พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: ไปสู่ “รัฐไทยใหม่ รัฐประชาธิปไตย”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ขบวนประชาธิปไตยที่ก่อตัวมาตั้งแต่กลางปี 2549 ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน ได้ขยายตัวเติบใหญ่ จนปัจจุบัน กลายเป็นขบวนประชาธิปไตยเสื้อแดงที่มีจำนวนนับล้านคนทั่วประเทศ ได้ผ่านบทเรียนการต่อสู้อันยากลำบาก กระทั่งต้องสูญเสียอย่างสาหัสในการเคลื่อนไหวเมษายน-พฤษภาคม 2553 ประสบการณ์อันนองเลือดและเจ็บปวดทำให้ขบวนประชาธิปไตยยกระดับขึ้นสู่ขั้นตอนใหม่ เกิดการถกเถียงอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ค่อย ๆ ตกผลึกทางความคิด ชัดเจนถึงเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของขบวนว่า จะเดินต่อไปอย่างไรเพื่อไปบรรลุประชาธิปไตยที่แท้จริง

1. เป้าหมายคือ “รัฐประชาธิปไตย”
บทเรียนที่ผ่านมา ทำให้รู้ชัดว่า ประเทศไทยยังคงล้าหลังในทางเศรษฐกิจและการเมือง ประชาชนส่วนข้างมากของสังคมยังยากจน มิใช่เพราะโง่หรือ “ขี้เกียจ” แต่เป็นเพราะขาดโอกาสในการศึกษา บริการทางการแพทย์ อาชีพ และแหล่งเงินทุน อันเนื่องมาจากระบอบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หากแต่มีเนื้อในที่เป็นระบอบเผด็จการจารีตนิยมที่รวมศูนย์อำนาจและโภคทรัพย์ไปยังผู้ปกครองจำนวนหนึ่ง มีเปลือกนอกที่สลับกันเป็นช่วง ๆ ระหว่างเผด็จการทหารที่เปิดเผย กับระบอบรัฐสภาและรัฐบาลเลือกตั้งที่อ่อนแอ ระบอบนี้มีรัฐประหารและตุลาการเป็นเครื่องมือสำคัญ เคลือบคลุมด้วยการครอบงำทางความคิดของลัทธิเทวสิทธิ์

หนทางที่จะให้ประเทศไทยบรรลุความเจริญก้าวหน้า เศรษฐกิจรุ่งเรือง ประชาชนมั่งคั่งก็คือ ต้องทำให้การเมืองเป็นประชาธิปไตย ไปบรรลุเป้าหมายที่ สร้างระบอบประชาธิปไตยที่ปวงประชามหาชนชาวไทยเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง

ที่ผ่านมา ขบวนประชาธิปไตยได้มีคำขวัญว่า สร้าง “รัฐไทยใหม่” ซึ่งในเบื้องต้นหมายถึง “รัฐไทยที่ทุกคนเท่าเทียมกัน มีความยุติธรรมและไม่เป็นสองมาตรฐาน” สะท้อนถึงความเรียกร้องต้องการของคนเสื้อแดงที่เจ็บแค้นจากความอยุติธรรมและการเลือกปฏิบัติที่ได้รับจากผู้ปกครองตลอดหลายปีมานี้

รัฐไทยใหม่ที่ว่านี้ในทางรูปธรรมคืออะไร? คำตอบคือ เป็นรัฐไทยที่มีระบอบการเมืองการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย เศรษฐกิจทุนนิยมเสรีและทันสมัย ดังที่มีอยู่แล้วในบรรดาประเทศอารยะ เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ ยุโรปเหนือและสแกนดิเนเวีย ออสเตรเลีย สเปน ฝรั่งเศส คานาดา สหรัฐอเมริกา เป็นต้น นัยหนึ่ง รัฐไทยใหม่ก็คือรัฐประชาธิปไตยเสรีนิยม นั่นเอง

การไปบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจำต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจ เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ให้ความเสมอภาคทางการเมืองแก่ประชาชน และมีการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจสังคมไปยังประชาชนอย่างถ้วนหน้า เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจอย่างไม่เคยมีมาก่อน การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในวันนี้จึงมี “ลักษณะปฏิวัติสังคม” นัยหนึ่ง ขบวนประชาธิปไตยจะต้องเดินแนวทาง “ปฏิวัติประชาธิปไตยเสรีนิยม”

รัฐไทยใหม่ที่เป็นรัฐประชาธิปไตยนั้น มีลักษณะพื้นฐานสามประการคือ

        1. ความเห็นชอบจากประชาชน ผู้ที่เข้าสู่อำนาจการเมืองต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย และการใช้อำนาจนั้นในการปกครองบ้านเมืองต้องได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน ในทางรูปธรรมคือ อำนาจอธิปไตยทั้งสาม ได้แก่ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ต้องมาจากการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนผ่านระบบเลือกตั้งตัวแทนที่เสมอภาคและยุติธรรม

        2. สิทธิพื้นฐานสามประการของประชาชน รัฐที่มาจากความเห็นชอบของประชาชนมีหน้าที่สำคัญในเบื้องต้นคือ ให้การปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษย์ขั้นพื้นฐานสามประการของปัจเจกชน ได้แก่

         · สิทธิในชีวิตและร่างกายที่ไม่อาจละเมิดโดยผู้อื่นและโดยรัฐ

         · สิทธิในการพูด แสดงความคิดเห็น และจัดตั้งสมาคมหรือพรรคการเมือง ที่เจตนาสุจริตและไม่ถูกจำกัดโดยรัฐ

         · สิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคล ที่จะแสวงหาโอกาส ประกอบอาชีพ ทำธุรกรรม สะสมและสืบทอดแก่ทายาท

        3. การจำแนกและตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้งสาม เพื่อจำกัดการใช้อำนาจรัฐมิให้เป็นอันตรายต่อสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล เพื่อป้องกันการรวมศูนย์อำนาจการเมืองที่อาจเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย

อุปสรรคขัดขวางประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุดในเศรษฐกิจการเมืองไทยปัจจุบันคือ ระบอบเผด็จการจารีตนิยม ซึ่งหลายสิบปีมานี้ ได้ตั้งหน้าบ่อนทำลายการเติบโตของหน่ออ่อนประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่า และลงเอยเป็นการใช้กำลังปราบปรามประชาชนหรือรัฐประหารทุกครั้ง หนทางไปสู่เป้าหมายของขบวนประชาธิปไตยจึงต้องเป็นการ “ขจัดระบอบเผด็จการจารีตนิยม” ลิดรอนและขจัดอำนาจเผด็จการทางการเมืองทั้งที่แฝงเร้นและเปิดเผย ทำการ “ปฏิวัติประชาธิปไตย” ให้อำนาจอธิปไตยมาอยู่ในมือของปวงประชามหาชนชาวไทยอย่างแท้จริง โดยหลังจากการเปลี่ยนผ่านอำนาจในทางปฏิบัติแล้ว ต้องทำให้เป็นรูปแบบระบอบการเมืองที่ยั่งยืนและชอบธรรมด้วยการปฏิรูปรัฐธรรมนูญตามหลักการประชาธิปไตยข้างต้นให้สมบูรณ์

2. ยุทธศาสตร์ “เผยแพร่ความจริง ขยายปริมาณ สร้างคุณภาพ”
การปกครองของกลุ่มเผด็จการทั้งหลายประกอบด้วยอำนาจสองด้านคือ อำนาจทางวัตถุ กับอำนาจทางความคิด อำนาจทางวัตถุคือการใช้กำลังรุนแรงของอำนาจรัฐข่มขู่ จับกุมคุมขัง กระทั่งเข่นฆ่าผู้ที่ต่อต้าน เครื่องมือนี้ประกอบด้วยกลไกตำรวจ ศาล คุกตะราง และกองทัพ ส่วนอำนาจทางความคิดคือการครอบงำทางความเชื่อและอุดมการณ์ ใช้ข้ออ้างทางศีลธรรมคุณความดี ความเชื่อทางศาสนาและไสยศาสตร์มาสร้างความชอบธรรมของตนในจิตใจประชาชน นัยหนึ่ง อำนาจทางวัตถุเป็นการปกครองทางร่างกาย อำนาจทางความคิดเป็นการปกครองทางจิตใจ

การปกครองเผด็จการทั่วโลกที่อยู่ได้ต่อเนื่องยาวนานนั้น ต้องอาศัยการครอบงำทางความคิดจิตใจเป็นด้านหลัก ใช้กลไกการโฆษณาชวนเชื่อทั้งทางตรงและทางอ้อมในภาครัฐ การศึกษา ศาสนา และสื่อมวลชนกระแสหลัก เพื่อเคลือบคลุมให้ระบอบปกครองมีภาพของความดีงามสูงส่ง มีความถูกต้องชอบธรรม เพื่อสร้าง “ความยินยอมพร้อมใจ” ในหมู่ประชาชน จากนั้นจึงเสริมด้วยการใช้อำนาจทางวัตถุ คือกลไกอำนาจรัฐ ทหาร ตำรวจ ศาล คุกตะราง เจาะจงปราบปรามบุคคลเฉพาะรายที่ไม่สวามิภักดิ์

การล่มสลายของระบอบเผด็จการทั้งหลายจึงเริ่มจากการเสื่อมของอำนาจครอบงำทางความคิด เมื่อผู้ปกครองค่อย ๆ สูญเสียการควบคุมทางความคิด จิตใจและอุดมการณ์ในหมู่มวลชน พวกเขาก็จะสูญเสียสถานะความเป็นผู้ปกครองอันชอบธรรมในสายตาประชาชนไปด้วย ยิ่งผู้ปกครองสูญเสียพลังครอบงำทางความคิดในหมู่ประชาชนไปมากเท่าใด พวกเขาก็จำต้องหันมาใช้อาวุธทางอำนาจรัฐที่เพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น จากข่มขู่คุกคาม เป็นจับกุมคุมขัง เป็นการเข่นฆ่าอย่างเปิดเผย ซึ่งกลับยิ่งเป็นการเผยโฉมหน้าอัปลักษณ์ของตนออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ การปกครองใดที่ต้องใช้อำนาจและกำลังรุนแรงในการกดขี่ประชาชนเป็นด้านหลัก การปกครองนั้นก็ไม่อาจอยู่ได้นาน เมื่อฝ่ายประชาชนสามารถรวมตัวจัดตั้ง ต่อสู้ต่อต้าน ก็จะนำไปสู่การล่มสลายของเผด็จการในที่สุด

นับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พวกเผด็จการจารีตนิยมของไทยได้สูญเสียฐานะครอบงำทางความคิดจิตใจในหมู่ประชาชนไปอย่างรวดเร็ว และจำต้องหันมาใช้กลไกอำนาจรัฐที่เป็นความรุนแรงอย่างเปิดเผยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงการฆ่าหมู่ประชาชนเมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553 การต่อสู้ให้ได้ชัยชนะของประชาธิปไตยนั้นต้องเปลี่ยนดุลกำลังอำนาจรัฐจากปัจจุบันที่ฝ่ายเผด็จการเป็นหลัก ให้ฝ่ายประชาธิปไตยมาเป็นด้านหลัก แต่การเปลี่ยนดุลกำลังดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ต้องเปลี่ยนดุลกำลังอำนาจทางความคิดก่อน นั่นคือ ฝ่ายประชาธิปไตยต้องชนะศึกทางความคิด ให้ประชาชนส่วนข้างมากของสังคม “รู้ความจริง” อันเป็นเนื้อแท้ภายใต้หน้ากากนักบุญของพวกเผด็จการ กระทั่งในวันหนึ่ง เมื่อ “ความจริง” ทั้งหมดได้ไปสู่ประชาชนเป็นจำนวนส่วนข้างมากพอแล้ว ความชอบธรรมของระบอบปกครองเผด็จการก็จะสิ้นสุดลง

ฉะนั้น หนทางไปสู่ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยคือ การเคลื่อนไหวรณรงค์เผยแพร่ทางความคิด ให้ประชาชนจำนวนมากได้ “รู้ความจริง” ถึงเนื้อแท้ของการปกครองเผด็จการ ให้ผู้คนจำนวนมากขึ้น ๆ มีจุดยืนหันมาสู่ประชาธิปไตย ปฏิเสธการปกครองเผด็จการจารีตนิยม ทั้งยกระดับคุณภาพด้วยการรวมตัวจัดตั้งและเคลื่อนไหวตามสภาพการณ์ เมื่อปริมาณและคุณภาพของประชาชนที่ “รู้ความจริง” มีมากขึ้นถึงจุดที่เปลี่ยนดุลกำลังทางความคิดได้ การเปลี่ยนผ่านดุลกำลังในอำนาจรัฐก็จะเกิดขึ้นในรูปแบบ วิธีการ และเงื่อนไขเฉพาะในขณะนั้น

ยุทธศาสตร์การเอาชนะเผด็จการในขั้นตอนปัจจุบันจึงเป็นการ “เผยแพร่ความจริง ขยายปริมาณ สร้างคุณภาพ”

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท