Skip to main content
sharethis

ผลงานวิจัยของกองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เรื่อง “วุฒิการศึกษากับระยะเวลาการบรรจุงาน : ศึกษาเฉพาะกรณีผู้สมัครงานในระบบบริการจัดหางานของกรมการจัดหางาน ปี 2548 - 2552” พบว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีมีผู้สมัครงานสูงที่สุดแต่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับ มัธยมศึกษาตอนต้นมีจำนวนผู้ได้รับการบรรจุงานในอัตราที่สูงกว่าวุฒิการศึกษาอื่น จากการศึกษาพบว่า ในระหว่างปี 2548 - 2552 มีผู้ที่ได้รับการบรรจุงานภายในระยะเวลา 12 สัปดาห์จำนวน 475,398 คน จากผู้สมัครงานทั้งหมด จำนวน 2,534,948 คน ในจำนวนผู้ที่ได้รับการบรรจุงานดังกล่าวมากกว่าครึ่งเป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 57.78 และเป็นเพศชายคิดเป็นร้อยละ 42.22 โดยมีการบรรจุงานในภาคกลางมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 35.30 รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 22.67 ทั้งนี้เมื่อพิจารณาผู้สมัครงานตามระดับการศึกษา ภายในระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่า ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีมีผู้สมัครงานสูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 25.14 รองลงมา คือ ประถมศึกษา (ร้อยละ 20.01) มัธยมศึกษาตอนต้น (ร้อยละ 18.85) มัธยมศึกษาตอนปลาย (ร้อยละ 16.78) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) (ร้อยละ 10.99) ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) (ร้อยละ 7.08) อนุปริญญา (ร้อยละ 0.58) และปริญญาโทและสูงกว่า (ร้อยละ 0.57) ตามลำดับ และจากการศึกษาผู้ได้รับการบรรจุงานภายในระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับ มัธยมศึกษาตอนต้นมีจำนวนผู้ได้รับการบรรจุงานในอัตราที่สูงกว่าวุฒิการศึกษาอื่น โดยได้รับการบรรจุงานคิดเป็น ร้อยละ 25.67 รองลงมาคือ ระดับประถมศึกษา ร้อยละ 19.89 มัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 18.87 ปริญญาตรี ร้อยละ 17.95 ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ร้อยละ 10.32 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ร้อยละ 6.77 อนุปริญญา ร้อยละ 0.44 และปริญญาโทและสูงกว่า ร้อยละ 0.08 ทั้งนี้โดยในแต่ละระดับการศึกษามีผู้ได้บรรจุงานจำแนกตามระดับการศึกษาและสาขาวิชา (ปวช. – ป.ตรี ) มีดังนี้ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาวิชาที่มีจำนวนผู้ได้บรรจุงาน 10 อันดับแรก ได้แก่ 1) การบัญชี 2) การตลาดและการขาย 3) ช่างยนต์ 4) พาณิชยกรรม/บริหารธุรกิจ 5) ช่างไฟฟ้ากำลัง 6) ช่างกลโรงงาน 7) คอมพิวเตอร์ 8) ช่างอิเล็กทรอนิกส์ 9) คหกรรมศาสตร์ทั่วไป 10) การเลขานุการ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาที่มีจำนวนผู้ได้บรรจุงาน 10 อันดับแรก ได้แก่ 1) การบัญชี 2) คอมพิวเตอร์ธุรกิจ 3) การตลาดและการขาย 4) ช่างไฟฟ้ากำลัง 5) ช่างยนต์ 6) พาณิชยกรรม/บริหารธุรกิจ 7) ช่างอิเล็กทรอนิกส์ 8) ช่างเทคนิคอุตสาหกรรม 9) ช่างเครื่องกล 10) ช่างก่อสร้าง ระดับอนุปริญญา สาขาวิชาที่มีจำนวนผู้ได้บรรจุงาน 10 อันดับแรก ได้แก่ 1) การสอนมัธยมศึกษา 2) ปก.ศ.สูง 3) คอมพิวเตอร์ 4) การจัดการทั่วไป 5) พัฒนาชุมชน 6) ศิลปศาสตร์ 7) บริหารธุรกิจ 8) ธุรกิจการท่องเที่ยว 9) การศึกษาประถมวัย 10) เทคโนโลยีการเกษตร ระดับปริญญาตรี สาขาวิชาที่มีจำนวนผู้ได้บรรจุงาน 10 อันดับแรก ได้แก่ 1) การจัดการ/ การบริหารทั่วไป 2) การบัญชี 3) บริหารธุรกิจ 4) การตลาด 5) คอมพิวเตอร์ธุรกิจ 6) รัฐศาสตร์ 7) ภาษาศาสตร์ 8) วิศวกรรมอุตสาหการ 9) ระบบสารสนเทศ 10) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ทั้งนี้ในผลการวิจัยได้ระบุว่าการบรรจุงานที่ใช้เวลามากขึ้น อาจเกิดจากปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างความต้องการของนายจ้างและคุณสมบัติของผู้สมัครงาน โดยประเด็นที่นายจ้างให้ความสำคัญมากที่สุดคือ วิชาความรู้เฉพาะสาขาการศึกษาที่ตรงกับตำแหน่งงานนั้น จะต้องสามารถนำมาใช้ปฏิบัติงานได้ นอกจากสาเหตุการไม่บรรจุงานของนายจ้างแล้ว ยังมีสาเหตุจากความไม่พึงพอใจของผู้สมัครงานด้วย เช่น เรื่องสภาพการทำงานที่ไม่สะดวกสบาย ค่าตอบแทน หรือสวัสดิการอื่นๆไม่จูงใจ และปัญหาการเดินทาง เป็นต้น และมีข้อเสนอแนะว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรที่จะมีมาตรการส่งเสริมหรือจูงใจให้นักเรียนหันมาศึกษา ในสายวิชาชีพให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการบรรจุงาน และลดปัญหาความไม่สอดคล้อง อีกทั้งยังช่วยลด ปัญหาการว่างงานด้วย รวมถึงกรณีผู้ที่ได้รับการบรรจุงานช้าหรือไม่ได้รับการบรรจุงาน ควรได้รับการแนะแนวอาชีพ การฝึกอาชีพหรือพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการบรรจุงานให้มากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net