Skip to main content
sharethis


แฟ้มภาพ: ประชาไท

กรณีสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบตามร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.... เมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ต่อเนื่องคัดค้านการออกร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ... ชี้ทำลายเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนที่มีมวลชนน้อย ขณะที่การเขียนให้ฝ่ายตุลาการใช้อำนาจ หน้าที่ในทางบริหาร เช่น ให้เจ้าหน้าที่ขอให้ศาลสั่งเลิกการชุมนุมและคำสั่งศาลเป็นที่สุด ไม่สามารถถูกตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าวได้ ส่งผลให้ศาลที่ควรเป็นองค์กรชี้ขาดข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายบริหาร กับประชาชน เปลี่ยนสถานะมาเป็นคู่พิพาทหรือคู่ขัดแย้งกับประชาชนเสียเอง ซึ่งเป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจอันเป็นพื้นฐานที่สำคัญของหลักนิติรัฐ และหลักประชาธิปไตย

0000

 

แถลงการณ์คัดค้านการออกร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.
เผยแพร่วันที่ 27 เมษายน 2554

ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบตามร่างพระราชบัญญัติการชุมนุม สาธารณะ พ.ศ....ในวันที่ 27 เมษายน 2554 ด้วยมติเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบด้วยคะแนน 217 เสียง ไม่เห็นชอบ 8 เสียง งดออกเสียง 41 เสียง ไม่ลงคะแนน 6 เสียง โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าร่วมประชุมจำนวนทั้งสิ้น 272 คน

องค์กรตามรายชื่อแนบท้าย ซึ่งทำงานกับปัญหาการเข้าถึงสิทธิในด้านต่างๆ และได้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมในการเข้าถึงสิทธิของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ได้ติดตาม คัดค้านการดำเนินการร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะมาโดยตลอดมีความเห็น ว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีสาระสำคัญที่ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน หลักสิทธิเสรีภาพ หลักสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ อันเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย และการผ่านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดผลกระทบดังต่อไปนี้

ประการที่ 1 เป็นการทำลายการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนซึ่งมีมวลชนน้อย และไม่สามารถควบคุมการชุมนุมขนาดใหญ่อันเป็นวัตถุประสงค์ในการออกกฎหมายฉบับ นี้ได้

ในขณะที่ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวถูกผลักดันออกมาเพื่อควบคุมการชุมนุมทาง การเมืองที่มีมวลชนจำนวนมากและมีอำนาจต่อรองสูง องค์กรซึ่งมีรายชื่อแนบท้ายขอยืนยันว่า ประชาชนทุกกลุ่มมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่การชุมนุมที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดหากผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมาจะ เป็นการชุมนุมที่มีมวลชนจำนวนน้อย ซึ่งเรียกร้องสิทธิเฉพาะกลุ่ม เฉพาะพื้นที่ และใช้สิทธิเสรีภาพเป็นการทั่วไป ไม่ใช่การชุมนุมซึ่งเกิดจากปรากฏการณ์ของสังคมอันมีลักษณะพิเศษ

การที่รัฐฉวยโอกาสในการออกกฎหมายโดยใช้ลักษณะการชุมนุมที่เป็นปรากฏการณ์ ของสังคมเช่นนี้ มาออกแบบกฎหมายเพื่อควบคุมการชุมนุมทั้งหมดจึงเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรง จุด และที่ผ่านมาแม้รัฐได้ประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ยังไม่อาจจัดการการชุมนุมที่มีอำนาจต่อรองสูงได้ ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ขาดตัวบทกฎหมายในการจัดการการชุมนุม แต่เป็นรากของปัญหาที่มาจากรัฐ ซึ่งต้องแก้ไขในเชิงโครงสร้างทางการเมือง โครงสร้างสังคม ไม่ใช่การออกกฎหมายเพื่อมาควบคุมมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นหากร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวออกมาย่อมทำให้รัฐมีเครื่องมือในการควบ คุมการชุมนุมมากขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบในการใช้เสรีภาพในการชุมนุม คดีความ การเข้าถึงสิทธิของประชาชนมาก โดยที่ไม่ได้แก้ไขปัญหาที่สังคมคาดหวังให้รัฐจัดการได้เลย

ประการที่ 2 เป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจ อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญของหลักนิติรัฐ และหลักประชาธิปไตย

ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ....ได้สร้างกลไกในการจัดการการชุมนุมโดยให้ฝ่ายตุลาการมาใช้อำนาจ หน้าที่ในทางบริหาร เช่น ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าการชุมนุมนั้นอาจขัดต่อมาตรา 8 ให้ขอศาลสั่งห้ามการชุมนุมนั้นก่อนมีการชุมนุม หรือในการที่มีการชุมนุมแล้วและเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่ต้องขอให้ศาลสั่งเลิกการชุมนุมและคำสั่งศาลเป็นที่สุด ไม่สามารถถูกตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าวได้อีก ซึ่งทำให้ฝ่ายตุลาการมีอำนาจทั้งฝ่ายบริหารและตุลาการเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในตัว และส่งผลให้ศาลที่ควรเป็นองค์กรชี้ขาดข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายบริหาร กับประชาชน เปลี่ยนสถานะมาเป็นคู่พิพาทหรือคู่ขัดแย้งกับประชาชนเสียเอง ซึ่งเป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจอันเป็นพื้นฐานที่สำคัญของหลักนิติรัฐ และหลักประชาธิปไตย

ดังนั้นองค์กรตามที่มีรายชื่อแนบท้ายนี้จึงขอคัดค้านการออกร่างพระราช บัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.... ซึ่งมีเนื้อหาในลักษณะดังกล่าว และขอเรียกร้องให้วุฒิสภาตรวจสอบความชอบด้วยหลักการ ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และมีมติไม่เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้สังคม และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมายซึ่งกระทบกับสิทธิเสรีภาพในการ ชุมนุมต่อไป

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพ
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net