ยก‘ละงู’สู่อุทยานธรณีโลก ก่อนระเบิดฟอสซิลถมทะเลปากบารา

 

บรื้น บรื้นๆ... เสียงเครื่องยนต์รถปรับหน้าดินรีบเร่งเครื่องก่อสร้างถนนสายละงู – ทุ่งหว้า เพื่อให้เสร็จทันตามกำหนด เนินดินและภูเขาข้างทางถูกปรับจนเรียบ เพื่อให้มีพื้นที่กว้างพอในการขยายเป็นถนนสี่เลน เศษดินและหินที่เหลือถูกตักนำไปถมในพื้นที่ลุ่ม


เขาจูหนุงนุ้ย ตั้งตระหง่านอยู่ริมถนนสายละงู – ทุ่งหว้า ในตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล ถูกระบุ ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราและถมทะเล ระยะที่ 1 บริเวณคลองปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูลว่า เป็น 1 ในภูเขา 10 ลูกในจังหวัดสตูลที่จะเป็นแหล่งหินถมทะเลสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา โดยที่มีการค้นพบฟอสซิลสัตว์โบราณทะเลอยู่ด้วย

 

 

เศษหินแต่ละก้อน อาจแฝงไปด้วยฟอสซิลสัตว์โบราณอายุหลายร้อยล้านปี !

 

ยังไม่นับรวมเศษหินจากที่ต่างๆ ทั่วจังหวัดสตูล ที่อาจเต็มไปด้วยฟอสซิล ดังจะเห็นได้จากหินบางก้อนที่ถูกนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา โรงเรียนกำแพงวิทยา อำเภอละงู จังหวัดสตูล

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้จัดแสดงตัวอย่างหินในยุคต่างๆ อายุตั้งแต่ 500 กว่าล้านปีที่ผ่านมา ที่พบในจังหวัดสตูล ซึ่งแต่ละก้อนพบฟอสซิล หรือ ซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์โบราณ

นายธรรมรัตน์ นุตะธีระ หรือครูนก อาจารย์ประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา โรงเรียนกำแพงวิทยา อำเภอละงู จังหวัดสตูล บอกว่า ในจังหวัดสตูลพบฟอสซิลอยู่หลายแห่ง เขาทุกลูกในจังหวัดสตูลน่าจะมีฟอสซิลอยู่ทั้งนั้น

ฟอสซิลที่พบในจังหวัดสตูล แทรกอยู่ในชั้นหินอายุเก่าแก่ของมหายุคพาลิโอโซอิก หรือในช่วง 590 – 245 ล้านปีที่แล้ว (ดูตารางธรณีกาล) ซึ่งมหายุคนี้มีการซอยย่อยออกเป็นหินยุคต่างๆ รวม 6 ยุค หินแต่ละยุคพบฟอสซิลชนิดต่างๆ แตกต่างกันไป

ครูนก ได้ยกตัวอย่างฟอสซิลที่พบ เช่น “ฟอสซิลไทรโลไบท์” ซึ่งเป็นต้นตระกูลแมงดาทะเลโบราณ โดยพบในหินตะกอนทรายสีแดงบนเกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล คือ “กลุ่มหินตะรุเตา” ซึ่งอยู่ในยุคแคมเบรียน(543 – 510 ล้าน) และเป็นหินตะกอนที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ที่หลายคนเคยได้ยินมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้น ป.4

ฟอสซิลแอมโมไนต์ หรือ หอยงวงช้าง ฟอสซิลนอติลอยด์ หรือ ปลาหมึกทะเลโบราณ ที่พบขนเกาะเขาใหญ่ ใกล้กับบริเวณที่จะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นต้น

แต่ที่สร้างความฮือฮาให้กับจังหวัดสตูลในทางธรณีวิทยามากที่สุด คือการค้นพบฟอสซิลช้างโบราณในถ้ำวังกล้วย บ้านคีรีวง หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นการค้นพบโดยบังเอิญของชาวประมง เมื่อราวเดือนเมษายน 2551

ต่อมานักธรณีวิทยาของพิพิธภัณฑ์วิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เดินทางมาตรวจสอบ พบว่า เป็นฟอสซิลกระดูกขากรรไกรพร้อมฟันกราม ซี่ที่ 2 และ 3 ด้านล่างขวาของช้างดึกดำบรรพ์สกุลสเตโกดอน อายุประมาณ 1.8 – 0.01 ล้านปีมาแล้ว อยู่ในยุคไพลสโตซีน

การค้นพบฟอสซิลช้างสเตโกดอนครั้งนี้ มีส่วนทำให้กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีแนวคิดที่จะกำหนดให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา พื้นที่อำเภอละงูและอำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูลเป็นอุทยานธรณีแห่งชาตินำร่องเป็นแห่งแรกของประเทศไทย

โดยอาจจะเรียกพื้นที่รวมทั้งหมดว่า อุทยานธรณีแห่งชาติ ตะรุเตา – เภตรา – ละงู – ทุ่งหว้า

ในเอกสารประกอบการประชุม เรื่องการจัดตั้งอุทยานธรณี ซึ่งกรมอุทยาธรณี จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2553 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพมหานคร ระบุว่า ในพื้นที่นำร่อง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาและพื้นที่ใกล้เคียง พบแหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยากว่า 29 แหล่ง หลายแหล่งที่มีคุณค่าทางวิชาการในระดับโลก

การประชุมครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่กรมทรัพยากรธรณี นำเสนอข้อมูลรายละเอียดแหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยาให้ทุกภาคส่วนเข้าใจถึงความสำคัญ และได้รับทราบถึงประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ เมื่อมีการจัดตั้งอุทยานธรณีในพื้นที่สำเร็จ

โดยกรมทรัพยากรธรณี มีเป้าหมายในการจัดตั้งอุทยานธรณีครอบคลุมประเทศไทยในปี 2559 และการนำเสนออุทยานธรณีในประเทศไทยที่มีศักยภาพขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีของ UNESCO แห่งแรกของประเทศไทยภายใน 5 ปี

ในกระบวนการจัดตั้งจัดอุทยานธรณีแห่งชาตินั้น กรมทรัพยากรธรณี จะต้องเสนอความเป็นไปได้ในการจัดตั้งอุทยานธรณีในพื้นที่นำร่อง ต่อที่ประชุม“คณะกรรมการจัดตั้งอุทยานธรณี” เพื่อมีมติเห็นชอบให้เป็นอุทยานธรณีในระดับจังหวัดก่อน

จากนั้นจะมีการติดตามพัฒนาการของอุทยานธรณี เพื่อเพิ่มระดับของอุทยานธรณี เป็นอุทยานธรณีแห่งชาติ โดยให้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติประกาศเป็น “แหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยาภายใต้แผนแม่บทการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ” ของประเทศ

แต่ก่อนที่จะไปสู่จุดนั้น กรมทรัพยากรธรณี ได้นำเสนอรูปแบบการดำเนินงานออกเป็น 5 ขั้นตอน เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดตั้งอุทยานธรณี และเพื่อให้การจัดตั้งอุทยานธรณีในประเทศไทย เป็นไปอย่างรวดเร็ว ถูกต้องและยั่งยืน

5 ขั้นตอนดังกล่าว ประกอบด้วย 1.เผยแพร่ข้อมูลแก่สาธารณะ 2.จัดตั้งคณะกรรมการและจัดทำหลักเกณฑ์เพื่อพิจารณาการจัดตั้งอุทยานธรณี 3.นำเสนอเพื่อให้มีการจัดตั้งอุทยานธรณี 4.ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาไปสู่อุทยานธรณี และ 5.การติดตามพัฒนาการของอุทยานธรณี และพัฒนาระบบข้อมูลแหล่งธรณีวิทยา

สำหรับกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ มีขึ้นหลายครั้ง เริ่มจากเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2553 โดยนางพรทิพย์ ปั่นเจริญ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เยาวชนและประชาชนเป็นครั้งแรก ที่โรงแรมพินนาเคิลวังใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดสตูล มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน

ล่าสุดวันที่ 8 มีนาคม 2554 นางพรทิพย์ ได้ลงพื้นที่จังหวัดสตูลอีกครั้ง เพื่อหารือกับนายวินัย คุรุวรรณพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ที่ศาลากลางจังหวัดสตูล ในเรื่องการจัดตั้งอุทยานธรณีระดับจังหวัด ก้าวสู่ระดับประเทศและระดับโลก โดยจะให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการ เพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์ทางธรณีวิทยา และเป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับชุมชน

ในการหารือครั้งนี้ ต่างมีความเห็นร่วมกันว่า จังหวัดสตูลมีสภาพทางธรณีวิทยาที่ครบถ้วน ทั้งบนบกและทะเล โดยในเขตอุทยานทางทะเลของจังหวัดสตูลพบว่า กลุ่มหินตะรุเตา ซึ่งเป็นชั้นหินที่แก่สุดในประเทศไทยที่มีอายุ 500 ล้านปี เกาะหินซ้อนและเกาะหินงาม ควรยกระดับให้เป็นอุทยานธรณี แต่ทางจังหวัดต้องเป็นผู้พิจารณาด้วยส่วนหนึ่ง

นายวินัย บอกว่า ทางจังหวัดต้องจัดตั้งอุทยานธรณีระดับจังหวัดก่อน ยกระดับสู่ระดับประเทศ จนถึงระดับโลก ควรส่งนักวิชาการลงพื้นที่สำรวจและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทางจังหวัดจะตั้งคณะกรรมการระดมความคิดเห็นก่อน โดยมีพื้นที่เป้าหมายพร้อมสร้างองค์ความรู้และสร้างบทบาทให้ชาวบ้านในพื้นที่

แต่จนวันนี้ ทางจังหวัดก็ยังไม่ได้ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาแต่อย่างใด ซึ่งนายสุกิจ รัตนวิบูลย์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล บอกว่า การจัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าว ต้องรอให้กรมทรัพยากรธรณีประสานมาก่อน ซึ่งทางจังหวัดสตูลเองก็พร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่

ความพยายามของกรมทรัพยากรธรณีในเรื่องนี้ เหมือนต้องการย้ำถึงความสำคัญของพื้นที่จังหวัดสตูลในทางธรณีวิทยา อย่างที่ครูนก บอกว่า จังหวัดสตูล โดยเฉพาะอำเภอละงูมีความสำคัญทางธรณีวิทยามาก โดยฟอสซิลอยู่โดยทั่วไป

“เป็นแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีหินฟอสซิลในมหายุคพาลิโอโซอิก ครบทั้ง 6 ยุค และมีความหลากหลายมากกว่า Geo Park (อุทยานธรณี) ของเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซียเสียอีก”

บรื้นๆ ถนนสายละงู –ทุ่งหว้า ใกล้จะเสร็จแล้ว เขาจูหนุงนุ้ย ก็ยังคงตั้งตระหง่านอยู่ข้างถนนสายนี้ เขาลูกนี้คือเป้าหมายหนึ่งที่จะถูกระเบิดเอาไปถมทะเลสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา

 

 

 

ตารางธรณีกาล

เป็นตารางบ่งบอกยุคทางธรณีวิทยา มีดังนี้

มหายุค (Era)
ยุค (Period)
สมัย (Epoch)
เวลา (ล้านปีก่อน)
พรีแคมเบรียน (precambrian)
 
4,600 - 543
พาลีโอโซอิก (paleozoic)
แคมเบรียน (cambrian)
543 - 510
ออร์โดวิเชียน (ordovician)
510 - 439
ซิลูเรียน (silurian)
439 - 409
ดีโวเนียน (devonian)
409 - 363
คาร์บอนิเฟอรัส (carboniferous)
363 - 290
เพอร์เมียน (permian)
290 - 245
มีโซโซอิก (mesozoic)
ไทรแอสซิก (triassic)
245 - 206
จูแรสซิก (jurassic)
206 - 144
ครีเทเชียส (cretaceous)
144 - 65
ซีโนโซอิก (cenozoic)
เทอเทียรี (tertiary)
เพเลโอซีน (Paleocene)
65 - 57
เอโอซีน (Eocene)
57 - 35
โอลิโกซีน (Oligocene)
35 - 23
ไมโอซีน (Miocene)
23 - 5
พลิโอซีน (Pliocene)
5 - 1.8
ควอเทอนารี่ (quaternary)
ไพลสโตซีน (Pleistocene)
1.8 - 0.01
ปัจจุบัน
0.01 - 0

ที่มา: http://th.wikipedia.org/wiki/ธรณีกาล

 

การจัดตั้งอุทยานธรณีในประเทศไทย

ในเอกสารประกอบการประชุม “จัดตั้งอุทยานธรณี” เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2553 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร ของกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ได้อธิบายถึงโครงการจัดตั้งอุทยานธรณีในประเทศไทย ว่า ประเทศไทยมีแหล่งธรณีวิทยาที่มีคุณค่าทางวิชาการหลายแหล่ง สมควรอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางธรณีวิทยา

แหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยา

แหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยา (Geoconservation site) คือแหล่งธรรมชาติที่มีคุณค่าทางวิชาการและมาตรฐานอ้างอิงทางธรณีวิทยาในระดับต่างๆ มีอยู่ 7 ประเภทได้แก่

  • แหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยา
  • แหล่งแร่แบบฉบับ
  • แหล่งพุน้ำร้อน
  • แหล่งซากดึกดำบรรพ์
  • แหล่งธรณีโครงสร้าง
  • แหล่งหินแบบฉบับแหล่งธรณีสัณฐาน
  • แหล่งลำดับชั้นหินแบบฉบับ

แหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยาเหล่านี้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น ภูเขา ผา เสาดิน เสาหิน พุน้ำร้อน ถ้ำ ชั้นหินที่มัลักษณะพิเศษแปลกตา น้ำตก ป่าหิน และลานหิน เป็นแหล่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น ภูหินร่องกล้า หรือเป็นแหล่งธรณีระดับจังหวัด เช่น แหล่งไดโนเสาร์

แหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยาหลายแห่งมีคุณค่าทางวิชาการสูง เนื่องจากเป็นแหล่งที่เก็บรักษาหลักฐานประวัติทางธรณีที่สำคัญบนโลก

ปี 2549 กรมทรัพยากรธรณี รวบรวมแหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยาที่มีลักษณะโดดเด่นดังกล่าวไว้เบื้องต้น จำนวน 629 แหล่ง และจากการสืบค้นข้อมูลทางธรณีวิทยาในปัจจุบัน พบว่าแหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยาที่มีลักษณะโดดเด่นได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 800 แหล่ง ครอบคลุมทุกภาคและทุกลักษณะทางธรณีวิทยา

อุทยานธรณี (Geopark)

แม้ว่าแหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยาหลายแหล่ง มีการพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยว แต่แทบทุกแหล่งของประเทศไทย ยังไม่มีแผนในการอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยาในพื้นที่

“อุทยานธรณี” หรือ“Geopark” จึงได้จัดตั้งขึ้นมาให้เป็น“พื้นที่วิชาการ” ตอบสนองการอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยา ผสานกับการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนท้องถิ่น

“อุทยานธรณี” มีหลายระดับ ขึ้นอยู่กับความสำคัญของแหล่งและการบริหารจัดการ แบ่งออกเป็น อุทยานธรณีระดับภูมิภาคหรือระดับจังหวัด (Provincial-Geopark)

อุทยานธรณีระดับประเทศ(National Geopark) และเครือข่ายอุทยานธรณีของโลก (Global Geopark Network) ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุด

การยกระดับอุทยานธรณี จะต้องมีการพัฒนาและบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านหลักเกณฑ์การประเมินและความเห็นชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละระดับ

เครือข่ายอุทยานธรณีของโลก

เครือข่ายอุทยานธรณีของโลก (Global Geopark Network : GNN) ดำเนินการโดย UNESCO เป็นเครือข่ายสนับสนุนให้เกิดการอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยาที่สำคัญของโลก รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมต่อชุมชนในระดับประเทศ

เป็นเครือข่ายประชาสัมพันธ์แหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยาที่มีความโดดเด่น สวยงามหรือมีความสำคัญทางธรณีประวัติของแต่ละประเทศ ให้กลายเป็น“แหล่งท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ทางธรรมชาติระดับโลก โดยการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น” ที่มีลักษณะเครือข่ายเชื่อมโยงทั่วโลก และสนับสนุนกิจกรรมท่องที่ยวธรรมชาติในระดับโลกไปพร้อมกัน

UNESCO ตั้งเป้าว่าจะต้องมีอุทยานธรณีทั่วโลก 500 แห่ง ปัจจุบันมี 77 แห่ง โดยอยู่ในประเทศจีน 24 แห่ง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2 แห่ง คือที่เกาะลังกาวี รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลซีย และเวียดนาม

การก้าวเดินไปสู่อุทยานธรณีของโลก

กรมทรัพยากรธรณี ได้เริ่มสำรวจ ศึกษา วิเคราะห์ และประเมินแหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยา เพื่อกำหนดเป็นอุทยานธรณีในพื้นที่นำร่องอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล และพื้นที่ใกล้เคียง โดยอิงหลักเกณฑ์ของ UNESCO เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาไปสู่การจัดตั้งธรณีวิทยาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และขอขึ้นทะเบียนอุทยานธรณีที่มีศักยภาพเป็นอุทยานธรณีของโลกเป็นแห่งแรกของประเทศไทยต่อไป

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของกรมทรัพยากรธรณี จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมจัดตั้งอุทยานธรณีของแต่ละท้องที่ พร้อมกันหลายแห่งในแต่ละปี

การประชุม “การจัดตั้งอุทยานธรณี” จึงเป็น“จุดเริ่มต้น”ที่กรมทรัพยากรธรณี จะได้นำเสนอข้อมูลรายละเอียดแหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยา ให้ทุกภาคส่วนเข้าใจถึงความสำคัญ และทราบถึงประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับเมื่อมีการจัดตั้งอุทยานธรณีในพื้นที่สำเร็จ โดยหวังให้เกิดความร่วมมือเข้าร่วมเป็น“เครือข่ายร่วมจัดตั้งอุทยานธรณี”

เป้าหมายสุดท้าย

  1. จัดตั้งอุทยานธรณีครอบคลุมทั้งประเทศให้สำเร็จภายในปี 2559
  2. การนำเสนออุทยานธรณีในประเทศไทยที่มีศักยภาพเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณี ของ UNESCO เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ภายใน 5 ปี

 

พื้นที่นำร่อง : อุทยานฯตะรุเตาและใกล้เคียง

กรมทรัพยากรธรณี ได้สำรวจแหล่งธรณีวิทยาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ณ หมู่เกาะตะรุเตา หมู่เกาะอาดัง-ราวี และเขตอำเภอละงู-ทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ในปีงบประมาณ 2553 เพื่อจัดทำข้อมูลพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยา และศึกษาแนวทางการพัฒนาไปสู่การจัดตั้งอุทยานธรณี

แหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยา

ในพื้นที่นำร่องอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาและพื้นที่ใกล้เคียง พบแหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยากว่า 29 แหล่ง

หลายแหล่งที่มีคุณค่าทางวิชาการในระดับโลก โดยแสดงถึงหลักฐานอ้างอิงทางธรณีวิทยา ได้แก่ ลำดับชั้นหินแบบฉบับของหินที่แก่ที่สุดในประเทศไทย คือประมาณ 500 ล้านปีที่ผ่านมา ที่ยังคงรักษาชั้นซากดึกดำบรรพ์(ฟอสซิล)ไทรโลไบต์สกุลใหม่ของโลก และแบรคิโอพอดไว้เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังพบแหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยา ประเภทแหล่งธรณีสัณฐานที่สวยงาม แปลกตา และหลากหลาย เหมาะแก่ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และซากดึกดำบรรพ์ที่มีคุณค่าทางวิชาการอีกหลายบริเวณ

พื้นที่นำร่องนี้ยังสามารถจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา และมีแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการเป็นอุทยานธรณีของ UNESCO ในพื้นที่สำรวจอีกด้วย

การบริหารจัดการความรู้ทางธรณีวิทยาโดยท้องถิ่น

พื้นที่นำร่อง มีการบริหารจัดการความรู้และเผยแพร่ ข้อมูล แหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยาอย่างเป็นรูปธรรมโดยชุมชนในท้องที่ ได้แก่ โรงเรียนกำแพงวิทยา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ที่ได้จัดทำพิพิธพันฑ์ธรรมชาติวิทยา และองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล กำลังจัดทำพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์สเตโกดอน และซากดึกดำบรรพ์อื่นๆ

การพัฒนาไปสู่อุทยานธรณี

กรมทรัพยากรธรณี ได้เสนอความเป็นไปได้ในการจัดตั้งอุทยานธรณีในพื้นที่นำร่อง โดยจะผลักดันเข้าสู่ที่ประชุม“คณะกรรมการจัดตั้งอุทยานธรณี” เพื่อมีมติเห็นชอบให้เป็นอุทยานธรณีในระดับจังหวัด ภายในปี 2554

หลังจากนั้นจะมีกระบวนการติดตามพัฒนาการของอุทยานธรณี เพื่อเพิ่มระดับของอุทยานธรณี พร้อมผลักดันให้อุทยานธรณีที่จัดตั้งขึ้นแล้ว เข้ามติคณะรัฐมนตรีประกาศเป็น “แหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยาภายใต้แผนแม่บทการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ” ของประเทศ

กระบวนการ “การจัดตั้งอุทยานธรณี”

กรมทรัพยากรธรณี ได้ริเริ่มดำเนินการให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดตั้งอุทยานธรณี เพื่อให้การจัดตั้งอุทยานธรณีในประเทศไทยในอนาคตเป็นไปอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และยั่งยืน โดยนำเสนอรูปแบบการดำเนินงาน 5 ขั้นตอน ดังนี้

  1. เผยแพร่ข้อมูลแก่สาธารณะ เกี่ยวกับอุทยานธรณี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ในหัวข้อ ความสำคัญและประโยชน์ของอุทยานธรณี หลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายอุทยานธรณีของโลก ศักยภาพ และคุณค่าของแหล่งธรณีวิทยาในประเทศไทย ผลการดำเนินงานด้านอนุรักษ์ธรณีวิทยา และแนวทางการดำเนินงานเพื่อเข้าเป็นเครือข่ายอุทยานธรณีโลก
  2. จัดตั้งคณะกรรมการและจัดทำหลักเกณฑ์เพื่อพิจารณาการจัดตั้งอุทยานธรณี โดยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้มติกำหนดเป็นแหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยาของอุทยานธรณีระดับจังหวัดและระดับประเทศ รวมถึงการเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นเครือข่ายอุทยานธรณีโลก
  3. นำเสนอเพื่อให้มีการจัดตั้งอุทยานธรณี หากพื้นที่ใดได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานธรณีระดับจังหวัด จะได้รับงบประมาณสำหรับการพัฒนาและการสนับสนุนข้อมูลธรณีวิทยา และแนวทางการบริหารจัดการเพิ่มเติมจากกรมทรัพยากรธรณี และมีโอกาสในการพัฒนาไปสู่อุทยานธรณีของ UNESCO ต่อไป
  4. ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาไปสู่อุทยานธรณี กรมทรัพยากรธรณีสนับสนุนชุมชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาไปสู่อุทยานธรณีในลักษณะเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำและสนับสนุนข้อมูลวิชาการ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงแหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยา และการบริหารจัดการในพื้นที่
  5. การติดตามพัฒนาการของอุทยานธรณี และพัฒนาระบบข้อมูลแหล่งธรณีวิทยา โดยสำรวจตรวจสอบและประเมินแหล่งธรณีวิทยาเพิ่มเติมทั่วประเทศ ตามแผนงานระยะสั้นและระยะยาว ในช่วงปีงบประมาณ 2553 – 2557 และปี 2558-2567

ข้อมูลการสำรวจและประเมินที่ได้รับ จะจัดทำข้อมูลฐานแหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยา จัดลำดับความสำคัญ สำหรับการเตรียมข้อเสนอโครงการเพื่อนำเสนอต่อ UNESCO เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณี

 

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท