Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“อำนาจ” เป็นความสัมพันธ์ระหว่างกันของมนุษย์ ที่ถูกถักทอขึ้นมาตามธรรมชาติ เสมือนเป็นตาข่ายผืนใหญ่ๆ ที่ครอบคลุมสังคมทั้งสังคมไว้ด้วยกัน อำนาจแม้จะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติแต่การดำรงอยู่ของอำนาจจะเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีทั้งลักษณะเท่าเทียมกันและเหลื่อมล้ำกัน ทั้งนี้เพราะเหตุอันเนื่องมาจากทรัพยากรแห่งอำนาจของบุคคลแตกต่างกัน ผู้ที่มีทรัพยากรแห่งอำนาจมากกว่า สูงกว่าสามารถทำให้ผู้ที่มีทรัพยากรแห่งอำนาจที่ต่ำกว่า น้อยกว่าปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของตนได้เสมอไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม ขณะเดียวกันผู้อยู่ใต้อำนาจก็พร้อมยินยอมปฏิบัติตามโดยมีเงื่อนไขและปัจจัยที่ต่างกันทั้งความเชื่อถือศรัทธา การคาดหวังประโยชน์ รวมทั้งความเกรงกลัว เมื่อหันมามองทรัพยากรแห่งอำนาจในสังคมไทย เราจะพบว่าเดิมทีสังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่มีความสลับซับซ้อนอะไรมากนัก มีความสัมพันธ์แบบญาติพี่น้องที่ต่างฝ่ายต้องพึ่งพาอาศัยต่อกัน ดั่งที่เรียกกันว่าสังคมบุพกาล ครอบครัวและชุมชนจะทำการผลิตเพื่อเลี้ยงชีพเท่าที่จำเป็นเท่านั้น จนกระทั่งเมื่อสังคมมีขนาดใหญ่ กระบวนการผลิตสลับซับซ้อนมากขึ้น สังคมได้พัฒนาจากสังคมแบบบุพกาลที่มีแต่สันติสุข มาสู่สังคมที่เริ่มซับซ้อนมากขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง เพราะโครงสร้างสังคมไทยได้พัฒนาไปในลักษณะรัฐเหนือสังคม รัฐจึงเป็นตัวตั้งสังคมเป็นตัวตาม นับเนื่องตั้งแต่รัฐศักดิ์นาเป็นต้นมา ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของคนในสังคมจึงเป็นความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ที่ต้องพึ่งพากัน เช่นระหว่างไพร่กับมูลนาย โดยมูลนายจะให้ความอุปถัมภ์ทางการเมือง (Political patronage) และเศรษฐกิจแก่ไพร่ เพื่อแรกกับความสวามิภักดิ์และการดูดซับส่วนเกินทางเศรษฐกิจ (Economic Surplus) การเปลี่ยนถ่ายจากระบบศักดินาสู่ระบบทุนนิยมส่งผลให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบบอุปถัมภ์ของรัฐศักดินาสิ้นสุดลง แต่เปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างพ่อค้าซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์กับประชาชนซึ่งอยู่ในฐานะผู้ได้รับการอุปถัมภ์ เพราะต้องพึ่งพาการจำหน่ายผลผลิต หรือระหว่างนายทุนซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์ กับแรงงานในฐานะผู้ได้รับการอุปถัมภ์ เพราะต้องพึ่งพาค่าจ้าง พัฒนาการของสังคมได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการผลิตอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้เกิดความขัดแย้งหลากหลายตามมา ซึ่งล้วนมาจากความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำในสังคมทั้งสิ้น จากโครงสร้างสังคมไทยนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นรากฐานสำคัญของการจัดโครงสร้างของสังคม (Social Organization) ที่ทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจของกลุ่มคนทั้งสองฝ่ายที่พึ่งพาและแรกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันเป็นไปในลักษณะที่ไม่เท่าเทียมกัน นโยบายสาธารณะทั้งหลายเกิดจากกลไกอำนาจนิยมของผู้ปกครองเพราะเป็นผู้กุมกลไกทรัพยากรแห่งอำนาจเอาไว้ นโยบายจึงไม่ได้มาจากความต้องการหรือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ประโยชน์มักตกกับผู้ปกครองเป็นหลักประชาชนมักถูกกดขี่และถูกเอาเปรียบเสมอมา ประวัติศาสตร์ทางสังคมที่ผ่านมาจึงเป็นประวัติของความขัดแย้ง นับเนื่องแต่สังคมทาสที่มีคู่ขัดแย้งระหว่างนายทาส-ทาส ควบคู่ไปสู่สังคมศักดินา [1] ที่เป็นทั้งเครื่องมือ ระบบที่สร้างระดับชั้นของคนในสังคม และวิธีการลำดับ\ศักดิ์\"ของบุคคลที่ทำให้สมาชิกในสังคมต่างทราบฐานะและหน้าที่ของตนในสังคมนั้นว่ามีความเกี่ยวข้องและรับผิดชอบต่อผู้ใดที่เหนือกว่า และต่ำกว่าอย่างไร ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของประชน จึงเป็นช่วงที่มีคู่ขัดแย้งระหว่างมูลนาย-ไพร่ ตามมา ไพร่ถูกกำหนดให้สังกัดมูลนายเพื่อการเกณฑ์แรงงาน มีทั้งไพร่สมกับไพร่หลวง ไพร่สมคือชายไทยที่มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ต้องขึ้นทะเบียนเพื่อสักทองมือสังกัดกรม โดยยังไม่ต้องทำงานให้หลวงแต่ให้มูลนายเป็นผู้ใช้งานไปก่อนภายใต้การดูแลของมูลนาย เมื่ออายุครบ 20 ปีจึงยกเป็นไพร่หลวงจะต้องเข้ารับราชการตามกรมกองที่สังกัดเรียกว่า “เข้าเวร” ไพร่ในสมัยอยุธยาถูกเกณฑ์แรงงานเข้าเดือนออกเดือน ต่อมาต้นรัตนโกสินทร์ได้ลดลงเหลือเพียงเข้าเดือนออกสองเดือน ในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ลดเวลาลงอีกเหลือเพียงเข้าเดือนออกสามเดือน แต่ไพร่มีภาระต้องส่งส่วยแทนการเกณฑ์แรงงานเป็นการแลกเปลี่ยน ต่อมาเมื่อเข้าสู่สังคมทุนนิยม มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตมีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบเพื่อทำการผลิตอย่างเป็นระบบ เริ่มมีตัวตนผู้ผลิตเจ้าของปัจจัยการผลิต และแรงงาน เริ่มเกิดหน่อเนื้อกลุ่มชนชั้นที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจ อาชีพ รายได้ ทรัพย์สิน เกียรติยศชื่อเสียงที่ต่างกัน หรือการดำรงอำนาจสูงกว่าหรือต่ำกว่าบุคคลอื่นๆในสังคม มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการที่ทรัพยากรที่เป็นปัจจัยการผลิตมีอย่างจำกัดทว่าความต้องการที่เพิ่มทวีคูณมากขึ้นอย่างไม่จำกัด การแย่งชิงจึงรุนแรงขึ้นตามลำดับ เริ่มคู่ขัดแย้งใหม่ระหว่างนายทุน-แรงงาน ยุคโลกาภิวัตน์ปัจจุบันนี้ ชนชั้นเดียวกันก็ยังมีการแย่งชิงผลประโยชน์และอื่นๆ รวมทั้งเอารัดเอาเปรียบต่อกันยิ่งส่งผลให้คนในชนชั้นเดียวกันแบ่งฝ่ายเด่นชัดมากยิ่งขึ้น กลไกอำนาจระหว่างประเทศได้เข้ามาครอบงำการตัดสินใจของรัฐชาติอย่างต่อเนื่อง ความขัดแย้งยิ่งซับซ้อนหาจุดลงตัวแทบไม่ได้รัฐก็ไม่สามารถเข้าจัดการความขัดแย้งเหล่านั้นได้ นี่คือลำดับการแบ่งฝ่ายของคนในสังคมตามยุคสมัยเพื่อคุ้มครองและปกป้องผลประโยชน์ชนชั้นตน ทั้งหลายเหล่านี้เป็นความเหลื่อมล้ำของโครงสร้างเชิงอำนาจ ที่ยึดโยงทั้ง สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เข้าด้วยกันจนนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในสังคมแทบทั้งสิ้น [2] ดังนั้นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจำเป็นต้องคลี่คลายปัญหาดังกล่าวให้หมดไปจากสังคมไทยโดย การปรับแก้ระบบโครงสร้างเชิงอำนาจและกลไกที่เกี่ยวข้องให้เกิดสมดุลยวิถีในสังคมทุกมิติ กล่าวคือ 1) กลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อการจัดสรรทรัพยากรอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รัฐสมัยใหม่(Modern state )ปกครองในระบอบประชาธิปไตย หัวใจสำคัญอยู่ที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดนโยบายของรัฐเพื่อจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้ความต้องการที่ไม่จำกัด ที่เรียกกันว่านโยบายสาธารณะ [3] แต่นับเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบันนโยบายสาธารณะมักจะถูกกำหนดขึ้นภายใต้กลไกอำนานิยม ตามความต้องการของผู้ปกครองเป็นหลัก จึงไม่อาจสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างต่อเนื่องและตอกย้ำปัญหาความขัดแย้งทางสังคมตลอดมา เป็นต้นว่ากลุ่มสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน กลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนา กลุ่มเกษตรกรชาวสวนผลไม้ [4] ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ภาคประชาชนได้เข้ามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่อาจมีผลกระทบกับวิถีชีวิตของประชาชนวิถีชุมชน ให้คนทั้งที่มีอำนาจและไม่มีอำนาจได้เข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและปัจจัยการผลิตอย่างเสมอภาคกัน 2) กลไกการกระจายอำนาจทางปกครองให้เกิดประชาสังคมอย่างทั่วถึง โครงสร้างสังคมไทยมีลักษณะรัฐเหนือสังคม รัฐเป็นตัวตั้งสังคมเป็นตัวตาม ทั้งนี้เพราะรัฐและกลไกของรัฐเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ความเป็นไปของสังคมทั้งระบบ โครงสร้างอำนาจของรัฐไทยจึงเป็นรัฐรวมศูนย์เข้าส่วนกลางอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของส่วนกลาง เป็นไปตามกลไกการปกครองที่ประกอบด้วยราชการส่วนกลาง ที่มีกระทรวง ทบวง กรม เป็นกลไก แม้จะมีราชการส่วนท้องถิ่นที่มีทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และการบริหารรูปแบบพิเศษทั้งเมืองพัทยาและกรุงเทพมหานคร เป็นกลไกทางปกครองในลักษณะกระจายอำนาจ แต่ราชการส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ไม่ได้มีสิทธิอำนาจที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง เพราะต้องบริหารจัดการภายใต้นโยบายของราชการส่วนกลาง ทั้งบุคลากร และงบประมาณ ส่งผลให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐส่วนกลางกับส่วนทองถิ่นไม่เสมอภาค การจัดการส่วนท้องถิ่นตกอยู่ภายใต้การบงการของส่วนกลางตลอดมา กลไกการปกครองจึงไม่อาจสนองตอบต่อความต้องการของประชาชน หรือคุ้มครองประชาชนได้อย่างแท้จริง การไร้อำนาจของท้องถิ่นและประชาชนส่งผลให้คนเหล่านั้นต้องแสวงหาอำนาจ แสวงหาการอุปถัมภ์และการคุ้มครองเพื่อให้ได้รับความปลอดภัยและความคุ้มครอง รวมทั้งการจัดสรรประโยชน์ทั้งปวง ดังนั้นจำเป็นต้องให้ประชาชนในทุกๆ พื้นที่ได้มีโอกาสสร้างประชาสังคม (Civil society) กำหนดความต้องการของตนเองและชุมชนกระจายทุกๆพื้นที่เพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางสังคม 3) กลไกการพัฒนาเศรษฐกิจโดยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศประชากร การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (เช่น ดิน น้ำ ป่าไม้ ภูเขา แร่ธาตุ) การตั้งถิ่นฐานตลอดจนถึงเอกลักษณ์และสมบัติทางวัฒนธรรมซึ่งสามารถเห็นได้ชัดในรูปของศิลปกรรม โบราณสถาน โบราณวัตถุ และกิจกรรมที่สืบทอดความมีชีวิตจากอดีตถึงปัจจุบันในรูปแบบกิจกรรมท้องถิ่นต่างๆ สิ่งแวดล้อมจึงเป็นกระบวนการทั้งหมดของชีวิตมนุษย์กับธรรมชาติที่เกี่ยวเนื่องกันมีผลต่อกันทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งที่เห็นได้ในทันทีและปรากฏให้เห็นในภายหลัง นอกจากนั้นปัญหาสิ่งแวดล้อมยังได้เกี่ยวพันต่อเนื่องกับปัญหาของชุมชนและสังคมทั้งปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศิลปกรรม โบราณคดี สุขภาพอนามัย ฯลฯ ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นปัญหาที่รวมตัวอยู่ในกระบวนการทางด้านการพัฒนาเกี่ยวพันกับโครงการพัฒนาต่างๆ สังคมมนุษย์มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างแยกไม่ออก ในอดีตปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมีไม่มากนัก เนื่องจากผู้คนมีชีวิตอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมเป็นไปอย่างช้าๆ ธรรมชาติสามารถสร้างความสมดุลของตัวเองได้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงจึงยังไม่ปรากฏ ต่อมาเมื่อความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ มีการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับอุตสาหกรรมปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมจึงปรากฏมากขึ้นตามลำดับ ทั้งภาวะมลพิษที่เกี่ยวกับน้ำ อากาศ ดิน ทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมสลาย และหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่า น้ำมัน แร่ธาตุ ป่าไม้ พืช สัตว์ ปัญหาชุมชนแออัด แหล่งเสื่อมโทรม และปัญหาจากขยะมูลฝอย เป็นต้น หลายครั้งที่พบว่าภัยจากสิ่งแวดล้อมมีเหตุอันเนื่องมาจากการพัฒนาที่มิได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพราะนักธุรกิจมักจะมองว่าขบวนการทางสิ่งแวดล้อมเป็นตัวขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมนั้นในระยะยาวจะนำความผาสุกสู่ประชาชน การก่อตัวของโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการค้า อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม การพัฒนาเทคโนโลยีทั้งทางการเกษตรและอุตสาหกรรมส่งผลให้การผลิตมีผลผลิตส่วนเกินมากขึ้น สินค้าผลิตเพื่อจำหน่ายเพิ่มทวีมากขึ้น การเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของทุนนิยม ทั้งด้านการผลิต เทคโนโลยี การสื่อสาร กลุ่มทุนที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาได้สะสมทุน ขยายการผลิต และขยายตลาดและพัฒนาไปจนกระทั่งมีอำนาจเหนือรัฐเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดนโยบายทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ให้ดำเนินกิจกรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มตน รัฐและกลไกของรัฐตกอยู่ภายใต้การครอบงำและควบคุมของกลุ่มทุน ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง ปัญหาของสิ่งแวดล้อมเป็นผลผลิตของระบบตลาดในเศรษฐกิจทุนนิยม การผลิตมีทั้งต้นทุนภายในและต้นทุนภายนอก ต้นทุนภายในคือปัจจัยการผลิตทั้งหลาย ส่วนต้นทุนภายนอกคือสิ่งที่อุตสาหกรรมผลักดันออกมาสู่ชุมชนในรูปของสารพิษ ของเสียและขยะมูลฝอย โดยผู้ผลิตคำนึงแต่ต้นทุนภายในเท่านั้น แต่ได้มองข้ามต้นทุนภายนอกเหล่านี้ ไม่ต้องจ่ายเงินสำหรับการป้องกัน การจัดการ และการบรรเทาผลร้ายที่เกิดกับสังคม ความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน จนนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐและระหว่างประชาชนกับพ่อค้านายทุน สภาพความขัดแย้งขยายกว้างยิ่งขึ้น ทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ สังคมเริ่มตระหนักว่าการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเน้นความเจริญทางด้านเศรษฐกิจได้ไปลดทอนคุณภาพที่ดีของชีวิต การพัฒนาแม้จะทำให้สังคมมนุษย์มีความสุข ความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตมากขึ้น แต่ต้องเสี่ยงกับภัยจากมลภาวะทั้งปวง การพัฒนาทางเศรษฐกิจต้องให้ความสำคัญปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม มากกว่ามุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมแต่เพียงประการเดียว การพัฒนาเพื่อคุณภาพแห่งชีวิต ก็คือความพยายามร่วมกันในอันที่จะใช้ทรัพยากรอันมีค่าของชาติให้เกิดผลที่สุด สอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมของชาติให้มากที่สุด เพื่อให้โครงการพัฒนาทั้งหลายไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือหากว่ามีก็ต้องน้อยที่สุด ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงหลักสำคัญคือ ผลดีในทางเศรษฐกิจ ความเหมาะสมในทางสังคม เหมาะสมในทางเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในมาตรฐานสิ่งแวดล้อม และสิ่งสำคัญคือต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ ดังนั้นการจัดการความขัดแย้งในสังคมไทย อันเนื่องมาจากความไม่เท่าเทียมกันของทรัพยากรแห่งอำนาจระหว่างคนในสังคม ...จากประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งที่ผ่านมานั้น ทางแก้ที่สำคัญที่สุดคือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเชิงอำนาจและกลไกที่เกี่ยวข้องให้มีความเสมอภาคผ่านกระบวนการ..การจัดสรรทรัพยากรแห่งอำนาจให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมอย่างแท้จริง....แล้วสังคมไทยจะกลับมาสันติสุขอีกครั้งหนึ่ง. เชิงอรรถ [1] ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991 - พ.ศ. 2031) ได้ทรงตราพระราชกำหนดศักดินาขึ้นมาใช้อย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 1997 โดยกำหนดให้บุคคลในสังคมมีศักดินาโดยทั่วกัน ศักดินา เป็นวิธีการลำดับ\"ศักดิ์\"ของบุคคลโดยกำหนดจำนวนที่นามากน้อยตามศักดิ์ของคนนั้น เช่น ชั้นเจ้าพระยามีศักดินา 10

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net