Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กฎหมายไม่ได้เป็นเพียงสิ่งค้ำจุนความยุติธรรม หากแต่ยังเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้อำนาจรัฐ ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะที่รัฐบาลกำลังผลักดันผ่านสภาเป็นอีก ตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่ารัฐไทยอาศัยกฎหมายในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ กับตนเองในการเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ อย่างไร

โดยฉากหน้า ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะเดินตามหลักการกลวิธีการปกครองสมัยใหม่ ที่มีผลประโยชน์และสวัสดิภาพของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่อำนาจของเจ้าหรือผู้ปกครองดังเช่นกลวิธีการปกครองแบบจารีต ฉะนั้น แทนที่จะเป็นความมั่นคงแห่งรัฐหรือราชอาณาจักรดังที่พบในกฎหมายเกี่ยวกับ คอมมิวนิสต์ เหตุผลในการตราร่างกฎหมายฉบับนี้จึงเป็น “เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะเมื่อมีการชุมนุม สาธารณะ” เป็นหลัก ภายใต้ร่างกฎหมายฉบับนี้ผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้และความสะดวกสบายต่างๆ ของประชาชนจะได้รับการปกป้องคุ้มครอง ในทำนองเดียวกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ได้รับการปกป้องภายใต้ข้อ บังคับให้คาดเข็มขัดนิรภัยและสวมหมวกกันน็อค

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำให้ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะแตกต่างจากกฎหมายฉบับอื่นที่ อ้างผลประโยชน์และสวัสดิภาพของประชาชนคือกิจกรรมที่ถูกบังคับควบคุม เพราะในขณะที่การปฏิเสธที่จะคาดเข็มขัดนิรภัยและการสวมหมวกกันน็อคมีนัยของ การท้าทายอำนาจรัฐต่ำ (อย่างน้อยที่สุดแทบไม่มีใครคนไหนอยากเจอตำรวจในสภาพอย่างนั้น) การชุมนุมสาธารณะไม่เพียงแต่เป็นความจงใจที่จะละเมิดกฎหมายอย่างเปิดเผยและ ตรงไปตรงมา หากแต่ยังมีเจตนาที่จะดึงให้รัฐมาเป็นคู่สนทนาโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการขอความช่วยเหลือ การกดดันให้ปฏิบัติตามหน้าที่ หรือว่าการขับไล่ ฉะนั้น การที่ร่างกฎหมายฉบับนี้อ้างว่าต้องตราขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชนจึงเป็น ความพยายามของรัฐที่จะอำพรางหรือว่าดึงตัวเองออกมาจากปัญหาหรือความขัดแย้ง กับประชาชน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณานิยามการชุมนุมสาธารณะในร่างกฎหมายที่รัฐได้ อันตรธานหายไปประกอบ) ขณะเดียวกันก็แยกประชาชนออกเป็นสองฝ่ายให้มีผลประโยชน์ขัดกัน เพื่อที่ว่าจะได้สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการปราบปรามประชาชนที่แข็งข้อในนาม ของการปกป้องประโยชน์ของประชาชนฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ ถึงแม้ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะจะอ้างการปกป้องประโยชน์ของประชาชน ในการตราขึ้น ทว่าเนื้อหาของร่างกฎหมายแทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการรักษาประโยชน์ของ ประชาชน เช่น มาตรา 8 ของร่างกฎหมายบัญญัติว่าการชุมนุมสาธารณะต้องไม่เข้าไปหรือกีดขวางทางเข้า ออกของพระราชวัง รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล สถานที่ราชการ สถานศึกษา ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นใจกลางหรือว่าองค์ประกอบสำคัญของรัฐไทย ขณะที่สถานที่สาธารณะที่ประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์หรือเดินทางเข้าออกในชีวิต ประจำวัน เช่น ตลาดสด สวนสาธารณะ ฯลฯ กลับไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองในร่างกฎหมายฉบับนี้ นอกจากนี้ มาตรา 1 ของร่างกฎหมายระบุว่าการชุมนุมเนื่องในงานราชพิธีและงานรัฐพิธีให้เป็นข้อยก เว้น ฉะนั้น ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะจึงไม่ได้เป็นกลวิธีการปกครองสมัยใหม่ที่ มีประชาชนเป็นที่ตั้ง หากแต่เป็นกลวิธีการปกครองแบบจารีตที่อาศัยโวหารหรือวาทศิลป์ของกลวิธีการ ปกครองสมัยใหม่ในการธำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐและผู้ปกครอง ไม่แตกต่างจากกฎหมายจำพวก พ.ร.บ.ความมั่นคง และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ให้อาญาสิทธิ์แก่รัฐในการปกครองและควบคุมประชาชนในสภาวะยกเว้น

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะคือความพยายามของรัฐไทยที่จะขยายขอบเขต การใช้อาญาสิทธิ์ของตนให้ครอบคลุมสภาวะปกติ ซึ่งสอดคล้องกับเหตุผลของฝ่ายที่เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ที่อ้างว่าปัจจุบัน ประเทศไทยไม่มีกฎหมายควบคุมการชุมนุมในสภาวะปกติ ขณะที่ในสภาวะไม่ปกติมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงฉบับต่างๆ บังคับใช้อยู่แล้ว อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากคำถามที่ว่ามีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่จะต้องตรากฎหมายเกี่ยว กับการชุมนุมเป็นการเฉพาะขณะที่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้เป็นรายกรณี รวมทั้งมีบางประเทศเช่นสหรัฐอเมริกาที่ไม่มีกฎหมายจำพวกนี้ การเปิดโอกาสให้รัฐควบคุมการชุมนุมของประชาชนโดยผ่านทางกฎหมายฉบับนี้ส่งผล ให้ไม่มีความแตกต่างระหว่างการใช้อำนาจรัฐในสภาวะปกติกับสภาวะยกเว้นอีกต่อ ไป หรือส่งผลให้การใช้อาญาสิทธิ์ของรัฐในสภาวะยกเว้นที่มีลักษณะชั่วคราวและ เป็นส่วนเสี้ยวมีสภาพถาวรและปกคลุมทั่วทั้งสังคม ต่อไปไม่ว่า “การชุมนุม” ของประชาชนเรื่องอะไร เวลาไหน รูปแบบใด ต่างก็ต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ทั้งสิ้นใด

อย่างไรก็ดี แม้ร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีแรงผลักดันมาจากการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองและ มีวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองในลักษณะนี้เป็น หลัก ทว่าการชุมนุมที่จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้มากที่สุดกลับเป็นการ ชุมนุมที่ไม่ได้เป็นการชุมนุมทางการเมืองในตัวเอง หากแต่เป็นการชุมนุมของประชาชนที่ประสบปัญหาในการประกอบอาชีพและดำรงชีวิตใน ลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างแรงงาน ราคาผลผลิต ที่ดินทำกิน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งจำเป็นต้องสื่อสารกับรัฐอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา ขณะที่การชุมนุมหรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองมีความยืดหยุ่นและหลากหลาย มากกว่า ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงสามารถจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ภายหลังการล้อมปราบที่ ราชประสงค์ ซึ่งไม่เพียงแต่หลุดรอดจากเงื้อมมือของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากแต่ยังสามารถสื่อนัยทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่การชุมนุมทางการเมืองในลักษณะปกติไม่สามารถกระทำได้ ฉะนั้น นอกจากจะไม่สามารถหยุดยั้งการชุมนุมทางการเมืองซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลัก แล้ว กฎหมายฉบับนี้จะเพิ่มความยากลำบากให้กับคนตัวเล็กตัวน้อยที่ต้องการบอกเล่า ปัญหาของพวกเขาให้กับสาธารณะและรัฐได้รับรู้ผ่านทางการชุมนุมอย่างสำคัญ 

นอก จากนี้ ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะเป็นส่วนหนึ่งของ “ตุลาการวิบัติ” หรือเป็นการอาศัยระบบศาลและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือแก้ปัญหา (หรืออีกนัยหนึ่งคือการเอาชนะ) ทางการเมือง เพราะโดยหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลแล้วอำนาจหน้าที่ในการจัดการกับการชุมนุม ควรเป็นของฝ่ายบริหาร ส่วนตุลาการมีไว้เพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจบริหารในเรื่องดังกล่าว นี้อีกทีหนึ่ง ทว่าร่างกฎหมายกลับมอบให้เป็นดุลยพินิจของศาลแพ่งและศาลจังหวัดในการ วินิจฉัยว่าควรจะอนุญาตหรือให้เลิกการชุมนุมหรือไม่ และคำสั่งศาลให้ถือเป็นข้อยุติ ซึ่งการบัญญัติเช่นนี้นอกจากจะละเมิดหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ ยังเป็นการนำศาลเข้าไปเกี่ยวข้องหรือเป็นคู่กรณีในความขัดแย้งโดยตรง ซึ่งจะยิ่งลดทอนความน่าเชื่อถือของระบบศาลและกระบวนการยุติธรรมลงไปอีก ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในสังคมไทยที่มีลักษณะเลือก ปฏิบัติค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกฎหมายฉบับนี้กลายเป็นอาวุธในการขจัดศัตรูทางการเมืองที่ แยบยลและทรงประสิทธิภาพอีกชิ้นในที่สุด      

 

ที่มา:คอลัมน์ คิดอย่างคน ในหนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ประจำวันที่ 22-28 เมษายน 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net