Skip to main content
sharethis

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาออกแถลงการณ์แจ้งความคืบหน้ากรณีนายชาลี ดีอยู่ แรงงานข้ามชาติ ซึ่งได้รับบาดเจ็บระหว่างการทำงาน และถูกควบคุมตัวโดยมิชอบที่โรงพยาบาลตำรวจ ก่อนหน้านี้ ล่าสุด คณะแพทย์ฯ อนุญาตให้นายชาลีออกจากโรงพยาบาลได้ในวันพรุ่งนี้ (18 เม.ย.) ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติให้ได้รับการรักษาพยาบาลตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมระบุกรณีนายชาลีเป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของแรงงานข้ามชาติอีกจำนวนมากที่ได้รับบาดเจ็บ ทุพลภาพ หรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากการทำงาน และมักตกเป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิซ้ำซ้อน และเป็นบทสะท้อนที่ชัดเจนถึงการเลือกปฏิบัติและความไร้ประสิทธิภาพของระบบการเยียวยาลูกจ้างที่ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับผู้ใช้แรงงาน ทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ เนื้อหาแถลงการณ์มีดังนี้ ... เวลา 11.00 น. วันที่ 18 เมษายน 2554 คณะแพทย์โรงพยาบาลตำรวจอนุญาตให้นายชาลี ดีอยู่ แรงงานข้ามชาติเหยื่ออุบัติเหตุจากการทำงาน ได้รับบาดเจ็บสาหัสลำไส้ใหญ่แตกและกระดูกสะโพกซ้ายหัก ออกจากโรงพยาบาลได้ หลังต้องเข้ารับการรักษาตัวเป็นเวลากว่า 3 เดือน แม้อาการทั่วไปจะดีขึ้น แต่ลำไส้ใหญ่ของนายชาลียังอยู่นอกช่องท้อง โดยแพทย์ได้นัดกลับมารับการผ่าตัดเพื่อนำลำไส้ใหญ่กลับเข้าช่องท้องอีกในอีก 2 สัปดาห์ ก่อนหน้านี้ในวันที่ 9 มกราคม 2554 นายชาลี ถูกผนังปูนหล่นทับระหว่างทำงานให้กับผู้รับเหมาต่อเติมอาคารสำนักงานบริษัท ซีพี ค้าปลีกและการตลาด จำกัด ต่อมาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลปทุมธานี จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2554 โรงพยาบาลแจ้งตำรวจให้เข้าควบคุมตัวนายชาลีด้วยข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายและเกือบถูกส่งกลับประเทศพม่าทั้งที่ยังป่วยหนัก แต่โดยการเรียกร้องของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาและเครือข่ายแรงงานข้ามชาติอื่นๆ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 นายชาลีถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจที่ซึ่งนายชาลีถูกล่ามโซ่ไว้กับเตียงในสถานะผู้ป่วยต้องกัก ต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวนายชาลีเและให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองชดเชยค่าเสียหายจากการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะใบอนุญาตทำงานของนายชาลียังไม่หมดอายุ ตลอดระยะเวลาที่รับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรงจ แม้นายชาลีจะได้รับการปล่อยตัวและได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากโรงพยาบาลตำรวจ ตลอดจนสำนักงานประกันสังคมที่ได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยให้แก่นายชาลีเป็นเงิน 9,167 บาท ก็ตาม แต่นายชาลีก็ไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาของกองทุนเงินทดแทนได้ แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการเยียวยาแรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน การเลือกปฏิบัติ หรือการใช้สองมาตรฐานต่อแรงงานข้ามชาติ และการขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ ทั้งกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานประกันสังคม อันเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยต่อประเด็นดังกล่าวนี้ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนามีความเห็นและข้อเรียกร้องดังนี้ 1. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรเข้ามามีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูแรงงานที่เจ็บป่วยจากการทำงาน ดังเช่นกรณีนายชาลีซึ่งแม้แพทย์อนุญาตให้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้ แต่เนื่องจากนายชาลี ที่ไม่มีญาติพี่น้อง ไม่มีบ้าน ทั้งอาการบาดเจ็บที่ยังไม่หายดีและยังไม่สามารถทำงานได้ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่นายชาลีจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เพียงลำพัง และจึงต้องได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2. สำนักงานประกันสังคมต้องทบทวนแนวปฏิบัติตามหนังสือเวียนที่ รส. 0711/ว.751 ซึ่งกีดกันแรงงานข้ามชาติออกจากระบบกองทุนเงินทดแทนและทำให้สำนักงานประกันสังคมปฏิเสธไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาลและเงินทดแทนกรณีประสบอุบัติเหตุจากการทำงานให้กับแรงงานข้ามชาติ ดังเช่นกรณีนายชาลี ซึ่งแทนที่จะให้กองทุนจ่ายเงินทดแทนและค่ารักษาพยาบาลต่อนายชาลีและลงโทษนายจ้างเช่นเดียวกับกรณีที่ลูกจ้างคนไทย กลับมีคำสั่งให้นายจ้างเป็นผู้จ่ายเสียเอง ซึ่งนอกจากจะเป็นการผลักภาระไปยังโรงพยาบาลที่ไม่สามารถปฏิเสธการรักษาจึงต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่นายจ้างอาจจ่ายล่าช้าหรือไม่มีเงินจ่าย ยังเป็นการผลักความเสี่ยงและภาระไปที่นายจ้าง ลูกจ้าง อันเป็นแนวปฏิบัติที่ขัดต่อพระราชบัญญัตเงินทดแทน พ.ศ.2537 และขัดกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนฯเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับการเยียวยากรณีประสบอุบัตเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงานโดยไม่เลือกปฏิบัติ และยังขัดต่ออนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศซึ่งห้ามเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับสิทธิในการได้รับการเยียวยาจากอุบัติเหตุการทำงานและอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติซึ่งประเทศไทยมีพันธรกรณีต้องปฏิบัติตามในฐานรัฐภาคี ซึ่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศและผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของแรงงานย้ายถิ่นได้เคยมีความเห็นแนะนำให้รัฐบาลทบทวนแนวปฏิบัติดังกล่าวแล้ว 3. กระทรวงแรงงานควรเข้ามามีบทบาทและจัดให้มีระบบในการให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ถูกเลิกจ้างอันเนื่องมาจากการประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน เช่นเดียวกับกรณีนายชาลีที่ถูกเลิกจ้างและไม่สามารถกลับไปทำงานก่อสร้างอย่างเดิมได้เนื่องจากสภาพร่างกายที่อ่อนแอจากการบาดเจ็บ โดยที่นายชาลีเองก็ยังไม่ทราบอนาคตตนเองว่าจะสามารถหางานทำได้หรือไม่ และเนื่องจากกระทรวงแรงงานไม่มีระบบรองรับเพื่อให้ความช่วยเหลือเรื่องที่พักฟื้น การจัดหางานหรือต่อใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตจากการทำงานและอยู่ระหว่างรอดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเช่นในกรณีนี้ มูลนิธิฯจึงต้องรับภาระดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานให้นายชาลีและเข้าเป็นนายจ้างเสียเองรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้วย เพื่อให้นายชาลีสามารถมีสิทธิอาศัยต่อในประเทศไทยเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องการเยียวยาชดเชยตามกฎหมายได้ 4. กระทรวงแรงงานและกระทรวงสาธารณสุขควรกำหนดแนวทางที่ชัดเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพและการต่อใบอนุญาตการทำงานสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานและอยู่ระหว่างการเรียกร้องสิทธิ ซึ่งแม้นายชาลีจะได้รับการต่อใบอนุญาตการทำงานแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าเป็นผู้ประกันตนตามหลักประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติได้ เนื่องจากในช่วงที่เปิดให้มีการต่อใบอนุญาตการทำงานนั้น นายชาลีไม่สามารถเดินทางไปตรวจสุขภาพได้ ซึ่งมูลนิธิฯได้มีหนังสือไปยังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อสอบถามแนวปฏิบัติต่อกรณีนี้แล้วแต่ยังไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด กรณีนายชาลี เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของแรงงานข้ามชาติอีกจำนวนมากที่ได้รับบาดเจ็บ ทุพลภาพ หรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากการทำงาน และมักตกเป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิซ้ำซ้อน และเป็นบทสะท้อนที่ชัดเจนถึงการเลือกปฏิบัติและความไร้ประสิทธิภาพของระบบการเยียวยาลูกจ้างที่ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับผู้ใช้แรงงาน ทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net