั้นเท่ากับท่านกำลังอ้างสถาบันเพื่อปกป้องตัวเอง ส่งสัญญาณปฏิรูป นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย นักการเมือง ผู้นำม็อบ ถ้าใครตั้งเป้าว่าจะต้องปะทะกับสถาบัน ก็งี่เง่าบัดซบ ขนาดพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ยังไม่เคยประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ ในทางยุทธศาสตร์ ไม่ใช่จะพูดอย่างมักง่ายว่า เลี่ยงไม่ได้ก็จำต้องปะทะ แต่ต้องบอกว่า เลี่ยงไม่ได้ก็ยังต้องเลี่ยงให้ถึงที่สุด ถึงที่สุด และถึงที่สุด นี่คือสิ่งที่ผู้จงรักภักดีอย่างแท้จริงควรเข้าใจ เพียงแต่ในขบวนการต่อสู้ของประชาชนที่เป็น “ประชาธิปไตยไม่มีเจ้าภาพ” มันไม่มีใครสั่งใครได้เหมือนกองทัพสั่งไอ้เณรซ้ายหันขวาหัน มันจึงมีคนเลือดร้อน มันจึงมีคนแลกหมัด และจะมากขึ้นทุกวันโดยไม่มีใครห้ามใครได้ ประเด็นอยู่ที่การทำความเข้าใจว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องการอะไร ขบวนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่กำลังเคลื่อนไปข้างหน้าขณะนี้ เพียงต้องการหลักประกันที่ชัดเจนว่า สถาบันพระมหากษัตริย์จะไม่ถูกดึงมาเกี่ยวข้องกับการเมืองอีก บุคคลที่อยู่ใกล้ชิดสถาบัน จะไม่แสดงบทบาทแทรกแซงการเมืองการปกครองอีก ถ้าทำเรื่องนี้ให้เคลียร์คัทชัดเจน ก็ไม่มีใครต้องการแตะต้องสถาบันหรอกครับ ถ้าทำให้เคลียร์คัทชัดเจน กระแสต่างๆ ก็จะสร่างซาไปเอง สถาบันจะดำรงอยู่เป็นหลักความสามัคคีอย่างยั่งยืน แต่จะทำเรื่องนี้ให้เคลียร์คัทชัดเจน ก็ต้องมีการปฏิรูป ให้บทบาทและอำนาจของสถาบัน อยู่ในจุดที่เหมาะสม ซึ่งก็คือมีอยู่อย่างจำกัด ทั้งในทางลายลักษณ์อักษรและทางปฏิบัติ เพราะสถาบันยิ่งเกี่ยวข้องกับอำนาจน้อย ก็ยิ่งมีบารมีได้รับความเคารพเทิดทูนสูง นั่นรวมถึงการแก้ไขมาตรา 112 ที่เรียกร้องกันอยู่ เพราะการแก้ไขมาตรา 112 ในแง่หนึ่งเป็นเครื่องป้องกันการอ้างอิงสถาบัน เมื่อมีผู้กล่าวอ้างเพื่อประโยชน์ของตนหรือเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ก็เปิดโอกาสให้ผู้ที่จะตอบโต้สามารถโต้ได้เต็มปาก ไม่ใช่อย่างปัจจุบันที่อ้างกันได้เรื่อยเปื่อยตามใจปาก ใครจะตอบโต้ก็เสี่ยงคุกตะราง หรือแม้แต่เมื่อสถาบันถูกโจมตี “ใต้ดิน” ก็ตาม มวลชนที่ได้ฟังวิทยุข้ามโลกก็รับข้อมูลด้านเดียว ไม่มีใครกล้าโต้แย้งในที่สาธารณะว่าเรื่องนี้ไม่จริง ที่จริงเป็นอย่างนี้ๆๆ เพราะมาตรา 112 ห้ามกระทั่งเอาถ้อยคำที่ “หมิ่น” มาพูดต่อ จะเอามาโต้แย้งถกเถียงกันก็ไม่ได้ แม้แต่การถกเถียงเรื่องข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ พึงเข้าใจว่าถ้าสามารถป้องกันไม่ให้ดึงสถาบันมาเกี่ยวข้องกับการเมือง ก็จะไม่เกิดคดีหมิ่นมากมายถึงเพียงนี้หรอกครับ ถ้าสถาบันไม่ถูกดึงมาเกี่ยวพันกับการแย่งชิงอำนาจ ก็มีแต่ด้านที่สร้างบารมี ได้รับความเคารพรักเทิดทูน อย่างมากก็จะมีพวก Republic หยิบมือหนึ่งเป็นเสียงนกเสียงกา เหมือนอย่างในอังกฤษ ในยุโรป สถาบันกษัตริย์เป็นที่รักของคน 60-70% มีพวก Republic อยู่ 4-5% ที่เหลืออาจจะเฉยๆ แค่นั้นเขาก็พอแล้ว และไม่ใช่ว่าคนที่วิจารณ์เป็นพวกไม่รักเสียทั้งหมด ดูอย่างสื่ออังกฤษวิจารณ์เจ้าชายแฮร์รีมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เจ้าชายยอมรับและปรับตัว เขาก็ยิ่งรัก ผมกล้าๆ เรียกร้องอย่างนี้เพราะผมเชื่อว่าในผู้จงรักภักดีอย่างแท้จริง ในผู้ที่อยู่ใกล้ชิดสถาบัน ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่มีเหตุผล เข้าใจสถานการณ์ และเข้าใจทิศทางในอนาคต รู้ว่าจะต้องปรับเปลี่ยน แต่อาจจะยังเป็นเสียงข้างน้อย หรืออาจจะยังลังเล รอเวลา แต่อยากบอกว่าลังเลไม่ได้แล้วครับ พวกท่านจะต้อง “ส่งสัญญาณ” อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อลด “ความเชื่อ” และลดความรุนแรงของวิกฤต ส่งสัญญาณที่มีผู้แสดงความรับผิดชอบเพื่อ “คืนความยุติธรรม” ให้ประชาชน ส่งสัญญาณให้เห็นชัดเจนว่าสถาบันไม่ปรารถนาจะอยู่ในความขัดแย้ง ส่งสัญญาณให้เห็นอนาคตว่า สถาบันจะไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจ การเมือง อยู่ภายใต้หลักนิติรัฐ และหลักสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย ถ้าไม่รีบ ถ้ามีแต่การส่งสัญญาณว่าประชาชน “เผาบ้านเผาเมือง” ผู้ที่ปรารถนาการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ ก็ได้แต่เหนื่อยใจ ใบตองแห้ง 7 เมษายน 54 ......................................

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net