Skip to main content
sharethis

ชื่อบทความเดิม: เวียงแหง เมืองชายแดน ประวัติศาสตร์ตำนาน กับการคืบคลานของสิ่งแปลกปลอมที่ชื่อ เหมืองแร่ (ตอน 1) เวียงแหง เป็นอำเภอเล็กๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่อยู่ติดกับชายแดนไทย-พม่า ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 134 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าระยะทางห่างไกลมากอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ การเดินทางสายหลัก ใช้ถนนโชตนา หมายเลข 107 จากเชียงใหม่-อ.แม่ริม- อ.แม่แตง - อ.เชียงดาว แล้วแยกไปตามถนนหมายเลข 1178 ไปบ้านเมืองงาย ก่อนถึงทางแยกแม่จา- อ.เวียงแหง ไปตามถนนหมายเลข 1322 ระยะทาง 58 กิโลเมตร เป็นเส้นทางลาดยาง ที่มีความคดเคี้ยวและลาดชันสูง มุ่งตรงไปยังอำเภอเวียงแหง และไปสิ้นสุดถนนสายนี้ที่บ้านหลักแต่ง ตำบลเปียงหลวง ด่านเล็กๆ ประตูชายแดนเข้าสู่ประเทศพม่า ทว่าจนถึงบัดนี้ประตูนั้นถูกปิดตาย ด้วยยังหาข้อยุติเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกันไม่ได้ เวียงแหง ตั้งอยู่บนความสูงจากระดับน้ำทะเล โดยเฉลี่ยประมาณ 750 เมตร และมียอดเขาที่สูงที่สุดคือดอยปักกะลา มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,905 เมตร บนความสูงระดับนี้ จึงทำให้เวียงแหงซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขานั้นมีสภาพภูมิอากาศดี มีทิวทัศน์งดงามตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว เราจะพบทะเลหมอก กับสภาพป่าอันสมบูรณ์หลากหลาย มองเห็นทุ่งดอกบัวตองและดอกนางพญาเสือโคร่งหรือซากุระเมืองไทยบานอยู่รายรอบสองข้างทาง ระหว่างทางเข้าสู่ตัวอำเภอ จะมองเห็นคำขวัญของอำเภอเวียงแหงติดไว้อย่างโดดเด่นว่า...‘พระธาตุแสนไหเป็นศรี ประเพณีหลายเผ่า ชมทิวเขาสุดสยาม งามล้ำค่าฟ้าเวียงแหง’ ทำให้หลายคนที่มาเยือน ได้ศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์และตำนานของเวียงแหง รวมทั้งเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมประเพณี และการดำรงอยู่ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในหุบเขาแห่งนี้ เรียนรู้ประวัติศาสตร์และตำนานเวียงแหง ‘เวียงแหง’ หรือ ‘เมิงแหง’ ตามสำเนียงของชาวไตหรือชาวไทยใหญ่ในท้องถิ่นใช้พูดเรียกกันนั้น ในตำนานพระเจ้าเลียบโลก ได้มีการกล่าวถึง เวียงแหง เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า…ในสมัยพุทธกาล ได้มีสาวกของพระพุทธเจ้าได้ ออกเผยแพร่หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ในระหว่างที่ออกเผยแพร่หลักธรรมไปในที่ต่างๆ นั้น ได้มาถึงดอยๆ หนึ่ง ซึ่งมีชื่อขณะนั้นว่า ‘ดอยห้วยผักกูด’ ในระหว่างที่พักผ่อนอยู่นั้น ได้มีชาวเขาเผ่าปวาเก่อญอหรือกะเหรี่ยง ได้นำแตงโมมาถวายสาวกของพระพุทธเจ้า ในระหว่างที่กำลังสับแตงโมอยู่นั้นฟันก็กระเทาะออกมา (คำว่ากระเทาะหรือแตกนี้ ภาษาไทยเดิมใช้คำว่า ‘แหง’ สาวกของพระพุทธเจ้าจึงได้เอาฟันที่กระเทาะวางไว้ ณ ที่นั้น แล้วตั้งชื่อสถานที่นั้นว่า ‘เมืองแหง’ หลังจากฉันเสร็จก็โยนเปลือกแตงโมลง ที่ห้วยผักกูดและได้กลายเป็นลำห้วยที่ชื่อ ‘แม่แตง’ และด้วยเหตุนี้จึงมีการเรียกขานชื่อ เมืองแหง หรือ เวียงแหง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อพูดถึงคำว่า ‘เวียง’ นั้นเป็นคำนาม หมายถึงเมืองๆ หนึ่งที่มีขอบเขตจำกัดบางแห่งมีคูเมืองล้อมรอบ เช่น เวียงเชียงใหม่ เวียงฝาง เวียงป่าเป้า เป็นต้น เวียงแหง ในอดีตก็ถือได้ว่า เป็นอีกเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่ง โดยมีเจ้าเมือง ซึ่งเป็นชาวไทยใหญ่ ปกครองอยู่ และมีคูเมืองล้อมรอบ 2 ด้าน คือทิศเหนือ และทิศตะวันออก(ของหมู่บ้านเมืองแหงในปัจจุบัน) จึงถือว่าเป็นเมืองหน้าด่านของเมืองเชียงใหม่ ครั้นเมื่อหมดยุคสมัยของการปกครองแบบเจ้าเมืองแล้ว บ้านเมืองแห่งนี้จึงถูกเรียกว่า ‘เมืองแหง’ และ ‘เวียงแหง’ ตั้งแต่สมัยนั้น เป็นต้นมา ปัจจุบัน เราจะพบเห็นปรากฏร่องรอยคูน้ำและคันกำแพงโบราณ อยู่บริเวณใจกลางบ้านเมืองแหง ทว่ายังไม่มีหน่วยงานใดทำการสำรวจขุดค้นอย่างเป็นระบบ และเมื่อศึกษาค้นคว้าในเชิงประวัติศาสตร์ของพื้นที่ให้ย้อนลึกลงไปอีก มีการกล่าวอ้างกันว่า เวียงแหงแห่งนี้ เคยเป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มาสิ้นพระชนม์ระหว่างพักทัพเพื่อเตรียมไปตีกรุงอังวะ ในหนังสือ \ประวัติพระบรมธาตุแสนไห\" ที่ทางอำเภอเวียงแหงจัดพิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2542 อ้างว่า เหตุการณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่เกี่ยวโยงกับพระบรมธาตุแสนไห ฉบับ พ่อครูบุญส่ง วิริยะตานนท์ ค้นคว้าประกอบพระราชนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พอสันนิษฐานได้ว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกทัพขึ้นมาทางเชียงใหม่ เพื่อตีเมืองอังวะของพม่า เมื่อวันพฤหัสบดีเดือนยี่ แรม 6 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. 2147 โดยเสด็จร่วมกับสมเด็จพระเอกาทศรถไปทางเมืองฝางทัพหนึ่ง สมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปทางเมืองห้างหลวง (น่าจะเป็นเมืองแหงในปัจจุบัน) ครั้นปลายเดือน 5 ปีมะเส็ง พ.ศ. 2148 สันนิษฐานว่าพระองค์เดินทัพผ่านสันเขาขุนคองไปถึงเมืองแหง และพักทัพที่บริเวณลานหน้าพระบรมธาตุแสนไห เพราะเป็นทำเลที่เหมาะสมมีแม่น้ำแตงไหลผ่าน สามารถเรียกรวมผลและเสบียงอาหารได้สะดวก ขณะพักทัพคงจะมีการชุดบ่อน้ำเพื่อใช้ส่วนพระองค์ และช้างศึก ซึ่งปัจจุบันบริเวณดังกล่าวมีบ่อน้ำเก่าแก่มีน้ำใสสะอาด ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า \"บ่อน้ำช้าง\" เดิมภายในบ่อน้ำใช้ไม้เลียงกันดินพัง ต่อมาชาวไทยใหญ่ได้ก่อเป็นสถูปครอบบ่อน้ำไว้ มีรูปปั้นช้างศึกนอนหมอบอยู่ข้างบนสถูป หันหน้าเข้าหาพระบรมธาตุ กระนั้น กรณีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ได้เสด็จนำทัพขึ้นมาในเขตนี้ ในช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2147-2148 นั้น ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานว่าปรากฏชื่อของ \"เวียงแหง\" ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับใด ๆ หรือแม้แต่เอกสารของล้านนาเอง ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อกรณีนี้มากนัก เพราะเหตุระยะเวลานี้ บ้านเมืองหรือชุมชนในเขตต่างๆ ของล้านนา กำลังตกอยู่ภายใต้การปกครอง-บริหารของพม่า มีบ้างบางคราวที่ราชสำนักพม่าอ่อนแอ ก็เกิดการก่อขบถแข็งข้อขึ้นเป็นครั้งคราว เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะที่สมเด็จพระนเรศวรฯทรงประกาศอิสรภาพกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากพม่าได้สำเร็จแล้ว ฝ่ายเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองล้านนาอื่นๆ ต่างก็ยอมเข้ามาสวามิภักดิ์กับอยุธยารวมถึงแคว้นไทยใหญ่ในเขตฝั่งตะวันตกแม่น้ำคง(สาละวิน) ด้วย กรณีของแคว้นไทยใหญ่นี้เอง ที่เป็นชนวนให้สมเด็จพระนเรศวรฯ เสด็จยกกำลังทัพขึ้นมาจากกรุงศรีอยุธยา หมายจะขับไล่กำลังทัพจากพม่าจากเมืองอังวะ ที่เข้ามายึดเอา ‘เมืองนาย’ (ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเรียกว่าเมืองหน่าย) และเตรียมที่จะเข้ายึดเอา ‘เมืองแสนหวี’ ที่เป็นเมืองหลวงของแคว้นไทใหญ่ต่อไป ดังรายละเอียดของเหตุการณ์ตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ดังนี้ พระเจ้าเชียงใหม่ก็อัญเชิญพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ เสด็จเข้าไปนมัสการพระพุทธสิหิงค์ในเมืองเชียงใหม่นั้นเดือนหนึ่ง จึงยกทัพหลวงเสด็จไปจากเมืองเชียงใหม่โดยทางอังวะ พระเจ้าเชียงใหม่แลลูกพระเจ้าเชียงใหม่ทั้งสามไปโดยเสด็จทัพหลวง สมเด็จพระพุทธิเจ้าหลวงก็ยกพยหโยธาทัพเสด็จทางเมืองห้างหลวง พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบพิตร ก็ยกทัพหลวงเสด็จไปโดยทางเมืองฝาง แลเด็จถึงเมืองฝางในวันพฤหัสบดี แรม 11 ค่ำ เดือน 5 ฝ่ายสมเด็จพระพุทธิเจ้าหลวงเสด็จถึงเมืองห้างหลวงและตั้งทัพหลวงอยู่ตำบลทุ่งแก้ว แรมทัพในตำบลนั้น ส่วนพญากำแพงเพชร และพระหัวเมืองชุนหมื่นทั้งหลายผู้เป็นหัวหน้า ก็ยกช้างม้ารี้พลไปถึงแม่น้ำคง ในขณะนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระประชวรหนัก ก็ตรัสใช้ข้าหลวงไปกราบทูลพระกรุณาถึงเมืองฝาง พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จจากเมืองฝางมายังสมเด็จพระพุทธิเจ้าหลวงในเมืองห้างหลวง และเสด็จถึงในวันอาทิตย์ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง เบญจศกนั้น รุ่งขึ้นวันจันทร์เดือน 6 ขึ้น 8 ค่ำ เพลาชายแล้วสองบาท สมเด็จพระพุทธิเจ้าหลวง พระพรรษาปีมะโรงศก เมื่อราชสมบัตินั้น ศักราช 940 ปีขาลนั้น พระชนม์ได้ 35 พรรษา เสด็จอยู่ในราชสมบัติ 15 พรรษา เมื่อเสด็จสวรรคตในเมืองห้างหลวง พระชนม์ได้ 50 พรรษา นั่นเป็นอีกหนึ่งห้วงประวัติศาสตร์สำคัญ ที่มีหลายฝ่าย(โดยเฉพาะนักวิชาการ กลุ่มคน องค์กรของรัฐและเอกชนที่มีผลประโชน์ในพื้นที่)พยายามยึดโยงเอาเวียงแหงไปมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องราวเหล่านั้นด้วย โดยมีการพยายามวิเคราะห์กันว่า เมืองห้างหลวง ในพงศาวดารนั้น คือ เมืองแหง หรือเวียงแหง ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครยืนยันได้แน่ชัด แต่ที่แน่ๆ เวียงแหง ในอดีตนั้น เคยมีสถานะเป็นตำบล ตามเขตปกครองที่ขึ้นอยู่กับอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ด้วยสภาพที่แวดล้อมด้วยผืนป่า ภูเขาล้อมรอบ และยังมีพื้นที่อยู่ติดกับชายแดนไทย-พม่า การคมนาคมในสมัยก่อนห่างไกล ทุรกันดาร เป็นไปด้วยยากลำบาก โดยเฉพาะถนนหนทางในหน้าฝน การเดินทางเข้าออกไม่ได้ เวียงแหงจึงเหมือนเป็นเมืองปิด ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการปกครองและการป้องกันรักษาความสงบในเขตพื้นที่ดังกล่าว กระทั่ง ในปี พ.ศ.2524 จึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ และตั้งเป็นอำเภอเวียงแหง ขึ้นในปี พ.ศ.2536 ประกอบด้วยพื้นที่ 3 ตำบล คือ ตำบลเมืองแหง ตำบลแสนไห และตำบลเปียงหลวง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 23 หมู่บ้าน รวมเนื้อที่ประมาณ 672.172 ตารางกิโลเมตร หรือ 21

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net