Skip to main content
sharethis

เผยรายงานประจำปีฟรีดอมเฮาส์ เสรีภาพไทยดิ่ง เหตุถูกรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงคุมหนัก ระบุผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในเมืองไทยมีบทบาทสำคัญในการท้าทายชนชั้นนำทางการเมืองและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย นับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา

media freedom map

media freedom
ตารางเปรียบเทียบเสรีภาพสื่อในประเทศที่มีการสำรวจ
แถบสีเขียวคือกลุ่มประเทศที่มีเสรีภาพ แถบสีเหลืองคือกลุ่มประเทศที่มีเสรีภาพบางส่วน และสีม่วงคือกลุ่มประเทศที่ไม่มีเสรีภาพ-ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศ "ไม่มีเสรีภาพ"

 

วอชิงตัน ดีซี 18 กุมภาพันธ์ 2554 - ฟรีดอม เฮาส์ได้เปิดเผยรายงานศึกษาฉบับล่าสุด Freedom on the Net 2011: A Global Assessment of Internet and Digital Media ว่าด้วยสถานภาพของอินเตอร์เน็ตและสื่อดิจิตอลทั่วโลก พบว่าการโจมตีทางไซเบอร์ (cyber attacks) การปิดกั้นเนื้อหาทางการเมือง และการที่รัฐควบคุมโครงสร้างระบบอินเตอร์เน็ต เป็นภัยอันตรายที่สูงขึ้นเรื่อยๆต่อเสรีภาพอินเตอร์เน็ต

การคุกคามเสรีภาพอินเตอร์เน็ตดังกล่าว เกิดขึ้นพอดีกับจังหวะเวลาที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกสูงขึ้นอย่างทวีคูณในระหว่างห้าปีที่ผ่านมา และรัฐบาลได้มีมาตรการการจัดการกับอิทธิพลที่สูงขึ้นของสื่อชนิดใหม่ๆเหล่านี้โดยการเข้าไปควบคุมกิจกรรมต่างๆออนไลน์ การปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร รวมไปถึงการจำกัดสิทธิของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตอีกด้วย

“การศึกษานี้ ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าปัญหาของเสรีภาพอินเตอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องเล็กๆ” เดวิด เจ เครเมอร์ ผู้อำนวยการฟรีดอมเฮาส์กล่าว รัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย นับวันจะยิ่งเทความตั้งใจและทรัพยากรที่มากขึ้นเพื่อไปปิดกั้นข้อมูลข่าวสารและแทรกแซงเสรีภาพในการแสดงออกทางออนไลน์

รายงาน Freedom on the Net 2011 (2554) ฉบับนี้ เป็นฉบับที่สองที่ตีพิมพ์ออกมาหลังจากที่รายงานนำร่องฉบับแรกได้ตีพิมพ์ออกมาแล้วในปี 2552 รายงานของฟรีดอมเฮาส์ฉบับล่าสุดนี้ได้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มเสรีภาพอินเตอร์เน็ตใน 37 ประเทศ โดยมีหลักเกณฑ์ประเมิน คือ อุปสรรคต่อการเข้าถึงข้อมูล ข้อจำกัดทางเนื้อหา และการละเมิดสิทธิผู้ใช้

จากรายงานพบว่า เอสโตเนียเป็นประเทศที่มีเสรีภาพอินเตอร์เน็ตสูงสุดในจำนวนประเทศที่ได้รับการสำรวจ สหรัฐอเมริกาเป็นอันดับที่สองรองลงมา และอิหร่านเป็นประเทศที่ได้คะแนนน้อยที่สุด นอกจากนี้ยังมี 11 ประเทศที่ได้รับการถูกจัดลำดับว่า “ไม่เสรี” (Not Free) เช่น เบลารุส พม่า จีน คิวบา ซาอุดิอาระเบีย และไทย จำนวน ประเทศจากจำนวน 15 ประเทศที่ศึกษาไปในรายงานนำร่อง พบว่าเสรีภาพอินเตอร์เน็ตได้ถดถอยลงในช่วงสองปีที่ผ่านมา และประเทศอย่างน้อยครึ่งหนึ่งจากการศึกษาครั้งใหม่ พบว่าล้วนแต่มีแนวโน้มไปในทางด้านลบ การคุกคามและจับกุมบล็อกเกอร์ การเซ็นเซอร์ที่มากขึ้น รวมถึงการโจมตีทางไซเบอร์ มักเกิดขึ้นเมื่อประเทศนั้นๆ ประสบกับความผันผวนการเมืองขนาดใหญ่ เช่น ในช่วงการเลือกตั้งที่มีปัญหา

ประเทศที่ตกอยู่ในความเสี่ยงจากการวิเคราะห์ข้อมูล ฟรีดอมเฮาส์ระบุว่าประเทศที่เสรีภาพอินเตอร์เน็ตเสี่ยงต่อการเสื่อมถอยในระยะเวลา 12 เดือนนี้ คือ จอร์แดน รัสเซีย ไทย เวเนซูเอลา และซิมบับเว


ทิศทางและแนวโน้มของเสรีภาพเน็ต 

สื่อSocial Media ปะทะการเซ็นเซอร์: เนื่องด้วยแอพพลิเคชั่นบนอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ยูทูบ หรือทวิตเตอร์ ได้ความนิยมสูงขึ้นมาก รัฐบาลหลายประเทศจึงขยายยุทธศาสตร์การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารโดยมุ่งเป้าไปที่การปิดกั้นสื่อใหม่ๆเหล่านี้ด้วย โดย 12 ประเทศจาก 37ประเทศที่ได้รับการสำรวจ พบว่ารัฐบาลได้ใช้อำนาจสั่งปิดการให้บริการของแอพพลิเคชั่นประเภทนี้อย่างเด็ดขาด ทั้งชั่วคราวและถาวร

บล็อกเกอร์และผู้ใช้เน็ตทั่วไปถูกจับกุมเพิ่มขึ้นมีจำนวนบล็อกเกอร์ นักข่าวออนไลน์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงบุคคลทั่วไป ถูกจับกุมและตัดสินจำคุกเนื่องมาจากงานเขียนที่ตีพิมพ์ในอินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น โดยใน 23 ประเทศจาก 37 ประเทศที่สำรวจ มีบล็อกเกอร์หรือผู้ใช้อินเตอร์เน็ตอย่างน้อยหนึ่งคนถูกจำคุกเนื่องจากการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต ในจำนวนนี้รวมถึงประเทศที่เป็นประชาธิปไตยด้วย

การโจมตีทางไซเบอร์ต่อกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐบาลรุนแรงขึ้นรัฐบาลและกลุ่มแนวร่วมได้ใช้การโจมตีทางเทคนิคเพื่อก่อกวนเครือข่ายออนไลน์ของนักเคลื่อนไหว ดักฟังการสื่อสาร และทำให้เว็บไซต์เป็นอัมพาต การโจมตีดังกล่าวปรากฏในอย่างน้อย 12 ประเทศจากประเทศที่ได้ศึกษาทั้งหมด 37 ประเทศ

การเซ็นเซอร์ทางการเมืองและการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร: 15 ประเทศจาก 37 ประเทศที่ศึกษาพบว่า รัฐบาลได้เซ็นเซอร์เนื้อหาในอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ในประเทศเหล่านี้ การปิดกั้นเว็บไซต์เป็นไปอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐที่ต้องการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากเว็บไซต์ของสื่ออิสระหรือกลุ่มด้านสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

การจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เนื่องจากโครงสร้างเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่รวมศูนย์ที่รัฐบาล:  การที่รัฐบาลได้ควบคุมการเชื่อมต่อเครือข่ายในประเทศกับต่างประเทศ นับว่าเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อเสรีภาพในการสื่อสารออนไลน์ โดยเฉพาะในยามที่เหตุการณ์ทางการเมืองไม่สงบ ใน 12 ประเทศจาก 37 ประเทศที่สำรวจ พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้การควบคุมโครงสร้างของเครือข่ายเพื่อจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองและสังคม และในบางกรณี อาจรุนแรงไปถึงตัดการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอย่างสิ้นเชิง

ซานย่า เคลลี่ บรรณาธิการอำนวยการของรายงานฉบับนี้กล่าวว่า ความสามารถในการสื่อสารประเด็นทางการเมือง รวมไปถึงการจัดตั้ง การพูดคุยถกเถียง และการเข้าถึงข้อมูลในโลกออนไลน์นั้นสำคัญมากพอๆกันกับในโลกออฟไลน์ มาตรการที่เร่งด่วนเพื่อป้องกันบล็อกเกอร์และผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจากสิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก เนื่องจากการคุกคามสื่อเช่นนี้ยังเป็นสิ่งที่รัฐบาลใช้กับสื่อกระแสหลักอยู่แล้วอีกด้วย


สถานะเสรีภาพเน็ตในประเทศต่างๆที่น่าสนใจ

จีนรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของระบบควบคุมอินเตอร์เน็ตที่ล้ำหน้าที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และยิ่งนับวันจะยิ่งกดทับเสรีภาพมากขึ้นเรื่อยๆ เฟซบุคและทวิตเตอร์ได้ถูกบล็อคอย่างถาวรในขณะที่แอพพลิเคชั่นทางเลือกภายในประเทศได้รับความนิยมมากขึ้น แม้ว่าจะถูกบังคับให้เซ็นเซอร์ก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐได้ปิดกั้นการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเป็นเวลานานนับเดือนทางด้านตะวันตกของเขตปกครองตนเองซินเจียง และมีอย่างน้อย 70 คนที่ถูกจำคุกด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการใช้อินเตอร์เน็ตในปี 2553

อิหร่าน: นับตั้งแต่การประท้วงหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2552เจ้าหน้าที่รัฐของอิหร่านก็ได้เริ่มมาตรการที่ไม่ปราณีต่อเสรีภาพอินเตอร์เน็ต เช่น ตั้งใจถ่วงความเร็วอินเตอร์เน็ตให้ช้าลงมากในช่วงเวลาวิกฤติ และเจาะระบบข้อมูลเพื่อทำลายเว็บไซต์ของกลุ่มฝ่ายค้าน มีบล็อกเกอร์จำนวนมากถูกข่มขู่ จับกุม ทรมานหรือคุมขังเดี่ยว และมีอย่างน้อยหนึ่งคนที่เสียชีวิตในคุก

ปากีสถานในรอบปีที่ผ่านมา ทั้งภายใต้รัฐบาลทหารและรัฐบาลพลเมืองที่ดูเหมือนเป็นประชาธิปไตย เจ้าหน้าที่รัฐบาลปากีสถานได้ใช้มาตรการหลายชนิดเพื่อควบคุมอินเตอร์เน็ตและการไหลเวียนของข้อมูลออนไลน์ ในช่วงกลางปี 2553 คณะกรรมการเพื่อความร่วมมือระหว่างกระทรวงเพื่อการตรวจสอบและติดตามเว็บไซต์ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ระบุและบล็อคเว็บไซต์ที่เข้าข่ายเป็นอันตรายหรือดูหมิ่นต่อรัฐและศาสนา

สหรัฐอเมริกา การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในสหรัฐอเมริกายังคงจัดว่ามีเสรีภาพและเปิดเผยพอสมควรหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตประสบข้อจำกัดน้อยมากในการเข้าถึงข้อมูลและการตีพิมพ์ข้อมูลข่าวสารออนไลน์ ทั้งนี้ศาลยังห้ามไม่ให้รัฐบาลใช้ข้อกำหนดว่าด้วยการแสดงออกกับเนื้อหาบนอินเตอร์เน็ตด้วย อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาก็ยังล่าช้ากว่าประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆในแง่ของตัวเลขสัดส่วนของผู้ใช้บรอดแบนด์ต่อประชากรและความเร็วในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต นอกจากนี้อำนาจในการสอดส่องและควบคุมของรัฐบาลก็ยังคงเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง

จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการศึกษา 37 ประเทศนี้ ฟรีดอม เฮาส์ได้ระบุห้าประเทศที่ถือว่าเสี่ยงต่อการถดถอยของเสรีภาพอินเตอร์เน็ตในปี 2554 และ 2555 มากเป็นพิเศษ ทั้งนี้ มีประเทศอื่นๆจำนวนหนึ่งที่มีการถดถอยของเสรีภาพอินเตอร์เน็ตในช่วงสองปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะยังคงเป็นเช่นนั้นต่อไป อย่างไรก็ตาม การควบคุมอินเตอร์เน็ตในประเทศเหล่านี้มีค่อนข้างมากและมีมาเป็นระยะเวลาหนึ่งอยู่แล้ว เช่นในบาห์เรน จีน และอิหร่าน ส่วนห้าประเทศที่ได้ระบุไปนั้น อินเตอร์เน็ตยังคงถือว่าเป็นพื้นที่ที่ผู้ใช้สามารถแสดงออกได้ค่อนข้างเป็นอิสระถึงแม้ว่ามีข้อจำกัดบ้าง นอกจากนี้ประเทศเหล่านี้ยังมีลักษณะของการที่สื่อกระแสหลักถูกควบคุมโดยรัฐบาล และมีอัตราของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตคิดเป็นอย่างน้อยร้อยละ 25 ซึ่งหมายความว่าอินเตอร์เน็ตอยู่ในสถานะที่สำคัญและเสี่ยงต่อการกดทับมากพอๆกัน

รายงานฟรีดอมเฮาส์ฉบับนี้ยังได้เปิดเผยว่า ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในเมืองไทยได้มีบทบาทสำคัญในการท้าทายชนชั้นนำทางการเมืองและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย นับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา ทำให้รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงได้พยายามควบคุมการไหลเวียนข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นบนอินเตอร์เน็ต ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะได้ทำการปิดกั้นข้อมูลบางส่วนบนอินเตอร์เน็ตมาตั้งแต่ปี 2546 แต่ในระยะสองปีที่ผ่านมา การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารบนอินเตอร์เน็ตหนักขึ้นมากทั้งในด้านปริมาณและเนื้อหา ส่งผลให้ในปี 2553 เว็บไซต์นับหมื่นเว็บไซต์ รวมไปถึงสื่ออิสระและกลุ่มด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว

การปิดกั้นนี้ยังเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นในระหว่างเดือนเมษายนถึงธันวาคม 2553 เมื่อพระราชกำหนดบริหารประเทศในสถานการณ์ฉุกเฉินถูกประกาศใช้ และได้ให้อำนาจสูงสุดแก่เจ้าหน้าที่ในการสั่งปิดเว็บไซต์ใดๆ ก็ได้ที่เห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ประชาชนจำนวนมากถูกตั้งข้อหาเนื่องจากแสดงความคิดเห็นออนไลน์โดยเฉพาะความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ และจากที่ความผันผวนทางการเมืองของประเทศไทยยังคงดำรงอยู่ อีกทั้งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นตามกำหนดในเดือนธันวาคม 2554 นั้น คาดได้ว่าแนวโน้มของประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกจะยิ่งถดถอยลงไปอีก จะเห็นจากกรณีล่าสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศาลตัดสินให้ผู้ทำเว็บไซต์ถูกจำคุกเป็นเวลา 13 ปี เนื่องมาจากการโพสต์ความคิดเห็นออนไลน์ และการปฏิเสธไม่ลบความคิดเห็นของผู้อื่นบนเว็บไซต์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net