ความเข้าใจ ‘ทุกข์’ คือรากฐานศีลธรรมของพุทธศาสนา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หากเรามองกรอบคิดของพุทธศาสนาจากความจริงที่พระพุทธเจ้าอธิบาย ที่เรียกว่า “อริยสัจสี่” เราสามารถสรุปได้ว่า ความเข้าใจทุกข์คือรากฐานศีลธรรมของพุทธศาสนา เพราะความเข้าใจทุกข์ทำให้เรามองเห็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงควรมีความรับผิดชอบทางศีลธรรมต่อตนเอง ต่อคนรอบข้าง ต่อสังคม ต่อโลก และสรรพสิ่ง ในมุมมองของพุทธศาสนา “ทุกข์” คือ “ความขัดแย้ง” และความขัดแย้งก็เป็นผลิตผลของธรรมชาติ เช่น ธรรมชาติสร้างภาวะชีวิตของเราให้เป็นอนัตตา คือภาวะชีวิตที่ไม่มีตัวตนของฉัน มีแต่ตัวชีวิตที่ประกอบขึ้นจากสิ่งในธรรมชาติและเป็นไปตามกฎธรรมชาติ แต่ธรรมชาติก็สร้างให้เรามีจิตสำนึก หรือมีความรู้สึกว่ามีตัวตนของฉัน และมีความรู้สึกยึดมั่นในตัวตนของฉัน ความจริงตามภาวะธรรมชาติที่ไม่มีตัวตนของฉันกับความรู้สึกว่ามีตัวตนของฉัน คือทุกข์หรือความขัดแย้งในตัวเองของชีวิตที่เราต่างประจักษ์ได้ ขณะที่ชีวิตทางกายภาพต้องเปลี่ยนแปลงแตกดับไปตามวิถีทางของธรรมชาติ แต่จิตใจกลับไม่ยอมรับหรือขัดแย้งกับความเป็นไปนั้น ขณะที่ความเป็นไปของชีวิตขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของเหตุปัจจัยต่างๆ แต่ธรรมชาติกลับสร้างจิตใจขึ้นมาให้มีความปรารถนาให้ความเป็นไปของชีวิตขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึก หรืออำนาจของของตัวฉัน ฉะนั้น ทุกข์หรือภาวะขัดแย้งในตัวเองจึงเป็นความจริงพื้นฐานที่สุดของชีวิต ความจริงดังกล่าวนี้ไม่ได้มีความหมายในชิงบวกหรือลบ ไม่ได้มีความหมายในเชิงดีหรือชั่ว ทว่าเป็นความจริงตามที่มันเป็น หรือมันเป็นเช่นนั้นเอง (ตถตา) แต่อย่างไรก็ตาม แม้ความจริงของชีวิตคือทุกข์หรือความขัดแย้งในตัวเอง แต่ชีวิตเป็นปรากฏการณ์ธรราชาติอย่างหนึ่งที่มีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยเหมือนปรากฏการณ์ธรรมชาติอื่นๆ เช่น ธรรมชาติแห่งฤดูกาลที่มีกลางวัน กลางคืน มีมืดมี สว่าง ชีวิตก็มีด้านที่เป็นทุกข์ และด้านไม่เป็นทุกข์หรือด้านที่จิตสำนึกของเราไม่ขัดแย้งกับวิถีทางของธรรมชาติ ความทุกข์ซึ่งเป็นภาวะขัดแย้งระหว่างภาวะที่เป็นอยู่จริงกับความปรารถนาที่อยากให้เป็น คือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตเราทุกคน ขณะเดียวกันทุกคนก็เคยมีประสบการณ์กับภาวะที่ความขัดแย้งนั้นหายไปเมื่อเมื่อจิตใจเรามองเห็นความจริงตามที่เป็น (ไม่ใช่ตามที่เราคิดว่าเป็น หรืออยากให้เป็น) และยอมรับมัน พุทธศาสนาเชื่อว่าเมื่อสามารถพัฒนาความเข้าใจความจริงตามที่เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกข์หรือความขัดแย้งจะเกิดน้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อเรามีสติเฉียบคมต่อความจริงตามที่เป็นอย่างสมบูรณ์ ทุกข์หรือความขัดแย้งในชีวิตก็หมดไปได้ อย่างไรก็ตาม ทุกข์ในชีวิตเป็นภาวะขัดแย้งที่ซับซ้อน ความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่เป็นกับความปรารถนาอยากให้เป็นคือแรงขับที่ทำให้เกิดการดิ้นรนทั้งภายในและภายนอก ลึกลงไปภายในจิตใจ ดูเหมือนเราไม่เคยสมอยากเอาเสียเลย ไม่ว่าจะเป็นความอยากทางสังคม (เช่น อยากครอบครองทรัพย์สิน การยอมรับจากผู้อื่น ชื่อเสียง อำนาจ ฯลฯ) หรือความยากทางจิตวิญญาณ (เช่น ความสงบ ความสูงส่ง ฯลฯ) ความไม่สมอยากทำให้เราต้องดิ้นรนกระสนหาอยู่แทบจะตลอดเวลา ส่วนความดิ้นรนในภายนอกที่แสดงออกเป็นการต่อสู้แข่งขันในหลากรูปแบบย่อมนำไปสู่ “ทุกข์ทางสังคม” หรือความขัดแย้งที่ซับซ้อนทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ ฉะนั้น ในทัศนะของพุทธศาสนา ทุกข์หรือความขัดแย้งในชีวิตและความขัดแย้งทางสังคม จึงเป็นความจริงพื้นฐานที่เราต้องทำความเข้าใจ และความเข้าใจทุกข์ย่อมก่อให้เกิดจิตสำนึกรับผิดชอบทางศีลธรรมต่อตนเอง คนรอบข้าง และสังคม พุทธศาสนาจึงโยงความสัมพันธ์ระหว่างทุกข์กับเมตตาหรือความรักและจิตสำนึกทางศีลธรรมในลักษณะที่เป็นเหตุเป็นผลแก่กัน คนที่เข้าใจชีวิตว่าเป็นทุกข์ย่อมรักตนเองอย่างลึกซึ้ง รักคนอื่นและสรรพชีวิตในฐานะ “เพื่อนร่วมทุกข์” จิตสำนึกทางศีลธรรมต่อตนเองที่เกิดตามมาคือ จิตสำนึกในการพัฒนาปัญญาเพื่อเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเป็นจริงของชีวิตอย่างเกิดทุกข์จากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของฉันน้อยลง หรือไม่เกิดทุกข์เลย ส่วนจิตสำนึกทางศีลธรรมต่อคนอื่นๆ และสังคม คือจิตสำนึกที่จะไม่เบียดเบียนทำร้ายคนอื่นๆ ไม่สนับสนุนความไม่ถูกต้อง ความไม่เป็นธรรมทางสังคม หรือในทางบวกหมายถึงจิตสำนึกรับผิดชอบในการมีส่วนร่วมทำความเข้าใจทุกข์ของสังคม และมีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคมให้มีความเป็นธรรม เป็นสังคมที่น่าอยู่มากขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างความเข้าใจทุกข์กับความรักและจิตสำนึกทางศีลธรรมดังกล่าวนี้ ทำให้เราเห็นว่า การเป็นคนดีมีศีลธรรมตามทัศนะของพุทธศาสนาเรียกร้องทั้งปัญญา หัวใจ และความรับผิดชอบต่อตนเอง คนอื่น และสังคม หากจิตสำนึกทางศีลธรรมเกิดจากความรักตนเอง คนอื่น และสังคมอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นความรักที่เกิดจากความเข้าใจทุกข์ในชีวิตและทุกข์ทางสังคมอย่างลึกซึ้ง ก็หมายความว่าความรับผิดชอบทางศีลธรรมต่อตนเอง คนอื่น และสังคม ไม่อาจมีได้ หากปราศจากการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจทุกข์ในชีวิตและทุกข์ทางสังคมอย่างลึกซึ้ง (คนที่ไม่ใช่ชาวพุทธแต่เขามองเห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ยึดโยงอยู่กับการมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม คือคนที่เคารพตนเองและเพื่อนมนุษย์ ย่อมมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางสังคมสูง และจิตสำนึกดังกล่าวคือแรงจูงใจให้เขาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คนพุทธที่ใส่ใจทุกข์ร่วมทางสังคมก็สามารถมีจิตสำนึกเช่นนี้ได้เช่นกัน) แต่ปัญหาคือ พุทธศาสนาจารีตประเพณีในบ้านเราสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ทุกข์ในชีวิตและทุกข์ทางสังคม หรือสร้างวิถีการอยู่ร่วมกันในฐานะ “เพื่อนร่วมทุกข์” หรือไม่ อย่างไร สิ่งที่เราเห็นกันจนชินตาคือ ชาวพุทธบ้านเรามักมีท่าทีหนีทุกข์ มุ่งความสุขสบายส่วนตัวผ่านพิธีกรรมทางศาสนา การปฏิบัติธรรม การทำบุญกุศลต่างๆ ที่มีจุดหมายเพื่อ “ความสุขส่วนตัว” ในขณะเดียวกันก็มีท่าทีเพิกเฉยต่อ “ทุกข์ทางสังคม” สังเกตหรือไม่ว่าเมื่อชาวพุทธบ้านเรานึกถึง “การกุศล” ตามกรอบประเพณีทางศาสนา เรามักนึกถึงการกุศลในความหมายของการบำเพ็ญบุญบารมี หรือ “การสั่งสมบุญกุศลดลบันดาล” ให้เกิดความสุขความเจริญส่วนตัว ขณะที่ “การกุศล” ในทัศนะของคนตะวันตกเขาหมายถึง “ประโยชน์สาธารณะ” ซึ่งเป็นทัศนะที่ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางสังคม เมื่อศาสนาไม่ได้มีบทบาทในการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจทุกข์ในชีวิตและทุกข์ทางสังคมในบริบทของโลกแห่งความเป็นจริง แต่กลับเน้นบทบาทสร้างวัฒนธรรมหลบหนี หรือเมินเฉยต่อทุกข์หรือปัญหาต่างๆ ของสังคม โดยถือว่า “ทางธรรมกับทางโลกไม่เกี่ยวข้องกัน” ปรากฏการณ์ที่เป็นจริงคือ แม้สังคมของเราจะเต็มไปด้วยวัดวา พิธีกรรมทางศาสนา สำนักปฏิบัติธรรม และร้านหนังสือที่มีสัดส่วนของหนังสือธรรมะ (ฮาวทู) มากกว่าหนังสืออื่นๆ แต่สิ่งที่เราพบอยู่เสมอคือ หลังจากทำบุญตักบาตรเสร็จ ผู้มีอำนาจอาจสั่งการใช้กฎหมาย หรือใช้กำลังละเมิดเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน หรือพวกเขาอาจไปขอ “ฤกษ์ทำรัฐประหาร” กับพระผู้ใหญ่บางรูป หรือพระสงฆ์และผู้ปฏิบัติธรรมทั่วไปอาจมองว่า ความขัดแย้งทางการเมืองจนทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายตามที่เป็นมาครั้งแล้วครั้งเล่านั้น เป็นเรื่อง “กรรมของสัตว์โลก” นอกจากนี้ท่ามกลางวิกฤตการเมืองกว่า 5 ปีที่ผ่านมา เรายังได้เห็นบทบาทของพระสงฆ์จำนวนหนึ่งที่แสดงออกถึง “สองมาตรฐานทางศีลธรรม” อย่างชัดเจน ด้วยการเทศนา พูดออกทีวี และเขียนบทความตำหนิความเลวของนักการเมือง ตำหนิความโง่ของประชาชนที่ไม่รู้ประชาธิปไตย เป็นเครื่องมือนักการเมืองโกง ไม่รู้หลักการ ยึดตัวบุคคล ยึดฝ่ายใครฝ่ายมันเหนือหลักการ จนนำไปสู่ความเกลียดชังและความแตกแยกรุนแรง แต่เมื่อ “ผู้มีอำนาจ” สั่งใช้กำลังปราบปรามประชาชนจนเกิดการบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก พระสงฆ์เหล่านั้นกลับเงียบกริบ ไม่เอาจริงเอาจังกับการเทศนาสั่งสอน “ผู้มีอำนาจ” เหมือนที่ขยันสั่งสอนนักการเมืองและประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ฉะนั้น หากชาวพุทธต้องการให้พุทธศาสนามีความหมายต่อการคลี่คลายทุกข์ทางสังคม จำเป็นต้องกลับไปทบทวนกรอบคิดทางศีลธรรมของพุทธศาสนาตามหลักอริยสัจสี่ใหม่ และจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ทุกข์ในชีวิตและทุกข์ทางสังคม และสร้างวัฒนธรรม “เพื่อนร่วมทุกข์” ที่อยู่ร่วมกันด้วยปัญญา หัวใจ และสำนึกรับผิดชอบทางศีลธรรมต่อตนเอง คนรอบข้าง และสังคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท