Skip to main content
sharethis

เรื่องนิติรัฐ เรื่องหลักสิทธิมนุษยชน สังคมไทยและเจ้าหน้าที่ หรือรัฐบาลอาจจะยังเข้าใจไม่ชัดเจน จริงๆ การเสียชีวิตจากใครก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเสียชีวิตจากโจรหรือเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่ ในกรณีนี้ไม่ว่าจะเสียชีวิตจากชายชุดดำ หรือเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่รัฐ มันก็เป็นหน้าที่ของรัฐอยู่ดีที่จะต้องทำการสืบสวนสอบสวน และก็เอาผู้ที่กระทำความผิดมาดำเนินการตามกฎหมาย ถ้าจะบอกว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำ และก็ถือว่าไม่ต้องรับผิดชอบ อย่างนี้ก็ไม่ถูก เพราะว่ารัฐต้องมีหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวน และดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย...ความผิดพลาดทุกคนมองเห็นว่ามันมี มันเป็นความผิดพลาดในทางปฏิบัติ เป็นความผิดพลาดในเชิงนโยบาย แต่ต้องให้สังคมรู้ว่าความผิดพลาดมันมีที่มาอย่างไรและมีผลอย่างไร คือมันมีหัวมีปลาย ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นลอยๆ กรณีนักข่าวญี่ปุ่น ทางดีเอสไอได้ข้อมูลจากประจักษ์พยานว่า น่าจะเกิดจากการกระทำของทหาร และก็ส่งเรื่องไปให้ตำรวจท้องที่เพื่อที่จะดำเนินการไต่สวนตามกระบวนการของศาล แต่ก็น่าเสียดายที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกลับชะลอในเรื่องนี้ และก็ขอสอบสวนเพิ่มเติม...จริงๆ แล้วกระบวนการสอบสวนของศาล มันไม่ได้สอบสวนว่าใครผิดใครถูก และก็ไม่ได้มีใครเป็นจำเลยด้วย แต่เป็นการสอบให้รู้ว่าเหตุการณ์มันเกิดขึ้นอย่างไร ที่สำคัญคือเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายของผู้ตายนำเสนอพยานหลักฐานด้วย เท่ากับเป็นกระบวนการที่เปิดให้มีการรับฟังอีกฝ่าย เปิดเผยต่อสาธารณะถึงกระบวนการในการค้นหาความจริงของศาล ถึงแม้ผลอาจจะออกมาไม่ระบุว่าใคร แต่ผมคิดว่ามันเป็นกระบวนการที่ดี ที่ทำให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวต่างประเทศ ครอบครัวของเขา ได้เห็นว่ากระบวนการของเรามันยังมีนะ ที่จะให้ความยุติธรรมได้ กว่า 2 เดือนของกระบวนการรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริง (Hearing) ที่คณะอนุกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เปิดพื้นที่ให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อและทหารรับฟังเรื่องราวจากมุมของอีกฝ่าย ซึ่งนี่คือกระบวนการเรียนรู้ที่ทุกฝ่ายจะต้องมุ่งไปสู่ 'ความจริง' และยอมรับ 'ความผิดพลาด' ทั้งจาก 12 กรณีความรุนแรง โดยที่ สมชาย หอมลออ ประธานคณะอนุกรรมการฯ ระบุว่า มีหลายคดีที่ควรจะไปสู่ขั้นตอนการไต่สวนของศาลได้แล้ว เพราะนี่คือทางเดียวที่จะแสดงให้เห็นว่าเรายังมีกระบวนการยุติธรรมอยู่ ให้เห็นว่ายังมี process \พอจบกระบวนการรับฟังแล้ว เราจะทำในลักษณะ genetic ไม่ใช่เป็นเรื่องแต่ละเหตุการณ์ แต่เป็นเรื่องภาพรวมที่จะต้องเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล เป็นเหมือนองค์ประกอบของเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ เช่น เด็กหรือทำไมเด็กผู้หญิงจึงเข้าร่วมการชุมนุม การปฏิบัติการของทหารที่เป็นภาพรวม การปฏิบัติของคนเสื้อดำ เป็นภาพรวมของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เราจะเอามาปะติดปะต่อกัน จะเป็นแนวขวาง ที่ผ่านมาเราทำในแนวตั้งแต่ละเรื่องๆ ตอนนี้เราก็จะทำเรื่อง cross cutting แนวขวาง นอกจากจะได้มุมมองในด้านนั้นแล้ว เราก็จะเอาคนที่เกี่ยวข้องมานั่งคุยกันด้วย และเขาจะได้ฟังว่าอีกฝ่ายคิดอย่างไร\" \"การรับฟังมันดีในแง่ที่ทำให้คู่ขัดแย้งที่ไม่ใช่แค่ฝ่ายสองฝ่าย แต่เป็นหลายฝ่าย ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หนึ่งๆ มาพูดถึงข้อเท็จจริง เหตุการณ์และก็มุมมอง จากฝ่ายของตัวเองเพื่อให้ฝ่ายอื่นๆ ได้รับทราบ ขณะเดียวกันก็ได้ฟังจากฝ่ายอื่นๆ ด้วย ซึ่งก็จะเห็นว่ามีข้อเท็จจริงและมีมุมมองที่ต่างกันอยู่ ซึ่งมันเป็นเรื่องจำเป็นที่อีกฝ่ายหนึ่งควรจะฟัง เพื่อจะได้ไม่คิดว่าสิ่งที่ตัวเองคิด สิ่งที่ตัวเองเห็นมันถูกต้องทั้งหมด เพราะมันมีมุมมองอื่น มันมีข้อเท็จจริงอื่นในเหตุการณ์เดียวกัน ซึ่งผมก็ดูแล้วนอกจากทำให้คณะกรรมการได้รับข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้น แน่นอนมันอาจจะไม่เป็นเรื่องรายละเอียดถึงขั้นของการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แต่มันก็เป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากประจักษ์พยาน ได้จากคนที่เกี่ยวข้อง มันได้สร้างบรรยากาศของการร่วมกันในการค้นหาความจริง\" \"มีไม่มากก็น้อยที่หลายๆ เหตุการณ์ ทำให้คนที่มาให้ข้อมูลมีความเข้าใจฝ่ายอื่นมากขึ้น เช่น ทหารก็จะเข้าใจประเด็นมุมมองหรือความรู้สึกคนที่เป็นเหยื่อ หรือคนที่เป็นเหยื่อก็จะรู้ว่าทหารที่เขาไปทำงานในพื้นที่จริงๆ เขาคิดเขารู้สึกอย่างไร มันอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้ายเหมือนกับที่เขาเคยคิดว่า ทหารต้องมองเขาเป็นศัตรู หรือจงใจที่จะเข่นฆ่าคนที่มาชุมนุม ซึ่งทหารก็ตกอยู่ในภาวะที่ลำบาก ทั้งในแง่ของสถานการณ์ ทั้งในแง่ของระบบระเบียบการสั่งการ ที่มันมีความสับสนวุ่นวาย คือผมคิดว่ากระบวนการ Hearing มันทำให้คนเข้าใจกันมากขึ้น แม้แต่การที่เราได้เชิญคุณหมอพรทิพย์มา ซึ่งผู้ชุมนุมจำนวนไม่น้อยอาจจะมีทัศนะมองว่าคุณหมออยู่กับฝ่ายทหาร ดังนั้น สิ่งที่คุณหมอไปตรวจสอบก็ต้องเข้าข้างทหาร เพราะคุณหมอก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ ศอฉ.ด้วย ในความเป็นจริงมันก็ไม่ค่อยถูกเท่าไหร่ที่รัฐบาลแต่งตั้ง แต่เมื่อรัฐบาลแต่งตั้งไปแล้ว ในฐานะที่เป็นข้าราชการก็ลำบาก คุณหมอก็ได้มาพูดถึงในสิ่งที่คุณหมอทำ ซึ่งไม่ใช่เป็นสิ่งที่คนอื่นได้ยินจากสื่อเท่านั้น แต่จากปากคำของคุณหมอเองว่ามันมีสภาพอย่างไร มันมีข้อจำกัดอย่างไร ผมคิดว่าได้ทำให้คนที่ฟัง แม้แต่เหยื่อของความรุนแรงได้มีความเข้าใจคุณหมอมากขึ้น\" เรียกได้ว่าเกิดบรรยากาศของการให้อภัย \"เราต้องชมคนสองส่วน อันที่หนึ่ง-คนที่ปฏิบัติการในพื้นที่ แน่นอนเป็นระดับนายทหาร โดยทั่วไปคนเหล่านี้ก็มาด้วยท่าทีที่ค่อนข้างจะสำรวมถ่อมตัว และก็มักจะแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและความรุนแรงที่เกิดขึ้นเสมอ ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่ดี และก็เหยื่อเองไม่ว่าจะเป็นคนที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ญาติของผู้ที่เสียชีวิต ขณะที่มาร่วมในกระบวนการ Hearing ดูแล้วก็จะมีความเข้าใจหรือลดอารมณ์ร้อนแรง เมื่อได้พบท่าทีหรือบรรยากาศที่มีลักษณะทุกฝ่ายต้องการค้นหาความจริง จริงๆ ว่าอะไรเกิดขึ้น และไม่ได้คิดว่าสิ่งที่ตัวเองเห็นเป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมด อันที่สอง-เป็นบรรยากาศที่ทุกคนต้องการทำความเข้าใจกัน มันได้ลดอุณหภูมิมากทีเดียว ที่จริงแล้วถ้ามีการจัดในลักษณะเช่นนี้บ่อยๆ ผมคิดว่ามันน่าจะสร้างความรู้สึกที่ดี\" \"ความผิดพลาดทุกคนมองเห็นว่ามันมี ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นความผิดพลาดในทางปฏิบัติ เป็นความผิดพลาดในเชิงนโยบาย แต่มันต้องให้สังคมรู้ว่าความผิดพลาดมันมีที่มาอย่างไร และมันมีผลอย่างไร คือมันมีหัวมีปลาย ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉยๆ ลอยๆ และมันก็อาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากเจตนาชั่วร้ายของใครคนใดคนหนึ่ง แต่มันเป็นตรรกะของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าคนที่ปฏิบัติหรือคนที่ใช้นโยบาย คำว่าปฏิบัตินี่ หมายถึงทั้งสองส่วนที่เป็นคู่ขัดแย้งกัน ถ้าไม่มีความตระหนักและไม่ระมัดระวังแล้ว มันก็เกิดความเสียหายได้\" ตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการรับฟังข้อเท็จจริงทอดระยะนานหลังเหตุการณ์ความรุนแรง เพื่อที่ว่าอารมณ์ความโกรธแค้นจะได้ลดระดับลง \"จริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้ตั้งใจถึงขนาดนั้น แต่ว่าความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมันก็เป็นอย่างนั้น ก็เนื่องจากว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ถ้าเราเชิญทั้งสองฝ่ายมา ก็คงไม่ใช่มาแล้วจะเกิดบรรยากาศถกเถียงกันอย่างเดียว แต่ว่าทั้งสองฝ่ายก็คงจะไม่ยอมมา ฉะนั้นการที่เขามานี่ แสดงว่ามันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้เขาอยากมา เช่น อารมณ์อาจจะร้อนแรงลดลง หรือเขาก็อาจจะเริ่มอยากจะดูว่า เออ-มันมีอะไรเกิดขึ้นจริงๆ อยากรู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งคิดอย่างไร แต่ว่าในแง่งานของเราก็คือว่า มันก็เป็นช่วงจังหวะหลังจากที่เราได้ตรวจสอบโดยตัวของเราเองในแต่ละเหตุการณ์แล้ว เราก็มีข้อมูลที่เป็นพื้นฐานพอสมควร คือเราไม่ได้ใช้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ได้จากสื่ออย่างเดียว แต่เราจะได้ข้อมูลที่ได้จากปากคำของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ ผู้เดินขบวน เจ้าหน้าที่ ผู้ชุมนุม ผู้ที่เป็นเหยื่อความรุนแรง เรียกว่าเรามีข้อมูลพื้นฐานพอสมควรอยู่แล้ว รวมทั้งข้อมูลจากการตรวจชันสูตรต่างๆ เราก็พอมีอยู่บ้างที่เราได้รับจากหน่วยราชการ ซึ่งเราคิดว่าทั้งหมดนี้จะเป็นพื้นฐานที่จะทำให้ทุกฝ่ายมานั่งคุยกันได้\" \"แน่นอนสิ่งที่ทุกคนบอกไม่ได้หมายความว่าจะถูกหมด แต่ต้องเอามาประกอบกันและทำให้เข้าใจ เพราะสิ่งที่เราทำมันต่างจากที่ดีเอสไอหรือพนักงานสอบสวนทำ ซึ่งเขามุ่งสอบเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดตามระบบกล่าวหา แต่ของเรานี่เราต้องการรู้มากกว่านั้น ต้องการรู้ว่าบรรยากาศที่มันเกิดเหตุความรุนแรง มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งในแง่การปฏิบัติการของฝ่ายต่างๆ รวมทั้งอารมณ์ความรู้สึกด้วย อารมณ์ความรู้สึกนี่ก็สำคัญ เช่น อาจจะมีไหมที่ทหารบางคนที่มีความรู้สึกว่าตัวเองเสียศักดิ์ศรี ต่ำต้อย จากการปฏิบัติการของ นปช.ที่สถานีดาวเทียมไทยคม ที่ทหารถูกปลดอาวุธ มีไหมทหารบางคนที่ต่อมามาประจำการหรือมาทำงานในวันที่ 10 เม.ย. และก็จะใช้อารมณ์ความรู้สึกนั้นออกไปในทางแก้แค้น ซึ่งจริงๆ ก็เป็นคนละหน่วยกันที่มาปฏิบัติการ\" \"แต่ถึงกระนั้นก็เถอะ เป็นไปได้ไหมที่ทหารบางคนเห็นภาพของเพื่อนทหารในเหตุการณ์ที่สถานีดาวเทียมไทยคม แล้วเขามีความรู้สึกเช่นเดียวกัน ถึงแม้ตัวเองไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ เพราะว่าเท่าที่เราทราบ เมื่อทหารเขาเห็นภาพที่ออกทางทีวีที่ทหารถูกปลดอาวุธ แล้วต้องเดินอย่างหมดสภาพไปขึ้นรถเหมือนกับว่าถูกควบคุมโดยแกนนำ นปช. บางคนนั่งดูทีวีอยู่ก็ร้องไห้ มันเป็นความรู้สึกแบบนี้ไหม มันอาจจะมีบ้างหรือไม่ที่จะมีผลต่อมา ทำให้การปฏิบัติการของทหารบางคนไม่มีความเป็นมืออาชีพพอในเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. นี่ยกตัวอย่าง หรือแม้กระทั่งที่สำคัญมากที่สุดก็คือ การที่มีนายทหารเสียชีวิตหลายคน และระดับนายพลก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส มันได้เป็นตัวสำคัญอะไรไหมที่มีส่วนในการกำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของทหาร ในการดำเนินการกับผู้ชุมนุมในระยะเวลาต่อๆ มา คือเราต้องการข้อมูลข้อเท็จจริงอันนี้ ซึ่งไม่ใช่เป็นมุมมองในเชิงการสืบสวนสอบสวนในคดีอาญา\" \"หรืออย่างในกรณีวัดปทุมวนารามฯ เราก็ต้องสอบไปถึงขั้นที่ว่า เอ๊ะ-มันมีการปะทะกันก่อนหน้านี้ไหม หรือมีการยิงโต้ตอบกันไหม ถ้ายิงโต้ตอบกัน เป็นอาวุธชนิดไหน หรือเจ้าหน้าที่ได้รับการปลูกฝังได้รับข้อมูลข่าวสารมาตลอดหรือไม่ว่า ในวัดปทุมฯ เป็นที่ซ่องสุมของชายชุดดำ ฉะนั้นถ้าสมมติว่ามีพยานหลักฐานออกไปในทางว่าทหารใช้ความรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตที่หน้าวัดปทุมวนารามฯ เราก็ต้องเข้าใจด้วยว่ามันมีสาเหตุหรือมูลเหตุมาจากอะไร เช่น มีการยิงต่อสู้กันหรือเปล่า หรือทหารได้รับข้อมูลอะไรมาที่ไม่ถูกต้องหรือเปล่า หรือการประสานงานมีความผิดพลาดไหม ระหว่างหน่วยที่อยู่บนรางรถไฟฟ้ากับภาคพื้นดิน ถ้าสมมติว่าเป็นการยิงมาจากรางรถไฟฟ้าจริง บนรางรถไฟฟ้า ได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือเปล่า เพื่อที่เราจะได้หาสาเหตุจริงๆ เพื่อที่จะมีข้อเสนอแนะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นอีก\" เหตุการณ์ที่วัดปทุมวนารามฯ เป็นข้อมูลที่มิได้มาจากทหาร-ผู้ชุมนุมเท่านั้น แต่ข้อมูลจากหน่วยกู้ชีพถือได้ว่ามีน้ำหนักทีเดียว \"คือข้อมูลตรงกับของดีเอสไอ เขาบ่งชี้ไปในลักษณะที่ว่ามีการยิงจากทหารที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าลงมาที่หน้าวัดปทุมฯ ที่เราต้องตั้งคำถามก็คือยิงทำไม ทำไมถึงยิง เช่นอย่างที่ผมบอกว่า มีการให้ข้อมูลจากทหารภาคพื้นดินขึ้นไปข้างบนนั้นอย่างไรจึงทำให้ยิงลงมา ยกตัวอย่างเช่น มีการให้ข้อมูลว่าปะทะกับชายชุดดำแล้ววิ่งไล่ชายชุดดำมาทางหน้าวัดปทุมฯ หรือไม่ นี่ยกตัวอย่างนะ และก็ขอให้ทางข้างบนนั้นยิงสกัดหรือไม่\" การค้นหาความจริงในลักษณะ genetic ยังลงลึกถึงชายชุดดำที่ยากจะเข้าถึงข้อเท็จจริงได้ \"เราก็มีข้อมูลเท่าที่ ศอฉ.ให้เรา แต่แน่นอนว่าเราก็ต้องตรวจสอบเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักข่าวต่างประเทศหลายคน และก็จากรูป เท่าที่เราพบคือมีชายชุดดำที่มีอาวุธร้ายแรงปฏิบัติการแน่นอน นับตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.เป็นต้นมาจนถึงวันสุดท้าย เพียงแต่ว่าชายชุดดำเกี่ยวพันกับใคร แม้แต่การยิงเอ็ม 79 จากสวนลุมฯ เข้ามาที่หน้าสีลมคอมเพล็กซ์ ที่สี่แยกศาลาแดง มีคนตายหลายคน เพียงแต่ว่าเป็นใคร ก็ยังเป็นคำถามอยู่ และมันมีฝ่ายเดียวหรือเปล่า มีสไนเปอร์ไหม สไนเปอร์เป็นฝ่ายไหน\" สื่อมวลชนต่างประเทศที่มีส่วนสำคัญในการให้ข้อมูลมากที่สุดเห็นจะเป็น นิก นอสติทซ์ - นักข่าวอิสระชาวเยอรมัน \"เขาใกล้ชิดกับพื้นที่ที่แกนนำของผู้ชุมนุมอยู่ เขาก็มีข้อมูลเยอะ และผมก็เชื่อว่ายังมีข้อมูลอีกมากที่เขายังไม่ได้เปิดเผย ผู้สื่อข่าวจะมีข้อมูลที่ตัวเองยังไม่ได้เปิดเผยเก็บอยู่ในกระเป๋าเสมอ แต่เราไม่ได้ฟังข้อมูลปากเดียว เราก็ต้องกรองสิ่งที่เขาให้มาว่าอันไหนเป็นข้อเท็จจริง อันไหนเป็นความรู้สึก บางคนที่เป็นเจ้าหน้าที่ด้านกู้ชีพและอาจจะเห็นใจผู้ชุมนุม ก็จะมีเยอะที่ให้ปากคำกับเรา 3-4 ครั้ง มันจะมีข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เป็นข้อมูลที่บางทีเขาก็อาจจะไม่รู้สึกเป็นข้อมูลที่เขาฟังมาแล้วคิดว่าเป็นข้อมูลที่เขาเห็นเอง เราก็สังเกตเห็น เพราะคุยกับเขาครั้งแรกเขาจะให้ข้อมูลแบบหนึ่ง พอมาคุยครั้งที่ 3 ที่ 4 เขาจะให้ข้อมูลเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นที่บางส่วนมันขัดแย้งกับครั้งแรก เช่นครั้งแรกเขาบอกว่าเขาไม่เห็นแบบนี้ แต่พอมาครั้งที่ 4 เขาบอกว่าเขาเห็น คือมันเป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่เขาอินมากๆ ข้อมูลมันเยอะแยะมากมาย ตอนหลังเขาก็จำไม่ได้ว่านี่เป็นข้อมูลที่เขาเห็นเอง หรือเป็นข้อมูลที่เขารับฟังรับรู้มาอีกที\" เท่าที่รู้คือกรณีบ่อนไก่ยังคงเป็นปัญหา เพราะมีข้อมูลน้อยมาก \"เราก็ส่งคนลงพื้นที่นะ แต่ยังได้ข้อมูลไม่มากนัก เราเข้าใจว่าคนที่อยู่ในพื้นที่ยังไม่อยู่ในบรรยากาศที่จะให้ข้อมูลได้อย่างเสรี ยังหวาดกลัวอะไรบางอย่าง ซึ่งไม่ใช่เป็นความหวาดกลัวที่เกิดจากเจ้าหน้าที่\" สมชายระบุว่า ความไม่คืบหน้าของกระบวนการยุติธรรมส่งผลกระทบต่อหลักนิติรัฐ \"เรื่องนิติรัฐ เรื่องหลักสิทธิมนุษยชน ผมคิดว่าสังคมไทยและเจ้าหน้าที่ หรือรัฐบาลอาจจะยังเข้าใจไม่ชัดเจน จริงๆ การเสียชีวิตจากใครก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเสียชีวิตจากโจรหรือเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่ หรือในกรณีนี้ไม่ว่าจะเสียชีวิตจากชายชุดดำ หรือเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่รัฐบางคน มันก็เป็นหน้าที่ของรัฐอยู่ดีที่จะต้องทำการสืบสวนสอบสวน และก็เอาผู้ที่กระทำความผิดมาดำเนินการตามกฎหมาย ถ้าจะบอกว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำ และก็ถือว่าไม่ต้องรับผิดชอบ อย่างนี้ก็ไม่ถูก เพราะว่ารัฐต้องมีหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวน และดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย\" \"ปัญหาเรื่องนี้เราก็เข้าใจความยากลำบากของเจ้าหน้าที่ที่ทำการสืบสวนอยู่นะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดีเอสไอ เนื่องจากว่ามันเป็นเหตุการณ์ใหญ่ ชุลมุนและก็มีความสลับซับซ้อน เราก็เชื่อว่าพยานบางคนอาจจะยังไม่กล้าที่จะเปิดตัวหรือให้ถ้อยคำกับพนักงานสอบสวน อาจจะด้วยสาเหตุหลายอย่าง หนึ่งก็อาจจะเกรงว่า ตัวเองจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในคดีในฐานะใดฐานะหนึ่ง เช่น ในฐานะของพยานต้องไปเบิกความ ซึ่งอาจจะเสี่ยงต่อความปลอดภัยของตัวเองและครอบครัว หรือดีไม่ดีอาจจะกลายเป็นผู้ต้องหาไป รวมทั้งถ้าเป็นผู้ชุมนุมก็อาจจะไม่ไว้ใจดีเอสไอสักเท่าไหร่ แต่ว่าสำหรับเรา เราก็พยายามติดต่อและก็ได้รับการรับปากอยู่เหมือนกันว่า ถ้าไม่ต้องให้มาเจอที่สำนักงาน คอป.เขาก็ยินดีจะเจอ หลังสงกรานต์ก็คงจะต้องมาดำเนินการอีกที เราคิดว่าผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นพยานที่ดีที่สุด เพราะเขาอยู่ในเหตุการณ์ จะรู้ไม่มากก็น้อยว่าการยิง ยิงมาจากไหน เขาอาจจะไม่เห็นชัดเจน ทิศทางไหน ใครเป็นคนยิง แต่บาดแผลเขาจะบอกลักษณะของอาวุธได้\" การเสียชีวิตของนักข่าวอิตาลีและญี่ปุ่นถือว่าเสียหายมากพออยู่แล้ว แต่ยิ่งไม่มีความชัดเจนของกระบวนการยุติธรรม ยิ่งทำให้หลักสิทธิมนุษยชนในไทยเป็นปัญหา \"ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศมาก ไม่ใช่ในฐานะที่เป็นคนญี่ปุ่นหรือเป็นคนอิตาเลียน แต่ว่าในฐานะที่เป็นนักข่าวด้วย มันเป็นความรู้สึกร่วมกันของบรรดานักข่าวทั้งไทยและต่างประเทศถึงความไม่คืบหน้า ยังไม่ถึงกับว่าล้มเหลวนะ แต่ความไม่คืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถึงแม้กรณีนักข่าวญี่ปุ่น ทางดีเอสไอได้ข้อมูลมาอยู่บ้างจากประจักษ์พยาน ว่าน่าจะเกิดจากการกระทำของทหาร และก็ส่งเรื่องไปให้ตำรวจท้องที่เพื่อที่จะดำเนินการไต่สวนตามกระบวนการของศาล แต่ก็น่าเสียดายที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกลับชะลอในเรื่องนี้ และก็ขอสอบสวนเพิ่มเติม\" \"จริงๆ แล้วกระบวนการสอบสวนของศาล มันไม่ได้สอบสวนว่าใครผิดใครถูก และก็ไม่ได้มีใครเป็นจำเลยด้วย แต่เป็นการสอบให้รู้ว่าเหตุการณ์มันเกิดขึ้นอย่างไร ที่สำคัญคือ เป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายของผู้ตายนำเสนอพยานหลักฐานด้วย ซึ่งผมคิดว่ากระบวนการอันนี้ เมื่อทำแล้วเท่ากับเป็นกระบวนการที่เปิดให้มีการรับฟังอีกฝ่าย เปิดเผยต่อสาธารณะถึงกระบวนการในการค้นหาความจริงของศาล ถึงแม้ผลมันอาจจะออกมาไม่ระบุว่าใคร แต่ผมคิดว่ามันเป็นกระบวนการที่ดี ที่ทำให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวต่างประเทศ ครอบครัวของเขาได้เห็นว่า เออ-กระบวนการของเรามันมีนะที่จะให้ความยุติธรรมได้\" \"ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงไม่ดำเนินการ โดยไปตีความกฎหมายว่าจะต้องสอบถึงขั้นให้เห็นว่าใครเป็นคนยิง ถ้าถึงขั้นว่าใครเป็นคนยิงแล้วหละก็ดำเนินคดีได้แล้ว ซึ่งความจริงแล้วมันคนละเรื่องระหว่างการดำเนินคดีกับการไต่สวน เพราะฉะนั้นตราบใดถ้ามันมีข้อสงสัย หรือมีพยานอันสมควรว่าการกระทำนั้นเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่อ้างว่าปฏิบัติตามหน้าที่มันก็ต้องเข้ากระบวนการศาล ให้เกิดความโปร่งใส ถึงมันมีถึง 12 สำนวน แต่ตอนนี้ 2 เดือนผ่านไป หลังจากที่ดีเอสไอส่งให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว มันก็ยังไม่ความคืบหน้า ผมก็ไม่รู้ว่าการทำอย่างนี้ทำให้คนมองว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ภายใต้การกดดันหรือดำเนินการของทหารหรือเปล่า\" ครอบครัวผู้เสียชีวิตหรือสถานทูต ก็อาจจะไม่ต้องการถึงขนาดว่าคนไหนเป็นคนยิง \"คืออย่างน้อยขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ ให้เห็นว่ามันมี process มันก็มีกรณีคนตายเยอะแยะไปที่หาคนร้ายไม่ได้ อายุความตั้ง 20 ปี\" เมื่อยิ่งไม่ชัดเจนก็ยิ่งทำให้รัฐบาลถูกไล่บี้อยู่ทุกเวทีในระดับนานาชาติ ไม่เว้นกระทั่งเมื่อคุณกษิตไปประชุมเจบีซี ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นยังยกเอาประเด็นนี้มาซักถาม \"เราก็เห็นใจรัฐบาลญี่ปุ่น สถานทูตญี่ปุ่น เพราะเขาก็อธิบายประชาชนเขาไม่ได้ เพราะฉะนั้นในขณะที่การสอบสวนเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดไปลงโทษก็ดำเนินการไป การไต่สวนการตายเป็นคดีวิสามัญในศาลก็ควรต้องทำ อันนี้เราก็แนะนำทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติไป แต่เขาก็ยืนยันว่าจะขอเวลา 2 เดือนเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติม และตอนนี้เห็นเขาดึงผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนมาให้ข้อมูลว่า ในกรณีของนักข่าวญี่ปุ่นไม่น่าจะเกิดจากกระสุนปืนเอ็ม 16 คือผู้เชี่ยวชาญไม่ได้พูดอย่างนี้นะ แต่ว่าตีความได้ว่าลักษณะบาดแผลมันอธิบายไปในทางว่า เป็นปืนที่ใหญ่กว่าปืนเอ็ม 16 เช่น กระสุนปืนนาโต หรือกระสุนปืนอาก้าเป็นต้น การให้ข้อมูลอย่างนี้มันก็ทำให้คนสงสัยว่า มีความพยายามหรือเปล่าว่าจะบิดเบือนคดี ผมก็คิดว่าผู้เชี่ยวชาญคงจะพูดไปตามหลักวิชาการ เพียงแต่ว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเรา มันเหมือนกับว่าไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย คือเมื่อดีเอสไอเขาส่งเรื่อง เป็นสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ก็ควรจะต้องเชิญอัยการแล้วก็สอบสวนดำเนินคดีวิสามัญฆาตกรรมแล้วก็ส่งให้ศาล นี่คือความเห็นของผมนะในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย\" ถอดบทเรียน-สร้างบรรทัดฐาน รายงานสรุปบทเรียนโดยไม่ชี้ถูกชี้ผิดบนพื้นฐานสังคมไทย ที่ไม่ค่อยเก็บรับบทเรียนจากประสบการณ์ อาจจะเป็นการทำงานที่สูญเปล่า \"เราไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิดในแง่มุมของอาชญากรรม หรือไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิดในแง่มุมของประมวลกฎหมายอาญา อันนี้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเขา ดีเอสไอหรือตำรวจ แต่แน่นอนว่ารายงานของเราจะพูดถึงความถูกความผิดในมุมอื่น ทั้งในมุมของประชาธิปไตย ในมุมของสิทธิมนุษยชน ในมุมของความเหมาะสมในการใช้กำลัง มุมของความเหมาะสมในการจัดชุมนุมเดินขบวนเราก็ต้องพูดด้วย เสรีภาพของการชุมนุมสาธารณะมีแค่ไหน การใช้อำนาจของรัฐในการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมควรจะทำได้แค่ไหนและควรจะทำอย่างไร เพราะว่านี่มันจะเป็นบรรทัดฐานสำหรับทุกคน เพราะถึงอย่างไรก็ต้องมีการชุมนุม ซึ่งถ้าเราไม่มาตรวจสอบเราจะไม่รู้ เช่น เราพบว่าความรู้สึกของผู้ชุมนุมที่มีต่อกำลังที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารกับกำกลังที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะเป็นความรู้สึกที่ต่างกัน อันนี้มันเป็นประสบการณ์ของทั่วโลก ทำไมเราไม่เคยตระหนัก ที่ไหนก็แล้วแต่เอาทหารออกมาเป็นปัญหาทั้งนั้น สมมติว่าถ้าเป็นฝรั่งเศสจะเรื่องใหญ่กว่าเรามากถ้าเอาทหารออกมา ในอเมริกาที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตย เอาทหารออกมานี่รับรองประธานาธิบดีอยู่ไม่ได้\" \"ที่ผ่านมาเราอาจจะรู้สึกว่านั่นมันเป็นประเทศตะวันตก เขาแคร์เรื่องทหารที่เอามาใช้กับประชาชนมาก เพราะทหารเขาเอาไว้เพื่อป้องกันประเทศอย่างเดียว แต่ประเทศไทยทหารมีบทบาททุกอย่าง ทั้งในเรื่องปกป้องประเทศ ทั้งเรื่องการพัฒนา การทำจิตวิทยามวลชน แล้วทำไมเรื่องการชุมนุมจะเอามาใช้ไม่ได้ จริงๆ แล้วเราต้องยอมรับว่าความรับรู้และความเข้าใจ ความรู้สึกของคนที่มีต่อทหารมันเปลี่ยนไป เราเริ่มมีความรู้สึกว่าทหารมีไว้เพื่อป้องกันประเทศ ไม่ใช่เอามาจัดการกับผู้ชุมนุมมากขึ้นทุกที แสดงว่าเราเริ่มยอมรับกฎเกณฑ์บรรทัดฐานของประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่เราได้รับจากบทเรียนของเราเอง ไม่ใช่เรียนรู้จากตะวันตกอย่างเดียว เราเรียนรู้ของเราเองตั้งแต่ 14 ตุลา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net