Skip to main content
sharethis

19 เม.ย.54 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว – ประเทศกัมพูชา สปป. ลาว ไทย และเวียดนาม ได้ตกลงร่วมกันในการนำกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าสำหรับโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีไปสู่การตัดสินใจในระดับรัฐมนตรี เนื่องจากไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันในเดินหน้าโครงการ ประเทศสมาชิกทั้งสี่ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงบรรลุข้อสรุปของการพิจารณาวาระพิเศษในระดับคณะกรรมการร่วมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งประเทศสมาชิกได้ประชุมพิจารณาร่วมกันเกี่ยวกับข้อเสนอโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำกั้นลำน้ำโขงแห่งแรกในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง คณะกรรมการร่วมเห็นด้วยว่าประเทศสมาชิกแต่ละประเทศยังมีมุมมองต่อโครงการที่แตกต่างกันแม้ว่ากระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้ากำลังจะสิ้นสุดลง ในการประชุมพิจารณา ประเทศลาวยืนยันว่าไม่มีความจำเป็นที่จะยืดระยะเวลาของกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าอีกต่อไป เนื่องจากการตัดสินใจดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ในทางปฏิบัติ ในขณะที่ผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนต่อประเทศสมาชิกอื่นๆ ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ อย่างไรก็ดี ประเทศสมาชิกที่เหลือคือกัมพูชา ไทย และเวียดนามได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับช่องว่างขององค์ความรู้ทางเทคนิคและการศึกษาเกี่ยวกับโครงการ การคาดการณ์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิถีความเป็นอยู่ของประชาชนในลุ่มน้ำโขงจำเป็นต้องมีดำเนินการประชุมประชาพิจารณ์ให้มากขึ้น “เราขอแสดงความขอบคุณต่อข้อคิดเห็นต่างๆ และเราจะพิจารณาแก้ไขเพื่อคลายความกังวลทั้งหมด” นาย วิละพอน วิลาวง (Viraphonh Viravong) หัวหน้าผู้แทนจากประเทศลาว ประเทศลาวเสนอให้ยุติกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าตามที่ระบุไว้ในขั้นตอนการปรึกษาการหารือล่วงหน้าข้อ 5.5.1 ซึ่งกล่าวว่ากำหนดเวลาสำหรับกระบวนการนี้คือหกเดือน และข้อ 5.5.2 ซึ่งระบุการขยายกำหนดเวลาสำหรับขั้นตอนนี้ต้องมาจากการตัดสินใจของคณะกรรมการร่วม ประเทศลาวกล่าวว่าการศึกษาเพิ่มเติมจำเป็นต้องยืดระยะเวลาออกไปอีกมากกว่า 6 เดือน ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่อาจรับรองได้ว่าจะสามารถคลายความกังวลในด้านต่างๆจากประเทศสมาชิก โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีจะเป็นไปตามข้อกำหนดการออกแบบเบื้องต้นของการสร้างเขื่อนของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และตัวอย่างต้นแบบที่ดีที่สุดโดยอิงจากมาตรฐานในระดับสากล กล่าวโดยผู้แทนประเทศลาว การพิจารณาเพิ่มเติมของผลกระทบต่อการเดินเรือ บันไดปลาโจน การเคลื่อนที่ของตะกอน คุณภาพน้ำและนิเวศทางน้ำ และความปลอดภัยของเขื่อนสามารถลดผลกระทบดังกล่าวในระดับที่ยอมรับได้ อย่างไรก็ตามประเทศสมาชิกอื่นๆได้แสดงความกังวลในด้านต่างๆ และให้ข้อเสนอแนะสำหรับโครงการดังกล่าว ด้านประเทศกัมพูชากล่าวว่า น่าจะต้องมีเวลามากกว่านี้ เพื่อให้ประเทศผู้แจ้งปัญหา (notifying country) และผู้พัฒนาโครงการดังกล่าว ได้เติมเต็มช่องว่างด้านความต้องการด้านเทคโนโลยี และเพื่อการปรึกษาหารือที่มีประสิทธิภาพระหว่างประเทศสมาชิกและต่อสาธารณชน ประเทศกัมพูชายังได้กล่าวว่า จะต้องมีการจัดทำการศึกษาอย่างละเอียดรวมถึงการประเมิณผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสิ่งแวดล้อมสะสม อีกทั้งยังเพิ่มเติมว่า ต้องมีการจัดเตรียมมาตรการการเตรียมพร้อมและมาตรการการรับมือต่อผลกระทบต่างๆ ขณะที่การจัดการด้านอื่นๆ อันได้แก่ การแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างประเทศ การจัดการสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน และกองทุนทางสังคม ต้องมีการร่วมกันจัดตั้งให้เกิดขึ้นจริง “ในเมื่อเรามีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับโครงการนี้ กัมพูชาจึงเสนอให้มีการขยายเวลาการปรึกษาหารือล่วงหน้านี้ออกไปให้นานขึ้น” ประเทศกัมพูชาได้กล่าวในการตอบโต้อย่างเป็นทางการ เขากล่าวด้วยว่า ร่างข้อเสนอในการสร้างเขื่อนไซยะบุรีฉบับปัจจุบันควรจะคำนึงถึงการป้องกันการอพยพถิ่นฐานของปลาหลากหลายพันธุ์ทั้งที่อยู่ทางต้นน้ำและปลายน้ำซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับที่ผู้เชี่ยวชาญและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแสดงความเป็นห่วง ทางฝ่ายประเทศไทยได้ยอมรับถึงความสำคัญของโครงการนี้ต่อแผนการพัฒนาของประเทศลาว และได้กล่าวว่า ในการที่จะดำเนินโครงการต่อไปได้นั้น ควรจะต้องมีการจัดทำมาตรการป้องกันและบรรเทาสำหรับประชาชนและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค ประเทศไทยยังได้กล่าวอ้างถึงข้อกังวลต่างๆ ด้านการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดขึ้นจากการปรึกษาหารือระดับชาติ อันได้แก่ ความสูญเสียด้านการประมงและพื้นที่ชุ่มน้ำ การขาดมาตรการป้องกันและบรรเทาที่ชัดเจน โดยประเทศไทยมีความเป็นห่วงต่อวิถีชีวิตของประชาชนที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำโขง ประเทศไทยยังได้เสนอข้อกังวลจากเวทีสาธารณะว่า ยังมีข้อสงสัยต่อความยั่งยืนของโครงการนี้ รวมทั้งกรอบเวลาที่ตั้งไว้สำหรับกระบวนการการหารือล่วงหน้านี้ยังไม่เพียงพอและควรต้องยืดเวลาออกไป “ดังนั้น ทางเราจึงต้องการให้มีการนำความคิดเห็นของประชาชนและข้อกังวลต่างๆ ไปพิจารณาทบทวน” นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำกล่าว ด้านนายปณิธาน วัฒนายากร ปฏิบัติหน้าที่โฆษกรัฐบาลให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนวานนี้ว่า ต้องหารือกับประเทศสมาชิกกรรมาธิการลุ่มน้ำโขงรายอื่นๆ คือลาว เวียดนามและกัมพูชา ก่อนที่จะมีกรตัดสินใจอะไรลงไป แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่เราจะร้องขอให้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ประเทศเวียดนามแสดงความกังวลอย่างสูงสุดต่อการขาดการจัดทำการประเมิณผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสะสมอย่างละเอียดเพียงพอ โดยโครงการนี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อลำน้ำตอนล่าง โดยเฉพาะที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง พร้อมกันนี้ ประเทศเวียดนามยังได้แนะนำให้เลื่อนโครงการนี้ รวมทั้งโครงการด้านพลังงานน้ำอื่นๆ ที่ได้วางแผนไว้แล้ว ซึ่งจะเกิดขึ้นบนลำน้ำโขงสายหลัก ออกไปอย่างน้อยสิบปี ดร.ลี ดึก ตรัง (Le Duc Trung) หัวหน้าคณะผู้แทนจากเวียดนามกล่าวย้ำว่า “ควรจะมองว่าการเลื่อนโครงการนี้ออกไป จะก่อให้เกิดผลดีในการที่จะให้เวลารัฐบาลของประเทศในลุ่มน้ำจัดทำการศึกษาเชิงปริมาณโดยละเอียดในด้านผลกระทบสะสมต่างๆ ที่น่าจะเกิดขึ้น” ประเทศเวียดนามยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กรอบเวลาที่มีอยู่จำกัดสำหรับกระบวนการปรึกษาหารือนี้ ไม่เพียงพอที่จะทำให้บรรลุข้อตกลงของกระบวนการ การเลื่อนโครงการออกไป จะสามารถช่วยให้ประเทศได้เกิดความเข้าใจและสร้างความมั่นใจต่อสาธารณชนและประชาชนในพื้นที่ ดร.ดึก ตรัง กล่าว คณะกรรมการร่วมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง จะรายงานผลการตัดสินใจต่อรัฐมนตรีของประเทศตนเองในวันนี้ หมายเหตุ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน ปี 1995 ได้กำหนดให้มีระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) ซึ่งกำหนดไว้ว่าประเทศสมาชิกจะต้องแจ้งต่อคณะกรรมการร่วมของ MRC (Joint Committee) ในกรณีที่ประเทศมีความประสงค์ที่จะมีโครงการพัฒนาสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ใดๆ (เช่นโครงการพัฒนาไฟฟ้ าพลังน้ำ) บนแม่น้ำโขงสายหลักหรือแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าโครงการดังกล่าวอาจจะสร้างผลกระทบข้ามเขตแดนต่อประชาชนหรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่ปลายน้ำ กระบวนการ PNPCA ถือเป็นกลไกที่เป็นทางการที่จะช่วยประเทศสมาชิกของ MRC ในการนำเสนอโครงการแต่ละโครงการให้ประเทศสมาชิกทั้งสี่ประเทศร่วมกันพิจารณาในระดับภูมิภาค ในกรณีโครงการเขื่อนไซยะบุรี รัฐบาลของประเทศลาวได้แจ้งให้ MRC เริ่มใช้กระบวนการ PNPCA คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวถึงโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายประธานในแขวงไซยะบุรี เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2553 ภายใต้กระบวนการ PNPCA ประเทศสมาชิกทั้งสี่จะดำเนินการปรึกษาหารือร่วมกันต่อข้อเสนอโครงการ เพื่อบรรลุข้อสรุปของการดำเนินโครงการระหว่างประเทศสมาชิกในระยะเวลา 6 เดือนนับแต่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการ เมื่อได้รับการแจ้งอย่างเป็นทางการ ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศดำเนินการประชุมปรึกษาหารือภายในประเทศโดยผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ เพื่อรับฟังและสะท้อนความคิดเห็นและมุมมองต่อโครงการ นอกจากนี้คณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขงดำเนินการตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อศึกษาทบทวนรายงานและเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ จากรัฐบาลประเทศลาว กระบวรการปรึกษาหารือเป็นหนึ่งในระเบียบปฏิบัติภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน ปี 1995 เพื่อการสนับสนุนความร่วมมือในการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งในระดับภูมิภาค โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงน้ำไซยะบุรีเป็นโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำโครงการแรกบนแม่น้ำโขงสายหลักหรือสายประธาน (mainstream) ซึ่งอยู่ปลายน้ำจากประเทศจีน โครงการนี้จะมีความสามารถในการผลิตไฟฟ้าได้ 1,260 เมกะวัตต์ โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตเพื่อป้อนความต้องการพลังงานของประเทศไทย เขื่อนไซยะบุรีมีที่ตั้งอยู่ที่ประมาณ 150 กิโลเมตร ลงมาทางใต้จากหลวงพระบาง ในประเทศลาว เขื่อนนี้มีความสามารถในการผลิตอยุ่ที่ 1,260 เมกะวัตต์ โดยความยาวของเขื่อนอยู่ที่ประมาณ 810 เมตร สูง 32 เมตร มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 49 ตารางกิโลเมตร กักเก็บน้ำได้ 225 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนใหญ่จะถูกส่งออกขายให้กับประเทศไทย วัตถุประสงค์หลักของการสร้างเขื่อนไซยะบุรีคือการสร้างรายได้เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศลาว บริษัทผู้ก่อสร้างคือ บริษัท ช.การช่าง ของประเทศไทยซึ่งได้มีการเจรจาตกลงค่าธรรมเนียมกับการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (EGAT) ในเดือนกรฎาคม 2553 คณะกรรมธิการลุ่มแม่น้ำโขงเป็นหน่วยงานความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก มีหน้าที่รับผิดชอบในการประสานความร่วมมือในการจัดการลุ่มน้ำอย่างยั่งยืน โดยมีสมาชิกคือประเทศกัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม และคณะกรรมธิการลุ่มแม่น้ำโขงเป็นหน่วยงานในการประสานกระบวนการ PNPCA ในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาทุกภาคส่วน ได้แก่การประมงธรรมชาติอย่างยั่งยืน การสร้างโอกาสทางการเกษตร รักษาการเดินเรืออย่างอิสระ การจัดการอุทกภัย และการปกปักรักษาระบบนิเวศที่สำคัญ การประชุมปรึกษาหารือในวาระพิเศษของคณะกรรมการร่วมในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อบรรลุข้อสรุปของกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าสำหรับโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี โดยประเทศสมาชิกทั้งสามได้แสดงการตอบรับอย่างเป็นทางการในการเข้าร่วมการประชุม ที่มาบางส่วนจาก Laos takes heat for dam work http://www.phnompenhpost.com/index.php/2011041948572/National-news/laos-takes-heat-for-dam-work.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net