Skip to main content
sharethis
27 เม.ย. 54 เว็บไซต์ประชาธรรม รายงานว่า เนื่องในโอกาสที่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะมีการประชุมนัดสุดท้าย ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ ตัวแทนเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง และตัวแทนจากเครือข่ายพลเมืองไทยปฎิรูปพลังงาน จะเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพช. ทั้งนี้ โดยผ่านนายสาธิต วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรี และหนึ่งในกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เวลา 12.30 น. ณ ห้องโถงกลาง อาคารรัฐสภา
ทาง ด้านเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง ยื่นหนังสือเพื่อให้ระงับการซื้อไฟฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งได้รับการคัดค้านอย่างรุนแรง จากทั้งภาคประชาชนทั้งในระดับภูมิภาคแม่น้ำโขง และนานาชาติ และจากรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้าน ดังที่ล่าสุด มีการหยิบยกเพื่อแสดงความเป็นห่วงร่วมกัน โดยนายกรัฐมนตรีเวียดนามและกัมพูชาเมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา และเครือข่ายพลเมืองไทยปฎิรูปพลังงาน มีจุดยืนคัดค้านการดำเนินการเพื่อการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย โดยทั้งสองเครือข่าย มีจุดยืนร่วมกันว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ควรต้องทบทวนแนวทางการแสวงหาพลังงานที่ยั่งยืน ที่ไม่ขึ้นอยู่กับตัวเลขการประเมินความต้องการไฟฟ้าที่ล้นเกินมาโดยตลอด โดยเชื่อว่า หากตัดจำนวนตัวเลขความต้องการไฟฟ้าที่มากกว่าความเป็นจริงในขณะนี้ออกไป ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าจากทั้งโครงการเขื่อนแม่น้ำโขง และจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
 
27 เมษายน 2554
 
เรื่อง      ขอให้ระงับการซื้อไฟฟ้า ในโครงการเขื่อนไซยะบุรี
กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
            ประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
 
สืบ เนื่องจากในขณะนี้ เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ข้อเสนอเรื่องการสร้างเขื่อน   ไซยะบุรี ในประเทศสปป.ลาว เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและขายให้ประเทศไทย โดยบริษัทช.การช่างของไทย กำลังเป็นประเด็นข้อเป็นห่วงที่สำคัญยิ่ง ของทั้งรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้าน และภาคประชาสังคม ทั้งในภูมิภาคแม่น้ำโขงและทั่วโลก ทั้งนี้ การศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขา รวมทั้งการศึกษาที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) ซึ่ง ระบุประเด็นผลกระทบข้ามพรมแดนระหว่างประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างคือไทย กัมพูชา และเวียดนามตรงกันว่า การสร้างเขื่อนใด ๆ บนแม่น้ำโขงสายประธาน จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงที่มิอาจทดแทนคืนได้ ทั้งต่อระบบนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง และต่อทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ รวมทั้งทรัพยากรทางการประมง และการสูญเสียพื้นที่เกษตรตลอดแนวริมตลิ่งแม่น้ำโขง ซึ่งหมายถึงรายได้ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของประชาชนหลายล้านคนในภูมิภาค 
 
การ คำนวณความต้องการไฟฟ้าที่สูงเกินจริงของไทย เป็นสาเหตุหลักของการเสนอโครงการขนาดใหญ่ รวมทั้งการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน ดังเช่นที่มีการระบุไว้ ในรายงานการประเมินทางยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม (SEA) ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงว่า หากยึดตามการประเมินความต้องการไฟฟ้าของไทยในอีก 15 ปีข้างหน้า ไฟฟ้าที่ไทยมีแผนจะซื้อจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธานทั้งหมด จะเป็นเพียงร้อยละ 11.6 ของความต้องการที่คำนวณไว้ คือไม่สามารถรับประกันความมั่นคงด้านพลังงานของไทยได้ ทั้งนี้ ประเทศไทยยังไม่มีความต้องการไฟฟ้าดังเช่นตัวเลขที่เสนอเกินจริงดังกล่าว และยังมีทางเลือกในการหาพลังงานที่ยั่งยืนอื่น ๆ อีกมาก
 
ใน ช่วงสองปีที่ผ่านมา เสียงเรียกร้องให้ระงับแผนการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ทั้งจากภายในภูมิภาคแม่น้ำโขงและทั่วโลก ล่าสุด ในวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา ประชาชนไทยนับหมื่นคนจาก 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง ได้ร่วมกันลงนามและยื่นทั้งต่อสถานทูตสปป. ลาวและตัวแทนรัฐบาลไทย พร้อมกับที่ประชาชนกว่า 2,300 คนจากทั่วโลก ยื่นจดหมายต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ทั้งนี้ พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง (Save the Mekong Coalition) ยังได้เคยยื่นข้อเรียกร้องซึ่งลงนามโดยประชาชนกว่า 23,110 คนจากทั่วโลกต่อ ฯพณฯ โดยตรงมาแล้วในกรณีเขื่อนแม่น้ำโขง ตั้งแต่ปี 2552 และในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา องค์กรพัฒนาเอกชนทั่วโลกจำนวน 263 องค์กรก็ยังได้ร่วมกันยื่นจดหมายถึง ฯพณฯ และนายกรัฐมนตรีของสปป. ลาวอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ยกเลิกการสร้างเขื่อนไซยะบุรี และทบทวนแผนการซื้อพลังงาน ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน
 
ความเป็นห่วง เสียงเรียกร้อง และผลการศึกษาทางวิชาการที่กล่าวมา เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คณะกรรมการร่วม (Joint Committee) ของรัฐบาลสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา ที่ประเทศกัมพูชา ไม่สามารถตัดสินใจในกรณีการสร้างเขื่อนไซยะบุรีได้ โดยในขณะที่ประเทศสปป.ลาว ยังยืนยันจะสร้างเขื่อนนี้ต่อไป ตัวแทนจากประเทศไทย และกัมพูชา เสนอให้เลื่อนกระบวนการแจ้งให้ทราบ รับฟังความคิดเห็น และปรึกษาหารือล่วงหน้า (Prior Notification and Prior Consultation) ออก ไปก่อน เพื่อศึกษาและทบทวนให้รอบด้าน ในขณะที่ประเทศเวียดนาม เสนอให้มีการเลื่อนกระบวนการสร้างเขื่อนไซยะบุรีทั้งหมดออกไปอย่างน้อย 10 ปี ที่ประชุมจึงเห็นพ้องกันในที่สุด ให้ยกระดับการพูดคุยไปยังระดับรัฐมนตรี
 
อย่าง ไรก็ตาม จากรายงานข่าวล่าสุด ประเด็นเขื่อนไซยะบุรี ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นปรึกษาหารือ ในการพบปะระหว่างนาย เหวียน เติ๋น ยวุ๋ง (Nguy?n T?n D?ng) นายกรัฐมนตรีของประเทศเวียดนาม และสมเด็จฮุนเซน (Samdach Akkak Moha Sena Padey Dekjo Hun Sen) นายกรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชาในวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา โดยข่าวระบุว่า "ทั้งสองฝ่ายแสดงความเป็นห่วงต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดจากการก่อสร้างเขื่อนไซ ยะบูลีในลาว โดยผู้นำทั้งสองได้ตกลงที่จะเรียกร้องให้ลาวร่วมมือกับกัมพูชา เวียดนาม รวมทั้งไทย ทำการศึกษาอย่างถี่ถ้วนรอบด้าน เกี่ยวกับผลกระทบก่อนตัดสินใจก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว" (ผู้จัดการออนไลน์ 25 เมษายน 2554)
 
เครือ ข่ายภาคประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง ขอกราบเรียนมายัง ฯพณฯ เนื่องในโอกาสการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งวันที่ 27 เมษายน เพื่อให้ระงับการพิจารณาใด ๆ รวมทั้งการลงนามการซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี ดังเช่นที่มีมติจากการประชุมกพช. เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ซึ่ง ฯพณฯ เป็นประธาน ที่เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามกับผู้ลงทุนสร้างเขื่อนไซยะบุรี คือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) แต่ต้องเป็นหลังจาก "โครงการเขื่อนไซยะบุรี ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง (MRC) ตามกระบวนการ ข้อตกลงของประเทศสมาชิกในลุ่มแม่น้ำโขง (Agreement on the Cooperative for the Sustainable Development of the Mekong River Basin 5 April 1995) แล้ว" ทั้ง นี้ ในขณะนี้ ต้องถือว่ากระบวนการดังกล่าวยังล้มเหลว ไม่มีข้อสรุป และไม่ได้รับการยอมรับทั้งจากภาครัฐและภาคประชาชนในภูมิภาค และทั่วโลก
 
เครือ ข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า เขื่อนไซยะบุรีกำลังเป็นโครงการที่ได้รับการคัดค้านอย่างรุนแรง จากทั้งรัฐบาล และภาคประชาสังคมจากทั่วโลก และเป็นโครงการที่ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม และรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอในทุกระดับ เพื่อให้ข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง ขอคัดค้านการซื้อไฟฟ้าของไทยจากเขื่อนไซยะบุรี และขอยืนยันว่า หากประเทศไทยยังไม่มีกระบวนการดำเนินการที่รัดกุม โปร่งใส และรับผิดชอบในการอนุมัติการรับซื้อไฟฟ้าในโครงการดังกล่าว ประเทศไทย ซึ่งประกาศตัวเป็นผู้ซื้อพลังงานไฟฟ้ารายใหญ่ของภูมิภาค จะกลายเป็นผู้สร้างความขัดแย้งในภูมิภาค อันจะก่อผลเสีย ทั้งต่อภาพพจน์ สถานภาพ และต่อแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศอย่างร้ายแรง
 
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
 
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช)
มูลนิธิเพื่อบริหารการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย)
มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
 
(ผู้ยื่นหนังสือ ในนามตัวแทนเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง)
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net