Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กรณีภัยพิบัติที่ภาคใต้ล่าสุดสาเหตุมาจากดินถล่มในพื้นที่บนภูเขาสูง ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันทำลายหมู่บ้านและพื้นที่สวนยางและสวนผลไม้ ดังเช่น กรณีที่ตำบลกรุงชิง อ.นพพิตำ จ.นครศรีธรรมราช และตำบลเทพราช อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช มีการกล่าวกันว่ามาจากการบุกเบิกป่าทำกินเป็นพื้นที่สวนยาง และสวนผลไม้ ในบริเวณพื้นที่ป่าต้นน้ำ ตลอดแนวเทือกเขา เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติเมื่อหลายปีก่อน ปีที่แล้ว และปีนี้ทุกครั้งที่ภาคใต้หรือภาคอื่น ก็มีการพูดลักษณะเช่นนี้มาตลอด แต่เมื่อภายหลังภัยพิบัติหายไป การช่วยเหลือแบบกระหน่ำในลักษณะสงเคราะห์จบสิ้นลง ชุมชนก็ต้องเผชิญกับปัญหาที่ท้าทายด้วยตนเอง คือการกลับเข้าไปทำกินในที่ดินเดิมซึ่งยังมีคำถามว่าครอบครองที่ดินถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ การฟื้นฟูที่ดินทำกินและทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องพึ่งพา การรวมกลุ่มของชุมชนในการจัดการตนเองอย่างเข้มแข็ง และการจัดการภัยพิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโดยชุมชน แนวทางการฟื้นฟูดังกล่าวทำได้ ในหลายพื้นที่ที่ประสบภัยสึนามิ และที่หมู่บ้านคีรีวงและที่ชุมพรซึ่งเคยประสบภัยพิบัติครั้งใหญ่มาแล้วก็ทำได้ ถ้าหากชุมชนมีกำลังใจและรวมกลุ่มของคนในชุมชนอย่างจริงจังด้วยการพึ่งตนเอง ไม่ใช่ในลักษณะของการพึ่งพาและร้องขอผู้อื่น สังคมไทยจึงควรใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสของการฟื้นฟูชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ ข้อกังวลอย่างยิ่งคือบุคคลหรือองค์กรภายนอกที่จะมีบทบาทสำคัญของการสร้างความขัดแย้งแตกแยกให้กับชุมชน ถ้าเริ่มต้นจากโจทย์ของคนนอกที่ต้องใช้งบประมาณให้เสร็จสิ้นโดยเร็วเพื่อสร้างผลงานให้กับองค์กร โดยไม่รอคอยความพร้อมและการวางแผนของชุมชน หากยังดำเนินการแบบเดิมๆ วิกฤตนี้จะไม่เป็นโอกาส แต่จะเป็นการทำลายความเป็นชุมชน ซึ่งก็เกิดขึ้นมาแล้วในชุมชนจำนวนมากที่ประสบภัยพิบัติ โดยไร้การเหลียวแลเมื่อเหตุการณ์ภัยพิบัติผ่านไป ดังกรณีพื้นที่ชายฝั่งอันดามันและอีกหลายพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติ สิ่งที่คนไทยจะร่วมมือกันได้ คือ โปรดอย่าตั้งคำถามหรือกล่าวหาว่า คนพวกนี้ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย คนพวกนี้บุกรุกป่าทำให้เกิดดินถล่ม คนพวกนี้ไม่มีสิทธิจะไปทำกินในที่ดินเดิม การกล่าวหาเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ แต่เป็นการทำลาย และทำให้ไม่มีทางออกของการจัดการปัญหา ที่สำคัญจะทำให้มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่จ้องจะเอาผลประโยชน์แฝงอยู่เพื่อรอที่จะเข้าไปทำกินและบุกรุกป่าต่อไป โดยร่วมมือกับภาครัฐ หรือกลุ่มทุนในการปฏิบัติการ ถ้าหากชุมชนยังไม่มีความเข้มแข็งที่จะร่วมมือกัน ควรใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสของการฟื้นฟูชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ป่าต้นน้ำ พื้นที่ควน พื้นที่ชุ่มน้ำ และพื้นที่ราบ โดยให้ความสำคัญกับมิติระบบนิเวศของลุ่มน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ เป็นระบบนิเวศของลุ่มน้ำสายสั้นจากป่าต้นน้ำถึงทะเล เช่น คลองท่าทน คลองกราย คลองตาปี – พุมดวง คลองหลังสวน คลองชี ซึ่งคลองเหล่านี้เป็นลำน้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำ ปากอ่าว และลงทะเล ตามที่คนใต้เรียกว่าคลอง แต่ขนาดของคลองดั่งเป็นแม่น้ำในภาษาของภาคกลาง ความเชื่อมโยงของระบบนิเวศจึงมีความสำคัญ ทุกๆปีจะมีตะกอนดินที่ไหลลงสู่ทะเลอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการทำประโยชนในพื้นที่ของระบบนิเวศไม่ใช่เฉพาะป่าต้นน้ำดังที่ถูกกล่าวหา แต่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำถึงทะเล เราเคยมีการวัดตะกอนดินที่มาทับถมในที่ดินตลอดของลุ่มน้ำหรือไม่ในทุกปี ซึ่งเป็นการสะสมที่มีสภาพอิ่มตัวเมื่อไรอย่างไร ข้าพเจ้าไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์หรือนักนิเวศวิทยาจึงบอกไม่ได้ แต่ชาวบ้านบอกอยู่เสมอว่า มีตะกอนดินที่ไหลลงมาที่ปากแม่น้ำ ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรปากแม่น้ำ อันเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวประมงพื้นบ้าน และเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา อ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี อ่าวปัตตานี จ.ปัตตานี ปากแม่น้ำแม่ตรัง ปากแม่น้ำปะเหลียน และอีกหลายแม่น้ำในภาคใต้ ความเปลี่ยนแปลงนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อมีการบอกกล่าวจากชาวประมงที่ปากแม่น้ำว่า มีตะกอนดินเกิดขึ้นมากจนผิดสังเกต สิ่งนี้คือคำถามว่าเกิดจากอะไร การเรียนรู้ระบบลุ่มน้ำจึงมีความสำคัญที่ทำให้เราต้องเข้าใจต่อการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณป่าต้นน้ำ แม้ว่าจะเป็นภูเขาลูกโดด ที่มีการบุกรุกป่าทำสวนยาง หรือเป็นเทือกเขาที่มีการทำกินและที่ตั้งของชุมชนก็ตาม การฟื้นฟูชุมชนที่ประสบภัยพิบัติ จึงจำเป็นต้องเริ่มต้นวันนี้ วันที่ชุมชนต้องฟื้นฟูขึ้นใหม่ กรณีที่หมู่บ้านถูกทำลาย การฟื้นฟูจึงไม่ได้อยู่ที่การสร้างบ้านให้เท่านั้น หรือการทวงสิทธิในที่ดินอันชอบธรรม แต่ยังหมายถึงการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ทั้งระบบ การวางแผนพัฒนาพื้นที่เป็นเรื่องที่ทำได้จากการรวมกลุ่มของชุมชน และมองไปในอนาคตว่าชุมชนเราควรเป็นอย่างไรภายใต้ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศที่เราต้องพึ่งพา การจัดการที่ดินในพื้นที่ป่าที่ยังไร้เอกสารสิทธิ จึงไม่ใช่การเริ่มต้นว่าเพราะเป็นที่ดินของรัฐ ประชาชนมาอยู่ภายหลัง จึงกลับเข้าไปไม่ได้ แต่จากสภาพที่ดินที่ตำบลกรุงชิง อ.นพพิตำ และที่ต.เทพราช อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ชาวบ้านอยู่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 หรือก่อนหน้านั้นและเริ่มมีการอพยพตามเข้ามา ชาวบ้านทั้งสองพื้นที่มีบทบาทสำคัญต่อการตรวจสอบไม่ให้เกิดโครงการสร้างเขื่อนคลองกราย และเขื่อนท่าทน เนื่องจากเกรงว่าจะทำลายพื้นที่ป่า และมีอพยพชุมชนออกจากพื้นที่ การพิสูจน์สิทธิในที่ดินมาอยู่ก่อนประกาศพื้นที่ป่า จึงเป็นการย้อนหาอดีตที่ไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหา แต่เราควรที่จะสนับสนุนให้ชุมชนรวมกลุ่มและตกลงกันให้ได้ว่าเรามีสภาพที่ดินที่จำกัด พื้นที่ส่วนหนึ่งต้องอนุรักษ์ให้เป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติ ป่าต้นน้ำ ป่าใช้สอยที่ชาวบ้านจะใช้ประโยชน์อย่างไร บริเวณไหนที่ต้องทำสวนสมรม สวนผลไม้ หรือสวนยาง เป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องร่วมพิจารณากันว่า จะจัดการอย่างไรให้ชุมชนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน การบริหารจัดการดังกล่าวจึงเจาะจงไม่ได้ว่าควรเป็นอย่างไร เพราะสภาพพื้นที่มีความแตกต่างกัน แต่ภัยพิบัติจะเป็นอุทาหรณ์ให้ชาวบ้านต้องตระหนักในด้านนี้ การจัดการที่ดินและทรัพยากรร่วมกัน หรือที่เรียกว่า “โฉนดชุมชน” จึงเป็นแนวทางที่จะทำให้ประชาชนและชุมชนต้องรวมกลุ่มมีกฎกติกาของตนเอง เพื่อจัดการที่ดินและทรัพยากรของชุมชนร่วมกัน จะทำให้เขาเชื่อมั่นว่าดำเนินการได้โดยไม่ถูกจับกุม และพวกเขาปกป้องป่าไม้ได้ด้วยกฎกติกาของพวกเขา และสามารถเฝ้าระวังแยกกลุ่มที่ทำลายป่า ออกจากกลุ่มของเขา เพื่อยืนยันให้สังคมเห็นว่าใครคือผู้ทำลายป่า คนที่ไม่อยากรวมกลุ่มคือคนที่อยากอยู่ลำพังและอยู่ยากในสภาวะที่ระบบนิเวศมีความเสี่ยง ข้าพเจ้าเชื่อเช่นนั้น ถ้าหากภาครัฐกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ จะร่วมสนับสนุนให้พวกเขาจัดการในเรื่องนี้นับแต่วันนี้ สำหรับชุมชนที่อยู่บนพื้นที่ราบ หรือพื้นที่ชายฝั่งทะเล ที่ได้รับผลกระทบทั้งสิทธิในที่ดิน ก็เฉกเช่นเดียวกันที่ต้องจัดการที่ดินและทรัพยากรร่วมกัน แต่การร่วมศึกษาของการวางแผนพัฒนาพื้นที่และผังเมืองว่าระบบทางน้ำไหลของแม่น้ำอยู่ที่ใด สาเหตุใดเป็นอุปสรรคของการทำให้น้ำท่วมขังนาน และทำลายพื้นที่แหล่งอาหารของชุมชนอย่างไร โดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำของป่าจาก ป่าสาคู ป่าชายเลน ป่าริมน้ำ ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อสมุนไพรและอาหาร ที่จะทำให้ชุมชนคนใต้พึ่งพาได้ นอกจากการพึ่งสวนยางและสวนปาล์มซึ่งเป็นพืชเงินตราเท่านั้น การดำเนินการลักษณะเช่นนี้จึงจำเป็นต้องร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ปกครองท้องที่ ที่จะต้องร่วมวางแผนการใช้ที่ดินในตำบลของตนเองอย่างไร การเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังภัยพิบัติเริ่มต้นที่ชุมชน ตำบล และเครือข่ายของลุ่มน้ำนั้น ซึ่งแบ่งเป็นโซนย่อยๆ ตามระบบนิเวศที่ใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยที่มีอาสาสมัครที่มีศักยภาพในการช่วยเหลือผู้อื่นและใช้เครื่องมือสื่อสาร จะเป็นแบบเครือข่ายวิทยุ VR ซึ่งเป็นสมาคมวิทยุสมัครเล่น โดยการรวมตัวกันทุกจังหวัด สนับสนุนโดยการสื่อสารโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จ่ายค่าสมัคร ๑.๐๐๐ บาท กทช.มาสนับสนุนความรู้และออกใบวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น หรือจะใช้เครือข่ายวิทยุมดแดงในการสื่อสาร สิ่งที่สำคัญอาสาสมัครนั้นเป็นคนในชุมชน และเชื่อมเป็นเครือข่ายสื่อสารจากป่าต้นน้ำถึงชายฝั่งทะเล สามารถรับรู้ว่าน้ำจะไหลลงมาที่พื้นราบภายในจำนวนกี่วัน ในเครือข่ายป่าต้นน้ำเฝ้าระวังดินถล่ม แผ่นดินไหว พายุฝน ปริมาณน้ำ ความรู้เหล่านี้ต้องถูกถ่ายทอดให้คนในชุมชนที่มีศักยภาพเข้าใจ และป้องกันตนเอง สามารถสื่อสารให้กับคนในหมู่บ้าน ตำบลและเครือข่าย ที่สำคัญต้องมีข้อมูลของชุมชน ระบบข้อมูลของลุ่มน้ำ เมื่อเกิดภัยพิบัติก็สามารถรู้ว่าควรจะช่วยเหลือใครที่เดือดร้อนมากที่สุดในเบื้องต้น ความเป็นเครือข่ายของลุ่มน้ำจากป่าถึงทะเล จะทำให้เกิดการหนุนการช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะพื้นที่ใดที่ช่วยตนเองไม่ได้ พื้นที่อื่นก็จะมาช่วยเหลือ และรู้ข้อมูลร่วมกัน สามารถที่จะไปหนุนช่วย อบต.ที่ถูกน้ำท่วมได้ ปัจจัยของการมีเรือไฟเบอร์ หรือเรือติดเครื่องยนต์ เสื้อชูชีพ มีไว้สำหรับแต่ละจุดในแต่ละโซน ของลุ่มน้ำ เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือกันเมื่อพื้นใดที่เดือดร้อน ภารกิจของการเฝ้าระวังภัยพิบัติและการบริหารจัดทรัพยากรธรรมชาติจึงต้องเป็นของชุมชนจึงจะจัดการได้ทันต่อสถานการณ์ ภารกิจของบุคคลหรือองค์กรภายนอก จะทำหน้าที่ได้ดีสำหรับการช่วยเหลือในสถานการณ์เฉพาะหน้าเมื่อเกิดภัยพิบัติ และช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพการจัดการของชุมชนและเครือข่าย หากไม่มีการรวมกลุ่มของชุมชนและเครือข่ายบุคคลหรือองค์กรภายนอกก็จะช่วยเหลืออย่างไร้ทิศทาง เพราะเขาไม่ได้รู้ว่าในชุมชนนั้นเป็นอย่างไร ด้วยเหตุนี้เอง การวางแผนพัฒนาพื้นที่ การจัดทำผังเมือง การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการเฝ้าระวังภัยพิบัติจึงเป็นเรื่องเดียวกันที่ต้องสนับสนุนให้ชุมชนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในวันนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net