Skip to main content
sharethis

14 เม.ย. 54 - รศ.ภก.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยถึงอันตรายของผู้ใช้แรงงานของไทยที่ยังสัมผัสกับวัสดุก่อสร้างที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน ว่าจากการติดตามแหล่งจำหน่ายของโรงงานอุตสาหกรรม SME ที่ทำท่อใยหิน กระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และจากการสำรวจข้อมูลในเว็บไซต์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม SME ท่อใยหิน พบว่า อุตสาหกรรมเหล่านี้ไม่มีมาตรการป้องกันให้ผู้ใช้แรงงานที่ทำงานสัมผัสกับท่อใยหินเหล่านี้ ซึ่งผู้ใช้แรงงานไม่มีโอกาสทราบว่าใยหินรอบตัว คือสารก่อมะเร็ง ทั้งมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด และอื่นๆ โดยอนุภาคใยหินกระจายอยู่ทั่วไปในสถานที่ผลิต สังเกตดูได้จากภาพของแรงงานที่ปรากฏในเว็บไซต์ของอุตสาหกรรมเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ ให้กับแรงงาน ดังนั้นการขาดมาตรฐานในการดูแลผู้ใช้แรงงานเหล่านี้จะสร้างภาระทางสุขภาพแก่ผู้ใช้แรงงานและครอบครัวในระยะยาวจากโรคมะเร็ง นำมาสู่การแบกรับทางเศรษฐกิจที่ครอบครัวและรัฐจะต้องดูแลอย่างมหาศาล เนื่องจากการรักษาโรคมะเร็งปอดมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก “องค์การอนามัยโลกได้ชี้ว่าแอสเบสตอสทุกชนิดรวมทั้งใยหินไครโซไทล์ ที่ประเทศไทยยังยอมให้ใช้อยู่เป็นอันตราย โดยเป็นสารก่อมะเร็ง ที่ทำให้เกิดโรคที่สัมพันธ์กับแอสเบสตอส เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด การป้องกันโรคคือการหยุดการใช้แอสเบสตอสทุกชนิด เครือข่ายแพทย์และนักวิชาการได้ผนึกกำลังผ่านสมาพันธ์อาชีวอนามัย/ความปลอดภัย/สภาพแวดล้อมในการทำงาน และได้ร่วมประชุม Asian Conference on Occupational Health 2011 เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อยืนยันสนับสนุน มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่มีมติให้ยกเลิกการผลิต นำเข้าและส่งออกแร่ใยหินทุกชนิด จึงเห็นว่าการที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติยกเลิกการใช้ใยหินไครโซไทล์ในประเทศไทย จะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล ที่จะดูแลสุขภาพผู้ใช้แรงงาน ผู้บริโภค และคนไทยอย่างจริงจัง” รศ.ภก.ดร.วิทยา กล่าว ที่มาข่าว: บ้านเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net