Skip to main content
sharethis

ในเมื่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังจำเป็นต้องพึ่งพาระบบรัฐสภาในการแก้ปัญหา ทั้งการเสนอกฎหมาย การเสนอนโยบาย รวมทั้งการพิจารณาแนวนโยบายของรัฐบาล วุฒิสภา จึงเป็นกลไกหลักในการร่วมพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย อภิปรายแสดงความเห็น รวมทั้งการเสนอแนะ แต่การพิจารณากลั่นกรองกฎหมายหรือให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวนโยบายการแก้ปัญหาชายแดนใต้ จะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน หากขาดคนในพื้นที่เข้าไปเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของวุฒิสภา อย่างเช่นการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ครั้งล่าสุด ที่เกือบไม่มีคนในพื้นที่ได้รับการสรรหา ที่สำคัญไม่มีมุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ได้รับการสรรหาแม้แต่คนเดียว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ) วิทยาเขตปัตตานี นักวิชาการที่คลุกคลีอยู่กับปัญหาในพื้นที่มานาน วิเคราะห์ถึงผลการสรรหา ส.ว.ครั้งล่าสุดว่า จะมีผลต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร ดังนี้ ........................ “ผลการสรรหา ส.ว.ทั้ง 73 คนครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่า เป็นการค้ำจุนอำนาจของทหารและอำนาจเก่า ซึ่งเห็นได้จากผู้ที่ได้รับการสรรหา ส่วนใหญ่เป็นทหารและเป็นอดีต ส.ว.สรรหา ส.ว.สรรหากลุ่มนี้จะถูกควบคุมโดยอำนาจเก่าหรืออำนาจทหาร ซึ่งต่างจาก ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ที่อำนาจเก่าหรือทหารเข้ามาควบคุมได้ยากกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้แต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เองก็จะคุมส.ว.ชุดนี้ได้ยาก หากขัดกับความต้องการของทหารและอำนาจเก่า ดังนั้น การได้มาของ ส.ว.สรรหาชุดนี้ ยิ่งเป็นการเพิ่มความมั่นคงให้กับอำนาจเก่ามากขึ้น จุดประสงค์หลักของการได้มาของ ส.ว.สรรหาชุดนี้ เพื่อต้องการกันหรือคานอำนาจกับพรรคเพื่อไทย หากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ได้เข้ามาเป็นรัฐบาลได้ หรือหากพรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยอาจเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ก็ไม่สามารถคุม ส.ว.สรรหาชุดนี้ได้ หากออกนอกกรอบความต้องการของทหารหรืออำนาจเก่า เช่น การกลั่นกรองกฎหมายที่ขัดกับความต้องการกับอำนาจเก่าและทหาร ซึ่งจะยิ่งทำให้ร่างกฎหมายฉบับนั้น ผ่านความเห็นชอบของ ส.ว.ชุดนี้ได้ยาก ส่วนในเรื่องการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะยิ่งยากขึ้นไปอีก หากจะเสนอแก้ปัญหาในเชิงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น การเสนอร่างกฎหมายเพื่อกำหนอรูปแบบการเมืองการปกครองใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะถูกกลั่นกรองอย่างหนักจากส.ว.สรรหาชุดนี้ หากมีการนำเสนอร่างกฎหมายลักษณะนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แม้ว่าที่ผ่านมา ผมเคยได้ยินพล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 เคยพูดว่า หากต้องการให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ ก็เสนอผ่านรัฐสภาได้ แต่ผมคิดว่าตอนนี้ แทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะจะไปติดที่วุฒิสภา แม้ว่า นโยบายหรือร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกเสนอโดยพรรคการเมืองเองก็ตาม ซึ่งตอนนี้มีหลายพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงโดยเสนอนโยบายลักษณะนี้ แต่สุดท้ายจะติดอยู่ที่วุฒิสภาชุดนี้เช่นกัน จึงคิดว่า นโยบายลักษณะนี้ ยังไม่อาจเป็นจริงได้ ทางออกของปัญหานี้ คือ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นการได้มาของส.ว. ซึ่งมี 2 ทางเลือก คือ หากยังเป็น ส.ว.สรรหา ก็ต้องระบุเงื่อนไขการสรรหาให้ชัดเจน โดยกำหนดจำนวนผู้ที่ได้รับการสรรหาตามภาคส่วนให้น้อยลง แล้วกระจายไปตามภาคส่วนอื่นๆ ให้มากขึ้น อย่างกรณี ส.ว.สรรหาทั้ง 73 คน มาจากไม่กี่ภาคส่วน ซึ่งแต่ละภาคส่วนก็มีจำนวนมาก ทำให้รู้สึกว่า 73 คน เป็นจำนวนที่เยอะเกินไป และกระจุกอยู่ในกลุ่มคนไม่กี่ภาคส่วนเท่านั้น การสรรหาหรือการแต่งตั้งตัวแทนในทางรัฐศาสตร์นั้น ต้องคำนึงถึงความเป็นตัวแทนของคนกลุ่มต่างๆ กระจายให้มากที่สุด เช่น ตัวแทนกลุ่มชาติพันธ์ ศาสนา เป็นต้น ทางเลือกต่อมา คือ หากกำหนดให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ก็อาจมีสภาพเหมือนรัฐสภาสมัยรัฐธรรมนูญปี 2540 คือ สภาผัวเมีย หมายความว่า ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ว.คือญาติหรือคนใกล้ชิดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) จะทำอย่างไรที่จะไม่ให้ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ ดังนั้น หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องพิจารณาให้ชัดเจนว่าจะเลือกแนวทางอย่างไร จะให้ระบบสรรหามีอยู่ต่อไปหรือจะให้มีการเลือกตั้งอย่างเดียว หรือผสมกัน ซึ่งก็ต้องกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net