พิภพ อุดมอิทธิพงศ์:ว่าด้วยระบบรีไซเคิลคนดีของสังคมไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีข่าวเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่งว่าด้วยการประกาศผลการสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ โดยหลัก ๆ ก็เพื่อ “ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย” และเสนอแนะหรือให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี ใครเป็นใครบ้างลองอ่านดูได้ สรุปว่ามีกรรมการแบบเต็มเวลา 6 คน ไม่เต็ม 5 และตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. 2553 มาตรา 12 กำหนดให้ “กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งและอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน” พูดง่าย ๆ ว่าถ้าไม่ตาย ไม่ลาออก หรือขาดคุณสมบัติไปเอง ก็อาจดำรงตำแหน่งได้ถึง 8 ปี ที่น่าสนใจคือในบรรดาผู้ได้รับเลือกเข้ามามีอยู่สองคนที่มาจากหน่วยงานเดียวกันคือ ศ.ดร.คณิต ณ นครกับนายสมชาย หอมลออ ซึ่งนอกเหนือจากบรรดาภารกิจานุกิจทั้งหลายแล้ว ทั้งสองท่านก็ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ทั้งที่เป็นประธานกรรมการและกรรมการ หน่วยงานนี้แต่ตั้งขึ้นมาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อกรกฎาคม 2553 สองเดือนหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.นั่นเอง ถ้าความจำไม่เสื่อม เราคงจำกันได้ว่าทั้งก่อนเข้าดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ และระหว่างการทำงาน ประธานและกรรมการก็แสดงท่าทางขึงขังว่าจะเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาปัญหาประเทศ มีการเดินสายไปพบผู้นำกลุ่มต่าง ๆ ทั้งในกรุงและต่างจังหวัด จัดประชุมตามโรงแรม เลี้ยงอาหารอย่างเปรมปรีดิ์ แจกตั๋วเรือบินให้นักวิชาการจากต่างจังหวัดไปเข้าร่วมประชุมที่กรุงเทพฯ จัดประชุมเรียกพยานในเหตุการณ์มาชี้แจง ฯลฯ และอันที่จริงตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 กำหนดว่า “ข้อ 6 ประธานกรรมการและกรรมการ มีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับระยะเวลาการใช้บังคับระเบียบนี้” และ “ข้อ 17 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับมีกำหนดระยะเวลาสองปี นับแต่วันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ” หมายความว่าคนที่เป็นกรรมการคอป. ก็สามารถและควรดำรงตำแหน่งได้อย่างน้อยสองปีตามระเบียบนี้ ด้วยสมองอันน้อยนิดของผม คณะกรรมการ คอป.ก็น่าจะดำรงตำแหน่งได้อย่างน้อยจนถึงเดือนกรกฎาคมปีหน้า (2555) ว่ากันความผลงานของคณะกรรมการที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะน้อยนิดแล้ว ยังเชื่องช้าเหลือเกิน ต่อให้ทำงานจนถึงปีหน้า ก็ยังไม่แน่ว่าจะเกิดมรรคผลใด ๆ ขึ้นมาให้สอดคล้องกับชื่อ “ปรองดอง” ที่ฟังดูใหญ่โตมาก นี่ยังไม่นับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคอป. ที่จะต้อง “จัดทำรายงานความคืบหน้าของการทำงานทุกรอบหกเดือน รวมทั้งรายงานสรุปผลและข้อเสนอแนะเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและสาธารณชน” (ข้อ 9) ถ้านับจากกรกฎาคมที่แล้ว คอป.ควรจะเสนอรายงานการทำงานของตนเองได้ตั้งแต่เดือนกพ.ที่ผ่านมา งานแค่นี้ยังไม่เห็นจะทำได้เลย แต่คราวนี้ ในเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการอิสระตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายที่ใหญ่กว่าระเบียบสำนักนายกฯ ไม่แปลกที่ทั้งท่านประธานและกรรมคอป.คงสละเรือน้อยไปลงเรือใหญ่เพื่อประกอบคุณงามความดีที่มีโภคผลสูงส่งยิ่งขึ้น แสดงว่าในสังคมไทยเรา “คนดี” ที่มีอยู่ คงมีอยู่ไม่กี่คนนี่เอง (บรรดากรรมการคนอื่นๆ ที่ได้รับการสรรหาในคณะกรรมปฏิรูปกฎหมาย ก็ล้วนเคยรับใช้ชาติในช่วง “ผิดปรกติ” มาแล้วเป็นส่วนใหญ่) เราก็คงต้องรีไซเคิลคนดีเหล่านี้ต่อ ๆ ไป ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ยังไม่พูดถึงความชอบธรรมและโปร่งใสของกระบวนการสรรหาที่มี นายกิติพงษ์ กิตติยารัตน์ เป็นประธาน และนายกิตติพงษ์ก็ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการ คอป.เองอีกด้วยเช่นกัน ความจริงนายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ที่ได้รับการสรรหาเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายแบบเต็มเวลาครั้งนี้ ก็เคยได้รับเสนอชื่อเป็นคณะกรรมคอป.ด้วยเช่นกัน แต่ตามรายงานข่าวระบุว่า ได้ถอนตัวออกจากคณะกรรมการ คอป. เพราะ “ต้องการทำงานเป็นอิสระจาก คอป. โดยจะตรวจสอบ คอป. แทน” แต่ได้ตรวจสอบยังไงบ้างก็ยังไม่เห็น และความจริงหนึ่งในคณะกรรมการสรรหาที่เลือกนายไพโรจน์ พลเพชร ก็คือประธาน กป.อพช.คนก่อนนั่นเอง (นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข) คำถามต่อมาคือ คนดีเหล่านี้ทำให้บ้านเมืองผ่านพ้นวิกฤตได้หรือไม่ ความแบ่งแยกที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของพลเรือน การเมืองและการมุ้งทั้งหลาย “เกียร์ว่าง” ของข้าราชการน่าจะเป็นคำตอบที่ดีอย่างหนึ่ง อย่างน้อยผู้ดีรัตนโกสินทร์อย่างนายอานันท์ ปันยารชุน ยังประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานคณะปฏิรูปประเทศหรือ คปร. โดยให้เหตุผลว่าต้องการเปิดทางให้ผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่มีทางเลือกว่าจะให้มีคณะกรรมการชุดนี้ต่อไปหรือจะให้ใครเข้ามาทำหน้าที่แทน แต่เชื่อว่า ”คนดี” บางคนก็คงคิดว่าความดีของตนนั้นแก้ปัญหาได้ หาใช่การปฏิบัติอย่างที่พูด หรือ walk one’s talk ไม่ ปล. เขียนในวาระที่จะมีการประกาศรายชื่อ สว.สรรหาอีก 73 คน คนดี ๆ ทั้งนั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท