"พีมูฟ" จ่อบุกทำเนียบ ทวงสัญญาแก้ปัญหาคนจน

“พีมูฟ” นัดรวมตัวหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า มุ่งหน้าชุมนุมทำเนียบฯ จี้ครม. สะสางปัญหาเขื่อนปากมูล ขณะที่ตัวแทนในอีก 11 จังหวัด เตรียมยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ หวังส่งต่อแรงกดดันไปยังรัฐบาล

วันนี้ (26 เม.ย.54) เวลา 8.00 น.ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.), เครือข่ายสลัม 4 ภาค, สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล (สคจ.) , และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) จำนวนหลายร้อยคนนัดรวมตัวที่ลานหน้าพระบรมรูปทรงม้า ก่อนเคลื่อนขบวนต่อไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อฟังมติ ค.ร.ม.ในส่วนการเเก้ไขปัญหากรณีเขื่อนปากมูล

สืบเนื่องจาก วานนี้ (25 เม.ย.54) ขปส.) หรือ พีมูฟ ได้จัดเสวนา “ทวงสัญญา 45 วัน หลังมติ ครม.กับการแก้ไขปัญหาคนจน” เพื่อวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนสถานการณ์ จากนั้นได้มีการออกแถลงการณ์ฉบับที่ 21 “ทวงสัญญา 45 วัน หลังมติ ครม.กับการแก้ไขปัญหาคนจน” ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กรุงเทพฯ โดยมี นายพงษ์ศักดิ์ สายวรรณ์ เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์
 
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า หลังจาก ขปส. ได้มีการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของทางเครือข่าย กระทั่งเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2554 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแก้ไขปัญหาในหลายกรณี รวมทั้งปัญหาความเดือดร้อนกรณีเขื่อนปากมูล ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดเงื่อนไขว่าจะใช้เวลาอีก 45 วัน ในการรวบรวมความเห็นทางเทคนิคจากนักวิชาการ ก่อนนำข้อสรุปเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 เมษายนนี้
 
“ขปส.จำเป็นต้องออกมาติดตามและทวงสัญญาจาก ครม.ในการแก้ไขปัญหาคนจน เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากระยะเวลา 45 วันตามเงื่อนไขได้ครบกำหนดในวันที่ 22 เมษายนที่ผ่าน ดังนั้น วันที่ 26 เมษายนนี้ ขปส.จะเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาล ส่งตัวแทนออกมาชี้แจงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งปัญหาอื่นที่ยังไม่ได้ดำเนินการ โดยเฉพาะกรณีปัญหาของชาวบ้านโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งกำลังมีการอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ ขณะเดียวกัน ตัวแทน ขปส.ในต่างจังหวัดประมาณ 11 จังหวัด จะเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อเร่งรัดให้เกิดการแก้ไขปัญหาอีกทางหนึ่ง"
 
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวด้วยว่า การเดินหน้าทวงสัญญากับรัฐบาล จะเป็นไปอย่างสงบ แต่หากรัฐบาลยังคงเฉยชาในการแก้ไขปัญหาคนจน ขปส. ก็จะมีมาตรการในการผลักดันที่เข้มข้นต่อไป
 
ขณะที่นายพงษ์อนันต์ ช่วงธรรม เครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า มติ ครม.เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ยังไม่พบว่ามีผลในทางปฏิบัติมากนัก เป็นแต่เพียงข้อตกลงที่มุ่งหมายให้ชาวบ้านเดินทางกลับบ้านเท่านั้น ฉะนั้น หากรัฐบาลไม่อยากการกลืนน้ำลายที่ได้ให้สัญญาไว้ และหากต้องการกลับมาเป็นรัฐบาลอีก จะต้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหาของคนจนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
 
 
ที่มา: ข้อมูลบางส่วนจาก ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย
 
 
แถลงการณ์ฉบับที่ ๒๑
ทวงสัญญา ๔๕ วัน หลังมติ ครม.กับการแก้ไขปัญหาคนจน
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
 
คน จนกับปัญหาคนจนเป็นสิ่งที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” (ขปส.) เป็นขบวนการของเกษตรกรและคนจนเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือได้รับผลกระทบอันเลวร้ายจากนโยบายการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วยกลุ่มคนจน ๔ เครือข่าย ๓ กรณีคือ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.), เครือข่ายสลัม ๔ ภาค, สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล (สคจ.), และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้พิบูลมังสาหาร อุบลราชธานี และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวลและคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อุบลราชธานี รวม ๕๔๐ กรณีปัญหา ซึ่งได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง
 
ช่วง ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๔ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาให้ จนทำให้รัฐบาลนำข้อตกลงการแก้ไขปัญหา เข้าสู่การประชุมของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๔ ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการแก้ไขปัญหาหลายกรณีปัญหา แต่อีกหลายกรณีปัญหายังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากเขื่อนปากมูล ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่าจะใช้เวลาอีก ๔๕ วัน (ครบกำหนดเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๔) และต่อมาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ทราบว่า รัฐบาลได้มีการรวบรวมความเห็นทางเทคนิค จากนักวิชาการ ขึ้น และข้อสรุปจากการดำเนินการดังกล่าว จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๔ นี้
 
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) มีความกังวลต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลของรัฐบาล และพวกเรายืนยันว่า
 
๑. การแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล รัฐบาล (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ได้แต่งตั้งกรรมการและอนุกรรมการ มาตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยใช้เวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒ จนมีข้อสรุปของกรรมการครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ซึ่งใช้เวลาดำเนินการนับปี โดยมีข้อสรุปจากการดำเนินงาน ดังนี้
 
๑.๑ ควรมีการเปิดประตูเขื่อนปากมูลตลอดปี
 
๑.๒ ควรมีการเยียวยาความเสียหายแก่ชาวบ้านที่ไม่สามารถหาปลาได้ นับตั้งแต่เขื่อนปากมูลเปิดใช้งานเป็นต้นมา
 
๒. ข้อสรุปการเจรจา ตัวแทนรัฐบาล (รมต.สาทิตย์ วงศ์หนองเตย) ได้มีข้อตกลงไว้กับพวกเรา เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ที่ผ่านมาในเรื่องเขื่อนปากมูล ดังนี้
 
๒.๑ เห็นควรทดลองเปิดประตูเขื่อนปากมูลเป็นระยะเวลา ๕ ปี โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ศึกษา เกี่ยวกับการฟื้นตัวของระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชุมชน รวมทั้งผลกระทบจากการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ดังกล่าว
 
๒.๒ ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ และเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๐ เกี่ยวกับเรื่องการเปิดปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรี คำสั่ง หรือประกาศอื่นใด ที่ขัดหรือแย้งกับแนวทางการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของ ขปส.
 
๒.๓ เห็นควรเยียวยาตามหลักมนุษยธรรมให้แก่ผู้มีอาชีพประมงที่ได้รับผลกระทบจาก การก่อสร้างเขื่อนปากมูล รายละ ๓๑๐,๐๐๐ บาท โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับการเยียวยาดังกล่าว
 
๓. องค์ประกอบการดำเนินงานเพื่อหาข้อยุติ ได้มีนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้าน ทั้งด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงาน ด้านชลประทาน ด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมาจากการคัดเลือกร่วมกันทั้งรัฐบาล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมทั้งชาวบ้านผู้เดือดร้อน อันถือว่ามีองค์ประกอบครบถ้วน และกระบวนการคัดเลือกที่เป็นธรรม
 
๔. กระบวนการทำงานที่ผ่านมา เกิดจากกระบวนการทำงานที่เป็นวิชาการ และข้อสรุปที่เกิดขึ้นก็มาจากสองส่วน กล่าวคือ ๑) มาจากความต้องการจริงของชาวบ้านในพื้นที่ ๒) มาจากการประมวลงานวิจัยจำนวน ๗ ฉบับ ซึ่งมีความถูกต้อง ชัดเจนดีแล้ว
 
ดังนั้น การตัดสินใจใด ๆ ของรัฐบาลที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล รัฐบาลต้องยึดกรอบการปฏิบัติ ดังนี้
 
๑. ให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลโดยยึดข้อเสนอของกรรมการ ซึ่งมีข้อสรุปที่เป็นวิชาการ และการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ นักวิชาการ และชาวบ้านในพื้นที่ โดยต้องคำนึงถึงความมั่นคงของวิถีชีวิตชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งต้องมีความเป็นธรรมและยั่งยืน
 
๒. การดำเนินการใด ๆ ต้องผ่านการมีส่วนร่วมของชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อน ในฐานะของผู้เสียสละและต้องให้ความสำคัญในความเป็นหุ้นส่วนของการดำเนินการ
 
อนึ่ง นอกจากปัญหาเขื่อนปากมูลแล้ว ยังมีกรณีปัญหาอื่นอีกที่ยังคงไม่มีการดำเนินการใดๆ โดยเฉพาะกรณี ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านโนนดินแดง (บ้านเก้าบาตร) ที่มีการเตรียมกำลังทหารเพื่ออพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ อันเป็นการละเมิดข้อตกลงเดิมที่รัฐบาลให้ไว้กับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่ เป็นธรรม (ขปส.) ทำให้สถานการในพื้นที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
 
ต่อเรื่องดังกล่าวขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาโนนดินแดง ดังนี้
 
๑. รัฐบาลต้องสั่งการให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ กองทัพภาคที่ 2 และจังหวัดบุรีรัมย์ ให้ยุติการอพยพชาวบ้านในพื้นที่ ทันที
๒. รัฐบาลต้องสั่งการให้ทหาร (กองทัพภาค 2) และฝ่ายความมั่นคง ยุติการเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาที่ดิน
๓. รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาโนนดินแดงตามกลไกเดิมที่มี รมต.สาทิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นประธาน
 
ใน ส่วนของการแก้ไขปัญหาอื่น ๆ เช่นกรณีห้วยฝั่งแดง และชุมชนพิมาน ซึ่งมีติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๔ ชัดเจนที่สุด แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า โดยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องไม่เร่งรัดการดำเนินงาน และที่สำคัญที่สุด นโยบายการกระจายการถือครองที่ดิน กรณีโฉนดชุมชน ถึงแม้ว่ารัฐบาลได้ประกาศพื้นที่นำร่องจำนวน ๓๕ พื้นที่ แต่มีการส่งมอบพื้นที่โฉนดชุมชนไปเพียง ๑ พื้นที่ ส่วนในพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการจัดทำโฉนดชุมชน ซึ่งควรจะได้รับการคุ้มครอง แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงมีการจับกุมดำเนินคดีกับชาวบ้านเช่นเดิม รวมถึงกองทุน ธนาคารที่ดิน ก็ยังไม่มีการดำเนินการในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
 
ดังนั้นขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) จึงจำเป็นต้องติดตามการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาล ด้วยการ “ทวงสัญญา ๔๕ วัน หลังมติ ครม.กับการแก้ไขปัญหาคนจน” ขึ้น ในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๔ นี้ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการแก้ไขปัญหา ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ขอเรียกร้องให้รัฐบาล ส่งตัวแทนมาชี้แจงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาต่อพวกเรา
พวก เรายืนยันว่า การทวงสัญญาของพวกเราจะดำเนินไปอย่างสงบตามแนวทางสันติวิธี แต่หากรัฐบาลยังคงเฉยชาในการแก้ไขปัญหาของพวกเรา พวกเราก็จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการในการผลักดันการแก้ไขปัญหาที่เข้มข้นเพิ่ม มากขึ้น
 
คนจนทั้งผองพี่น้องกัน
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
๒๕ เมษายน ๒๕๕๔ 
อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท