Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลายปีที่ผ่านมาความขัดแย้งในสังคมไทยทำให้สังคมได้ตระหนักและเริ่มกล่าวถึงเครื่องมือที่จะเชื่อมโยงสังคมไทยให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติมีความสุขดังเดิมอย่างหลากหลาย จนกลายเป็นวาทกรรมทางการเมืองที่คนในสังคมและคนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมักออกมานำเสนออย่างต่อเนื่อง ไม่ว่า สันติวิธี (Peaceful means) สันติภาพ (Peace) ความสมานฉันท์ (Reconciliation ) และความปรองดอง(Harmonious Society ) ทุกฝ่ายเริ่มให้ความสำคัญกับวาทกรรมและการสื่อสารที่จะนำสงคมไปสู่สันติสุข การนำเสนอดังกล่าวได้ส่งผลในเชิงจิตวิทยาและการดำรงอยู่ของคนในสังคมเสมือนเป็นเครื่องคอยเตือนสติ ว่าเราทั้งหลายควรตระหนักไว้ในใจอย่าละเลย ควรป้องกันรักษาและต้องปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ในเชิงบวกตลอดเวลาเพื่อความสันติสุขของทั้งปัจเจกและสังคมส่วนรวม การรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ผลิตและนำเสนอโดยสื่อมวลชนในปัจจุบันเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้แรงกดดันทางอำนาจ ทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมือง สื่อสารมวลชนจึงมีพลังอำนาจมากในการแพร่กระจายข่าวสารวาทกรรม ความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ ที่เป็นกลไกสำคัญทั้งในการต่อต้านและสนับสนุนต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม รวมทั้งสนับสนุนระบบเศรษฐกิจการเมือง การสื่อสารเป็นกระบวนการหนึ่งที่ได้ครอบงำสังคมเอาไว้ซึ่งอาจครอบงำไปทางลบหรือบวกก็ได้ [1] นั่นหมายความว่าสังคมจะสันติสุขสมานฉันท์หากมีการสื่อสารในทางบวก สังคมจะขัดแย้งหากมีการสื่อสารไปในทางลบ เพราะต้องไม่ลืมว่าวัฒนธรรมการดำรงชีวิตประจำวันมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมอุดมการณ์ทางการเมืองของคนในสังคมจากการแพร่กระจายข่าวสาร ที่กลายเป็นเครื่องมือในการควบคุมความคิดทางการเมืองของคนในสังคม(Political control) จนนำไปสู่ความขัดแย้งตามมา ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยที่ได้กลายเป็นวิกฤติของประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้การสื่อสารท่ามกลางภาวะวิกฤติเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะการสื่อสารและการสร้างวาทกรรมทั้งหลายที่นำเสนอต่อสังคมของแต่ละฝ่ายมักจะดำรงอยู่บนผลประโยชน์ส่วนตนหรือกลุ่มตนเป็นหลักโดยไม่คำนึงถึงความเป็นไปของสังคม การมุ่งประโยชน์ส่วนตนของสื่อและกลุ่มการเมืองได้นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประชาชนด้วยกันหรือระหว่างกลุ่มประชาชนกับนักการเมืองหรือผู้เกี่ยวข้อง กลายเป็นความแตกแยกและมักจะเกิดความรุนแรงในสังคม นอกจากนั้นในสังคมการเมืองเราจะเห็นการแข่งขันทางการเมืองในแต่ละยุคทั้งนักการเมืองและพรรคการเมืองจะรังสรรค์วาทกรรมการเมืองชวนเชื่อใหม่ๆ ขึ้นเพื่อช่วงชิงพื้นที่ทางการเมือง เป็นต้นว่า “ไม่เลือกเราเขามาแน่” หรือ “คนของเราพรรคของเรา” หรือ “เลือกคนบ้านเราเป็นนายก” หรือ “ จำลองพาคนไปตาย” จนกล่าวกันว่าเป็นการเอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้คนอื่น หรือ“ประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง” “คนรวยใช่ว่าจะไม่โกง” หรือ “ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเป็นพวกไม่รักชาติรักแผ่นดิน” ซึ่งเหล่านี้เป็นวาทกรรมที่แยกเขาแยกเราทำให้เขากลายเป็นอื่นที่ไม่ใช่พวกเดียวกันในสังคม โดยเฉพาะปัจจุบันทั้งนักการเมืองและคู่ขัดแย้งในสังคมได้นำเอาเครื่องมือสื่อสารที่มีเทคโนโลยีทันสมัยและกลยุทธ์การสื่อสารที่หลากหลายทั้งการใช้อินเตอร์เน็ต โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม VDO Link และPhone-In รวมทั้งการใช้ระบบ 3 G เป็นเครื่องมือในการทำลายฝ่ายตรงข้าม และสนับสนุนอุดมการณ์หรือแนวคิดของฝ่ายตน สิ่งเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำความขัดแย้งจนยากที่จะยุติลงได้ เพราะชุดของวาทกรรมทางการเมืองชวนเชื่อที่ถูกสร้างขึ้นและนำเสนอต่อประชาชนโดยการสื่อสารในแต่ละยุคสมัยหลากหลายรูปแบบได้ก่อให้เกิดความหมาย และสัญลักษณ์ต่างๆ ในสังคมการเมือง ที่สามารถครอบงำ ยึดตรึง ปิดกั้นความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ของผู้คนในสังคมเป็นอย่างดี ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าหลายรัฐบาลเมื่อมีความขัดแย้งทางความคิดกับภาคประชาชนฝ่ายรัฐบาลมักจะถูกครหาเสมอว่าใช้อำนาจครอบงำ ใช้สื่อสารมวลชนของรัฐทำลายฝ่ายตรงข้ามโดยการสร้างวาทกรรมชวนเชื่อเพื่อเป็นประโยชน์กับฝ่ายตน การก่อกำเนิดขึ้นของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีในอดีต และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในยุคปัจจุบันก็มาจากเหตุของการครอบงำสื่อของฝ่ายรัฐทั้งสิ้น วาทกรรมการเมืองชวนเชื่อ [2] จึงมีความสัมพันธ์กับอำนาจในสังคมการเมือง เพราะทุกบริบทในสังคมการเมืองย่อมมีการใช้อำนาจแทรกซึมอยู่ทั่วไป ซึ่งพลังแห่งอำนาจนั้น แสดงผ่านทางวาทกรรมการเมืองชวนเชื่อ และวาทกรรมแต่ละชุดจะสามารถกำหนดความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติของมนุษย์ นั่นคือ วาทกรรมการเมืองชวนเชื่อจึงเป็นกิจกรรมทางการเมืองทั้งความคิดและทางการปฏิบัติไปพร้อม ๆ กัน จึงอาจกล่าวได้ว่า วาทกรรมการเมืองชวนเชื่อ คือกระบวนการต่อสู้ แย่งชิงอำนาจในการนิยามความหมายของสิ่งที่ดี หรือไม่ดี ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้องในทางการเมือง และผู้อยู่ในอำนาจมักจะได้เปรียบในการต่อสู้แย่งชิงนี้เสมอ การเสพย์วาทกรรมทั้งหลายจึงต้องแยกแยะความถูกต้องชอบธรรมและที่มาของวาทกรรมนั้นๆด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกครอบงำ และการบิดเบือนที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกทางสังคมโดยผู้เสพย์เองก็ไม่ทันตั้งตัว ประชาชนที่ได้รับสื่อในปัจจุบันนี้ต้องพิจารณา พินิจพิเคราะห์ข้อมูล ข้อเท็จจริงด้วยเหตุและผล รวมทั้งต้องรู้เท่าทันของข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอ โดยไม่หลงเป็นเครื่องมือของกระบวนการโฆษณาชวนเชื่อทั้งหลาย การสร้างวาทกรรมทางการเมืองชวนเชื่อ [3] การปลุกระดมเพื่อเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนรวม เป็นบทเรียนสำคัญที่ได้เกิดขึ้นในสังคมไทย สื่อมวลชนทั้งหลายต้องร่วมกันเสริมสร้างสำนึกและความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องของข้อมูลทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง อย่างถูกต้องเป็นกลาง ให้รู้เท่าทันเล่ห์กลทางการเมืองที่แต่ละฝ่ายนำเสนอในการขับเคลื่อนอุดมการณ์ผ่านวาทกรรมการเมืองชวนเชื่อ โดยนำเอาทั้งสื่อและประชาชนเป็นเครื่องมือ การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในยุคโลกาภิวัตน์ที่สังคมมีความขัดแย้งสับสน ข้อมูลข่าวสารแข่งขันกันที่ความเร็วมากกว่าความถูกต้อง สื่อเองอาจตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่ช่วยปลุกเร้าความขัดแย้งในสังคมให้รุนแรงทบทวีขึ้นได้ง่าย การนำเสนอข้อมูลข่าวสารทั้งหลายสื่อมวลชนควรจะต้องอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล ข้อเท็จจริง และเลือกบุคคลที่ให้ข้อมูลข่าวสารที่เกิดประโยชน์ในการสร้างความสามัคคีให้แก่สังคมมิใช่นำเสนอโดยหวังผลประโยชน์ของกลุ่มตนเป็นหลัก การนำเสนอข่าวสารในภาวะความขัดแย้ง ควรจะเป็นไปเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่คนในสังคม จะต้องรอบคอบมีการตรวจสอบข่าวสารแหล่งที่มาของข่าวสารอย่างรอบด้าน ต้องคำนึงถึงความจริง (Fact) เกี่ยวกับที่มาที่ไปของปัญหาอันเป็นเหตุทำให้เกิดความขัดแย้ง ลดการนำเสนอข่าวสารที่จะยั่วยุให้เกิดความแตกแยก โดยเฉพาะข่าวสารความขัดแย้งในสังคมมีความละเอียดอ่อนผู้นำเสนอข่าวสารและผู้รับข่าวสารต้องไตร่ตรองประเด็นข่าวสารที่จะนำเสนอและรับอย่างรอบด้านอันจะช่วยให้สังคมหาทางออกจากความขัดแย้งได้อย่างสันติ มากกว่าที่จะจุดไฟสุมให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้นการสร้างสื่อสารสันติภาพเพื่อลดความขัดแย้ง จะต้องเริ่มต้นที่ผู้มีอำนาจรัฐร่วมหาทางออกให้เหตุการณ์ความขัดแย้งสงบลงด้วยสันติวิธี ต้องนำเสนอแนวทางหรือยินยอมหรือเห็นด้วยกับแนวทางการนำเสนอของสังคม ในการร่วมกันสร้างเครือข่ายสื่อสารเพื่อสานสันติภาพให้เกิดขึ้น เป็นต้นว่า การสร้างจิตสำนึกอาสาสำหรับบุคลากรสื่อจากทุกแขนง บุคลากรทางการศึกษา ผู้นำศาสนา นักการเมือง ข้าราชการทั้งส่วนกลางส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ให้เข้าใจถึงประโยชน์ของการสื่อสารทางบวกที่ถูกต้องชอบธรรม และโทษของการสื่อสารทางลบที่มีแต่ทำลายสังคม และที่สำคัญต้องมีการปลูกฝังการสื่อสารสันติภาพเพื่อลดความขัดแย้งสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่องในการสร้างจิตสำนึกต่อส่วนรวม นอกจากนั้นต้องเปิดพื้นที่การสื่อสารอย่างเสรีปราศจากการครอบงำจากรัฐสำหรับการแสดงออกทางความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายภายใต้การนำเสนออย่างสร้างสรรค์ ต้องมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาโดยใช้กระบวนการสื่อสารแบบสันติ สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล (Good Governance ) โดยมีหลักการและวิธีการ ที่สำคัญคือต้องอาศัยกระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม ร่วมกันสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของคนในสังคม สร้างสรรค์ความสามัคคี สร้างความยุติธรรม ให้ทุกฝ่ายยอมรับในความหลากหลายและความแตกต่างทางความคิดเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขความขัดแย้งร่วมกัน การสื่อสารท่ามกลางภาวะวิกฤตินี้ต้องนำเสนอข้อมูลที่ทำให้คู่ขัดแย้งในสังคมเกิดความไว้วางใจ อันจะทำให้ผู้เกี่ยวข้องมีช่องทางในการแสวงหาทางออกสำหรับความขัดแย้งร่วมกัน อ้างอิง: ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์. เศรษฐศาสตร์การเมือง.โครงการพัฒนาตำราหน่วยส่งเสริมและพัฒนาวิชาการ ศูนย์บริการเอกสารวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย., 2538. 87 ธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ.วาทกรรมการเมือง.ประชาไทยหนังสือพิมพ์ออนไลน์.”. ธ.ค.2553, www.bhumjaithai.com มิเชล ฟูโก (Michael Foucault) ปรัชญาชาวฝรั่งเศส ได้ให้ความหมาย “วาทกรรม” (Discourse) ไว้ว่า เป็นเรื่องที่มากกว่าการเขียน และการพูด ยังรวมถึงระบบและกระบวนการในการสร้าง การผลิต(Constitute) เอกลักษณ์(Identity) และความหมาย(Significant) ให้กับสรรพสิ่งในสังคมที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นอำนาจ ความรู้ ความจริง หรือแม้กระทั่งตัวตนของเรา และนอกจากวาทกรรมจะทำหน้าที่ดังกล่าวแล้ว ยังทำหน้าที่ในการยึดตรึง สิ่งที่สร้างขึ้นให้ดำรงอยู่และเป็นที่ยอมรับของสังคมต่อไป ขณะเดียวกันยังทำหน้าที่ในการเก็บกดปิดกั้น มิให้เอกลักษณ์ หรือความหมายของบางอย่าง หรือความหมายอื่นเกิดขึ้น หรือไม่ก็ทำให้เอกลักลักษณ์และความหมายของบางสิ่งที่ดำรงอยู่ในสังคมเลือนหายไปได้ พร้อมๆ กันอีกด้วย วาทกรรมสามารถแสดงบทบาทหน้าที่ดังกล่าวได้ โดยผ่านทางภาคปฏิบัติการของวาทกรรม (Discursive Practice) ได้แก่ จารีตประเพณี ความคิด ความเชื่อ คุณค่า ค่านิยม ผ่านทางสถาบัน และช่องทางในการเข้าถึงผู้คนในสังคม ส่วนคำว่า วาทกรรมการเมือง (Political Discourse) มีนักปรัชญาหลายคน สรุปไว้ว่า เป็นแนวคิดที่ให้ความสนใจและความสำคัญในกิจกรรมของการสื่อความหมายทางภาษา การแสดงความคิดทางการเมือง และกลไกในการควบคุมระบบการสื่อความหมาย ของการแสดงความคิดทางการเมืองนั้น โดยมีการถ่ายทอดและอบรมสั่งสอน เพื่อการบังคับ ดำรงรักษา หรือนำการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไปด้วยในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ชุดของความคิดทางวาทกรรมการเมืองจะต้องใช้ความชอบธรรม (Legitimacy) ในการสื่อวาทกรรมแต่ละชุดออกไป เพื่อเปลี่ยนแปลง ยึดตรึงสิ่งต่างๆ ด้วยความถูกต้อง นอกจากนั้น Thomas Jefferson ประธานาธิบดีคนที่สามของสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำนิยามว่าวาทกรรมการเมือง “คือหัวใจของระบอบประชาธิปไตย” โดยวาทกรรมการเมืองก็คือการแลกเปลี่ยนความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลอันจะนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาของสังคม และชุดของความคิดนี้มีความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของพลเมือง จูงใจให้เชื่อถือด้วยหลักตรรกะและข้อมูลที่ชัดแจ้ง และแสดงให้เห็นชัดเจนว่ากระบวนการใดที่จะมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาให้สังคมได้มากที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net