Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2554 เวลาประมาณ 23 .00 น. ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ(SWIT)ได้รับแจ้งจากนายสมาน สาทวีสุข ลูกของคนลาวอพยพอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชานี ว่าถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกำลังจะถูกส่งตัวไปยังสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง ทางสถาบันฯ โดยดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล นักกฎหมาย จึงโทรประสานงานพยายามทำความเข้าใจกับจนท.ตำรวจ ถึงสถานะบุคคลตามกฎหมายของนายสมาน ว่าไม่มีความผิดฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย เนื่องจากนายสมานได้รับการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (แบบ 89) ในเดือนมีนาคม 2554 ที่ผ่านมา แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันว่า ไม่มีอำนาจตัดสินใจ และส่งตัวไปยังสน.พระโขนง จากนั้น เวลาประมาณเที่ยงคืนเศษของวันเดียวกัน ทางสถาบันฯได้พยายามติดต่อกับพนักงานสอบสวน สน.พระโขนง แต่พนักงานสอบสวน แจ้งว่าไม่สะดวกคุยทางโทรศัพท์เนื่องจากอยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนอีกกรณีหนึ่ง จนกระทั่งเช้าของวันที่ 17 เมษายน ทางสถาบันฯจึงได้แจ้งประสานงานกับ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและเครือข่ายที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อขอข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เกี่ยวกับนายสมาน และแจ้งให้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับนายสมานไปยังสน.พระโขนง โดยนายสมาน สาทวีสุข ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นบุคคลที่ไม่มีเอกสารแสดงตนว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย หรือคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือคนต่างด้าวที่ไม่ได้รับอนุญาตให้อาศัยในราชอาณาจักร ทั้งนี้จากการประสานงานทำความเข้าใจในเบื้องต้นโดยสถาบันฯร่วมกับเจ้าหน้าที่ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ได้รับแจ้งจากจนท.ตำรวจ พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนว่าขอหารือผู้บังคับบัญชาก่อนในช่วงเย็นของวันที่ 17 เมษายน และไม่ได้รับแจ้งความคืบหน้าใดๆ กระทั่งต่อมาในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 18 เมษายน 2554 จึงได้รับทราบข้อมูลจากเครือข่ายที่จังหวัดอุบลราชธานีว่า สถานีตำรวจนครบาลพระโขนงได้ส่งตัวนายสมาน ไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) และอาจถูกส่งตัวออกนอกราชอาณาจักรไทยต่อไป ก่อนหน้านี้ประมาณปลายปี 2553 นายสมานได้เคยถูกจับกุมโดยสน.คลองเตย และทางสถาบันฯได้ประสานงานทำความเข้าใจต่อสถานะบุคคลของนายสมาน และได้รับการปล่อยตัวในที่สุด ตำรวจปัดทำความเข้าใจสถานะบุคคล ซ้ำรอยสน.คลองตัน ทั้งนี้กรณีการถูกจับกุมตัวของนายสมาน และตำรวจไม่ทำความเข้าใจต่อสถานะบุคคลและส่งตัวไปควบคุมตัวที่ตม.(สวนพลู) เหมือนกับกรณีของ นายภูธร ชัยชนะ ซึ่งเป็นลูกคนลาวอพยพ พื้นที่อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมาทำงานรับจ้างที่กรุงเทพฯ ถูกจับกุมตัว ในช่วงวันที่ 31 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา มีข้อเท็จจริงลักษณะเดียวกับนายสมาน และได้รับการสำรวจได้รับการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน(แบบ 89) โดยผู้ใหญ่บ้านหาดทรายคุณ หมู่ 1 ตำบลบ้านแมด อำเภอบุณฑริก แล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการส่งรายชื่อพร้อมด้วยบุคคลอื่นๆ ที่มีข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันกับครอบครัวชัยชนะ ไปยังอำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับและควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจคลองตัน โดยตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นบุคคลที่ไม่มีเอกสารแสดงตนว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย หรือคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือคนต่างด้าวที่ไม่ได้รับอนุญาตให้อาศัยในราชอาณาจักร โดยทางสถาบันฯได้พยายามประสานงานทำความเข้าใจต่อสถานะบุคคลในชั้นตำรวจแต่ไม่ได้รับความร่วมมือในการทำความเข้าใจ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยอมรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าว ต่อมานายภูธรถูกส่งตัวมายังตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) ในคืนวันเดียวกัน และถูกควบคุมตัวอยู่ที่ตม.สวนพลู จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 6 เมษายน 2554 หลังจากมีการประสานงานทำความเข้าใจและส่งหนังสือจากคณะอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพและชนพื้นเมือง ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ,หนังสือจากคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ และหนังสือความเห็นทางกฎหมายจากสถาบันฯ ร่วมกับมูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาและการพัฒนาและเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (รายละเอียดเพิ่มเติม http://www.facebook.com/note.php?note_id=175454142504414) กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, SWITและองค์กรเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน ส่งจดหมายถึงสน.พระโขนงและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สวนพลู) ควบคุมตัวมิชอบ ส่งผลกระทบต่อผู้ทรงสิทธิอาศัยในราชอาณาจักร และสิทธิในการพัฒนาสถานะเป็นผู้มีสัญชาติไทย ขอให้ปล่อยตัวทันที สถาบันฯ และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องแล้ว พบว่านายสมาน แม้จะมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แต่เป็นผู้มีสิทธิอาศัยในราชอาณาจักรไทยโดยถูกต้อง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 การที่สถานีตำรวจนครบาลพระโขนง และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) ควบคุมตัวนายสมาน ไว้ ย่อมเป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยนายสมาน ได้รับการสำรวจ (แบบ 89) และการจัดทำทะเบียนประวัติ ประเภท “ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร” โดยผู้ใหญ่บ้าน โดยได้รับเอกสารตอบรับการสำรวจจากปลัดอำเภอโขงเจียม (แบบ 89/1) เลขที่สำรวจ 220 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเอกสารแสดงตนประเภทหนึ่ง และได้ส่งให้กับทางสถานีตำรวจนครบาลพระโขนงแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน 2554 นอกจากนี้ การที่นายสมาน เกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2535 จากบิดามารดาที่เข้าเมืองในลักษณะไม่ถาวร ทำให้นายสมานเป็นบุคคลเป้าหมายของมาตรา 23 แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 หรือเป็น “คนไทยตามมาตรา 23” ดังนั้น นายสมาน จึงมีคุณสมบัติ หรือมีสิทธิในสัญชาติไทย” เพียงแต่นายสมานจะสามารถใช้สิทธิในสัญชาติไทย ได้ต่อเมื่อนายสมานผ่านกระบวนการยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยต่ออำเภอโขงเจียม ดังนั้น การควบคุมตัวนายสมาน โดยสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) จึงเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหากมีการส่งตัวนายสมานออกไปนอกราชอาณาจักรไทย ย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิอาศัยในราชอาณาจักรไทย, สิทธิในสถานะบุคล รวมถึงละเมิดต่อผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยและกำลังเข้าสู่กระบวนการพัฒนาเพื่อจะใช้สิทธิในความเป็นคนไทยของนายสมาน หรือกล่าวได้ว่านายสมานเป็น ผู้เสียหายในคดีอาญาตามมาตรา 2 (4) ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และ ผู้อาจได้รับเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ตามมาตรา 42 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีตาม มาตรา 9 วรรค 1(1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประการสำคัญ เสรีภาพของบุคคลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่งของบุคคล ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้การรับรองและคุ้มครอง ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ (มาตรา 32 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550) และเป็นพันธกรณีที่ประเทศไทยผูกพันต้องเคารพในฐานะรัฐภาคีแห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) เวลา 15.30 น. วันนี้ ทางสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) และเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จึงส่งจดหมายและความเห็นทางกฎหมาย และข้อหารือถึงแนวทางในการจัดการเพื่อคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพขั้นพื้นฐาน สิทธิอาศัยในราชอาณาจักรตามมาตรา 17 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และสิทธิในการพัฒนาสถานะของผู้มีปัญหาสถานะบุคคล จากการควบคุมตัวโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) กรณีนายสมาน สารทวีสุข ถึงตม. (สวนพลู) เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในการปรับใช้กฎหมาย และเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ทางตม.(สวนพลู) ควร ดำเนินการพิจารณาทบทวนข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้มีปัญหาสถานะบุคคล โดยดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของท่าน โดยปล่อยจากการกักตัวที่ ตม. และอาจส่งตัวสมานไปยังประเทศ/พื้นที่ที่นายสมานมีภูมิลำเนา /มีชื่อในทะเบียนราษฎรในปัจจุบัน ด้านคณะอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพและชนพื้นเมือง ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ส่ง จม.ถึงตม.(สวนพลู) เรื่องสิทธิของบุคคล กรณีนายสมาน สารทวีสุข เพื่อให้ได้รับการเคารพในสิทธิขิงบุคคล ได้รับเสรีภาพโดยรวดเร็วและไม่มีการละเมิดสิทธิ หมายเหตุ: Stateless Watch Review เป็นงานสื่อสารสาธารณะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ข้อมูลเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch Information Center) ภายใต้สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ หรือ Stateless Watch for Research and Development Institute of Thailand (SWIT) แก้ไขข้อมูลล่าสุด 19 เม.ย. 2554 เวลา 22.15 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net