คอป.เสนอนายกฯ 8 ข้อ ค้านนิรโทษกรรม-มุ่งเลือกตั้ง-ระวังการใช้ ม.112

 

เมื่อวันที่ 21 เม.ย.54 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้ส่งรายงานความคืบหน้าคอป.ครั้งที่ 1 เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล 8 ข้อ ประกอบด้วย
1. คอป. เห็นว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตระหนักว่า วิกกฤติความขัดแย้งรุนแรงเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 53 ที่ดูเสมือนหนึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ในความเป็นจริงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีรากเหง้าของปัญหาที่หยั่งลึกถึงระดับโครงสร้างทางสังคมและโครงสร้างทางการเมืองของประเทศ ด้วยเหตุนี้ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญในการร่วมกันแสวงหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหารากเหง้าอย่างจริงจัง
2. คอป.เรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญสูงสุดกับการทำให้การเลือกตั้งปราศจากความรุนแรงและเป็นกลางอย่างแท้จริง และขอให้พรรคการเมืองทุกพรรคประกาศจุดยืนที่ชัดเจนก่อนการเลือกตั้ง ถึงกระบวนการและแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการนำบ้านเมืองก้าวข้ามปัญหาความขัดแย้งภายหลังจากการเลือกตั้ง
3. คอป.เห็นว่าการเสนอให้มีการนิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์ความรุนแรงทั้งๆที่เกิดความเสียหายอย่างมากต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้เข้าร่วมชุมนุมและเจ้าหน้าที่ของรัฐ การดำเนินการกับผู้ชุมนุมโดยใช้กระบวนการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างเคร่งครัดโดยไม่คำนึงถึงความคัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่ปัญหาการชุมนุม ล้วนมิใช่แนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คอป.เห็นว่าแนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาคือ การที่สังคมรับทราบความจริงถึงสภาพปัญหาที่ทำให้ประเทศไทยก้าวมาถึงจุดนี้ และเรียนรู้ที่จะแสวงหาทางออกในปัญหาร่วมกัน
4. คอป. เห็นว่ารัฐบาลและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำกับควบคุมการใช้อำนาจรัฐทุกฝ่ายพึงใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วยความระมัดระวัง ไม่ตังข้อหาผู้ที่เกี่ยวข้องในการชุมนุมรุนแรงเกินสมควร ให้โอกาสในการต่อสู้คดีและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ต้องหา  ที่สำคัญที่สุด คือรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะหน่วยงานในสังกัดของฝ่ายบริหารสามารถทำหน้าที่อย่างอิสระและเป็นกลางโดยไม่ถูกแทรกแซง
5. คอป.เห็นว่าภายใต้สภาวะที่มีความละเอียดอ่อนเช่นนี้หน่วยงานทุกหน่วยในกระบวนการยุติธรรม ต้องมีความระมัดระวังที่จะแสดงให้เห็นถึงการวางตัวโดยไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอย่างเคร่งครัด
6. คอป.เห็นว่าในห่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองเช่นนี้ ทุกฝ่ายควรแสดงเจตนารมณ์ ร่วมกันที่จะยกย่องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นสถาบันที่อยู่เหนือจากความขัดแย้งทางการเมือง นอกจากนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องในการกำกับการใช้อำนาจรัฐ และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมควรระมัดระวังการนำเอากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาใช้ในห้วงเวลาที่มีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างสูงเช่นในขณะนี้ โดยควรมีการวางแนวทางการบังคับใช้ที่เหมาะสมเพื่อลดทอนเงื่อนไขที่แต่ละฝ่ายจะนำไปกล่าวอ้าง
7. คอป.เห็นว่าสภาวะความขัดแย้งที่เป็นอยู่ อยู่ทุกแขนงต้องมีความระมัดระวังและมีความรับผิดชอบในการเสนอข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณชน
8. คอป.เห็นว่ารัฐบาลควรให้การสนับสนุนและส่งเสริมการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง ทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สิน โดยให้ความช่วยเหลือที่ครอบคลุมทั้งการรักษาด้าน ร่างกาย จิตใจ การประกอบอาชีพ

นอกจากนี้

รายงานความคืบหน้าการทำงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาของ คอป.ยังมีให้กับสาระสำคัญ คือ การตรวจสอบกรณีการเสียชีวิตจากเหตุปะทะจากการชุมนุมทางการเมือง พบยอดผู้เสียชีวิตจำนวน 92 ราย เสียชีวิตในพื้นที่กรุงเทพฯ 89 ราย อุบลราชธานี 2 ราย และขอนแก่น 1 ราย มียอดผู้บาดเจ็บ 1,885 ราย แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 542 ราย ประชาชน 1,343 รายและมีการดำเนินคดีต่อกลุ่มผู้ชุมนุมโดยแบ่งตามประเภทความผิดออกเป็น 4 กลุ่มคือ การก่อการร้าย 45 คดี ขู่บังคับให้รัฐกระทำการใด ๆ 21 คดี และการทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ 86 คดี การกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ 20 คดี ทั้งนี้คณะทำงานของคอป.ได้พยายามวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาพบว่า ต้นตอที่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งมาจากประเด็นกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ประวัติศาสตร์ การเมือง สื่อมวลชน สังคม และวัฒนธรรม

 

“คอป.ไม่มีอำนาจตามกฎหมายจึงทำให้มีข้อจำกัดทั้งด้านสถานภาพ ไม่มีอำนาจตามกฎหมายจึงไม่สามารถให้ความคุ้มครองผู้ที่เข้าให้ข้อมูลได้ จากปัญหาที่เกิดขึ้นคอป.จึงต้องการให้ทุกฝ่ายแก้ปัญหาที่รากเหง้าและอยู่บนพื้นฐานของการค้นหาความจริงซึ่งเป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้ง ลดทัศนคติการเอาชนะ และการมองปัญหาอยู่ในมุมตนเองฝ่ายเดียว พร้อมกันนี้อยากให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่ากลุ่มหรือส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าวิกฤติความขัดแย้งช่วงเม.ย.-พ.ค. 2553 แม้จะดูเหมือนเป็นความขัดแย้งของกลุ่มบุคคลแต่อันที่จริงปัญหาได้หยั่งลึกถึงระดับโครงสร้างทางสังคมและการเมืองของประเทศ ประกอบกับความอ่อนแอของกลไก และกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ความชอบธรรมในกลไกของรัฐ หลังการเปลี่ยนประเทศด้วยการรัฐประหารเมืองปี 2549 ซึ่งทำให้ปัญหาซับซ้อนมากขึ้น ” นายคณิตกล่าว

 

นายคณิต กล่าวว่า นอกจากนี้คอป.เห็นว่าการนิรโทษกรรมไม่ใช่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนแต่แนวทางที่ดีที่สุดคือการทำให้สังคมรับทราบความ  พร้อมกันนี้ยังอยากให้รัฐบาลและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำกับการใช้อำนาจของรัฐใช้กฎหมายและกระบวนการยุติรรมทางอาญาอย่างยุติธรรม ไม่ตั้งข้อหากับผู้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมเกินสมควร ให้โอกาสต่อสู้คดีและรัฐบาลและผู้บังคับใช้กฎหมายต้องให้ความเชื่อมั่นว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ในสังกัดฝ่ายบริหารจะทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระโดยไม่ถูกแทรกแซง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และขอให้ทุกฝ่ายแสดงเจตนารมณ์ให้สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือความขัดแย้ง และให้ระมัดระวังการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาใช้ในห้วงเวลาแห่งความขัดแย้ง เช่นปัจจุบันนี้ 

 
ที่มา: เว็บไซต์แนวหน้า , เว็บไซต์เนชั่น, เว็บไซต์
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท