การเมืองไม่ใช่เรื่องการละ “ตัวกู”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เวลาที่พระสงฆ์แสดงทัศนะทางการเมืองโดยใช้แนวคิดเรื่อง “ตัวกู-ของกู” มาอธิบายความขัดแย้งทางการเมือง เช่นว่า แต่ละฝ่ายต่างยึดตัวกู และพวกของกูเป็นตัวตั้ง จึงนำไปสู่ความเกลียดชัง ไม่เปิดใจรับฟังเหตุผลของกันและกัน กระทั่งความรุนแรงนองเลือดก็อาจอธิบายได้ว่า เพราะเกิดจากความยึดมั่นใน “ตัวกู-ของกู” เป็นศูนย์กลางทั้งสิ้น
 
คำอธิบายดังกล่าวนี้ อาจพิจารณาได้ว่ามีทั้งส่วนที่ถูกและผิด ส่วนที่ถูกถือทุกคนล้วนแต่ยึดตัวกู-พวกของกู เพราะนี่เป็นธรรมดาของปุถุชน พระอรหันต์เท่านั้นที่ไม่ยึดมั่นในตัวกู-ของกูได้จริง พระสงฆ์เองก็มีตัวกู-ของกูเช่นกัน เช่น ตัวกูผู้ทรงศีลธรรม ทรงความรู้ ทรงภูมิปัญญาทางพุทธศาสนา เมื่อตัวกูในความหมายดังกล่าวถูกท้าทายด้วยการตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้ง ก็อาจไม่พอใจหรือกระทั่งโกรธได้เช่นกัน
 
ส่วนที่ผิดคือ ในทางการเมืองนั้นการที่แต่ละคนแต่ละฝ่ายยังยึดมั่นตัวกู-ของกู ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาสูญเสียความสามารถที่จะยึดหลักการ อุดมการณ์ที่ถูกต้อง หรือสูญเสียความสามารถที่จะเปิดใจรับฟังเหตุผลของกันและกันเสมอไป เพราะการเมืองในโลกของความเป็นจริงนั้นเป็นเรื่องของการแบ่งปัน จัดสรร ต่อรองอำนาจ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ระหว่าง “ตัวกู” ทุกตัวกูที่เป็นสมาชิกแห่งสังคม-การเมือง
 
พูดอีกอย่างคือ การเมืองเป็นเรื่องของการแสวงหาระบบที่ยุติธรรมสำหรับ “ทุกตัวกู” ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ฉะนั้น ฐานคิดทางการเมืองคือการพิจารณาสถานะของ “ตัวกู” ซึ่งเริ่มจากการยอมรับหลักการที่ว่า แต่ละตัวกูต่างมีความเท่าเทียมในความเป็นคน และจากความเท่าเทียมนี้แต่ละตัวกูควรจะได้รับสิทธิ อำนาจและผลประโยชน์ทั้งที่เป็นรูปธรรมนามธรรมอย่างไรบ้างจึงจะถือว่าเป็นธรรมที่สุด
 
ดังนั้น ฐานคิดในการต่อสู้ทางการเมืองจึงเป็นเรื่องของการต่อรองไปจนถึงการต่อสู้แข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและผลประโยชน์ของตัวกูต่างๆ และ/หรือฝ่ายต่างๆ ซึ่งต่างจากฐานคิดทางพุทธศาสนาที่เริ่มจากการยอมรับความจริงตามกฎธรรมชาติว่าไม่มีตัวกู-ของกู ฉะนั้น จึงไม่ควรยึดมั่นในตัวกูของกูเพื่อลดความทุกข์หรือเพื่อมีอิสรภาพทางจิตวิญญาณ
 
แน่นอนว่า การเมืองที่อยู่บนฐานคิดของตัวกูของกู ย่อมหลีกเลี่ยงความเห็นแก่ตัว ความโกรธ ความเกลียด ความขัดแย้งไปไม่ได้ แต่ลำพังความโกรธ ความเกลียด ความขัดแย้งที่เกิดจากความยึดมั่นในตัวกู-ของกูไม่เคยนำไปสู่ความรุนแรงนองเลือด หรือการเข่นฆ่าประชาชน เพราะถึงไม่มีการแบ่งสีแบ่งฝ่ายทางการเมือง วิถีชีวิตมนุษย์โดยทั่วไป ก็มีความโกรธ ความเกลียด ความขัดแย้งในปัญหาต่างๆ เป็นปกติอยู่แล้ว (รวมทั้งสังคมสงฆ์ด้วย)   
 
ที่ความขัดแย้งทางการเมืองนำไปสู่ความรุนแรงนองเลือดและการเข่นฆ่าประชาชน เพราะมันมีปัญหาที่มากไปกว่า หรือลึกซึ้งไปกว่าความโกรธความเกลียด หรือการยึดมั่นในตัวกู-ของกู นั่นคือปัญหาของระบบที่ไม่เป็นธรรม ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ ความไม่สมดุลของอำนาจทางการเมืองที่เกิดจากกองทัพ อำมาตย์หรืออำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซงอำนาจอธิปไตยของประชาชน จนเสียทั้งระบบการเลือกตั้ง กระบวนการยุติธรรม การละเมิดสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค เป็นต้น
 
ฉะนั้น ประเด็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่แท้จริงจึงเป็นเรื่องของความขัดแย้งทางอุดมการณ์ ระหว่างอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ยืนยันเสรีภาพและความเสมอภาค กับอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่อยู่ภายใต้การกำกับชี้นำของอำนาจนอกระบบ
 
ความท้าทายจึงอยู่ที่ว่า เราจะสามารถระดมภูมิปัญญาของสังคมทั้งหมดที่มีอยู่เข้ามาสู่กรบวนการถกเถียงด้วยเหตุผลจนถึงที่สุดได้อย่างไร เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันให้ได้ว่าอุดมการณ์แบบไหนที่ที่ดีกว่าสำหรับสังคมเรา และหรือเราจะมีวิถีทางบรรลุถึงอุดมการณ์ที่ดีกว่านั้นด้วยสันติวิธีได้อย่างไร
 
ปัจจุบันนี้ก็มีการถกเถียงที่มีนัยเชิงอุดมการณ์อยู่บ้างแต่ยังอยู่ในวงจำกัด และทำได้อย่างมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก เช่นที่ถกเถียงกันเรื่องปัญหาการอ้างสถาบันทำรัฐประหาร การอ้างสถาบันทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมือง การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพ เป็นต้น
 
นอกเหนือจากนี้ก็ยังมีปัญหาหลักอื่นๆ เช่น ปัญหาการทวงความยุติธรรมให้กับประชาชนที่ถูกฆ่า บาดเจ็บ และถูกจับกุม ปัญหาระบบความยุติธรรมสองมาตรฐาน (หรือไม่มีมาตรฐาน?) ปัญหาเรื่องรัฐสวัสดิการ การกระจายอำนาจ ปฏิรูปที่ดิน ฯลฯ
 
จะเห็นว่าปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องแก้ทั้งในเชิงวัฒนธรรมความคิดความเชื่อหรืออุดมการณ์ การแก้เชิงระบบ ซึ่งจำเป็นต้องสร้างเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กว้างขวาง กระจายไปทั่วทั้งสังคม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อกันอีกต่อไป
 
แน่นอนว่า การถกเถียงเรื่องอุดมการณ์หรือระบบที่ยุติธรรมเพื่ออนาคตที่ดีกว่า อาจต้องปล่อยวางเรื่องตัวกู-ของกูลงบ้าง เพื่อให้การใช้เหตุผลเที่ยงตรง และคำเตือนสติเรื่องปล่อยวางตัวกู-ของกูเพื่อการถกเถียงดังกล่าวก็ถือเป็นคำเตือนที่มีประโยชน์
 
แต่จะมีประโยชน์ยิ่งกว่า หากพระสงฆ์หรือชาวพุทธสามารถใช้ภูมิปัญญาของพุทธศาสนาเข้ามาร่วมถกเถียงในประเด็นปัญหาหลักๆ เช่น ปัญหาเรื่องอุดมการณ์ที่เป็น-ไม่เป็นประชาธิปไตย ปัญหาเรื่องความเป็นธรรม การไม่เอารัฐประหาร ปฏิเสธการแทรกแซงของอำนาจนอกระบบ การใช้สถาบันเป็นเครื่องมือทางการเมืองของกองทัพและพรรคการเมือง เป็นต้น เพื่อเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยและความเป็นธรรมด้วยสันติวิธี
 
ในภาวะปัจจุบัน หากพระสงฆ์จะพูดเรื่องการเมืองย่อมสมควรพูด แต่เมื่อพูดแล้วย่อมหลีกเลี่ยงการถูกตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ ยิ่งเมื่อพระสงฆ์พูดในท่วงทำนองวิพากษ์วิจารณ์ตัดสิน “ตัวกู-ของกู” ของฝ่ายต่างๆ โดยไม่แตะหรือไม่กระตุ้นให้เกิดการคิดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน “ประเด็นปัญหา” เชิงอุดมการณ์และปัญหาเชิงระบบ คำวิจารณ์ตัดสินเช่นนั้นนอกจากจะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนความคิดของฝ่ายต่างๆ แล้ว
 
ยังอาจถูกมองได้ว่าเป็นคำวิพากษ์วิจารณ์ตัดสินที่ไม่ตรง “ประเด็นสำคัญ” ของความขัดแย้ง และอาจเป็นเครื่องบั่นทอนความรู้สึกของประชาชนที่เสียสละต่อสู้เพื่อเปลี่ยนผ่านสังคมให้เป็นประชาธิปไตย!  
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท