Skip to main content
sharethis

ประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แต่งตั้ง วิทิต มันตาภรณ์เป็นประธานคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในโกดติวัวร์ (ไอวอรี่ โคสต์) เพื่อสอบสวนข้อกล่าวหาที่ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงจากศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 16 เมษายน 2554 ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนแนวหน้าของไทย ศาสตราจารย์วิทิต มันตาภรณ์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในโกดติวัวร์ โดยประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพื่อสอบสวนข้อกล่าวหาที่ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในประเทศโกตดิวัวร์ ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2553 ศาสตราจารย์วิทิต มันตาภรณ์ เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน โดยระบุว่า 1. คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีเอกอัครราชทูตสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีฯ ได้แต่งตั้งศาสตราจารย์วิทิตฯ ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการสืบสวนฯ ในเรื่องดังกล่าวข้างต้น ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากประชาคมระหว่างประเทศ 2. คณะกรรมการสืบสวนดังกล่าวมีหน้าที่ในการสืบสวนข้อเท็จจริงและสถานการณ์ทั่วไปที่มีการกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุยชนอย่างรุนแรงในประเทศโกดติวัวร์ ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน 2554 เพื่อสืบหาผู้รับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าวและนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ คณะกรรมการสืบสวนฯ จะนำเสนอรายงานต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ในเดือนมิถุนายน ศกนี้ เพื่อให้สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติพิจารณาต่อไป 3. ศาสตราจารย์วิทิต เป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติตามอนุสัญญาและข้อแนะขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ศาสตราจารย์วิทิตฯ เคยดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่งในสหประชาชาติ รวมถึงตำแหน่งผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยการค้าเด็ก การค้าประเวณีเด็ก และสื่ออนาจารที่เกี่ยวกับเด็ก ระหว่างปี 2533-2537 และตำแหน่งผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ ระหว่างปี 2547-2553นอกจากนี้ ศาสตราจารย์วิทิตฯ ยังได้รับรางวัลจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติด้านการศึกษาสิทธิมนุษยชนในปี 2547 ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนอีก 2 คนที่ได้รับการแต่งตั้งในคณะกรรมการสืบสวนฯ ได้แก่นาย Suliman Baldo จากซูดาน และนาง Reine Alapini Gansou จากเบนิน ไอวอรี่ โคสต์ เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา มีพรมแดนทิศตะวันตกติดกับประเทศกินี และประเทศไลบีเรีย ทิศเหนือติดกับประเทศมาลี และประเทศบูร์กินาฟาโซ ทิศตะวันออกติดกับประเทศกานา ทิศใต้ติดกับอ่าวกินี และเคยตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในระหว่างปี ค.ศ. 1889-1944 ความรุนแรงทางการเมืองของไอวอรี่ โคสต์ซึ่งดำเนินมาเกือบปีเกิดขึ้นเนื่องจาก นายโรลองต์ บากโบอดีตประธานาธิบดีไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งซึ่งเขาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับคู่แข่งนายอลัสซาน อูอัตทารา และใช้กำลังกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิตไปหลายร้อยคน องค์การสหประชาชาติระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามโดยใช้กองกำลังทหารไปจำนวนมากกว่า 500 คน และประชาชนอีกราว 1 ล้านคนต้องละทิ้งบ้านเรือน ความขัดแย้งมีทีท่ายุติลงเมื่อนายบากโบถูกจับกุมที่บ้านพักของเขาเองโดยกองกำลังร่วมระหว่างฝรั่งเศสและกองกำลังของนายอลัสซาน อูอัตทารา ผู้ซึ่งได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ชอบธรรม เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net